กิจการเครือตระกูล "พรประภา" เคยมีข่าวหลายปีมาแล้วว่า มีแผนจะนำเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่เพิ่งมี "ฐิติกร" เป็นบริษัทที่ 2 ภายใต้การผลักดันของทายาทรุ่นที่ 3 หากย้อนเวลากลับไปได้ ปฐมา พรประภา คงอยากเร่งให้กระบวนการนำหุ้นของบริษัทฐิติกรเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เสร็จเร็วขึ้นไปกว่าเดิมอีก 2-3 สัปดาห์
เพราะในวันที่เธอเพิ่งเซ็นสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายหุ้นของบริษัทที่เธอเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่นั้น
เป็นวันที่การซื้อขายหุ้นมีความคึกคักสุดขีด มูลค่าการซื้อขายพุ่งขึ้น สร้างสถิติใหม่ในรอบ
28 ปี ที่ระดับเฉียด 6 หมื่นล้านบาท
บริษัทฐิติกรเซ็นสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายหุ้น
เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา โดยนำหุ้นจำนวน 100 ล้านหุ้น จากทุนจดทะเบียน
500 ล้านบาท ออกมากระจายขายให้กับประชาชนทั่วไป ในราคาหุ้นละ 11 บาท
ถือเป็นบริษัทที่มีชุมพล พรประภา เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายที่ 2 ที่เดินหน้าเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ต่อจากบริษัทเอส.พี.ซูซูกิ ซึ่งได้เข้าไปจดทะเบียนก่อนหน้านั้นแล้วหลายปี
ฐิติกรเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ที่สุด
ในกรุงเทพฯ พอร์ตสินเชื่อรวมของบริษัทปัจจุบันอยู่ในระดับประมาณ 6,000 ล้านบาท
โดยมีฐานลูกค้าถึงกว่า 1.1 แสนคน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองภาคตะวันออก
"พรประภา" เป็นตระกูลใหญ่ คนในตระกูลนี้อยู่ในธุรกิจยานยนต์ในประเทศไทยมานมนานไม่ต่ำกว่า
50 ปี แต่คนส่วนใหญ่เวลาพูดถึงตระกูลนี้ มักจะโฟกัสไปที่กลุ่มสยามกลการ
ทั้งๆ ที่ในสายของชุมพล พรประภา นั้นก็มีขนาดไม่แพ้กัน
หากนับรุ่น ปฐมา พรประภา น่าจะอยู่ในรุ่นที่ 3 ซึ่งถือเป็นรุ่นหนุ่ม-สาว
ที่ได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดี มีความรู้ความสามารถรวมถึงวิชาการบริหารสมัยใหม่
และถือเป็นรุ่นที่มีแนวคิดที่ทันสมัย โดยมองว่าหากกิจการจะสามารถครองความเป็นอันดับ
1 ต่อไปได้อย่างต่อเนื่องแล้ว จำเป็นต้องนำเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
"ภาพการแข่งขันทุกวันนี้มันเปลี่ยนไป แต่ก่อนเรามีคู่แข่งที่เป็นบริษัทในประเทศ
แต่ปัจจุบันบริษัทต่างชาติที่มีฐานเงินทุนมากกว่า ก็เริ่มจะลงมาแข่งขันในตลาดนี้ด้วยแล้ว"
เธอบอกกับ "ผู้จัดการ"
"ที่ผ่านมาฐานเงินทุนที่เรานำมาปล่อยสินเชื่อ เกือบทั้งหมดเป็นเงินกู้
การเข้าตลาด นอกจากเราจะสามารถระดมทุนจำนวนหนึ่งมาใช้ในการขยายพอร์ตสินเชื่อแล้ว
เรายังต้องการขยายสาขาออกไปยังต่างจังหวัด ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่สำหรับ
สินค้ามอเตอร์ไซค์ รวมถึงนำเงินมาปรับปรุงระบบงาน ที่เรากำลังจะนำระบบ CRM
เข้ามาใช้ในบริษัท"
ปฐมาเป็นลูกสาวคนโตของชุมพล พรประภา เธอและประพล พรประภา น้องชายคนรองคือกำลังหลักของชุมพล
ที่กำลัง มีบทบาทสำคัญ
แม้จะมีภาพลูกเจ้าของกิจการ แต่พื้นฐานการศึกษาและประสบการณ์ของทั้งปฐมาและประพล
ล้วนเคยผ่านการทำงานในองค์กรการเงินขนาดใหญ่มาแล้วทั้งคู่
ปฐมา ปัจจุบันอายุ 34 ปี เรียนจบมัธยมปลายจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟ คอนแวนต์
ก่อนที่จะสอบเข้าเรียนต่อในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาบัญชีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี
2530
หลังเรียนจบในปี 2534 ได้เข้าทำงานในแผนก Financial Control ธนาคารซิตี้แบงก์
สาขาประเทศไทย แต่เธอทำงานที่นี่เพียง 1 ปีก็ไปเรียนต่อ MBA ที่ Babson College
แมสซาชูเซตต์สหรัฐอเมริกา
กลับมาเมืองไทยอีกครั้งในปี 2537 และเข้าไปเป็นวาณิชธนากร ในบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ
(Fin1) ทำหน้าที่นำสถาบันการเงินอย่าง บงล.ไอเอฟซีที ไฟแนนซ์ บงล.เอกพัฒน์
เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงการทำเรื่องการออกหุ้นกู้ให้กับ TPI
ปฐมาทำงานอยู่ใน Fin1 จนกระทั่งบริษัทถูกปิดกิจการ จึงกลับเข้ามาช่วยงานคุณพ่อเมื่อต้นปี
2541
ส่วนประพล ปัจจุบันอายุ 30 ปี เรียนจบมัธยม 3 จากอัสสัมชัญ แล้วไปต่อ High
School ที่ Tabor Academy แมสซาชูเซตต์ แล้วจบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์และการเงิน
จาก Babson College ที่เดียวกับพี่สาว ในปี 2540
เขาเริ่มเข้าทำงานในวงการการเงิน พร้อมๆ กับวิกฤติค่าเงินที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยเริ่มต้นที่ตำแหน่งวาณิชธนากร ของ JP Morgan ประจำสาขาฮ่องกง ในเดือนกรกฎาคม
2540
หลังจากนั้นได้ย้ายไปประจำอีกหลายที่ทั้งสิงคโปร์ และในประเทศไทย ก่อนจะลาออกเพื่อมาช่วยงานพี่สาวที่บริษัทฐิติกร เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
การเข้ามาช่วยบริหารกิจการทั้งปฐมาและประพลได้ปรับปรุงระบบงานภายในฐิติกรให้ทันสมัย
มีการตั้ง Call Center ปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงพัฒนารูปแบบการชำระเงินของลูกค้า
จากเดิมที่จะมีเจ้าหน้าที่ไปเก็บเงินเป็นรายเดือน ให้สามารถผ่านเคาน์เตอร์ของธนาคาร
เครื่องเอทีเอ็ม และล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ลูกค้าของฐิติกรสามารถชำระค่างวดได้โดยผ่านทางเคาน์เตอร์เซอร์วิส
ถือเป็น Generation ใหม่ที่กำลังนำกิจการของครอบครัวก้าวเข้าไปสู่กิจการระดับสากล