|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
2 องค์กรใหญ่ "Hewitt - TMA " เผยผลสำรวจค่าจ้างและผลตอบแทนปี 2553 ชี้แนวโน้มเงินเดือนทุกธุรกิจมีโอกาสเพิ่มเฉลี่ย 4.7% ตามภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ระบุกลุ่มยานยนต์ขยับสูงสุด ขณะที่กลุ่มขนส่ง - ไอที ต่ำสุดเหมือนเดิม ด้านโบนัสยังไม่มีผลสรุปชัดเจน แย้มหลายองค์กรวางแผนปรับตัวหันจูงใจพนักงาน ด้วยการจ่ายผลตอบแทนแบบผสมผสาน เน้นการจ่ายแบบผันแปรแทนการจ่ายแบบคงที่
บริษัทที่ปรึกษาเเละพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ Hewitt Associates ทำการสำรวจค่าจ้าง หรือ Total Compensation Measurement (TCM) และการขึ้นเงินเดือน หรือ Salary Increase Survey (SIS) ซึ่งมีบริษัทเข้าร่วม 146 บริษัท พบว่า ในปี 2553อัตราเฉลี่ยของการขึ้นเงินเดือนน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดี คาดว่าจะเพิ่มขึ้น+ 4.7% ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงสภาพเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเฉลี่ยของการขึ้นเงินเดือนในปี 2552 อยู่ที่ +3.4% ซึ่งถือว่าต่ำตัวเลขที่คาดไว้ในปีก่อนว่าจะสูงถึง +6.8%
ทั้งนี้ ปัจจัยที่สำคัญ เนื่องจากการลดลงของอัตราเฉลี่ยของการขึ้นเงินเดือนในปี 2553 จะมีเเค่เพียงบริษัทจำนวน 14% ที่วางเเผนจะระงับการขึ้นเงินเดือน ในขณะที่ ในปี 2552 มีบริษัทจำนวน 42% ระงับการขึ้นเงินเดือนของพนักงานในบริษัท
เผยทิศทางค่าจ้างขยับขึ้น
ซูเรนดรัน รามานาธาน ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการบริหารค่าตอบแทน Hewitt Associates เเสดงความคิดเห็นว่า ผู้ว่าจ้างมีความมั่นใจมากขึ้นเมื่อมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2553 เเต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ได้เป็นปัจจัยเพียงอย่างเพียง ที่ส่งผลต่ออัตราการขึ้นเงินเดือน เนื่องจากองค์กรต่างๆ ยังคงต้องมุ่งหน้าสร้างผลกำไร โดยการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (Effective Cost Management)
โดยธุรกิจที่จะมีอัตราการขึ้นเงินเดือนที่สูงที่สุด คืออุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์เเละรถยนต์ ซึ่งจะมีอัตราการขึ้นโดยเฉลี่ย + 6.7% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากผลกระทบอย่างรุนเเรงที่ได้รับจากสภาวการณ์เศรษฐกิจเมื่อปี2552 จึงทำให้หันมารับมือโดยการออกมาตราการต่างๆ ในการลดต้นทุนเเละค่าใช้จ่ายอย่างเเข็งขัน จึงสามารถให้ค่าตอบเเทนกับพนักงานเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่ ธุรกิจการขนส่งเเละอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศจะยังคงเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีอัตราการขึ้นเงินเดือนที่ต่ำที่สุดในปี 2553เช่นเดียวกับในปี 2552
ส่วนการจ่ายค่าตอบเเทนพบว่า 80% ของบริษัทที่ร่วมสำรวจยืนยันว่า จะมีการบริหารจัดการเรื่องการกำหนดการจ่ายค่าตอบแทนแบบผันแปร (Variable Pay) แต่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวในเรื่องของการจ่ายโบนัสที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม 22% ของบริษัทที่ร่วมสำรวจชี้ว่า ได้วางเเผนที่จะลดการจ่ายค่าตอบแทนแบบผันแปรปลายปี (year-end variable payouts) เเละเพื่อเป็นการรับมือกับวิกฤติเศษฐกิจ องค์กรต่างๆ มีการปรับปรุงเปลี่ยนเเปลงเเผนการจ่ายเเบบผันเเปร ซึ่งการเปลี่ยนเเปลงที่เห็นได้ชัดที่สุดคือวิธีการจ่ายเเละลดเป้าหมายการจ่าย
สำหรับเครื่องมือในการให้รางวัลที่บริษัทสามารถใช้เพื่อจะรักษาสมรรถนะของกลุ่มพนักงานที่สำคัญ คือการปรับเปลี่ยนเรื่องการให้ผลตอบเเทนเเบบผสมผสาน เเละเน้นการจ่ายค่าตอบแทนเเบบผันเเปรเเทนที่จะเน้นการจ่ายค่าตอบเเทนเเบบคงที่ ทั้งนี้ การจ่ายเเบบผันเเปร (Variable pay) จะทำให้องค์กรสามารถให้ผลตอบเเทนพนักงานที่มีผลปฏิบัติงานดีเลิศ เเละช่วยผลักดันให้เกิดการเติบโตของธุรกิจ
นอกจากนี้ การมุ่งเน้นไปที่การจูงใจพนักงานขององค์กรในระยะยาว เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของค่าตอบเเทนทั้งหมด (total rewards) ซึ่งกว่า 43% ของบริษัทที่ร่วมทำเเบบทดสอบลงความเห็นตรงกัน ขณะที่ ในเวลานี้บทบาทของผู้นำที่ดีก็มีความสำคัญมาก เนื่องจากผู้นำที่ดีจะสามารถในการมองเห็นโอกาสที่เหมาะสมเเละนำพาองค์กรให้ก้าวผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ ดังนั้นองค์กรเองก็ต้องให้ความสำคัญกับการตอบเเทนเเละให้รางวัลผู้นำในองค์กรด้วยเเผนการหรือโครงการที่จะรักษาเเละจูงใจผู้นำเหล่านี้ในระยะยาว
สำหรับประเทศไทย เเผนการหรือโครงการที่จะรักษาเเละจูงใจพนักงานในระยะยาวที่สามารถพบเห็นอย่างเเพร่หลายก็คือ Employee Stock Options (ESOP) โดยมีถึง 65% ขององค์กรที่เสนอเเผนการจูงใจดังกล่าวเเก่พนักงานขององค์กร ซึ่งเเผนการดังกล่าวมีเป้าหมายหลักๆ คือการคงไว้ของจำนวนพนักงาน (87%) การขับเคลื่อนสมรรถนะขององค์กร (72%) เเละสร้าง Employee Ownership ( 67%)
วิเคราะห์อัตราการลาออก
จากวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทยบรรเทาลงในตอนนี้ และเริ่มจะมองเห็นอัตราการลาออก (Turnover Rate) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพราะการเพิ่มขึ้นของ Voluntary Turnover Rate จาก +7.8% ในปี 2551 เป็น +9.3% ในปี 2553 เป็นตัวบ่งบอกอย่างชัดเจนถึงการจ้างงานที่เข้มข้นขึ้น เนื่องจากพนักงานเริ่มมองหาโอกาสทางการงานที่ดีขึ้นนอกบริษัท
เมื่อวิเคราะห์ อัตราการลาออกของเเต่ละประเภทของธุรกิจ จะเห็นว่าธุรกิจการบริการเเบบมืออาชีพ (บัญชี,ที่ปรึกษา,กฎหมาย) มีอัตราการลาออกสูงที่สุด อยู่ที่ 21.4% ในขณะที่ธุรกิจอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ มีอัตราการลาออกต่ำที่สุด อยู่ที่ 6%
เนื่องจากในธุรกิจการให้บริการเเบบมืออาชีพ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ ที่ทำงานในบริษัทเเละมีการเติบโตทางด้านอาชีพการงานด้วยการทำงานข้ามองค์กรไปมา บริษัทเหล่านี้มักจะจ้างเด็กจบใหม่ที่ต้องการเริ่มต้นอาชีพกับองค์กรที่มีชื่อเสียงเเละย้ายบริษัทเมื่อมีประสบการณ์การทำงาน 2-3 ปี ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีกับทั้งบริษัทเเละพนักงาน เพราะบริษัทสามารถจะควบคุมการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายในด้านของเงินเดือนอีกด้วย
ในขณะที่ภาพรวมของโอกาสในการงานในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในประเทศไทยดูเหมือนจะคงที่ แต่ยังมีโอกาสในต่างประเทศพอสมควร และการที่อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีอัตราการลาออกต่ำ เนื่องจากส่วนใหญ่ตำเเหน่งงานที่รับในอุตสาหกรรมนี้เป็นงานเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านซึ่งมีผลตอบเเทนต่างๆ สูง ทั้งเงินเดือน โบนัส เเละเงินประกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเงินประกันที่เกี่ยวข้องกับการเกษียณอายุการทำงานเพื่อที่จะรักษาจำนวนพนักงานในองค์กร
สำหรับ การลาออกอย่างสมัครใจของพนักงาน ซึ่งเป็น สัญญาณอย่างหนึ่งที่เเสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังฟื้นฟูเเละฟื้นตัว โดยเหตุผลสำคัญอันดับแรกของการลาออกคือ การมองเห็นโอกาสทางการงานที่ดีกว่านอกองค์กรของตัวเอง (75%) ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าองค์กรในหลายๆ ประเภทของธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจที่มีอัตราการลาออกสูงมีการเริ่มจ้างงานเเล้ว สาเหตุรองลงมาคือ การเติบโตทางสายอาชีพที่จำกัด (42%) เเละเหตุผลอันดับสามคือ การศึกษาต่อในชั้นที่สูงขึ้น ซึ่งมีผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนพนักงานยุคใหม่ที่เข้ามาทำงานในองค์กร จนมีผลทำให้องค์กรมีค่านิยมเเละความคิดว่าพนักงานยุคใหม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาที่สูง เเละทำให้องค์กรปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการว่าจ้างเเละผลตอบเเทนต่างๆ ให้เข้ากับการเปลี่ยนเเปลงของความต้องการของเเรงงานรุ่นใหม่
ชี้ทางบริหารแบบสมดุล
ขณะที่องค์กรในประเทศไทยเตรียมพร้อมกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ องค์กรเหล่านี้ก็ต้องจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างการเติบโตเเละการจัดการเงินทุนเเละค่าใช้จ่ายต่างๆ หลังจากการล้มลงของเศรษฐกิจเมื่อปลายปี 2551 ทำให้องค์กรระดับโลกหลายๆ เเห่งประกาศเลิกจ้างหรือลดจำนวนพนักงาน ในทางกลับกัน จะเห็นกลยุทธ์ในการควบคุมเเละจัดการเเรงงานอีกรูปเเบบหนึ่งในปี 2553 นั่นคือ การจ้างงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Hiring) ซึ่งจะเป็นมาตราการสำคัญที่องค์กรต่างๆ จะนำมาใช้
ผลของเเบบสอบถามเเสดงให้เห็นว่า 63% ของบริษัทที่ร่วมเเสดงความคิดเห็นในเเบบสอบถามก็ลงความเห็นตรงกันในข้อนี้ นอกจากนั้น 58% ของบริษัทชี้ว่า จะยังดำเนินการไม่เพิ่มจำนวนพนักงาน (Headcount Freeze) ต่อไป และ 45% ของบริษัทชี้ว่า จะยังดำเนินการในเรื่องการหยุดว่าจ้าง (Hiring Freeze) นี่เป็นการเเสดงให้เห็นว่า ตลาดการว่าจ้างได้เปิดขยายขึ้นเเละจะมีโอกาสด้านการงานมากขึ้น เนื่องจากมากกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทที่ร่วมเเสดงความคิดเห็นเปิดเผยว่า มีการว่าจ้างงานหรือว่าจ้างงานโดยใช้กลยุทธ์ต่างๆ ร่วมด้วย
การหาวิธีรักษาพนักงานที่มีศักยภาพไว้ให้ดี เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเกือบทุกองค์กร เพื่อจะใช้โอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด การศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นว่า 37% ของบริษัทมีงบประมาณสำรองเเยกไว้เพื่อใช้ในการทำการปรับปรุงเเละเปลี่ยนเเปลงเเละให้รางวัลกับพนักงานกลุ่มนี้ เเละมากกว่า 60% ขององค์กรเลือกที่ใช้เเละริเริ่มเเผนการที่จะจัดหาโอกาสเพิ่มเติมในการเรียนรู้เเละการพัฒนาเพื่อเป็นการเก็บรักษาพนักงานชั้นหนึ่งขององค์กรไว้
นอกจากนั้นบริษัทจำนวน 36% ยังได้ชี้ว่า มีงบประมาณสำรองเเยกไว้เพื่อที่ใช้ในการทำการเลื่อนขั้นพนักงาน องค์กรต่างๆยังจะให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้จ่ายขององค์กรต่อไป เเละมีถึง 18% ขององค์กรที่ยืนยันว่าจะลดงบประมาณเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงานที่มีผลกระทบต่องบประมาณค่าใช้จ่ายในเดินทางเเละสันทนาการ
'สำหรับเรื่องของการอนุมัติตั๋วเครื่องบินในการเดินทาง เราจะเห็นว่ามีเเนวโน้มในการลดชั้นผู้โดยสาร โดยที่ตอนนี้ไม่มีบริษัทที่ร่วมเเสดงความคิดเห็นบริษัทไหนเลยทีให้ผู้บริหารชั้นสูง ใช้บริการเครื่องบินชั้นหนึ่งเเล้ว จะมีเเต่ ชั้นธุรกิจเท่านั้น ถึงเเม้ว่าในตอนนี้เศรษฐกิจของประเทศอเมริกาเเละเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น องค์กรในประเทศยังคงที่จะระมัดระวังตัวเเละยังคงพยายามจัดการการใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างต่อเนื่อง'
ซูเรนดรัน เสริมว่า ในตอนนี้มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเเล้ว พนักงานที่แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับบริษัทจะเป็นพนักงานที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากโอกาสต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเเรกๆ ของบริษัทที่เริ่มมีการฟื้นตัว
ในเรื่องของสวัสดิการ มีข้อมูลน่าสนใจหลายข้อ เห็นได้ว่ามีการเพิ่มขึ้นของจำนวนบริษัทจากเดิม 10% เป็น 16% ของบริษัทที่สามารถจะให้สวัสดิการแบบยืดหยุ่น (flexible benefit) กับพนักงานเป็นส่วนหนึ่งของค่าตอบเเทนทั้งหมด ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ (มากกว่า 85%) ยังคงให้ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน และการทำประกันชีวิต ซึ่งเป็นสวัสดิการที่บริษัทส่วนใหญ่ในประเทศไทยต้องมีให้พนักงานอยู่เเล้ว
นอกจากนี้ การให้รางวัลการอยู่ร่วมกับองค์การมายาวนาน (Long Service Award) มีบริษัทที่ร่วมทำเเบบสอบถามกว่า 68% เห็นด้วย เเละมากกว่า 50% ของบริษัทเลือกที่จะมอบทองเป็นรางวัลหลัก การคาดการณ์ดังกล่าว สำหรับประเทศไทยจะเป็นจริงได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองที่ต้องมีความมั่นคงด้วย เนื่องจากตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับการเเข่งขันที่ดุเดือดกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นในด้านการลงทุนจากต่างประเทศ การส่งออก เเละธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดูมั่นคงในเรื่องของการเมือง ขณะที่ องค์กรต่างๆ ต้องมีความพร้อมจะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนเเปลงที่อาจจะไม่คาดคิดมากก่อนในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจฟื้นตัว
TMA สรุปแนวโน้ม
ด้านสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เปิดเผยผลการสำรวจค่าจ้างและผลตอบแทนในปี 2552 ว่า จากการสำรวจ บริษัทชั้นนำเข้าร่วม 81 บริษัท จาก 9 กลุ่มธุรกิจ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยมี 21 บริษัทที่มียอดขายเกินกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป และอีกกว่า 45 บริษัท มียอดขายระหว่าง 1,000 ถึง 10,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นบริษัทที่มียอดขายตั้งแต่ 500 - 1,000 ล้านบาทต่อปี ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างกว่า 29,650 คน กลุ่มตัวอย่างเหล่านี้เป็นตัวแทนของพนักงานทั้งหมดของบริษัทผู้เข้าร่วมสำรวจที่มีจำนวนคนรวมกันสูงถึง 128,482 คน จึงนับว่าเป็นการสะท้อนภาวะตลาดการจ้างงานได้เป็นอย่างดี
จากการสำรวจพบว่าอัตราค่าจ้างในแต่ละระดับตำแหน่งในปี 2552 นี้ ในภาพรวมมีการเปลี่ยนแปลง ลดลงจากปีก่อนประมาณ -1% ในขณะที่ผลตอบแทนรวม ลดลงถึง-10% การที่ค่าจ้างปรับลดลง ถึงแม้ช่วงปลายปี 2551 จะมีการปรับค่าจ้างประมาณ +5% นี้ เนื่องจากตลาดการจ้างงานมีการปรับลดกำลังคน ทั้ง Early Retire ด้วยความสมัครใจ การ Lay off พนักงาน หรือแม้กระทั่งการลดค่าจ้างเงินเดือนพนักงานลง เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยมีบริษัทถึง 12 แห่ง (14% ของผู้เข้าร่วมสำรวจ) ที่เลิกจ้างพนักงานประจำ และ 11 แห่งที่มีการดำเนินการเพื่อลดผลประโยชน์ตอบแทนรวมลง เช่น ตัดเงินประจำตำแหน่ง ตัดโบนัส ลดค่าจ้างโดยตรง
เมื่อพิจารณาผลตอบแทนแยกตามกลุ่มธุรกิจ พบว่ากลุ่มธุรกิจที่มีการจ่ายค่าจ้างสูงยังคงเป็นกลุ่มปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ (CH) และมีแนวโน้มการจ้างค่าจ้างสูงสุด จากการสำรวจในหลายปีที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจดังกล่าวก็มักจะมีการจ่ายค่าจ้างในลักษณะ Top Market มาตลอด ซึ่งเป็นไปตามลักษณะธุรกิจที่มีผลตอบแทนในการดำเนินธุรกิจสูง และใช้พนักงานจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ
ในขณะที่กลุ่มที่มีผลตอบแทนรวมสูงสุด คือกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งตามธรรมชาติมักจะมีอัตราโบนัส ที่สูงติด Top ของตลาด แม้ค่าจ้างไม่สูงสุดของตลาด แต่ไม่ต่ำจนเกินค่าเฉลี่ยของตลาด ดังนั้นเมื่อพิจารณาผลตอบแทนรวมแล้วกลุ่มนี้จะมีอัตราที่สูงสุดของทุกกลุ่มธุรกิจ แม้กระทั่งในปีก่อนซึ่งเศรษฐกิจเริ่มมีปัญหาชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง แต่อัตราการจ่ายโบนัสของกลุ่มดังกล่าวก็ไม่ได้ลดลงมามากนัก ทำให้ผลตอบแทนทั้งปียังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
สำหรับการจ้างงานตามสายอาชีพ พบว่ากลุ่มงานที่มีอัตราค่าจ้างสูงสุดในปีนี้กลับมาเป็นของกลุ่มการผลิต และกลุ่มซ่อมบำรุง ซึ่งมีผลตอบแทนสูงทั้งด้านค่าจ้างและผลตอบแทนรวม กลุ่มงานทั้งสองนี้ล้วนติดอยู่ในกลุ่มที่มีผลตอบแทนสูงมาโดยตลอด และในปีนี้ก็กลับมาเป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนสูงสุดอีกครั้ง
ด้านการจ่ายค่าจ้างและผลตอบแทนสำหรับกลุ่มผู้มีความสามารถสูง (High Potential หรือTalent) ของตลาด พบว่ากลุ่ม HP ส่วนใหญ่ยังคงมีค่าจ้างต่ำกว่ากลุ่มพนักงานปกติในระดับตำแหน่งที่เท่ากันประมาณ -6% อย่างไรก็ตามในด้านอายุตัวยังคงมีอายุตัวที่ต่ำกว่าถึง 10 - 12 ปี แต่ในปีนี้จากภาวะเศษฐกิจตกต่ำและตลาดแรงงานซบเซา ทำให้ปัญหาการดูแลผู้มีความสามารถสูงอาจลดความกดดันต่อองค์กรลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ภาวะการล่าตัวผู้มีความสามารถสูงก็จะกลับมาพร้อมกับการขยายธุรกิจอีกครั้งของบริษัทต่างๆ เพราะฉะนั้น องค์กรที่ให้การดูแลผู้มีความสามารถสูงเป็นอย่างดีย่อมลดความเสี่ยงที่จะสูญเสียบุคลากกรที่มีความสามารถให้แก่คู่แข่งในที่สุด
สำหรับการสำรวจแนวโน้มการปรับค่าจ้างประจำปี 2552 พบว่า ภาพรวมของตลาดจะมีการปรับค่าจ้างประมาณ +5% และมีการจ่ายโบนัสเฉลี่ยประมาณ +2.3 เดือน ด้านอัตราการปรับค่าจ้างนั้น กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มการปรับค่าจ้างสูง ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสื่อสารและคอมพิวเตอร์ กลุ่มยาและเวชภัณฑ์ โดยมีแนวโน้มการปรับค่าจ้างในอัตรา +5.8% - +6% ในขณะที่กลุ่มธุรกิจที่เหลือจะมีอัตราการปรับระหว่าง +3.5% - +5% ขณะที่อัตราโบนัสเฉลี่ยของกลุ่มธุรกิจยานยนต์ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จะอยู่ในระดับสูงของตลาดเฉลี่ยประมาณ +3.3 - +3.8 เดือน กลุ่มที่เหลือเฉลี่ยแล้วจะอยู่ในอัตรา +1.5 - +2.0 เดือน
ทั้งนี้ ข้อสังเกตที่สำคัญจากการสำรวจ คือ อาจมีบริษัทถึง 11 แห่ง (จาก 81 บริษัท) ที่จะไม่มีการปรับค่าจ้างในปลายปีนี้ และอาจมีบริษัทสูงถึง 20 บริษัท ที่ไม่กำหนดโบนัสให้แก่พนักงานในช่วงปลายปี เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา
จากผลสำรวจที่กล่าวมาเห็นได้ชัดว่า สภาพเศรษฐกิจของประเทศคงจะส่งผลต่อบุคลากรในปีนี้ต่อเนื่องมาจากปีก่อน และอาจรุนแรงมากขึ้นอีกในบางกลุ่มธุรกิจ ผลประกอบการที่ถดถอยทำให้ผลตอบแทนพนักงานลดน้อยตามไปด้วย นอกจากนี้ การเลิกจ้าง และเกษียณก่อนกำหนด แม้ว่าจะน้อยลงไปมากแล้วในช่วงไตรมาส 3 แต่ผู้ว่างงานหรือเกษียณอายุก่อนกำหนด หากไม่สามารถหารายได้หรือกลับสู่ตลาดแรงงานได้ ในระยะยาวจะกลายเป็นปัญหาสังคมต่อไป
อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพเฉลี่ยทั้งปีที่ลดลงจากปีก่อนอาจเป็นตัวช่วยให้ผู้ที่ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง มีเหตุผล ตามแนวทางพระราชดำริ สามารถประคองตนอยู่ได้โดยได้รับผลกระทบไม่มากนัก ดังนั้น ในภาวะดังกล่าวนี้นักบริหารงานบุคคลเองคงต้องเตรียมการสื่อข้อความกับพนักงานให้ทราบถึงสถานการณ์ขององค์กรอยู่เสมอ ให้ความรู้และคำแนะนำแก่พนักงานเพื่อปรับอุปนิสัยการใช้จ่าย
อีกทั้งต้องมองยาวไปถึงแนวโน้มในปีถัดไปเมื่อภาวะเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ภาคธุรกิจที่อั้นการขยายตัวมาในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา เริ่มกลับสู่การลงทุนขยายธุรกิจ สิ่งแรกที่จะตามมาคือการแย่งกำลังแรงงานกัน สงครามการแย่งตัวคนจะกลับมาอีกครั้ง และมีแนวโน้มรุนแรงมากกว่าครั้งไหนๆ อีกด้วย องค์กรที่ตั้งตนเองอยู่บนความไม่ประมาท เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงไป สามารถปรับตัวได้ดี และเหนือสิ่งอื่นใดการมีความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ย่อมจะสามารถอยู่รอดจากภัยเศรษฐกิจในคราวนี้ ก้าวไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
|
|
 |
|
|