|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ตลาดแชมพูเพื่อบำรุงผมเสียคึกคัก เมื่อ 'แพนทีน' จากพีแอนด์จี ส่งแคมเปญ 'ประกันผมสวย..การลงทุนที่คุ้มค่าของชีวิตเมือง' ตอกย้ำภาพผู้นำการดูแลเพื่อเส้นผมสวย และตอบไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ต้องการผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมแทนการเข้าร้านซาลอนมากขึ้น พร้อมต้อนรับผู้เล่นอย่างค่ายคาโอที่รีลอนช์ 'เอสเซนเชียล' บุกเซกเมนต์ 'เพื่อผมเสีย' เป็นสังเวียนแรก ส่วนฟากยูนิลีเวอร์ส่ง 'โดฟ' บุกประชิดผู้บริโภคในฐานะผู้เชี่ยวชาญการดูแลผมเสีย ส่วนแบรนด์ 'เคลียร์' ก็เร่งปูภาพสู่แชมพูบำรุงผมนอกเหนือจากการขจัดรังแค เมื่อทั้ง 3 ค่ายยักษ์ทุ่มสรรพกำลังอย่างเต็มที่ แน่นอนว่าสงครามนี้ย่อมร้อนแรงเข้มข้นและน่าติดตาม
ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมมูลค่ากว่า 12,900 ล้านบาท แบ่งออกเป็น แชมพู 9,200 ล้านบาท และครีมนวด3,700 ล้านบาท แม้ปัจจุบันอัตราการบริโภคจะมีเกือบ 100% โดยเฉพาะผู้บริโภคในกรุงเทพฯ ทว่า ความดุเดือดของธุรกิจดังกล่าวก็ไม่ได้ลดอุณหภูมิลงไปแม้แต่น้อย โดยเฉพาะการขับเคี่ยวกันระหว่างค่าย 2 ยักษ์ใหญ่อย่างพีแอนด์จีกับยูนิลีเวอร์ ที่มีให้เห็นมาอย่างต่อเนื่องแบบที่ไม่มีใครยอมใคร และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อค่ายคาโอร่วมโดดขึ้นสังเวียนนี้ ด้วยการรีลอนช์ 'เอสเซนเชียล' ขึ้นชิงชัยในสมรภูมินี้อีกครั้ง
ทว่า เซกเมนต์ที่บรรดา Key Player ให้ความสนใจและหันไปทำตลาดอย่างหนักในช่วงเวลานี้ คือ แชมพูเพื่อดูแลผมเสีย จะว่าไปแล้วก็ถือเป็นแชมพูที่จัดอยู่ในเซกเมนต์บิวตี้ ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนราว 67% ตามมาด้วยแชมพูขจัดรังแค 31% และแชมพูเด็ก 2% แต่ด้วยผู้บริโภคในยุคนี้ที่มีความต้องการและรู้จักเลือกสินค้ามากขึ้น ดังนั้นผู้เล่นในตลาดจึงต้องพัฒนาโปรดักส์ตนเองให้สามารถตอบโจทย์ได้ครอบคลุมที่สุด ทำให้แชมพูในบ้านเราต้องซอยย่อยจากเซกเมนต์มาสู่แฟลกเมนต์
แชมพูเพื่อดูแลผมเสีย คือ หนึ่งในความต้องการของผู้บริโภคยุคนี้ และยังเป็นคุณสมบัติอันดับต้นๆ อีกด้วย เพราะในทุกยุคทุกสมัย ผู้บริโภคไม่ได้เพียงแต่ต้องการแชมพูที่ช่วยบำรุงให้ผมนุ่มสลวยเท่านั้น แต่ต้องการการปกป้อง ดูแล รวมไปถึงการซ่อมแซมเส้นผมที่เกิดจากการทำกิจกรรมกับเส้นผม เช่น การไดร์ ทำสี ดัด ยืด โดยปัญหาเรื่องผมเสียเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว แต่จะเป็นผมเสียลักษณะใดก็จะเป็นไปตามเทรนด์ของผู้บริโภคแต่ละช่วงเวลาว่าจะนิยมทำอะไรกับเส้นผม ทั้งนี้ เมธี จารุมณีโรจน์ ผู้จัดการฝ่ายการสื่อสารการตลาดและองค์กร บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมแบรนด์ 'แพนทีน' กล่าวถึง ผลการสำรวจลักษณะปัญหาเรื่องเส้นผมของผู้บริโภคในปัจจุบัน พบว่า ปัญหาผมขาดหลุดร่วง คือ ลักษณะผมเสียที่พบมากสุดในตอนนี้ โดยการวิจัยยังระบุอีกว่า 15% ของเส้นผมผู้หญิงส่วนใหญ่มักขาดหลุดร่วง เนื่องจากผมแห้งเสียสุขภาพไม่ดี มากกว่าการหลุดร่วงเองตามธรรมชาติ
จึงเป็นที่มาของการลอนช์แคมเปญ 'Hair Health Investment & the City ประกันผมสวย...การลงทุนที่คุ้มค่าของชีวิตเมือง' เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์แบรนด์แพนทีนในฐานะแชมพูผู้ดูแลผมสวย โดยเฉพาะการหยุดปัญหาเรื่องการหลุดร่วงของเส้นผม ซึ่งพีแอนด์จีได้ลอนช์สินค้าใหม่ 2 ตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว คือ 'แพนทีนtm โปร-วีtm แฮร์ ฟอล คอนโทรล อินเทนซีฟ ทรีตเมนท์' ผลิตภัณฑ์ประเภททรีตเมนต์บำรุงเส้นผมระหว่างสระ และ 'แพนทีนtm โปร-วีtm โพรเทค แอนด์ แคร์ แฮร์ โค้ท' ผลิตภัณฑ์หลังการสระประเภทลีฟออน ทำให้แพนทีนกลุ่มแฮร์ ฟอล คอนโทรล มีสินค้ารวม 4 ขั้นตอน คือ แชมพู ครีมนวด ทรีตเมนต์ และลีฟออน ซึ่งมีผลช่วยให้ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา แพนทีนมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นอีก 1% เป็น 14% ในตลาดแชมพูมูลค่า 9,200 ล้านบาท รีจอยส์ 9% เฮดแอนด์โชว์เดอร์ 8% เฮอร์บัล เอสเซ้นส์ 2% ซันซิล 24.5% โดฟ 8.6% เคลียร์ 18.3% ส่วนตลาดครีมนวดมูลค่า 3,700 ล้านบาท แพนทีน มีส่วนแบ่ง 15.4% รีจอยส์ 4.4% เฮดแอนด์โชว์เดอร์ 2% เฮอร์บัลเอสเซ้นส์ 2.6% ซันซิล 29.3% โดฟ 15.7% เคลียร์ 2.2%
สำหรับแคมเปญดังกล่าว จะเห็นว่า พีแอนด์จีต้องการตอกย้ำโพซิชันนิ่งการเป็นผู้นำในฐานะผู้เชี่ยวชาญดูแลผมเสีย โดยเน้นไปที่กรณีผมหลุดร่วงให้ชัดเจนและอยู่ในความเข้าใจของผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งที่ผ่านมาแพนทีนก็เป็นแบรนด์ที่มีภาพความเป็นแชมพูเพื่อผมสวยระดับพรีเมียมอยู่แล้ว แต่ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะต้องการโต้กลับคู่แข่งอย่างโดฟของค่ายยูนิลีเวอร์ที่หันมาส่ง message กับผู้บริโภคในฐานะผู้เชี่ยวชาญดูแลผมเสียด้วย แม้ว่า message ดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่โดฟพูดมาระยะหนึ่งแล้วก็ตาม แต่อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นครั้งแรกที่โดฟเลือกโฟกัสมาที่ปัญหาการหลุดร่วงของเส้นผมอย่างชัดเจนด้วย ทั้งที่ปีก่อนโดฟยังเน้นสื่อสารเรื่องผมแห้งเสีย แตกปลายที่เกิดจากการดัด ไดร์ หรือการทำสี ผ่านแคมเปญ Better Morning Better Hair โดยมีสูตร 'โดฟ เธอราพี ซิสเต็ม รีแพร์ริ่ง เซรั่ม' เป็นไฮไลต์ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในตอนนั้นที่พบว่า ปัญหาผมแห้งเสียแตกปลายที่เกิดจากการทำสี ไดร์ หรือดัด เป็นปัญหาที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก
ฉะนั้นเพื่อให้สอดคล้องไปกับเทรนด์และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค จึงไม่แปลกที่วันนี้โดฟจะย่อยเซกเมนต์ไปสู่แฟลกเมนต์ ด้วยการส่ง 'โดฟ แฮร์ ฟอลล์ เธอราพี ซิสเต็ม' สูตรที่ช่วยป้องกันผมขาดร่วงออกสู่ตลาด ซึ่งมีทั้งหมด 4 ขั้นตอนเช่นกันคือ แชมพู ครีมนวด ทรีตเมนต์ และเซรั่มบำรุงผม พร้อมจับมือกับสาวๆจากเกรฮาวนด์ที่ถือเป็นสาวรุ่นใหม่ให้ร่วมพิสูจน์ประสิทธิภาพด้วย
แม้แต่แบรนด์ 'เคลียร์' ในเครือยูนิลีเวอร์ ก็เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่โดดมาเล่นเรื่องผมเสียด้วย เห็นได้จากการทุ่มงบ 150 ล้านบาท ปรับชื่อจาก 'คลีนิค เคลียร์'มาเป็น 'เคลียร์' เมื่อราวเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยถือเป็นโปรเจกต์ใหญ่ในรอบ 2 ปีของแบรนด์นี้ นอกจากการปรับเพื่อให้เป็นชื่อเดียวเหมือนกันทั่วโลกแล้ว งานนี้ดูเหมือนว่า เคลียร์ กำลังสลัดจากภาพเดิมที่เป็นเพียงแชมพูขจัดรังแค มาสู่แชมพูที่ตอบโจทย์เรื่องการดูแลผมสวยด้วย ซึ่งเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากที่ส่ง พลอย เฌอมาลย์ เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสูตร 'เคลียร์ ดราย แอนด์ แดเมจ รีแพร์' พร้อมเปิดตัวแคมเปญ 'ท้าเคลียร์ ปัญหาผมแห้งเสีย เคลียร์ปัญหารังแค' ซึ่งเห็นชัดเจนว่า เคลียร์กำลังขยับโพซิชันนิ่งของตนเองจากแชมพูขจัดรังแคก้าวข้ามมาสู่แชมพูบิวตี้ โดยหวังว่าจะขยายฐานลูกค้าที่ต้องการใช้แชมพูขจัดรังแคได้กว้างขึ้น แม้ปัจจุบันแบรนด์เคลียร์จะเป็นเบอร์ 1ในเซกเมนต์ขจัดรังแค ทว่าเซกเมนต์ดังกล่าวก็ยังมีสัดส่วนเล็กกว่าแชมพูบิวตี้เกือบเท่าตัว
รวมทั้งการสำรวจของค่ายลีเวอร์ ที่พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะไม่ใช้แชมพูประเภทขจัดรังแคต่อเนื่อง โดยจะใช้เวลาที่มีปัญหาเท่านั้น เมื่อดีขึ้นก็จะกลับไปใช้แชมพูบิวตี้เช่นเดิม เพราะคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเมื่อใช้แชมพูขจัดรังแคต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จะทำให้ผมแห้งกระด้าง ขณะเดียวกันยังพบอีกว่า ผู้บริโภค 48% มีปัญหารังแคควบคู่กับปัญหาผมแห้งเสีย และดูเหมือนว่าการขยับของเคลียร์ครั้งนี้ดูจะสร้างผลงานได้ดีทีเดียว วัดจากตัวเลขส่วนแบ่งตลาดรอบล่าสุด (ม.ค.-ส.ค.2552) ที่ขยับขึ้นมาเป็น 8.6% จากตลาดแชมพูมูลค่า 9,200 ล้านบาท ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีไม่ถึง 8%
ทั้งนี้แคมเปญล่าสุดของแพนทีน สิ่งสำคัญอีกข้อที่ผู้เล่นรายนี้ยังต้องการสื่อผ่านแคมเปญไปยังผู้บริโภค นั่นคือ การชี้ให้เห็นถึงความคุ้มค่าของตัวโปรดักส์ที่เหมาะแก่การลงทุนหรือซื้อไปใช้บำรุงผม ซึ่งสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของสาวๆในเมืองยุคนี้ที่นิยมซื้อผลิตภัณฑ์มาดูแลเส้นผมด้วยตนเองมากกว่าการเข้าร้านซาลอน แม้จะไม่มีตัวเลขชัดเจน ทว่า ด้วยจำนวนผู้เล่นที่โดดเข้ามาเป็นจำนวนมากในเซกเมนต์ผมเสียที่ตอนนี้มีมูลค่ากว่า 1,800 ล้านบาทแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นหน้าเก่าที่ทยอยปล่อยหมัดเด็ดโดยเข็นสูตรใหม่ๆที่พัฒนาขึ้นมาในรูปแบบแฟลกเมนต์เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของแต่ละบุคคลได้ดียิ่งขึ้น หรือผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง 'บาหวาง' แบรนด์ดังจากจีนที่เพิ่งโดดเข้าสู่ตลาดแชมพูบ้านเราหมาดๆ แม้จะเป็นเบอร์ 1ของตลาดแชมพูในเมืองจีน แต่เมื่อเข้าสู่ตลาดใหม่ บาหวางยังเลือกเข็นสูตรที่ตรงกับเทรนด์ในตอนนี้ ด้วยการลอนช์สูตร Anti-hair Fall Shampoo Professional จากทั้งหมด 9 เอสเคยู เป็นหัวหอกบุกเซกเมนต์ผมร่วงเป็นตัวแรก
กลับมาที่แคมเปญล่าสุดของแพนทีน แม้จะเป็นการพูดถึงความคุ้มค่า ซึ่งอาจดูเหมือนจะไปทับซ้อนกับอีกแบรนด์ในเครืออย่างรีจอยส์ที่สื่อสารเรื่องความคุ้มค่าเช่นกัน ทว่าเป็นเรื่องของ Value for Money ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักจะอยู่ในต่างจังหวัด ต่างจากแพนทีนที่จะมุ่งสื่อสารไปกับสาวๆในกรุงเทพฯ หรือตามหัวเมืองใหญ่มากกว่า ที่สำคัญเรื่องความคุ้มค่าที่แพนทีนสื่อออกไป ยังเน้นไปที่เรื่องความคุ้มค่าของผลตอบรับจากตัวโปรดักส์มากกว่าความคุ้มค่าเรื่องราคาด้วย
นอกจาก 2 ค่ายยักษ์ข้างต้น จะเห็นว่าศึกยกนี้มีสีสันมากขึ้น เมื่อคาโอขอโชว์พาวบนสังเวียนนี้อีกครั้ง ด้วยการรีลอนช์ 'เอสเซนเชียล แดเมจ แคร์' ขึ้นบุกตลาดผมแห้งเสียอย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศกร้าวชน 'โดฟ' อย่างเป็นทางการด้วย แต่เมื่อไม่ใช่ผู้เล่นที่ชูจุดขายนี้เป็นรายแรกๆ คาโอจึงต้องเลือกโฟกัสเรื่องผมแห้งเสียในแบบที่คู่แข่งยังไม่ได้กล่าวถึง นั่นคือ การฟื้นฟูบำรุงผมเสียที่เน้นตรงปลายผม 15 ซม. ซึ่งผู้บริหารคาโอ บอกว่า เป็นบริเวณผมที่โดนทำร้ายจากความร้อนที่เกิดจากการใช้ไดร์ หรือเครื่องรีดผมมากสุด โดยเป็นผลการสำรวจพฤติกรรมแบบอินไซด์ของสาวๆอายุ 20 ปีขึ้นไปในยุคนี้ที่พบว่า มีการใช้เครื่องรีดผมเพิ่มจาก 8% ในปี 2550เป็น 50% ในปี 2551 และนี่คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้คาโอเข็นเอสเซนเชียล แดเมจ แคร์ บุกเซกเมนต์นี้ก่อนเป็นลำดับแรก พร้อมมั่นใจอีกว่าจะได้การตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลักอายุ 18-20ปีขึ้นไป ซึ่งคาโอตั้งเป้าส่วนแบ่งสิ้นปีนี้ที่ 4% จากตลาดรวมแชมพู แม้จะเป็นตัวเลขที่ยังห่างไกลจาก 2ผู้นำอย่างค่ายลีเวอร์ กับพีแอนด์จี
ทว่าการขยับของคาโอในช่วง1-2 ปีที่ผ่านมา ก็สามารถเรียกความสนใจจาก 2 ผู้เล่นได้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเข็น 'เอเชียนซ์' เข้าสู่ตลาดเมื่อปีก่อนในฐานะแชมพูบิวตี้ระดับพรีเมียม ซึ่งชนกับแพนทีนแบบเต็มตัว แม้ตอนนี้เอเชียนซ์จะมีส่วนแบ่งเพียง 1.6% ซึ่งถือว่าไม่ใช่ตัวเลขที่สูงนัก แต่เมื่อเจาะลึกไปเฉพาะตลาดในกรุงเทพฯ ที่ล้วนเป็นฐานลูกค้าหลักของแพนทีน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เอเชียนซ์ต้องการบุก จะเห็นว่า เอเชียนซ์มีส่วนแบ่งถึง 2.6% ซึ่งตลาดที่มีมูลค่าใหญ่ขนาดนี้ การคว้าตัวเลขดังกล่าวก็ถือว่าเป็นผลงานที่ใช้ได้ ฉะนั้นการส่งเอสเซนเชียลเข้ามาในเซกเมนต์ผมเสีย แน่นอนว่าต้องเพิ่มสีสันและความร้อนแรงให้กับตลาดได้เป็นอย่างดี เพราะเชื่อว่างานนี้โดฟคงไม่ยอมปล่อยคู่แข่งเข้ามาตอดแชร์ไปอย่างง่ายดาย และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพีแอนด์จีส่งแพนทีนเข้าร่วมสมรภูมินี้ด้วย งานนี้คงสู้กันมันหยด
|
|
|
|
|