|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
จากสูงสุดร่วงลงสู่สามัญ GM ค่ายรถยักษ์ใหญ่สุดของอเมริกาจะกลับมาแข็งแรงจนสามารถอยู่รอดได้ต่อไปหรือไม่ หลังเพิ่งผ่านพ้นการล้มละลาย
General Motors (GM) ค่ายรถใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานถึง 101 ปี เคยผ่านยุครุ่งเรืองที่สุดในช่วงสิ้นทศวรรษ 1920 เมื่อสามารถแซงหน้าคู่แข่งอย่าง Ford และก้าวขึ้นเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้
มาบัดนี้ GM กลายเป็นบริษัทที่ล้มละลายและต้องเปลี่ยนหัวเรือใหม่ Fritz Henderson ก้าวขึ้นมาเป็น CEO พ่วงด้วยตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของ GM แผนยุทธศาสตร์ของ Henderson ไม่มีอะไรซับซ้อน นั่นคือ กลับไปสู่ธุรกิจรถยนต์อีกครั้ง หลังจากที่ CEO คนก่อนๆ มัวแต่ปวดหัวอยู่กับการจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สินมหาศาล ไปจนถึงเรื่องยุ่งยากทางกฎหมาย และระบบการทำงานที่อืดอาดล่าช้า เต็มไปด้วยระเบียบกฎเกณฑ์ของ GM จนแทบไม่มีเวลาเหลือสำหรับการบริหารธุรกิจอย่างแท้จริง
แต่ขณะนี้ภาระหนักอึ้งเก่าๆ ทั้งหมดถูกลบล้างไปหมดสิ้น แล้ว เมื่อ GM เข้าสู่กระบวนการล้มละลายและ CEO คนใหม่จะสามารถทุ่มเทเวลาและพลังงานทั้งหมดไปกับสิ่งที่สำคัญต่อบริษัทอย่างแท้จริงได้
Henderson คงจะพยายามค้นหาว่าลูกค้าคิดอย่างไร ด้วยการออกไปพูดคุยกับลูกค้าและผลักดันให้ทีมบริหารใหม่ของเขาใส่ใจกับการแข่งขันมากกว่านี้ พร้อมทั้งทุ่มเททุนทั้งที่เป็นตัวเงินและสติปัญญาไปกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
เมื่อ GM เหลือแบรนด์เพียง 4 แบรนด์ คือ Chevrolet, Cadillac, Buick และ GMC ความท้าทายของ Henderson ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถดึงดูดลูกค้าให้เหลียวมามองรถรุ่นใหม่ๆ ของ GM ได้ รถรุ่นใหม่ของ GM ที่น่าจับตามองในปีนี้ อาจไม่ใช่ Chevy Volt รถ hybrid พลังงานไฟฟ้าซึ่งมีราคาแพงอย่างที่หลาย คนเชื่อ แต่น่าจะเป็นรถขนาดเล็กอย่าง Chevy Cruze มากกว่า
นับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา GM ล้มเหลวมาตลอด กับรถรุ่นเล็กที่สามารถจะแข่งขันกับค่ายรถต่างชาติได้ ถ้าหาก GM ยังล้มเหลวกับ Cruze อีก ก็อาจต้องยอมยกธงขาวกับการผลิตรถขนาดเล็กไปเลย
ปัญหาท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของ Henderson คือ หาทางเปลี่ยนวิธีคิดของ GM และอาจต้องหาคนเก่งจากข้างนอกเข้ามาช่วย แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังหาไม่ได้ Henderson สัญญาว่า จะหาคนเก่งๆ จากบริษัทอื่นๆ เข้ามา แต่อ้างว่าการที่รัฐบาลสหรัฐฯ จำกัดการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริหารของ GM ทำให้หาคนเก่งๆ มาทำงานด้วยยาก
แต่ Alan Mulally CEO ของ Ford เคยทำได้มาแล้ว เขาวางวิสัยทัศน์อนาคตของ Ford อย่างชัดเจน และสามารถทำให้ทีมบริหารทุกคนสนับสนุนวิสัยทัศน์นั้น พร้อมกับสร้างวัฒนธรรม "ไม่มีข้อแก้ตัว" ขึ้นมา ทีมบริหารของ Ford กำลังจัดการกับโลกอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่โลกที่อยากให้เป็น
Henderson จะทำได้สำเร็จเหมือน Ford หรือไม่ และถึงแม้ตัวเขาจะทำได้ แต่ GM จะทำได้ด้วยหรือไม่ จนถึงบัดนี้ยังมอง ไม่เห็นสัญญาณของการเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ๆ ของ GM เลย และยังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่จะบ่งชี้ว่า GM โฉมใหม่หลังผ่านพ้นกระบวน การล้มละลายจะสามารถกลับมาเป็นผู้ชนะได้อีกครั้ง ทั้งๆ ที่ทุกอย่างที่ GM ต้องการเพื่อการกลับมาชนะนั้น มีอยู่พร้อมหมดแล้ว ขาดแต่เพียงการจับมาผสมผสานกันให้ลงตัวเท่านั้น เพื่อที่จะนำ GM ก้าวไปสู่ชัยชนะได้อีกครั้ง
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ฟอร์จูน 12 ตุลาคม
|
|
|
|
|