* จากคู่แข่งอมตะของวงการบันเทิงเมืองไทย แกรมมี่-อาร์เอส สู่เส้นทางต่างคนต่างไป
* อาร์เอส จองพื้นที่คอนเทนต์บันเทิง จากเพลงถึงกีฬา สร้างความยิ่งใหญ่ในเมืองไทย
* แกรมมี่ประกาศอาสานำทัพบันเทิงไทย โค่น K-Pop ครองตลาดเอเชีย
จากจุดเริ่มต้นค่ายเพลงวัยรุ่นในยุค'80 เติบโตสู่การเป็น 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจบันเทิงไทยยุค 2000 จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และอาร์เอส กลายเป็น 2 บริษัทคู่แข่งสุดคลาสสิกของวงการตลาดเมืองไทยที่มีเรื่องราวการแข่งขันในหลากหลายมุมเล่าขานตลอดมา ตั้งแต่การแข่งขันทางการตลาด ศิลปินที่ลอนช์ออกมาแบบเบอร์ชนเบอร์ ธงไชย แมคอินไตย์ กับอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง, เจ-เจตริน วรรธนะสิน กับทัช ณ ตะกั่วทุ่ง หรือดีทูบี กับ G-BOYZ การย้ายสลับค่ายไปมาของศิลปิน นักร้อง นักแสดง ทั้ง 2 ค่ายที่มีอย่างต่อเนื่อง และท้ายสุดคือการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจครั้งสำคัญ หลังการเฉลิมฉลองการก่อตั้งองค์กรครบ 25 ปี
อาร์เอส คือค่ายเพลงที่ครองตลาดวัยรุ่นมาตั้งแต่ช่วงปี 2525 ในช่วงเวลาบุกเบิก เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ ผู้ก่อตั้งอาร์เอส เปิดแนวรุกด้วยวงดนตรีสตริงวัยรุ่น อย่าง อินทนิน, คีรีบูน, ฟรุ๊ตตี้, บรั่นดี และซิกเซนต์ ชิงตำแหน่งผู้นำมาจากนิธิทัศน์ ที่อยู่ในช่วงตกต่ำจากการเลิกราไปของวงดนตรีในสังกัดอย่าง รอยัลสไปรท์ส, แมคอินทอช และอินโนเซนต์
ขณะที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ 2 หัวเรือสำคัญ เรวัต พุทธินันทน์ และไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2526 ด้วยการนำทีมงานนักดนตรีมืออาชีพเข้ามาร่วมงาน สร้างศิลปินนักร้องที่มุ่งไปในกลุ่มคนวัยทำงาน อย่าง ธงไชย แมคอินไตย์, นันทิดา แก้วบัวสาย หรือฐิติมา สุตสุนทร ก่อนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเบียดให้อาร์เอส เหลือตลาดเพียงกลุ่มเพลงวัยรุ่น
จนเมื่อผ่านปี 2000 เข้าสู่การเฉลิมฉลอง 25 ปี ของทั้ง 2 ค่าย กระแสความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญก็ก้าวเข้าสู่อาณาจักรบันเทิงทั้ง 2 ฝั่ง
อาร์เอส ยืนหยัดจองตลาดเมืองไทย ชู Entertainment Network สู่อนาคต
ความสำเร็จที่มีมายาวนานของอาร์เอส แม้จะถูกค่อนแคะว่าเป็นค่ายเพลงลูกกวาดที่เน้นการสร้างสีสันเป็นหลัก ด้านคุณภาพการร้องกลับเป็นรอง แต่ถึงเช่นนั้น อาร์เอสก็ยังสามารถครองตลาดผู้ฟังกลุ่มวัยทีนมาได้โดยตลอด
อาร์เอส มีการปรับตัวครั้งใหญ่ภายหลังครบรอบ 25 ปี โดย สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หลังนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็มีการปรับโครงสร้างธุรกิจจากการเป็นเพียงค่ายเพลง ก้าวสู่การเป็น Entertainment & Sport Content Provider ที่มีความหลากหลายทางธุรกิจ ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาธุรกิจเพลง มาสู่การหาโอกาสที่กว้างขึ้นจากคอนเทนต์บันเทิง และกีฬา
'เราต้องเปลี่ยน เพราะก่อนหน้านี้ แม้อาร์เอสจะเป็นบริษัทบันเทิง แต่ความเป็นจริงรายได้ส่วนใหญ่กว่า 70-80% มาจากเพลง นั่นคือภาพก่อนหน้า นอกจากนั้นในช่วง 3-4 ปีก่อนหน้า เทรนด์ของธุรกิจเพลงมีสัญญาณเตือนว่าอันตราย ยอดซีดีเริ่มลดลงเรื่อยๆ โดยมีที่มาจาก 2 ส่วนสำคัญ การละเมิดลิขสิทธิ์ และที่หนักยิ่งกว่าคือการเข้ามาของดิจิตอล และออนไลน์ ผู้บริโภคฟังเพลงเหมือนเดิมและมากขึ้น แต่เปลี่ยนวิธีการ ทำให้อาร์เอสเริ่มมองว่า การที่เราต้องพึ่งพาธุรกิจเพลงกว่า 80% ในเชิงธุรกิจมันอันตราย เราก็จะเห็นว่าธุรกิจเพลงในเมืองนอกอยู่ไม่ได้ เราเห็นสัญญาณตรงนี้ ก็เริ่มเปลี่ยน'
สุรชัยนำธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาสู่องค์กรอาร์เอส ทั้งการทำหน้าที่โปรโมเตอร์จัดโชว์บิซจากต่างประเทศ การซื้อลิขสิทธิ์รายการกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลทัวร์นาเมนต์สำคัญจากต่างประเทศ และการร่วมทุนกับโครงการที่น่าสนใจ เช่น การผลิตภาพยนตร์ชุดอุลตร้าแมน กับกลุ่มสมโพธิ แสงเดือนฉาย
แต่ผลที่ออกมาคือความล้มเหลวโครงการแล้ว โครงการเล่า ทั้งลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโร 2008 ที่ขาดทุน รวมไปถึงการแพ้คดีลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนของสมโพธิ แสงเดือนฉาย ทำให้ภาพยนตร์ที่ผลิตเสร็จเรียบร้อยไม่มีโอกาสฉาย และที่ยังจำกันได้ดี คือคดีละเมิดทางเพศของสุดยอดนักมายากล เดวิด คอปเปอร์ฟิลล์ ทำให้โชว์ที่วางแผนจัดขึ้นในประเทศไทย ต้องล้มเลิก ทั้งที่ขายบัตร ขายสปอนเซอร์ไปหมดแล้ว
'ความผิดพลาดก็ต้องยอมรับว่ามีปัจจัยของมัน ยูโร 2008 ที่คนมองกันมาก ต้องบอกว่าขาดทุนเพราะ 2 ปัจจัยใหญ่ หนึ่งคือเวลาเตรียมตัวค่อนข้างกระชั้นชิด ในแง่ของการประสานงาน การขายสปอนเซอร์ทำได้ลำบาก อีกปัจจัยคือเวลานั้นมีปัจจัยเรื่องการเมืองนอกระบบเยอะมาก เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ผลกระทบค่อนข้างเยอะ และเรื่องโชคร้ายคือ อังกฤษตกรอบ ทำให้สีสันการแข่งขันลดลง มีผลกระทบบ้าง ทำให้เราขาดทุน แต่ยืนยันว่า ตัวคอนเทนต์ถือว่ามีศักยภาพ ขณะที่ธุรกิจโชว์บิซ คอนเทนต์ที่เราไปจับถูกต้อง เดวิด คอปเปอร์ฟิลล์ ถ้าไม่มีเรื่องอุบัติเหตุขึ้นมา สามารถทำกำไรได้แน่นอน สปอนเซอร์ และบัตรเข้าชม ขายหมด กำลังจะเพิ่มรอบ ผมถึงบอกว่าในเชิงธุรกิจ ทิศทางที่เราไป ถูก เราวิเคราะห์ถูก แต่ในเรื่องปัจจัยความไม่แน่นอน บางทีก็เป็นเรื่องที่เราคาดเดาไม่ได้'
แต่มาถึงปีนี้ อาร์เอสกลับมายืนอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง สุรชัย กล่าวว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ยอมรับว่า ผลประกอบการของอาร์เอสไม่สวย นอกเหนือจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในหลายๆ เรื่อง ที่เหลือก็เป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้แล้ว อาร์เอสเลือกที่จะเดินเข้าไปผ่าตัด เพราะพฤติกรรมการบริโภคเพลงของผู้คนเปลี่ยน ในขณะที่บางค่ายยังคงยืนยันที่จะผลิตซีดี บริหารสต๊อก แต่อาร์เอสเลือกที่จะทำให้เล็ก ขายโรงงานผลิตซีดีทิ้ง เลิกเช่าโกดัง ลดสต๊อก ในอดีตอาร์เอสเคยมีแผ่นสต๊อกอยู่ราว 17-20 ล้านแผ่น แต่เวลานี้แหลือประมาณล้านกว่าแผ่น เรามองว่าเทรนด์ของการขายแผ่นซีดีจะลดลงเรื่อยๆ ตามความเป็นจริง เพียงแต่ช่วงเวลาที่ผ่านมารายได้จากดิจิตอลยังมาทดแทนไม่ได้
สุรชัย กล่าวว่า โมเดลธุรกิจใหม่ของอาร์เอส ที่เดินในแนวทาง Entertainment Network แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วยคอนเทนต์ และมีเดีย
ในส่วนของคอนเทนต์ ประกอบไปด้วย เพลง ภาพยนตร์ ละคร ดิจิตอล ซึ่งเกิดขึ้นตามเทรนด์ของโลก และมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และคอนเทนต์สำคัญอีกส่วนที่พยายามแสวงหามาใหม่คือ กีฬา เพราะเชื่อว่ากีฬาก็คือส่วนหนึ่งของเอนเตอร์เทน โดยภาพของคอนเทนต์เอนเตอร์เทนเมนต์ที่ครบรอบด้าน และไม่ได้เทน้ำหนักไปที่ใดที่หนึ่งมากเกินไป ทำให้ความเสี่ยงของอาร์เอสมลดลง
ด้านกลุ่มมีเดีย ก็จะเป็นสื่อหลักๆ และสื่อใหม่ที่มีโอกาส สื่อหลักก็คือทีวี วิทยุ อาร์เอสรุกเข้าไปหาสื่อใหม่ๆ อินสโตร์มีเดีย เช่น วิทยุในโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ ทุกแบรนด์ เติบโตไปกับการขยายสาขาของแต่ละห้าง ทั้งโลตัส, คาร์ฟูร์, บิ๊กซี และท็อปส์ ขณะที่สื่ออื่นๆ เป็นสื่อเอาต์ออฟโฮม ก็ให้ อาร์เอส อินสโตร์มีเดียเป็นหัวหอกในการรุก ขณะที่สื่อออนไลน์ที่อาร์เอสให้ความสำคัญและลงมือทำ ที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จมาก ปีหน้าก็จะเดินหน้ารุกอย่างต่อเนื่องให้ใหญ่ขึ้น รวมไปถึงสื่อใหม่ล่าสุด ทีวีดาวเทียม ที่เปิดตัวไปแล้ว 2 ช่อง You Channel และสบายดีทีวี
สุรชัยวางแนวการบริหารธุรกิจด้วยการลดต้นทุนฟิกซ์คอสต์ลง จากต้นทุนการผลิตแผ่นซีดี ดีวีดี ที่เคยเป็นภาระใหญ่ วันนี้อาร์เอสเน้นการขายเพลงผ่านช่องทางดิจิตอล ยอดดาวน์โหลดที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนการลอนช์เพลงใหม่ๆ ออกมาในรูปแบบซิงเกิล เพลงเดียว มากกว่าการออกอัลบัม สนับสนุนด้านการลดต้นทุน และตอบโจทย์การดาวน์โหลด รวมไปถึงการคิดหาแพกเกจ หรือบริการที่จะกระตุ้นให้ลูกค้ามาดาวน์โหลด ที่ประสบความสำเร็จไปแล้วคือ ซูเปอร์เหมา *339 ให้แฟนเพลงเข้ามาเป็นสมาชิก โดยจ่ายรายเดือน โหลดเพลงอาร์เอส กับอาร์สยามกี่เพลงก็ได้ โดยเราเป็นรายแรกที่ใช้เลขเดียวกับทุกโอเปอเรเตอร์ ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งความคุ้มค่า และสะดวก ทำให้ฟีดแบ็กถึงเป้าเร็วกว่าที่คิด ภายในเวลา 3 เดือนสามารถสร้างสมาชิกได้ถึง 1 ล้านราย
'ปีนี้เราค่อนข้างสบายใจ เพราะยอดรายได้จากการดาวน์โหลดมันสูงกว่ายอดขายแผ่น สูงกว่าเราแฮปปี้ แต่ที่มากกว่านั้นคือ การขายแผ่น กำไรต่อหน่วยต่ำ แต่ยอดดาวน์โหลดกำไรสูง ยิ่งโตเท่าไหร่ ต้นทุนเราไม่มี ดังนั้นทิศทางของดิจิตอล มิวสิก จากนี้ไป มันจะเป็นธุรกิจเพลงที่ค่อนข้างตัวเบา มีความยืดหยุ่นสูง ยอดรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากการดาวน์โหลด'สุรชัย กล่าว
ในส่วนของธุรกิจภาพยนตร์เป็นอีกส่วนที่สุรชัยเลือกที่จะลดภาระต้นทุนคงที่ โดยการเปลี่ยนนโยบายผลิตภาพยนตร์จากผู้กำกับที่กินเงินเดือนบริษัท หันไปรับงานจากภายนอก โดยอาร์เอสจะเปลี่ยนบทบาทเป็นสตูดิโอ เปิดโอกาสให้คนที่มีผลงานดีๆ เข้ามาเสนอ ทำให้งานมีความหลากหลายขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งคนในอาร์เอสทำกันเอง และที่สำคัญไม่ต้องแบกภาระเงินเดือนก้อนโตอีกด้วย
ด้านธุรกิจคอนเทนต์กีฬา นอกเหนือจากลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2 สมัย ปี 2010 และ 2014 แล้ว ในปลายปีก็จะมีการเปิดตัวธุรกิจกีฬาของอาร์เอสรูปแบบใหม่ๆ
'เชื่อว่าโครงสร้างที่วางไว้ การกำหนดให้อาร์เอส เป็น Entertainment Network หนึ่งคือ มันมีความสบายใจอย่างคือ กลุ่มอาร์เอส มีธุรกิจเยอะ หลากหลาย แต่ไม่ต้องพึ่งพาธุรกิจใดมากเกินไป ในแง่ของการลงทุนก็เป็นเก้าอี้ที่มีหลายขา แง่ของการเป็นเจ้าของ นักลงทุน เก้าอี้หลายขาก็มีความมั่นคง สบายใจขึ้น หน้าที่ต่อไปคือ เราก็เชื่อว่าแต่ละขาก็จะแข็งแรงด้วยตนเอง เมื่อทุกขาแข็งแรง เก้าอี้ก็จะแข็งแรงขึ้น และระหว่างทางอาจมีขาใหม่ๆ เข้ามาเสริม แต่ต้องเป็นขาที่มันอยู่ในธุรกิจเดียวกัน'
สุรชัย กล่าวอีกว่า ภาพของอาร์เอสในวันนี้ชัดเจน และจะเป็นไดเรกชั่นของบริษัทในการก้าวสู่อนาคต อาร์เอสจะแข็งแรงขึ้น และโฟกัสในธุรกิจที่ได้วางไว้นี้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโมบาย และออนไลน์ ที่ได้เตรียมการรองรับเทคโนโลยี 3G ไว้พร้อมขยับเข้าไปคว้าโอกาส ได้ทันทีก่อนคนอื่น ขณะที่ทีวีดาวเทียม ที่มีการเตรียมตัวศึกษามานานมาก ไม่ใช่ธุรกิจที่มาก่อนได้เปรียบ แต่ผู้ที่ได้เปรียบคือคนที่เป็นเจ้าของคอนเทนต์ เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ อาร์เอสเข้ามาในช่วงที่ตลาดเกิดแล้ว วันนี้ตลาดพร้อมแล้ว จำนวนผู้ชมมหาศาล โอกาสทางการตลาดมีแล้ว สปอนเซอร์เชื่อแล้วและเข้ามา จังหวะในการเข้าสำคัญที่สุด
และนี่คือจิ๊กซอว์ที่สุรชัยต่อให้กับอาร์เอส ในการก้าวสู่ปีที่ 30
แกรมมี่ ประกาศโค่น K-Pop ขอเวลา 5 ปี พาศิลปินไทยผงาดเอเชีย
หากพูดถึงความเป็นเบอร์ 1 ในวงการเพลงไทย เป็นใครไปไม่ได้นอกจากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ความสำเร็จของค่ายเพลงนี้ในยุคเริ่มต้น ต้องยอมรับว่า เกิดจากการประสานกันอย่างลงตัวของ 2 คีย์แมนสำคัญ ระหว่างนักดนตรีมือยอด เรวัต พุทธินันทน์ กับนักการตลาดมือเยี่ยม ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม สร้างความสำเร็จจากค่ายเพลงน้องใหม่ เติบโตเป็นค่ายยักษ์ใหญ่ ที่ครองตลาดผู้ฟังชาวไทยมาตลอด 25 ปี
แต่ถึงจะใหญ่เพียงใด จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็หนีไม่พ้นผลกระทบที่ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจ ตามเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเช่นกัน
ช่วงเวลาหนึ่ง องค์กรบันเทิงใหญ่ระดับเอเชียแห่งนี้ เคยมีกำไรแบ่งให้ผู้ถือหุ้น ในรอบ 3 เดือน เพียง 5 แสนบาท แต่เมื่อ อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และกองทัพแกรมมี่ ติดเครื่องนำคอนเทนต์เพลงเข้าไปสู่โลกดิจิตอลได้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็กลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง
มาจนถึงปีนี้ที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ครบรอบ 25 ปี ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ก็ประกาศก้าวเดินครั้งสำคัญขององค์กร ด้วยการอาสานำกองทัพบันเทิงไทย โค่นกระแสบันเทิงเกาหลี เข้าครอบคลุมตลาดเอเชียภายในเวลา 3-5 ปี
'ตอนนี้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กำลังคิดถึงการก้าวไปตลาดอินเตอร์เนชั่นแนล เราจะมีการจอยต์เวนเจอร์กับพวกบริษัทในเอเชีย เพื่อทำงานกัน ในเกาหลี ในสิงคโปร์ ฮ่องกง ถ้าเรามีพันธมิตรทั้งเอเชีย ก็จะสามารถขยายงานออกไปได้ และผมจะบอกได้เลยว่า ภายใน 3-5 ปี แกรมมี่จะแข่งกัน K-Pop โดยศิลปินไทย เด็กไทยฝึกได้หลายคน ทั้ง ตีน่า, กอล์ฟ-ไมค์ หรือชิน ชินวุฒ ถ้าเราฝึกกันอย่างจริงจังก็สู้ได้'
ไพบูลย์ กล่าวว่า ขณะนี้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีการเตรียมคน เพื่อจะคัดเลือกอย่างดุเดือดที่สุด คัดเลือกคนให้ดีที่สุด ทำเทรนนิ่งอย่างดีที่สุด ส่งไปเทรนถึงยุโรป นิวยอร์ก และให้เวลากับศิลปินได้ฝึกฝน ได้เรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง มีการดูทั้งร่างกาย medical ทั้ง Physical ทั้ง EQ, IQ ฝึกร่างกาย ทุกอย่างทำให้พร้อม เทรนนิ่ง เอ็ดดูเคชั่น ทำให้พร้อม โดยผู้ที่มาอยู่ในโครงการนี้ จะต้องพูดได้อย่างน้อย 3-4 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน หรือไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย ที่น่าจะเจาะเข้าไปได้ คือจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดเพลงที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก นักร้องสามารถร้องเพลงได้ 3-4 ภาษา ทำเพลงทุกเวอร์ชั่นออกขาย โดยเชื่อมั่นว่าสามารถไปได้ ซึ่งศิลปินที่แกรมมี่มีอยู่และพยายามผลักดันอยู่ เช่น กอล์ฟ-ไมค์, ตีน่า, ชิน ชินวุฒ, ไอซ์ ศรัณยู
แต่กองทัพแกรมมี่ไม่ได้มีแค่เพลงเท่านั้น ไพบูลย์ กล่าวว่า หากจะไปต้องเป็นแพกเกจ นักร้องและซีรีส์ และหนัง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีครบ 3 ด้าน โดยมี เอ็กแซ็กท์ สร้างละคร มีจีทีเอช ผลิตภาพยนตร์ ขณะที่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ผลิตเพลง วันนี้ 5 แพร่ง ทำรายได้เป็นอันดับ 1 อยู่ในสิงคโปร์ ทำลายสถิติทุกเรื่อง ขณะที่ซีรีส์ของเอ็กแซ็กท์วางขายอยู่ในจีน อินโดนีเซีย เกาหลี แต่ที่ผ่านมาจะเป็นการขายปลีกเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ได้มีการนำเสนอแบบเป็นแพ็ก คราวนี้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะไปแบบชุดใหญ่
ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า แม้การเติบโตของ K-Pop จะเกิดจากการสนับสนุนของรัฐบาลเกาหลี แต่ในส่วนของศิลปินไทย ตนเชื่อมั่นว่า ลำพัง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ภายใน 3-5 ปีแน่นอน แต่หากรัฐบาลจะเข้ามาสนับสนุน โครงการ Creative Economy น่าจะสนับสนุนได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็จะช่วยให้ความสำเร็จมาเร็วขึ้น
|