Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2544








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2544
รำลึกอดีต กับอังคณา กะลันตานนท์             
โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
 

   
related stories

เคิร์ท ว๊าซไฟท์ ร่วมสร้างตำนานโรงแรมโอเรียนเต็ล
125 ปี โรงแรมโอเรียนเต็ล
"เสน่ห์งานศิลป์" ในโอเรียนเต็ล

   
search resources

โรงแรมโอเรียนเต็ล, บมจ.
จิม ทอมป์สัน
อังคณา กะลันตานนท์




วันหนึ่งในปี พ.ศ.2490 มาดาม เจอร์เมน ครูลล์ (Germaine Krull) ได้เอ่ยปากถาม อังคณา กะลันตานนท์ พนักงานต้อนรับหญิงคนเดียวของโรงแรมรัตนโกสินทร์ ขึ้นมาว่า

"อังคณา เธอจะไปทำงานกับฉันไหม"

"งานอะไรล่ะ"

"ก็งานโรงแรมที่โอเรียนเต็ล" เธอตอบ โอเรียนเต็ลเป็นโรงแรมที่อยู่ตรงไหนนะ ฉันคิดอยู่ในใจ แต่...ก็ได้ตอบเธอไปว่า

"แหมไม่รู้ซีนะ แล้วยูจะให้เงินเดือนฉันเท่าไร"

"แล้วเธอต้องการเท่าไรล่ะ ตอนนี้ได้อยู่เท่าไร" เธอย้อนถาม

"เดือนละ 600 บาท มีที่พักฟรี อาหารฟรี เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ไปทำกับ คุณฉันต้องจ่ายค่าอาหารเอง ค่าที่พักเอง ฉันขอเธอ 1,500 บาทแล้วกัน" ฉันตอบไปโดยที่ไม่คิดอะไรมาก ได้ก็เอาไม่ได้ก็ไม่เอา เพราะโรงแรมเป็นอย่างไรเราก็ไม่รู้

"อะไรนะ" เธอย้อนถามเสียงสูง แล้วพูดต่อด้วยเสียงที่รัวเร็วว่า "นั่นมันเงินเดือนรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเชียวนะ" ก่อนที่จะลาจากไปในวันนั้นพร้อมกับพูดเสียงอ่อยๆ ว่า "ฉันไปคิดดูก่อน มันมากเหลือเกิน"

มาดามครูลล์หายไปนาน แต่ในที่สุด เธอก็กลับมา "โอเค แล้วเธอจะมาทำงานได้เมื่อไร"

นั่นคือ ที่มาของการเข้าทำงานใน โรงแรมโอเรียนเต็ล เมื่อเดือนเมษายน ปี 2490 ของอังคณา กะลันตานนท์ ที่ปรึกษาฝ่ายอาคันตุกะสัมพันธ์ โรงแรมโอเรียนเต็ลคนปัจจุบันเมื่อ 54 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเธอมีอายุถึง 79 ปี เป็นพนักงาน ที่อายุมากที่สุด แต่ยังมีบุคลิกที่กระฉับ กระเฉงว่องไว มีความคิดที่ทันสมัยและ ยังมีความทรงจำถึงอดีตที่ผ่านเลยอย่างแม่นยำและสามารถถ่ายทอดให้ "ผู้จัดการ" ได้รับทราบถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชั่วเวลานั้นอย่างมีสาระ และสนุกสนาน

ย้อนเวลากลับในวัยเด็กคุณแม่ของอังคณาเป็นลูกสาวชาวจีน คุณพ่อเป็นนายทหารเรือที่เสียชีวิตตั้งแต่เธอยังเป็นเด็ก จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จาก โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ซึ่งสมัยนั้นต้องเรียนภาษาอังกฤษหนักมากและเรียนภาษาไทยเพียงวันละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อประมาณปี พ.ศ.2485 เมื่อเธอได้ยินข่าวจากวิทยุประกาศว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะเปิดโรงแรมชื่อ โรงแรมรัตน โกสินทร์และต้องการหาพนักงานต้อน รับที่เป็นหญิง พูดภาษาอังกฤษได้ และถ้าพูดภาษาต่างประเทศได้อีกภาษาหนึ่งก็ยิ่งดี หากใครต้องการก็ให้ไปสมัครซึ่งต้องการเพียงคนเดียวเท่านั้น เธอจึงได้ไปสมัครและสอบผ่าน

ในสมัยนั้น "โรงแรม" เป็นคำที่ไม่ได้มีความหมายในทางที่ดีเท่าไรนัก การทำงานโรงแรม มักถูกตั้งคำถามและ มองด้วยสายตาแปลกๆ ของผู้คน เพราะ อาชีพที่ได้รับการยอมรับของผู้หญิงในตอนนั้นก็คือ การเป็นแม่บ้าน ครู และเป็นนางพยาบาล อังคณาจึงต้องตอบคำถามและเพียรอธิบายกับคนใกล้ชิดว่า นี่เป็นโรงแรมของรัฐบาลนะ และเมื่อไปทำแล้วก็จะได้เป็นข้าราชการชั้นตรี

"พอดีเพื่อนคุณพ่อก็สนับสนุน บอกว่าทำกับรัฐบาลดีกว่าไปทำกับพวกญี่ปุ่น เพราะตอนนั้นกำลังอยู่ในระหว่างสงครามโลกด้วย คนทำงานกับพวกญี่ปุ่น บางคนก็ไม่ชอบ เพราะมองญี่ปุ่นมากดขี่ เราให้ทำสงคราม ก็เลยตัดสินใจไปเริ่ม ก็เป็นพนักงานต้อนรับ ซึ่งสมัยก่อนไม่เคยได้ยินชื่อนี้ยังไม่รู้เลยว่าหมายถึงอะไร ก็มีคนคอยบอกว่าต้องทำอะไรบ้าง" เธอรำลึกถึงความหลังด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม

โรงแรมรัตนโกสินทร์เปิดทำการครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2486 มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นคนมาทำพิธีเปิด โดยมีพนักงานต้อนรับหญิงคนเดียว คือ อังคณา เป็นผู้เอาวีไอพีบุ๊คไปให้เซ็น เป็นโรงแรมใหม่ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยนั้น มีห้องพักเพียง 45 ห้อง มีเฟอร์นิเจอร์ลวดลายกนกทองที่สวย งาม ในช่วงแรกไม่ค่อยจะมีคนมาพักสัก เท่าไร เพราะเป็นโรงแรมที่เกิดขึ้นในระหว่างสงครามโลก

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ในปีนั้นรัฐบาลก็ได้ให้โรงแรมแห่งนี้เป็นที่พักของนายทหารอังกฤษ และทหารอเมริกันเข้ามาพัก เมื่อทหารเหล่านี้ก็ออกไปหมดเหลือแต่พวกที่ทำงานสถานทูตและพวกเศรษฐีสงครามเท่านั้น

และแล้ววันหนึ่งในปี 2490 มาดามเจอร์เมน ครูลล์ (Germaine Krull) ช่างภาพหนังสือพิมพ์ ชาวฝรั่งเศส ได้เข้ามาพักที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ด้วยความที่เป็นผู้หญิงด้วยกัน และที่สำคัญมาดามคนนี้พูดภาษาฝรั่งเศสได้เพียงภาษาเดียว พูดภาษาอังกฤษได้บ้างนิดหน่อย ในขณะที่อังคณาเองสามารถพูดภาษาฝรั่งเศสโต้ตอบกับเธอได้ ทั้งคู่ก็เลยมีโอกาสได้พูดคุยสนิทสนมกัน

ในระหว่างที่พักอยู่ที่โรงแรมนี้ เจอร์เมน ครูลล์ ได้รู้จักกับนายทหารอเมริกันชื่อ จิม ทอมป์สัน ซึ่งเป็นทหารที่เข้ามาช่วงหลังสงครามแต่ไปพักและมีสถานที่ทำงานอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ และมิสเตอร์จิมคนนี้คือ ผู้ที่ชวนมาดามครูลล์ไปเช่าซื้อโรงแรมโอเรียนเต็ลด้วยกัน

ครั้งแรกที่อังคณาได้เข้ามาเห็นสภาพของโรงแรมโอเรียนเต็ล เธอถึงกับตกตะลึง เพราะดูเเป็นโรงแรมเก่าๆ ที่ไม่สวยงามเลย เทียบกับความหรูหราใหม่เอี่ยมของโรงแรมรัตนโกสินทร์ ที่เธอเพิ่งลาออกมาไม่ได้เลย เธอถึงกับหลุดปากพูดกับมาดามครัลว่า

"ตายแล้ว นี่จะทำอย่างไรดี ไอ้ที่ใฝ่ฝันว่ามันจะเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งน่ะฉันว่ามันยากนะ" ซึ่งมาดามก็บอกเธอว่า "เอาเถอะนะ เรามาช่วยกัน"

ครูลล์ และจิม ทอมป์สัน คือ 2 กำลังสำคัญในการพลิกฟื้นโรงแรมแห่งนี้ และได้ช่วยกันสร้างความสวยงาม มีชีวิตชีวาให้กลับคืนขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีอังคณา เป็นพนักงานต้อนรับที่ต้องทำหน้าที่เป็นเลขาคอยพิมพ์หนังสือ ช่วยแต่งจดหมาย โต้ตอบและงานอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย

"มาดามก็ซื้อสีมาทาโรงแรมใหม่ เฟอร์นิเจอร์ก็ซ่อมตกแต่งใหม่ ลงทุนปรับปรุงภายในในห้องพัก พื้นที่ใช้เสื่อน้ำมันก็ให้รื้อออกให้เห็นพื้นไม้ที่เป็น ไม้สักลวดลายสวยงามมากแทน โดยใช้ขี้ผึ้งผสมน้ำมัน จัดการซื้อที่นอน ผ้าห่ม ไม้ขีด สบู่ใหม่ ตามฝาเขียนด้วยภาษาดัตช์ ซึ่งเธอบอกว่าเป็นคำหยาบก็ลบล้าง ออก" อังคณาเล่าถึงงานในแต่ละวันในช่วงนั้น

สินค้าทุกอย่างในช่วงเวลาหลังสงครามนั้น นอกจากจะหาซื้อของดีๆ ได้ยากแล้ว ยังมีราคาแพงมาก แต่อย่างไรก็ตาม มาดามครูลล์ก็หาซื้อมาจนได้ โดยมีจิม ทอมป์สัน ซึ่งเรียนจบทางด้าน สถาปัตย์เป็นผู้ดูแลตกแต่งให้สวยงาม

เมื่อตกแต่งโรงแรมเสร็จสรรพ ก็เริ่มเปิดให้เช่า และพวกที่มาเช่าส่วนใหญ่ในระยะแรกจะเป็นพวกทำงานสถาน ทูต ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวนั้นจะเริ่มมีเข้ามาประมาณปี พ.ศ.2499

"ตอนนั้นที่โรงแรมมีน้ำประปา ใช้แล้วนะ แต่..แหม หยดติ๋งๆ วันไหนน้ำไม่พอก็เกณฑ์คนไปตักน้ำในแม่น้ำแล้ว แกว่งสารส้มเอา น้ำก็ออกมาขาวสะอาด ที่ในห้องน้ำก็มีตุ่มมังกร และมีกระบวยตักน้ำ มีผ้าเช็ดตัวห้องละผืนไว้ให้เหมือน โรงเตี๊ยมต่างจังหวัดตอนนี้เลย" อังคณา เล่าให้เห็นถึงสภาพในอดีตของโรงแรมชั้นหนึ่งแห่งโลก ในยุคปี 2000 อย่างสนุก สนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทรงจำของเธอที่มีต่อเรื่องของ "ราตรีโรแมนติก"

ในยุคนั้นมักจะมีเหตุการณ์ไฟดับเกิดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งเป็นเพราะนโยบายประหยัดไฟของรัฐบาลหรือเปล่า ก็ไม่ทราบได้ ไฟจะดับเป็นย่านๆ ไป และ ที่โอเรียนเต็ลนั้นจะดับทุกวันพฤหัส ดังนั้น ต้องมีตะเกียงรั้ว เติมน้ำมันก๊าดแล้วแขวน ไว้ตามที่ต่างๆ ประมาณ 50-60 ดวง พอสัก 6 โมงครึ่ง ก็จุดพรึบไปหมดเลย แต่ในที่สาธารณะ เช่น ในห้องอาหาร ทางเดินก็จะใช้ตะเกียงเจ้าพายุ ก็ต้องมีคนคอยสูบ

"เราต้องคอยสร้างอารมณ์ไปกับแขก คอยบอกว่า ค่ำนี้จะเป็นคืนโรแมนติกแล้วค่ะ แล้วแขกรับได้ แขกก็ไม่บ่นนะ เขาจะบอกว่า Itžs a romantic night แล้วก็ หัวเราะกัน อย่างว่าล่ะค่ะ ในสมัยก่อน ช่วงสงครามโลก 4 ปีนั้น ความลำบาก ความ ขาดแคลนมันมีมาก ดังนั้น โรงแรมสบายแค่นั้นมันก็สวรรค์แล้ว มีที่สะอาดให้นอน มีอาหารให้ทาน ไม่ต้องคอยวิ่งหนีลูกระเบิด แล้วตอนนั้นแขกน้อย เราก็รู้จักกับเขาไปหมด เรื่องนี้ก็เลยกลายเป็นที่สนุกสนานเฮฮากัน"

มาดามครูลล์ เป็นผู้บริหารคนหนึ่งที่มีความคิดดีๆ ในการสร้างชื่อเสียงให้ โอเรียนเต็ลเป็นที่รู้จักมากขึ้น เช่น การเปิดห้อง "แบมบู บาร์" ขึ้นมา แล้วหานักร้อง นักดนตรีที่เก่งๆ เข้ามาประจำ จนแบมบู บาร์ กลายเป็นสถานบันเทิงเริงใจของคน กลางคืนในยุคนั้น ปัจจุบันห้องที่เป็นแบมบู บาร์เก่า คือ ห้องทำงาน และห้องสมุดของโรงแรมโอเรียนเต็ลที่อังคณานั่งทำงานอยู่ทุกวันนี้ และเป็นห้องที่ "ผู้จัดการ" นั่งสนทนาอยู่กับเธอในวันที่ให้สัมภาษณ์นั้นเอง

มาดามครูลล์ ยังเป็นนักลงทุนผู้หญิงที่ใจกล้าและมองการณ์ไกล ด้วยการขยายโรงแรมสร้างเป็นตึกใหม่สูงถึง 10 ชั้น มีห้องเพิ่มมาอีกประมาณ 40 กว่าห้อง รวมทั้งหมดเป็นโรงแรมที่มีห้องพักรวมกันเกือบ 100 ห้อง เป็นตึกที่สูงที่สุดในเมืองไทยสมัยนั้น ชื่อว่า "ทาวเวอร์ วิง" ซึ่งเปลี่ยนเป็น "การ์เด้น วิง" ในปัจจุบัน

"เคยได้ยินคำว่า ตึก 9 ชั้นที่เยาวราช ใช่มั้ย นั่นล่ะ มาดามแกลบสถิติใหม่ ด้วยการสร้างตึก 10 ชั้น แล้วยังเปิดห้องอาหาร Le Normandie ณ ชั้นบนสุดของอาคาร ตกแต่งในแบบนอร์ มังดีขนานแท้ จนหนังสือพิมพ์ บางกอก โพสต์เอาไปกล่าวถึง แล้วมาดามครูลล์ก็บริหารโรงแรมนี้ต่อไปอีกประมาณ 10 ปี และหลังจากนั้นก็ขายหุ้นทั้งหมดในโรงแรมให้กับทางกลุ่มอิตัลไทยไป"

สาเหตุของการขายโรงแรมนั้นอังคณาเล่าว่าเธอไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด นัก ตามคำบอกเล่าของอังคณา จิม ทอมป์สัน ได้ขายหุ้นไปก่อนหน้ามาดามครูลล์เลิกกิจการหลายปี ซึ่งข้อมูลตรงนี้อาจจะขัดแย้งกับเรื่องราวจากหนังสือ "เดอะโอเรียนเต็ล บางกอก" ที่ An-dreas Augustin และ Andrew Wil-liamson เขียนไว้ และระบุว่าหลังจาก จิม ทอมป์สัน หุ้นส่วนรายหนึ่งหายตัวไปนั้น นับเป็นจุดปิดฉากอีกยุคหนึ่งของ โรงแรม และ..เธอมีความทรงจำอันน่าประทับใจอย่างมากกับ จิม ทอมป์สัน และยังจำได้ไม่ลืมว่า

ในวันหนึ่ง หน้าบันไดตึกออเธอร์ส วิง อันสวยงาม หลังจากทราบข่าว ว่า จิม ทอมป์สัน จะขายหุ้นโรงแรม เธอ ได้เอ่ยปากถามเขาว่า

"ทำไมยูถึงจะได้เลิกทำเสียล่ะ" ซึ่งเขาก็ตอบว่า

"ฉันจะไปทำกิจการใหม่" เราก็ถามว่าจะทำอะไร ที่จริงแล้วเขาก็เป็นผู้ใหญ่ เราเองนานๆ ทีจะพูดกับเขา แต่คราวนี้เราเห็นว่าเขาจะไม่อยู่แล้วก็อดจะถามไถ่ไม่ได้ และเมื่อเขาตอบว่า

"จะไปทำผ้าไหม"

"คุณน่ะเหรอจะไปทำผ้าไหมแล้ว จะไปสู้ผ้าไหมจีน หรืออิตาลีได้หรือ" เราก็ย้อนถามแบบเด็กๆ แล้วไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย เขาก็บอกว่า

"ได้ซี คอยดูแล้วกัน อังคณา You just wait and see" เราฟังแล้วยังหัวเราะ และก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรนัก แล้วคุณจิมก็เดินทางไปดูเรื่องผ้าไหมทั่วโลก แล้ววันหนึ่งก็กลับมาเขาก็มาบอกเลยว่า

"อังคณา เธอพูดว่า ผ้าไหมอิตาเลียนว่า ดีที่สุดใช่ไหม ฉันเอาผ้าไหมมาฝาก เธอ 1 ผืน แต่อีกหน่อยของฉันจะดีกว่านี้อีก" เราก็ขอบคุณ โดยไม่ได้คาดคิดว่า ต่อมาคำพูดของเขาจะกลายเป็นความจริง และตัวเขาเองถึงกับได้รับฉายาว่าเป็นราชาผ้าไหมไทยที่โด่งดังไปทั่วโลกจริงๆ"

บ่ายวันหนึ่ง ในปี 1967 จิม ทอมป์สัน ได้หายตัวไปอย่างลึกลับขณะเดินทาง ไปพักผ่อนในป่าทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย แต่กิจการผ้าไหมไทยของเขาก็ยังได้รับการสานต่อเจตนารมณ์มาอย่างต่อเนื่อง และสาขาสำคัญแห่งหนึ่งก็ยังอยู่ ในโรงแรมโอเรียนเต็ล (อ่านรายละเอียดได้จาก จิม ทอมป์สัน "ยุทธศาสตร์ต้องใหญ่" ในผู้จัดการ ฉบับเดือนกันยายน 2544 เขียนโดยอรวรรณ บัณฑิตกุล)

ส่วนอังคณาเอง ก็ได้ร่วมงานกับผู้บริหารยุคใหม่ที่มีหมอชัยยุทธ กรรณสูต เป็นประธานกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยมีจิออร์จิโอ แบร์ลิงเจียรี นักธุรกิจชาวอิตาลี ซึ่งเข้ามาร่วมถือหุ้น และมีเคิร์ท ว๊าชไฟท์ (Kurt Wachtveitl) กรรมการ ผู้จัดการคนปัจจุบัน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการบริหารโรงแรมในช่วงแรกๆ ของยุคนี้ จนกระทั่งแบร์ลิงเจียรีเสียชีวิตไป ในปี 2524 เคิร์ทก็ได้เป็นผู้บริหารต่อมา และกลายเป็นผู้สร้างตำนานบทใหม่ให้โรงแรมโอเรียนเต็ล มีชื่อเสียงโดดเด่นก้องโลกมากกว่าทุกยุคในอดีตที่ผ่านเลย

ทุกวันนี้ อังคณายังมาทำงานทุกวัน ในตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายอาคันตุกะสัมพันธ์ และเป็น "ป้าอัง" หรือ "คุณย่าอัง" ของพนักงานทุกคนในโรงแรมโอเรียนเต็ล มีหน้าที่ สำคัญคือ คอยต้อนรับแขก โดยเฉพาะเมื่อมีแขกเก่าแก่ของโรงแรมบางคนที่แวะเวียนมาพักเกือบทุกปี จนมีความสนิทสนมผูกพันกันนานเป็นพิเศษ พร้อมๆ กับสร้างทีมงานใหม่คือ นวลศรี กำบรรณารักษ์ และมยุรี เลาลักษณเลิศ เป็นตัวแทนในการสานต่องาน เผื่อว่าวันหนึ่งในเร็วๆ นี้ เธอจะได้ไปพักผ่อนนอนอ่านหนังสือ ฟังเพลงคลาสสิก และเดินทางท่องเที่ยว หลังจากเหนื่อยมานานจนจะครบรอบ 54 ปีเต็ม ในเดือนเมษายนปี 2001 นี้แล้ว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us