เดือนตุลาคม 2552 ผมกลับมายังมหานครเซี่ยงไฮ้อีกครั้ง
บนเส้นทางระหว่างสนามบินผู่ตง กับย่านใจกลางเมือง เจ้ารถไฟพลังแม่เหล็ก Meglev (Magnetic-Levitation) ยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างดีมาตลอด 5 ปีกว่า นับตั้งแต่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือน มีนาคม 2547
รถไฟพลังแม่เหล็ก Meglev สายนี้ เป็นรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายแรกที่จีนนำเข้าเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนี มาสร้างขึ้นเพื่อทดลองใช้จริงโดยมีระยะทางทั้งสิ้นเพียง 30.5 กิโลเมตร แต่ละเที่ยวของการเดินทางผู้โดยสารจะใช้เวลาในการเดินทางเพียง 7.20-8.10 นาที ทว่าด้วย ระยะทางวิ่งที่สั้นทำให้แม้เจ้า Meglev จะมีศักยภาพในการทำความเร็วได้สูงสุดถึง 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ความเร็วเฉลี่ยในการใช้งานจริงก็เพียงแค่ราว 220-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น
พ.ศ.2552 ขณะที่คนในประเทศไทย กำลังถกเถียงกันเรื่องรถไฟตกรางที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่าใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ควรจะเป็นพนักงานขับรถที่ประมาทเลินเล่อ หรือผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ไร้ประสิทธิภาพ เหนือประเทศไทยขึ้นไปไม่กี่กิโล เมตร ประเทศเพื่อนบ้านของเรากำลังวางแผนเพื่อจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้นำในโลกของรถไฟความเร็วสูงและกำลังจะเป็นประเทศที่มีเครือข่ายของรถไฟ ความเร็วสูงที่ครอบคลุมและกว้างขวางที่สุดในโลก
เมื่อเกือบ 5 ปีก่อน ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับกิจการรถไฟของประเทศจีนเอาไว้ตอนหนึ่งว่า
"ในการเดินทางต่างเมืองในประเทศจีน 'รถไฟ' เป็นพาหนะที่ปลอดภัยและราคาย่อมเยาที่สุด โดยเทศกาลอย่างเช่นตรุษจีน วันแรงงานในช่วงต้น เดือนพฤษภาคม และวันชาติต้นเดือนตุลาคมนั้น การหาซื้อตั๋วรถไฟในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเฉพาะตั๋วตู้นั่ง ถือว่ายากลำบากอย่างยิ่ง
"ด้วยขนาดของประเทศจีนที่กว้างใหญ่ไพศาล โดยมีพื้นที่ใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปทั้งทวีป คนจีนนับว่าเป็นชาติที่อาศัยรถไฟเพื่อการเดินทางมากที่สุดในโลก (จนถึงกับมีการตั้งกระทรวง รถไฟ หรือ Ministry of Railways ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ) แม้จะมีสถิติระบุว่า เมื่อเอาทางรถไฟในประเทศจีนมาหารกับจำนวนประชากรแล้ว คนจีนทุกคนจะเป็นเจ้าของทางรถไฟความยาวเพียงแค่หนึ่งมวนบุหรี่เท่านั้นเอง..."
สำหรับชาวต่างชาติ (โดยเฉพาะคนไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศจีนกับคณะนำเที่ยว) โอกาสที่จะเข้าไปสัมผัสกับ "วิถีแห่งรถไฟของชาวจีน" นั้นถือว่ามีค่อนข้างน้อย สังเกตได้จากการที่บริษัทนำเที่ยวในประเทศไทยทั้งหลายนั้นแทบจะไม่บรรจุวิธีการเดินทางโดยรถไฟลงไปในแผนและตารางกำหนดการเดินทางเลย
ที่เป็นเช่นนั้นมิใช่รถไฟจีนคุณภาพไม่ดี มีน้อยเที่ยว หรือไม่ตรงต่อเวลา ในทางตรงกันข้าม รถไฟจีนนั้นมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าเกินประเทศไทยไปมาก แต่ที่คนไทยไม่ค่อยได้มีโอกาสนั่งรถไฟจีนก็เพราะรถไฟเป็นพาหนะในการคมนาคมระหว่างเมืองที่คนจีนนิยมมากที่สุด ทำให้มีการเปิดจองและ เปิดขายตั๋วล่วงหน้าเพียงไม่กี่วัน ส่งผลให้การหาซื้อตั๋วโดยสารที่ต้องการไม่ง่ายนัก
นับตั้งแต่ที่ผมเขียนบทความเรื่อง "จีนกับรถไฟความเร็วสูง" ตีพิมพ์ลงในนิตยสารผู้จัดการในปี 2548 ถึงปัจจุบัน โครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟ จีนได้มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนแทบจะตามไม่ทัน
กรกฎาคม 2549 ประเทศจีนมีการเปิดเดิน รถไฟเส้นทางชิงจั้ง โดยเป็นเส้นทางรถไฟสายแรกและสายสูงที่สุดในโลกที่เชื่อมจากมณฑลชิงไห่ไปยังนครลาซา เขตปกครองตนเองทิเบต โดยจุดสูงสุดของทางรถไฟสายนี้นั้นอยู่ที่ "ด่านถังกู่ลา" ซึ่งมีความสูงถึง 5,072 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2551 ก่อนมหกรรม กีฬาโอลิมปิกจะเริ่มขึ้น การรถไฟจีนก็ได้ฤกษ์เปิดตัวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกที่วิ่งระหว่างสองเมืองใหญ่คือ เส้นทางรถไฟระหว่างนครปักกิ่ง-เทียนจิน โดยเส้นทางระหว่างเมือง หลวงและเมืองท่าสองแห่งนี้มีความยาวประมาณ 114 กิโลเมตร ซึ่งรถไฟปกติใช้เวลาเดินทางประมาณ หนึ่งชั่วโมงครึ่ง แต่รถไฟความเร็วสูง หรือ CRH (China Railway High-speed) ที่วิ่งบนเส้นทางนี้สามารถย่นระยะเวลาในการเดินทางให้เหลือเพียง 30 นาทีได้ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
กระทั่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาสื่อทั่วโลก โดยเฉพาะจากฝั่งอเมริกาต่างตีพิมพ์รายงานและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบรถไฟความเร็วสูงในประเทศจีนด้วย ความตื่นตระหนกว่าภายในปี พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020) หรืออีกเพียงหนึ่งทศวรรษข้างหน้า จีนจะสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 25,000 กิโลเมตร โดยการลงทุนครั้งนี้จะเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าและใช้ทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล กล่าวคือ ตลอดระยะเวลาของโครงการ 16 ปี ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2563 (ค.ศ.2005-2020) จีนได้เตรียมเงินลงทุนเอาไว้แล้ว 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว 10.5 ล้านล้านบาท) โดยในปีนี้ (2552) เพียงปีเดียวรัฐบาลจีนได้จัดสรรเงินมาเพื่อการลงทุนเกี่ยวกับการรถไฟนี้มากถึง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (1.75 ล้านล้านบาท) นอกจากนี้เพื่อบรรลุภารกิจดังกล่าว จีนจะต้อง มีการใช้คอนกรีตมากถึง 117 ล้านตัน และต้องใช้เหล็กจำนวนมากจนสามารถสร้างสนามกีฬารังนก สนามกีฬาโอลิมปิกอันโด่งดังแห่งกรุงปักกิ่งได้ถึง 120 สนามเลยทีเดียว
ด้วยขนาดการลงทุนที่มหาศาลดังกล่าวทำให้ จอห์น สเกล ผู้เชี่ยวชาญด้านการคมนาคมจีนของธนาคารโลกถึงกับให้ความเห็นว่า การลงทุนในการก่อสร้างเครือข่ายทางรถไฟของจีน ณ ปัจจุบันนั้นมีความใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์โลก โดยหากจะเปรียบเทียบก็คงพอๆ กับระดับการเติบโตของทางรถไฟในสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20
ทั้งนี้ ในบรรดาเส้นทางรถไฟทั่วประเทศจีนครอบคลุมกว่า 86,000 กิโลเมตร เส้นทางรถไฟสาย ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ หรือที่ชาวจีนเรียกสั้นๆ ว่า "สายจิงฮู่" ถือเป็นเส้นทางระหว่างเมืองสำคัญและ มีผู้ใช้บริการมากที่สุดของประเทศจีน ด้วยเมืองหนึ่ง เปรียบได้กับศูนย์กลางทางการปกครองของจีน ส่วน อีกเมืองหนึ่งคือศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจีน ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงขึ้นมาก่อน
สำหรับเส้นทางรถไฟสายดังกล่าวนั้นมีความยาวทั้งสิ้น 1,318 กิโลเมตร ซึ่งหากเดินทางด้วยรถไฟ ปกติจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ชั่วโมง ทว่าหากเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงที่หัวรถจักรสามารถทำ ความเร็วได้สูงสุดถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะเวลาในการเดินทางจะลดลงเหลือเพียง 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้มีการคาดการณ์ว่าเมื่อรถไฟความเร็ว สูงสายนี้สร้างเสร็จจะมีผู้ใช้บริการมากถึงวันละ 220,000 คน โดยในบางช่วงเวลารถไฟสายด่วนนี้จะออกเดินทางทุก 5 นาที
รถไฟสายจิงฮู่นี้เริ่มการก่อสร้างไปเมื่อเดือนเมษายน 2551 ที่ผ่านมา ด้วยเงินทุนก่อสร้างสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 22,000 ล้านหยวน หรือตีเป็นเงินไทยมากกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยเป็นระบบรถไฟความเร็วสูงที่ใช้เงินและเทคโนโลยีรถไฟที่ก้าวหน้าที่สุดของจีนในปัจจุบัน
ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 โครงการขยายเครือข่ายทางรถไฟของจีนไม่เพียงเป็นโครงการที่ช่วยต่อเติมความฝันทางรถไฟยาวแสนกิโลเมตรของชาวจีน แต่ ยังเป็นโครงการการใช้จ่ายภาครัฐ (Government Spending) ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนได้เป็นอย่างดี โดยเงินจำนวนมากมีที่มาจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน หรือเกือบ 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องใช้เงินทั้งหมดภายในปีหน้า (พ.ศ.2553)
ตามรายงานของกระทรวงรถไฟจีนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ระบุว่าปัจจุบันรัฐบาลจีนได้ทุ่มเทสรรพกำลังในการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงความยาวกว่า 1,300 กิโลเมตรนี้ด้วยคนงานกว่า 110,000 คนเพื่อจะเนรมิตให้เสร็จทันในช่วงปลายปี 2554 และเปิดใช้เชิงพาณิชย์ในปี 2555
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาระหว่างการเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ผมเห็นคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีมีโอกาสได้นั่งรถไฟความเร็วสูงสายปักกิ่ง-เทียนจินแล้ว
หากรัฐบาลไทยหวังจะให้ประเทศชาติและเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งอย่างโครงการที่โฆษณาเอาไว้ ผมหวังว่าโครงการรถไฟรางคู่ร้อยกว่ากิโลเมตร (ที่โปร่งใส) และประชาชนคาดหวังเอาไว้ก็ไม่น่าจะเป็นหมันอีก
|