Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2546








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2546
Second-Generation Economic Reform             
โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
 


   
search resources

International Monetary Fund (IMF)
World Bank
Robert McNamara
Anne Krueger




ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศป่าวประกาศให้ชาวโลกรับทราบตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2540 ว่า นานาประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกที่สาม ควรจะก้าวเข้าสู่การปฏิรูป เศรษฐกิจรุ่นที่สอง

เมื่อองค์กรโลกบาลทั้งสองกล่าวถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจ (Economic Reform) มีศัพท์ที่มีความหมายซ้อนกันอีกอย่างน้อย 2 คำ คือ การปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจ (Economic Policy Reform) และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ (Structural Adjustment)

ในกรอบความคิดขององค์กรโลกบาลทั้งสอง การปฏิรูปเศรษฐกิจจะไม่สามารถก่อเกิดได้ หากไม่มีการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจและหากไม่มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

ธนาคารโลกก่อตั้งในปี 2488 ในชั้นแรกเข้าไปช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในยุโรปที่ประสบภัยพิบัติจากสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ต่อมาให้เงินกู้แก่ประเทศต่างๆ ในโลกที่สามเป็นสำคัญ โครงการพัฒนาส่วนใหญ่ที่ได้รับเงินให้กู้จากธนาคารโลก เป็นโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (Infrastructure Investment) ดังเช่นถนนและทางหลวง ระบบสาธารณูปโภค ระบบชลประทาน เป็นต้น

ธนาคารโลกมีการปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่ในระหว่างที่นายโรเบิร์ต แม็กนามารา (Robert McNamara) ดำรงตำแหน่งประธาน (2511-2524) มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการให้ความช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนามาเน้นการแก้ปัญหาความยากจน ความอดอยากหิวโหย และความทุกข์ของประชาชนผู้ยากไร้ แนวทางหลักก็คือ การจัดสรรสิ่งสนองตอบความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ (Basic Human Needs) แม้ว่าแนวความคิดว่าด้วย Basic Human Needs ก่อเกิดในองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) แต่ธนาคารโลกมีบทบาทสำคัญในการสานต่อแนวความคิดดังกล่าว และนำความคิดไปสู่การปฏิบัติ

ครั้นย่างเข้าสู่ทศวรรษ 2520 แม็กนามารา เห็นว่าแนวทาง Basic Human Needs ไม่เพียงพอที่จะช่วยโลกที่สามหลุดพ้นจากความด้อยพัฒนา ในเมื่อประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญวิกฤติการณ์เศรษฐกิจระลอกแล้วระลอกเล่า นับตั้งแต่วิกฤติการณ์น้ำมันครั้งแรกปี 2516-2517 วิกฤติการณ์น้ำมันครั้งที่สอง ปี 2522 วิกฤติการณ์หนี้ต่างประเทศของโลกที่สามปี 2523 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสังคมเศรษฐกิจโลกระหว่างปี 2523-2529 แม็กนามาราเห็นว่าประเทศโลกที่สามจะสามารถฝ่าฟันคลื่นมรสุมทางเศรษฐกิจได้ ก็ต่อเมื่อมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงแข็งแรง การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง แต่การปล่อยให้ประเทศเหล่านี้เลือกเส้นทางการพัฒนาของตนเองมิได้มีหลักประกันว่า จะมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จำเป็นที่ธนาคารโลกต้องเข้าไปแทรกแซงและกำกับการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา

ในปี 2522 ธนาคารโลกริเริ่มให้มีเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้าง (Structural Adjustment Loans=SALs) และอาศัยการกำหนดเงื่อนไขการดำเนินนโยบาย (Policy Conditionalities) ผูกติดไปกับเงินให้กู้เป็นกลไกในการบังคับให้ประเทศลูกหนี้ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

ในแง่นี้ ธนาคารโลกเลียนแบบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในการลิดรอนอธิปไตยในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศลูกหนี้ ทั้งนี้โดยอาศัยการกำหนดเงื่อนไขการดำเนินนโยบายเป็นกลไกสำคัญ

ในขณะที่เงื่อนไขการดำเนินนโยบายที่ผูกติดมากับเงินกู้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เน้นการปรับโครงสร้างอุปสงค์มวลรวม (Structure of Aggregate Demand) ธนาคาร โลกเน้นการปรับโครงสร้างการผลิต (Structure of Production)

เงื่อนไขการดำเนินนโยบายที่ผูกติดกับเงินกู้ SALs ของธนาคารโลก สะท้อนถึงพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในวิชาเศรษฐศาสตร์ เมื่อธนาคารโลกเริ่มให้เงินกู้ SALs ในปี 2522 นั้น เศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ (Keynesian Economics) สิ้นอิทธิพลไปมากแล้ว และสำนักเสรีนิยมสมัยใหม่ (Neo-Liberalism) กำลังเปล่งรัศมี เศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ซึ่งเคยมีอิทธิพลต่อธนาคารโลกพลอยเสื่อมอิทธิพลไปด้วย โดยที่สำนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมคืบคลานเข้าไปมีอิทธิพลแทน

เมื่อศาสตราจารย์แอนน์ ครูเกอร์ (Anne Krueger) ดำรงตำแหน่งรองประธานธนาคารโลก หรือหัวหน้าเศรษฐกร (Chief Economist) ระหว่างปี 2525-2530 อิทธิพลของสำนัก เสรีนิยมสมัยใหม่ครอบงำธนาคารโลกเกือบโดยสิ้นเชิง ภายใต้การนำของศาสตราจารย์ครูเกอร์ งานวิจัยในธนาคารโลกในสัดส่วนสำคัญมุ่งศึกษาความล้มเหลวของกลไกแห่งรัฐ (Government Failure) การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจจากการใช้อำนาจรัฐ และพัฒนาการของรัฐไปสู่สังคมขี้ฉ้อ (Rent-Seeking Society) นัยทางนโยบายของบทวิเคราะห์เหล่านี้ก็คือการลดบทบาทของรัฐบาลและการลดขนาดของภาครัฐบาล รวมตลอดจนการถ่ายโอนการผลิตไปสู่ภาคเอกชน (Privatization) องค์ความรู้เหล่านี้เป็นแก่นแกนของสำนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเรียกว่า New Political Economy

ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมเมนูนโยบาย (Policy Menu) ที่รู้จักกันในเวลาต่อมาในชื่อ "ฉันทมติแห่งวอชิงตัน" (Washington Consensus) เมนูนโยบายดังกล่าวนี้สามารถสรุปด้วยคำที่ลงท้ายด้วย -ation เพียง 4 คำ อันได้แก่ Stabilization, Liberalization, Deregulation และ Privatization

ในขณะที่เงื่อนไขการดำเนินนโยบายของกองทุนการเงินระหว่างประเทศดูแลเรื่อง Stabilization ธนาคารโลกดูแลเรื่อง Liberlization, Deregulation, Privatization

การปฏิรูปเศรษฐกิจตามพื้นฐานความคิดของฉันทมติแห่งวอชิงตัน ก็คือ Getting Prices Right การปลดปล่อยให้กลไกราคาสามารถทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐต้องลดการแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ลดการควบคุมและกำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Deregulation) และถ่ายโอนการผลิตจากภาครัฐบาลไปสู่ภาคเอกชน (Privatization) เพื่อลดขนาดของภาครัฐบาล (Downsizing the Government)

ธนาคารโลกยึดแนวทาง Getting Prices Right ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (Import Substitution Industrialization) ไปสู่การผลิตเพื่อการส่งออก (Export-oriented Industrialization) เป็นแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจ อันเป็นเงื่อนไขการดำเนินนโยบาย ที่ผูกติดกับเงินให้กู้ SALs

ภายหลังจากที่การปฏิรูปเศรษฐกิจรุ่นที่หนึ่ง (First-Generation Reforms) ดำเนินมานานนับทศวรรษ การณ์ปรากฏว่า ประเทศด้อยพัฒนาจำนวนมากมิอาจบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปเศรษฐกิจได้ หลายประเทศกลับต้องบาดเจ็บจากเมนูนโยบายของสำนักเสรีนิยมสมัยใหม่ การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการดำเนินนโยบายที่ผูกติดกับเงินให้กู้ ทั้งของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จึงค่อยๆ ก่อเกิดและสรุปเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจรุ่นที่สอง (Second-Generation Reform)

หัวใจของการปฏิรูปเศรษฐกิจรุ่นที่สอง ก็คือ Institutions Matter กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ปัจจัยสถาบันมีความสำคัญต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการปฏิรูปเศรษฐกิจ การละเลย และการไม่ให้ความสำคัญแก่ปัจจัยสถาบันนำมาซึ่งความล้มเหลว ในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ความข้อนี้นับเป็นบทเรียนสำคัญยิ่งจากการปฏิรูปเศรษฐกิจรุ่นที่หนึ่ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศร่วมกับธนาคารโลก จัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการ Conference on Second Generation Reforms ในเดือนกันยายน 2542

ด้วยเหตุดังนี้ การปฏิรูปสถาบัน (Institutional Reform) กลายเป็นเงื่อนไขการดำเนินนโยบายที่สำคัญ ที่ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศพยายามผูกมัดให้ภาคีสมาชิกดำเนินการ โดยที่สถาบันมิได้มีความหมายจำกัดเฉพาะองค์กรและการจัดองค์กร (Organization) หากหมายรวมถึงกติกาการเล่นเกม (Rules of the Game) ในสังคมเศรษฐกิจด้วย

คำถามพื้นฐานมีอยู่ว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจรุ่นที่สองประกอบด้วยเมนูนโยบายอะไรบ้าง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us