ประเทศสุดท้ายของการท่องโลกอาหรับกับคณะการค้าไทย นำโดยปิยะบุตร ชลวิจารณ์
อดีตนายแบงก์ผู้พลิกผันมานั่งเก้าอี้ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ก็คือ ประเทศบาห์เรน (Bahrain)
สำหรับบาห์เรนนั้นดูเหมือนประเทศไทยจะเชื่อมสัมพันธ์กันอย่างเงียบๆ มาตลอด
กระทั่งมาเป็นข่าวครึกโครมก็ตรงที่รัฐบาลบาห์เรนเซ็นสัญญายกพื้นที่บนศูนย์การค้า
ให้กรมส่งเสริมการส่งออกไปจัดแสดงสินค้าไทยแบบฟรีๆ ไม่เสียเงินสักบาทเดียว
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีถึงกับเดินทางไปเป็นสักขีพยานด้วยตนเอง
ไม่เพียงเท่านั้น บาห์เรนยังเซ็นสัญญาข้อตกลงกับไทยเรื่องเขตการค้าเสรี
ไทย-บาห์เรน (FTA : Free Trade Area) เมื่อ 29 ธันวาคม 2545 เพื่อให้สินค้าไทย
กับบาห์เรนไหลเวียนกันโดยไม่ต้องเสียภาษีอากร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรของไทย
ซึ่งชาติอาหรับเป็นตลาดเป้าหมายใหม่ของไทยจะได้ประโยชน์มาก
ผลแห่งข้อตกลงได้ข้อสรุปที่จะให้สินค้า 626 รายการลดภาษีเบื้องต้น (Early
Harvest) ลงเหลือ 0% และ 3%
จึงนับว่าบาห์เรนเป็นประเทศในกลุ่มอาหรับที่รัฐบาลไทยมีข้อตกลงทางการค้าอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด
อีกจุดหนึ่งที่เล็งกันก็คือ ความที่บาห์เรนมีพื้นที่ติดกับประเทศซาอุดีอาระเบีย
มีสะพานรถวิ่งข้ามถึงกันและมีการติดต่อการค้าระหว่างกันชุกชุม แต่เมื่อไทยกับซาอุฯ
ร้าวฉานเพราะเรื่องเพชรซาอุฯ ทำให้ไทยไม่สามารถยกขบวนสินค้าและแรงงานเข้าไปได้
บาห์เรนจึงน่าจะเป็น "สะพานการค้า" สำคัญในอนาคต
แต่ที่สำคัญคือ สินค้าไทยเองจะต้องมีกระบวนการพัฒนาแบบยั่งยืนผ่านระบบด้านสุขอนามัย
การตรวจสอบสินค้า และการรับรองเป็นสินค้า Halal จึงจะสามารถเข้าไปขายในชาติแถบอาหรับได้
คงไม่ใช่เฉพาะชาติเหล่านี้เท่านั้นที่เน้นควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้านำเข้า
หากแต่ระบบการกีดกันการค้า ซึ่งพลิกรูปแบบจากระบบกำแพงภาษีมาเป็นระบบการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐาน
ทำให้ทุกชาติในโลกหันมาใช้กรรมวิธีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มอียู ญี่ปุ่น แม้กระทั่งอเมริกาเองก็ยังทยอยออกกฎระเบียบด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง
โดยอ้างถึงการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศ จึงส่งผลกระทบต่อนโยบาย "ครัวไทย-ครัวโลก"
พอสมควร
สำหรับบาห์เรนแล้วเป็นแหล่งขุดทองของคนไทยอีกแห่ง หลังจากซาอุฯ ปิดประเทศห้ามแรงงานไทยและคูเวตถูกอิรักถล่ม
ก็ทำให้คนไทยย้ายเข้ามาทำงานในบาห์เรนมากขึ้น คนไทยส่วนใหญ่จะเข้ามาทำงานก่อสร้าง
เป็นพ่อครัวและเชฟประจำร้านอาหารไทยในโรงแรมหรูของบาห์เรน
ปัจจุบันมีคนไทยทำงานในบาห์เรน 2,000 คน
นอกจากนี้ก็มีร้านอาหารไทยหลายแห่งที่ตั้งขึ้น แต่กลับมีคนจีนเป็นเจ้าของเสียส่วนใหญ่
ทำให้รัฐบาลไทยพยายามที่จะหันมาจัดระเบียบร้านอาหารไทยในต่างแดนให้ได้มาตรฐาน
เหมือนต้นแบบไทยแท้
กล่าวสำหรับประเทศบาห์เรนนั้นเป็นหมู่เกาะเล็กๆ (archipelago) ที่ยื่นออกมาในอ่าวเปอร์เซีย
ห่างจากฝั่งทะเลแถบประเทศซาอุดีอาระเบีย 15 ไมล์ ประกอบด้วยเกาะต่างๆ 35
เกาะ มีพื้นที่รวมเพียง 620 ตารางกิโลเมตร พื้นที่เต็มไปด้วยทรายและหิน
ทำให้ดูแห้งแล้งเหมือนกับประเทศอาหรับที่ตั้งอยู่กลางทะเลทรายแม้จะเป็นเกาะก็ตาม
บาห์เรนมีประชากรเพียง 7 แสนคน เป็นชาวบาห์เรน 63% ชาวเอเชีย 19% อาหรับอื่นๆ
10% และอิหร่าน 8% เมืองหลวงชื่อ Manama ใช้สกุลเงินดีน่า (Bahrain dinar
: BHD) ซึ่ง 1 เหรียญฯ สหรัฐฯ เท่ากับ 0.38 ดีน่า
บาห์เรนได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2514 และเริ่มฟื้นฟูประเทศด้วยผลิตผลจากน้ำมัน
ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรทางทะเล ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2545 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยมีกษัตริย์เป็นประมุข
จึงได้มีนโยบายเปิดเสรีการค้าและมีแนวทางการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น
การค้าระหว่างไทยกับบาห์เรนนั้นไทยเสียดุลการค้า เพราะนำเข้าน้ำมัน เครื่องเพชรพลอย
อัญมณี แร่ธาตุต่างๆ จากบาห์เรน เมื่อปี 2545 ไทยนำเข้าสินค้าจากบาห์เรน
56.55 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 2,262 ล้านบาท (40 บาทต่อเหรียญฯ) ขณะที่บาห์เรนนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบเหล็กกล้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น โดยปี 2545 ไทยขายสินค้าให้บาห์เรนได้
34.94 ล้านเหรียญฯ หรือ 1,397.6 ล้านบาทเท่านั้น
ธุรกิจการค้าในบาห์เรนนับว่าเติบโตอย่างมาก อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP)
ประมาณ 3.8% มีอัตราเงินเฟ้อเพียง 0.4% กำลังซื้อของคนในบาห์เรนถือว่าสูงเพราะมีรายได้ต่อหัวสูงถึง
18,220 เหรียญฯ หรือประมาณ 728,800 บาทต่อปี
ทำให้มีห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก ในบาห์เรนสินค้าที่มีอนาคตของไทย
ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ อัญมณี เฟอร์นิเจอร์น่าจะมีลู่ทางสดใส
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าว ซึ่งไทยเตรียมที่จะเจาะตลาดบาห์เรนมากขึ้น เพราะบาห์เรนนิยมข้าวจากไทยรวมทั้งผลไม้กระป๋อง
สำหรับแนวโน้มอนาคตของบาห์เรนนั้น นับว่าน่าสนใจยิ่งสำหรับนักธุรกิจไทยซึ่งรัฐบาลมีสายสัมพันธ์อันดีต่อกันมาตลอด
จึงน่าจะเร่งรีบสานสายสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือการค้าภายในข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-บาห์เรน
การจัดแสดงสินค้าไทยอย่างยิ่งใหญ่ เพราะนอกจากจะได้ตลาดบาห์เรนแล้ว ตลาดซาอุฯ
ก็จะเป็นเป้าหมายต่อไปอย่างไม่ยากเย็นนัก
การเดินทางไปเปิดการค้าหลังจากสงครามอิรัก-สหรัฐฯ ยุติลงเพียงไม่กี่วันสำหรับ
4 ประเทศคือ เลบานอน เยเมน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน จึงเป็นการทะลวงการค้าครั้งสำคัญของรัฐบาลไทยกับชาติอาหรับไม่น้อย