ลุ่มอุตสาหกรรมอาหารยัน แม้ปีหน้าเศรษฐกิจไม่ฟื้น ยอดส่งออกอาหารไทยยังคงขยายตัว 8-12%แนะเกษตรกรยกระดับ มาตรฐานการผลิตสินค้าต้นน้ำ ฝ่ากำแพงข้อกีดกันการค้าต่างชาติ พร้อมหนุนเพื่อนบ้านผลิตสินค้าป้อนอุตสาหกรรมไทย ด้านหอการค้าไทยเตือนผู้ผลิตรับมือมาตรฐานป้องกันโลกร้อน เข้มงวดการใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้น้ำ หากเกินกว่าที่กำหนดต้องจ่ายภาษีเพิ่ม
แม้ว่าการส่งออกของไทยในแต่ละปีจะมีมูลค่าสูงถึง 177,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่สินค้าที่นำเม็ดเงินกระจายลงสู่ประชาชนอย่างแท้จริงจะอยู่ในกลุ่มสินค้า เกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร ที่มีสัดส่วนเพียง 18% ของยอดส่งออกสินค้าทั้งหมด มีมูลค่า 31,852 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ถือได้ว่ามีเสถียรภาพสูงในการสร้างรายได้เข้าสู่ ประเทศ และได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจไม่มาก เพราะเป็นสินค้าพื้นฐานที่ทุกคนต้องกินต้องใช้ ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะตกต่ำเพียงใด ปริมาณการบริโภคก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก
นอกจากนี้ไทยยังมีพื้นฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญการผลิต และแหล่งวัตถุดิบ ทำให้ไทยมีความโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆในฐานะประเทศผู้ผลิตอาหารป้อนประชากรโลก สามารถส่งออกอาหารได้เป็นอันดับ 7 ของโลก เนื่องจากไทยสามารถตอบสนองต่อมาตรฐานที่เข้มงวดของสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯได้ ซึ่งล่าสุดภายหลังวิกฤติอาหารในปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยได้รับการคัดเลือกจากอาเซียนให้เป็นคลังอาหารของอาเซียน
คาดปี53ยอดส่งออกอาหารโต12%
โดยภาวะอุตสาหกรรมอาหารในปีนี้ คาดว่ายอดการส่งออกจะมีมูลค่าลดลงเพียง 7% ซึ่งถือว่าลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมกลุ่มอื่น แต่ถ้าเทียบกับปี 2550 ก็มีอัตราขยายตัวสูงถึง 10.2% เพราะในปี 2551 ถือได้ว่าเป็นปีที่ไม่ปกติ ราคาสินค้าอาหารพุ่งสูงเกินความเป็นจริง ส่วนสถานการณ์ส่งออกในปีหน้านั้น นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2553 คาดว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารจะมีการขยายตัวประมาณ 8-12 % แต่ก็จะเป็นการขยายตัวอย่างยากลำบาก เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงต้องสร้างความได้เปรียบในเรื่องของมาตรฐานสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคไว้วางใจ ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายต้องให้ความสำคัญเข้มงวดในสายการผลิตทั้งหมด เพราะถ้าพลาดส่งสินค้าที่มีสิ่งเจือปนออกไป ก็จะเกิดภาพลบกับสินค้าอาหารไทยทั้งประเทศ เหมือนกรณีเมลามีนที่พบในสินค้าจีน ทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อถือ หันมาซื้อสินค้าอาหารจากประเทศไทยแทน
ขณะที่ปัญหาข้อกีดกันทางการค้านั้น จะเปลี่ยนรูปแบบจากข้อกำหนดมาตรฐานจากภาครัฐ มาเป็นข้อกำหนดมาตรฐานคุณภาพอาการจากภาคเอกชนผู้นำเข้าแทน โดยเฉพาะในกลุ่มซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ที่มุ่งแข่งขันในเรื่องของคุณภาพสินค้าให้เหนือกว่าคู่แข่ง นอกจากนี้กลุ่มสหภาพยุโรปจะเพิ่มความเข้มงวดในเรื่องของมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 1 มกราคา 2553 ซึ่งเรือประมงทุกลำจะต้องจดบันทึกอย่างละเอียดว่าจับปลาได้ที่ใด ใช้วิธีการจับปลาที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งถ้าไทยปฏิบัติตามมาตรฐานที่เข้มงวดเหล่านี้ได้ ก็จะสามารถยึดครองตลาดกลุ่มนี้ได้
จี้เกษตรยกระดับมาตรฐานการผลิต
ดังนั้นเพื่อเป็นการรองรับมาตรฐานต่างๆที่จะเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องให้ความสำคัญกับห่วงโซ่การผลิตทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่เกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบขั้นต้น การขนส่ง ไปจนถึงผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปขั้นสุดท้าย ผู้ผลิตทั้งกระบวนการจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วยทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตในส่วนของขั้นปลายนั้นส่วนใหญ่ผลิตได้มาตรฐานที่ต่างชาติ กำหนด แต่ยังมีปัญหาในเกษตรกรผู้ผลิตขั้นต้น และการแปรรูปขั้นกลาง โดยในอนาคตเนื้อวัวที่ผู้บริโภคทานจะต้องสามารถสืบค้นไปถึงต้นตอได้ว่ามาจาก วัวชื่ออะไร เลี้ยงที่ฟาร์มไหน อาหารทะเลที่อยู่ในกระป๋องจะต้องรู้ว่าจับมาจากเรือประมงชื่ออะไร เพื่อรับประกันความปลอดภัยได้ทุกขั้นตอน ถ้าเกิดปัญหาจะต้องรู้ได้ว่าเกิดขึ้นที่ตรงจุดใด
อย่างไรก็ดีปัจจุบันเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าขั้นต้นของไทยก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประมง โดยผู้เลี้ยงกุ้งที่มีการใช้สารตกค้างที่น้อยลง เพราะรู้ว่าหากตรวจพบสารปนเปื้อนก็จะไม่มีคนซื้อ และในอนาคตก็จะขยายความเข้มงวดในสู่ผลิตภัณฑ์ปลา ขณะที่เนื้อหมู และเนื้อวัวของไทย ยังมีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน โรคปาก เท้าเปื่อยยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งถ้าเกษตรกรปรับปรุงการเลี้ยงให้เข้าสู่มาตรฐานแบบการเลี้ยงไก่ ก็จะทำให้สินค้าในกลุ่มนี้ขยายตัวได้อีกมาก เพราะตลาดทั่วโลกมีความต้องการสูง
แนะรัฐหนุนเพื่อนบ้านผลิตวัตถุดิบป้อนไทย
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการรองรับความต้องการของตลาดโลกที่สูงขึ้น รัฐบาลควรจะร่วมมือกับภาคเอกชนเข้าไปส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกรในประเทศ เพื่อนบ้าน และลงทุนอุตสาหกรรมการแปรรูปขั้นพื้นฐาน เพื่อผลิตวัตถุดิบต้นน้ำให้ได้ตามมาตรฐาน ป้อนให้กับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารของไทย ตลอดจนการเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจประมงในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และรองรับการขยายตัวในอนาคต รวมทั้งยังเป็นการลดต้นทุนการผลิต และใช้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับสินค้าอาหารส่งออกที่สำคัญของไทยในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่า 354,968 ล้านบาท แบ่งเป็นสินค้าอาหารสำเร็จรูปมีสัดส่วนสูงสุด มีมูลค่า 157,493 ล้านบาท ขยายตัว 6.4% รองลงมาเป็นเกษตรวัตถุดิบอาหาร 98,353 ล้านบาท ลดลง 19.1% อาหารแปรรูปขั้นต้น 72,008 ล้านบาท ลดลง 7.5% อาหารสัตว์ 19,559 ล้านบาท ลดลง 21.7% และเครื่องดื่ม 7,555 ขยายตัว 0.3% ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสินค้าอาหารสำเร็จรูปขยายตัวดีมากแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะถด ถอย
ขณะเดียวกันการผลิตอาหารสำเร็จรูป และแปรรูป ก็มีสัดส่วนสูงกว่า 50% ของปริมาณสินค้าอาหารทั้งหมด ขณะที่การส่งออกสินค้าวัตถุดิบที่มีมูลค่าเพิ่มน้อยก็ค่อยๆมีสัดส่วนลดลง เรื่อยๆ ส่วนตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยจะอยู่ที่อาเซียน 18% รองลงมาเป็น สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีสัดส่วนภูมิภาคละ 15% สหรัฐฯ 14% และประเทศอื่นๆอีก 38%
เตือนไทยรับมือมาตรฐานสิ่งแวดล้อม
ด้านพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้ว่าในปี 2553 ภาวะเศรษฐกิจโลกจะยังซบเซา แต่ก็คาดว่าในกลุ่มสินค้าอาหารจะมีมูลค่าการส่งออกขยายตัวประมาณ 10% มีมูลค่าประมาณ 7 แสนล้านบาท ขณะที่สินค้าข้าวน่าจะขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากประเทศคู่แข่ง และผู้นำเข้าหลายประเทศได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม โดยปีหน้าสินค้าอาหารสำเร็จรูปจะยังคงมีความโดดเด่นในกลุ่มสินค้าอาหาร ส่วนข้อกีดกันการค้าที่จะเพิ่มขึ้นจะเป็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเพื่อลดภาวะโลก ร้อน เช่นมาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาตรฐานการใช้พลังงาน เป็นต้น ซึ่งถ้ามีการทำลายสิ่งแวดล้อมเกินกว่าที่กำหนด อาจจะต้องเสียภาษีนำเข้าสูงขึ้น
|