ซีไอเอ็มบีไทยเผยแผนงานปี 53 เบื้องต้นคาดว่ายอดสินเชื่อรวมปีหน้าจะโต 8 % หรือเป็นเ 2 เท่าของจีดีพี เน้นเติบโต 3 ด้านคือสินเชื่อรายใหญ่ เอสเอ็มอี และรายย่อย พร้อมลดพอร์ตสินเชื่อบุคคลหวังช่วยลดเอ็นพีแอลที่สูงถึง 12%
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (CIMBT) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของธนาคารซีไอเอ็มบีไทยในปี 2553 ขณะนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่โดยเบื้องต้นแล้วธนาคารตั้งเป้าหมายที่จะเติบโตสินเชื่อรวมของธนาคารคิดเป็น 2 เท่าของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีหน้าที่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ 3-4% ดังนั้น ยอดการปล่อยสินเชื่อรวมของธนาคารก็จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 8% หรือคิดเป็นมูลค่าสินเชื่อปล่อยใหม่จะอยู่ที่ 5,000-6,000 ล้านบาท จากปลายปีนี้ที่ธนาคารคาดการณ์ว่าฐานสินเชื่อรวมในสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 84,000 ล้านบาทในกรณีที่ดีที่สุด แต่ถ้าในกรณีเลวร้ายที่สุดฐานดังกล่าวในสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 74,000-75,000 ล้านบาท
โดยธนาคารจะเน้นการเติบโตไปที่สินเชื่อรายใหญ่ สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และสินเชื่อรายย่อย ส่วนสินเชื่อรายใหญ่นั้นธนาคารจะมุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อรับเหมาก่อสร้างโครงการภาครัฐเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากรัฐบาลในการสนับสนุน และมีความเสี่ยงต่ำกว่าโครงการรับเหมาก่อสร้างของภาคเอกชน
ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีธนาคารก็ยังคงดำเนินการปล่อยสินเชื่อตามปกติ โดยไม่ได้เน้นการเจาะกลุ่มเป้าหมายใดเป็นพิเศษมากนัก ในขณะที่สินเชื่อรายย่อยธนาคารจะหันมาเน้นที่เป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก เนื่องจากเมื่อธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าไปแล้ว แนวโน้มที่จะเสี่ยงต่อการเป็นหนี้สูญและหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในอนาคตจะมีน้อย เพราะสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสินเชื่อประเภทที่มีหลักประกัน
สำหรับสินเชื่อประเภทที่ไม่มีหลักประกันคือสินเชื่อบุคคลนั้น ธนาคารก็คงจะไม่เน้นเติบโตมากนัก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมฐานสินเชื่อบุคคลของธนาคารอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท จนกระทั่งปัจจุบันฐานสินเชื่อบุคคลได้ลดลงเหลือ 7,000 ล้านบาท เพราะธนาคารต้องการปรับฐานสินเชื่อดังกล่าวให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สินเชื่อไม่มีหลักประกันได้ก่อให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ในระบบมาก
นายสุภัคกล่าวอีกว่า ในไตรมาส 4 ของปีนี้ธนาคารเชื่อมั่นว่าในส่วนที่เป็นรายได้ของธนาคารจะมีการเติบโตดีขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ซึ่งอยู่ที่ 1,940 ล้านบาทอย่างแน่นอน เนื่องจากสิ่งที่นักลงทุนมีความกังวลอยู่คือเรื่องของเอ็นพีแอล เพราะจำนวนเอ็นพีแอลของธนาคารในปัจจุบันมีสูงถึ 12% ซึ่งต้องยอมรับว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก จะเป็นอุปสรรคและฉุดรั้งไม่ให้ผลกำไรของธนาคารเติบโตในระดับสูง ดังนั้นธนาคารจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการนำกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงเข้ามาใช้เพื่อลดจำนวนเอ็นพีแอลลงให้ได้
"เรื่องของเอ็นพีแอลนั้น ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธนาคารเช่นกันซึ่งมีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยธนาคารมีนโยบายที่จะขายออกไปแต่ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปอย่างชัดเจนว่าจะขายให้กับผู้ซื้อรายใดเพราะกำลังอยู่ในช่วงการเจรจา เนื่องจากผลตอบแทนด้านราคาของเอ็นพีเอในปัจจุบันยังมีมูลค่าตลาดอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ธนาคารต้องการ ดังนั้นธนาคารจึงมีแนวคิดว่าจะรอให้สภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนก่อนแล้วค่อยมาดูกันอีกครั้งหนึ่ง"นายสุภัคกล่าว
|