|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งออสเตรเลีย ของ ปตท.สผ. (PTTEP) ยังคงเกิดเพลิงลุกไหม้อย่างไม่อาจควบคุมได้เมื่อวานนี้(2) และกำลังกลายเป็นเหตุเพลิงไหม้ร้ายแรงที่สุดในรอบ 25 ปี ของการขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งในแดนจิงโจ้ อีกทั้งยังสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อมลามไปถึงเขตอินโดนีเซียแล้ว โดยเจ้าหน้าที่หลายคนเตือนว่า คงไม่สามารถดับไฟได้หากไม่อาจอุดรูรั่วที่มีน้ำมันดิบไหลออกมาเป็นจำนวนมากตลอดช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียสั่งสอบสวนเหตุเพลิงไหม้รุนแรงครั้งนี้เป็นการฉุกเฉิน พวกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็เตือนว่า หากไฟยังลุกไหม้ต่อไปและไม่สามารถอุดรูรั่วที่น้ำมันจากใต้ทะเลไหลออกมาได้ ก็จะเป็นการทำลายท้องทะเลอันบริสุทธิ์นอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของวาฬและโลมา
ทั้งนี้ แท่นขุดเจาะน้ำมัน “เวสต์ แอตลาส” แห่งนี้ ได้เกิดเพลิงไหม้ตั้งแต่วันอาทิตย์ (1) ระหว่างที่กำลังมีการพยายามอุดรูรั่วซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา และทำให้มีน้ำมันหลายพันบาร์เรลไหลลงสู่ทะเลติมอร์
บริษัทผู้ดำเนินการแท่นขุดเจาะน้ำมันดังกล่าวคือ พีทีทีอีพี ออสเตรเลเชีย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ระบุว่าการอุดรูรั่วเป็นหนทางเดียวที่จะหยุดเพลิงที่โหมท่วมแท่นขุดเจาะและหลุมพัฒนานอกชายฝั่งไปราว 250 กิโลเมตร และบริษัทจะพยายามอุดรูรั่วนี้อีกครั้งหนึ่งในวันอังคาร(3)
“วิธีดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดในการดับไฟก็คือ ปิดหลุมด้วยการอัดโคลนปริมาณมากๆ เข้าไปในหลุมที่มีรูรั่วเสีย” โฮเซ มาร์ตินส์ ผู้อำนวยการของพีทีทีอีพีกล่าว
“โคลนตามสูตรที่เราผสมขึ้นนี้จะไหลย้อนไปยังหลุมที่มีรูรั่ว และหยุดก๊าซกับน้ำมันที่ระดับพื้นผิวของหลุมเอช 1 ซึ่งจะเป็นการตัดแหล่งเชื้อเพลิงที่ทำให้ไฟลุกไหม้อยู่บนแท่นขุดเจาะ วิธีนี้ถือเป็นการปิดถมหลุมและจะดับไฟได้”
ทางด้าน มาร์ติน เฟอร์กูสัน รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรและพลังงานออสเตรเลียกล่าวว่า อุบัติเหตุคราวนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีขนาดใหญ่ถึงเพียงนี้ในรอบระยะเวลา 25 ปีแห่งการขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งกันมาของแดนจิงโจ้ “จะส่งผลกระทบต่อสถานภาพของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในออสเตรเลียด้วยอย่างแน่นอน”
“ผมขอบอกเพียงว่าทันทีที่ถมปิดหลุมแล้ว แท่นขุดเจาะก็จะปลอดภัย จากนั้นผมจะดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้อย่างละเอียดและไม่เข้าข้างฝ่ายใด เพื่อประเมินหาสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์ครั้งนี้ รวมทั้งพิจารณาเรื่องวิธีแก้ปัญหาในช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย”
สตีเฟน เคฟนาจ ช่างภาพคนหนึ่งซึ่งขึ้นเครื่องบินสำรวจสถานการณ์ครั้งนี้ด้วย ระบุว่าเป็นเหตุเพลิงไหม้รุนแรงที่สุดเท่าที่เขาเคยเห็นมาในชีวิต
“มันเป็นเหตุเพลิงไหม้ขนาดใหญ่มากจนเราต้องบินวนดูสถานการณ์ถึงสองหรือสามรอบ ตอนหลังพอผมวางกล้องลง แล้วมองดูจากทางหน้าต่าง ผมตกใจมากที่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น” เขาเล่า
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ พากันออกมาวิจารณ์รัฐบาลออสซี่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำมันรั่วครั้งนี้ โดยบอกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการคุกคามชีวิตนกและสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่นอกชายฝั่งทางตอนเหนือของออสเตรเลียตะวันตกซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์
“เราจัดอันดับเหตุการณ์นี้เป็นหายนภัยร้ายแรงทางด้านสิ่งแวดล้อม” จอห์น แครีย์ โฆษกของกลุ่ม “Pew Environment Group” กล่าวและเสริมว่าน้ำมันเป็นเพชฌฆาตที่ทำลายสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลอย่างเงียบๆ และช้าๆ
ยิ่งกว่านั้น บริเวณที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้เป็น “ทางด่วนของสัตว์น้ำหลายสายพันธุ์ที่เดินทางผ่านไปมาในแถบนั้น จึงถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญยิ่งต่อโลก และยังเป็นบริเวณที่วาฬและโลมาราวหนึ่งในสี่ของโลกอาศัยอยู่ด้วย”
กิสเลน เลเวลลิน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของ WWF Australia ได้ออกสำรวจพื้นที่เกิดเหตุเป็นเวลาสามวัน เธอกล่าวว่าขนาดของเพลิงที่ลุกไหม้และระยะเวลาที่มีน้ำมันรั่วออกมาในทะเลทำให้สัตว์น้ำและนกในแถบนั้นมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายอย่างสูง
เธอบอกอีกว่าเราอาจไม่พบความรุนแรงในลักษณะที่มีสัตว์ลอยน้ำตายเป็นจำนวนมาก หรือถูกคลื่นชัดไปติดตามชายหาด แต่สัตว์จำนวนมากจะจมลงไปตายในน้ำเมื่อตัวเปื้อนคราบน้ำมัน
“การดำเนินธุรกิจในพื้นที่ห่างไกล ไม่ได้มีข้อยกเว้นเรื่องการที่จะต้องเฝ้าระวัง จัดเจ้าหน้าที่ดูแล และจัดหน่วยสนับสนุนให้พร้อมอยู่เสมอ” เลเวลลินกล่าว
ส่วนสมาคมอนุรักษ์สัตว์น้ำแห่งออสเตรเลียก็คาดหวังว่าการสอบสวนของรัฐบาลจะกดดันให้ผู้ประกอบธุรกิจปรับปรุงการบริหารจัดการกับอุบัติเหตุให้ดีขึ้นกว่าเดิม
“เราไม่รู้ว่าหายนภัยครั้งนี้เกิดขึ้นจากสาเหตุใด และเราต้องการทำความเข้าใจเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทำนองนี้อีกในอนาคต” ดาร์เรน คินด์ลีไซด์ กรรมการของสมาคมกล่าว
อนึ่ง เฟอร์ดี ตาโนนี แห่งมูลนิธิเวสต์ติมอร์แคร์ ซึ่งให้การสนับสนุนพวกชาวประมงยากจนในแถบภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย แถลงเมื่อวานนี้ว่า น้ำมันจำนวนมากที่รั่วไหลลงสู่ทะเลติมอร์เหล่านี้ กำลังแพร่ลามมาสร้างความเสียหายให้แก่พวกหมู่บ้านประมงยากจนในจังหวัดนูซา เตงราการา ตะวันออก ของอินโดนีเซียแล้ว โดยน้ำมันเหล่านี้ทำให้สัตว์น้ำเสียชีวิต และรายได้ของชาวประมงที่มีอยู่ราว 7,000 คนก็ตกต่ำลงทุกที จากที่ลดลงราว 40% ในตอนแรกๆ พอถึงสัปดาห์ที่แล้วก็ต่ำลงถึง 80%
**ปตท.สผ.รับแผนผลิตน้ำมันสะดุด
นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการควบคุมเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นจากแท่นหลุมผลิต (Wellhead Platform) ของแหล่งมอนทารา ออสเตรเลีย ที่เกิดการติดไฟอย่างไม่ทราบสาเหตุ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยบริษัทได้แก้ไขปัญหาจากต้นตอของเชื้อเพลิง เตรียมการสกัดกั้นการรั่วไหลของน้ำมันและก๊าซฯด้วยการอัดโคลนกลับเข้าไปอีก คาดว่าจะดับไฟได้ภายใน 1-2 วันนี้
ทั้งนี้ หลังจากสามารถดับไฟได้ บริษัทจะส่งทีมเข้าไปตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ขณะนี้ได้จัดทำแผนคู่ขนานกันไปว่าจะสามารถกลับมาเริ่มผลิตน้ำมันได้เร็วที่สุดเมื่อไหร่ จากเดิมที่บริษัทเคยตั้งเป้าหมายว่าแหล่งมอนทาราจะผลิตน้ำมันดิบขนาด 3.5 หมื่นบาร์เรล/วันได้ภายในปลายปีนี้ แต่จากการรั่วไหลของน้ำมันและก๊าซฯตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนต้องเลื่อนการผลิตน้ำมันเชิงพาณิชย์ไปเป็นไตรมาส 2/2553 แต่หากความเสียหายที่แท่นผลิตมาก อาจจะต้องเลื่อนการผลิตน้ำมันในแหล่งมอนทาราออกไปอีก
“ขณะนี้บริษัทกำลังพยายามควบคุมเพลิงอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เรือดับเพลิงเข้าควบคุมเพลิง และใช้ทีมผู้เชี่ยวชาญการควบคุมหลุมน้ำมันของบริษัท ALERT Well Control ที่ประจำอยู่ที่แท่นเจาะ West Triton เข้าควบคุมสถานการณ์ ซึ่งแท่น West Triton เป็นแท่นที่เจาะหลุมควบคุมความดันเพื่อหยุดการรั่วไหลในแหล่งมอนทารา ตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร”
นายอนนต์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือเป็นอุบัติเหตุครั้งรายแรงที่สุดของปตท.สผ. แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในการเติบโตของบริษัท และคาดว่าไม่น่าจะส่งผลต่อการซื้อแหล่งโอลิเวอร์ ที่ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลออสเตรเลียก่อน
“ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุของเพลิงไหม้แท่นหลุมผลิตมอนทารา สืบเนื่องจากเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลจากหลุมพัฒนาในแหล่งมอนทารา โครงการ พีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย ในทะเลติมอร์ ซึ่งบริษัทได้เร่งดำเนินการแก้ไขสถานการณ์การรั่วไหลโดยได้รับอนุมัติจากหน่วยงานของรัฐบาลออสเตรเลีย ให้ดำเนินการเจาะหลุมควบคุมความดัน (Relief Well) และอัดน้ำโคลนเพื่อหยุดการรั่วไหลของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องถึง 5 ครั้ง”
ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 52 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการเจาะหลุมควบคุมได้เข้าไปถึงระดับความลึกและตำแหน่งที่ต้องการแล้ว จึงได้ทำการอัดน้ำโคลนตามขั้นตอนเพื่อยุติการรั่วไหล โดยในระหว่างการดำเนินการได้เกิดการติดไฟขึ้นบริเวณแท่นเจาะWest Atlas ซึ่งเป็นของผู้รับเหมา รวมทั้งแท่นหลุมผลิตของแหล่งมอนทารา โดยปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการติดไฟ อย่างไรก็ตามไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ที่ผ่านมา บริษัทได้ประสานงานกับรัฐบาลออสเตรเลียมาโดยตลอดเรื่องการกำจัดคราบน้ำมันและดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงแผนการสกัดการรั่วไหลของน้ำมันและก๊าซฯ เนื่องจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลียเข้มงวดมาก บริษัทฯจึงเลือกที่จะหยุดการรั่วไหลโดยการเจาะหลุมใหม่เข้าไปสกัดการรั่วที่ก้นหลุม ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัท Alert Well Control ที่มีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาเฉพาะด้านและเป็นบริษัทที่เคยเข้าไปดับไฟบ่อน้ำมันที่คูเวตในช่วงสงครามอิรัก
นายอนนต์ กล่าวต่อไปว่า ความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้แท่นผลิตที่แหล่งมอนทารานี้ จะเรียกร้องค่าชดเชยจากผู้รับประกันที่ทำไว้รวม 270 ล้านเหรียญสหรัฐต่อไป หากเกินวงเงินประกันก็ต้องรับภาระเอง โดยจะบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงไตรมาส 4 นี้ ก่อนหน้านี้ บริษัทได้ประมาณการค่าเสียหายจากการรั่วไหลน้ำมันที่มอนทาราเป็นเงิน 5,174 ล้านบาท โดยบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในไตรมาส 3แล้ว ทำให้ส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัท 2,198 ล้านบาท
ปตท.สผ.ได้ซื้อกิจการน้ำมันและก๊าซฯในต้นปี 2552 มีแหล่งน้ำมัน 2 แหล่ง คือJabiru+Challis , Montara และแหล่งก๊าซฯ 1 แหล่ง คือ Cash Maple ซึ่งแหล่งมอนทาราได้มีการพัฒนามาได้แล้วครึ่งทาง ซึ่งบริษัทฯมารับช่วงต่อ ซึ่งปริมาณสำรองน้ำมันในแหล่งนี้อยู่ที่ 40 ล้านบาร์เรล โดยอายุของแหล่ง 5ปีนับจากเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์.
|
|
|
|
|