ตลาดยางรถยนต์ทดแทน หรืออาร์อีเอ็มเดือด โตโยไทร์ และคอนติเนนทอล ประกาศบุกตลาดเต็มตัว ฝ่ายแรกชูกลยุทธ์หลักผ่านสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง และมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายพรีเมียม ฝ่ายหลังดุขอแชร์ตลาด 5% ใน 3 ปี ก่อนพาดบันไดติดท้อปไฟว์ ใน 5 ปี จากตลาดรวมปีละ 1 ล้านเส้น
ยางรถยนต์อาร์อีเอ็ม กลุ่มยางนำเข้ามีแนวโน้มเติบโต เนื่องจากเป็นเซ็นเมนท์กลุ่มผู้บริโภคระดับไฮ-เอนด์ ผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่ในระดับเอ และบี ซึ่งเติบโตตามตลาดรถหรู ที่สวนทางกับตลาดรถยนต์ทั่วไป ปัจจุบันตลาดยางนำเข้ามีปริมาณปีละราว 1 ล้านเส้น
คอนติเนนทอล ยางรถยนต์แบรนด์จากเยอรมันนี เปิดแผนรุก ตลาดยางรถยนต์นำเข้าค่อนข้างดุดัน วิโรจน์ วชิรเดชกุล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท คอนติเนนทอล ไทร์ส (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า เป้าหมายของคอนติเนนทอลคือการครองส่วนแบ่งทางการตลาด 5%ภายใน 3 ปี และก้าวไปสู่ 1 ใน 5 ภายใน 5ปี ทั้งนี้จะมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และถูกขับเคลื่อนแผนการตลาด ผ่านแนวรุกเริ่มตั้งแต่ การส่งผลิตภัณฑ์ให้ครบไลน์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มยางรถยนต์โดยสารส่วนบุคคล ,รถสปอร์ต ,ยางรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ,ยางสำหรับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ไปจนถึงยางรถบรรทุก
ขณะเดียวกันก็ลบจุดอ่อนของตัวเองในช่วงที่ผ่านมา คือการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น จากเดิมที่จะจำกัดเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นรถยุโรป ก็จะขยายการรับรู้ไปสู่ตลาดแมสมากขึ้น โดยคอนติเนนทอลเตรียมจัดสรรงบประมาณทางการตลาดเพื่อทำการแนะนำผลิตภัณฑ์และแบรนด์ให้ผู้บริโภครู้จัก โดยได้ใช้งบประมาณการตลาดกว่า 10%ของยอดขาย เน้นหนักไปที่การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อรูปแบบต่างๆทั้งสื่อหลักไม่ว่าจะเป็น ทีวี,ป้ายต่างๆและกิจกรรมแบบบีโลว์เดอะไลน์ที่จะเข้าหากลุ่มเป้าหมาย การทำซีอาร์เอ็มกับลูกค้า อาทิ จัดกอล์ฟหรือกิจกรรมคาร์คลับ และยังมีโปรโมชั่นประจำเดือน ด้วยการมอบตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ในประเทศ เพียงลูกค้าซื้อยางจำนวน 4เส้น ซึ่งโปรโมชั่นดังกล่าวมีขึ้นตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง15ตุลาคมนี้
นอกจากนั้นยังเตรียมสร้างความแข็งแกร่งด้านช่องทางการจำหน่าย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค โดยคอนติเนนทอลวางแผนรบตรงนี้ด้วยการขยายผ่านดีลเลอร์ทั่วไป ซึ่งถือว่าแตกต่างจากค่ายยางในปัจจุบันที่มักจะมีศูนย์บริการเป็นของตัวเอง โดยปัจจุบันคอนติเนนทอลมีดีลเลอร์อยู่กว่า 200แห่งทั่วประเทศ ภายในปีหน้าจะรุกขยายสาขาให้ได้เป็น 400 แห่งทั่วประเทศ
'ข้อมูลจากต่างประเทศทำให้เห็นว่า ร้านยางที่บริหารผ่านบริษัทแม่ไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกแบรนด์ ดังนั้นคอนติเนนทอลเชื่อจึงไม่มีแผนที่จะกระจายสินค้าผ่านร้านฟาสต์ฟิตของตัวเอง ซึ่งเราเชื่อว่าแนวทางการขยายสินค้าผ่านดีลเลอร์ รวมไปถึงพาร์ทเนอร์ที่เป็นฟาสต์ฟิตอย่างบี-ควิกหรือแอค ก็เพียงพอแล้ว'วิโรจน์ กล่าว
ขณะเดียวกันก็จะมีกิจกรรมเสริมภาพลักษณ์ ผ่านกลยุทธ์สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง อีกทางหนึ่ง เนื่องจากแบรนด์คอนติเนนทอลเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการในฟุตบอลโลก2010ที่อัฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพ รวมไปถึงฟุตบอลระดับโลกรายการอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งคอนติเนนทอลเตรียมจะจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อจัดกิจกรรมอีเวนต์ต่างๆรวมไปถึงโปรโมชั่นเด็ดๆในระหว่างที่มีการแข่งขันฟุตบอล คาดว่าแนวรุกอย่างต่อเนื่องจะทำให้ปีหน้าคอนติเนนทอลมีอัตราการเติบโตขึ้นเป็นสองเท่า
ขณะที่อีกหนึ่งแบรนด์อย่างโตโทไทร์ หลังจากชิมลางเข้ามาทำตลาดรถยนต์นั่งในช่วง 3ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการบุกกลุ่มมอเตอร์สปอร์ต ด้วยการเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันรถยนต์รายการต่างๆ ล่าสุดกับการเป็นสปอนเซอร์ยางในการแข่งขันรถยนต์ โตโยต้า มอเตอร์สปอร์ต เฟสติวัล 2009 ซึ่งแนวทางดังกล่าวก็เพื่อต้องการสร้างการรับรู้ของแบรนด์ว่าเป็นยางรถยนต์สมรรถนะสูง สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบความเร็ว
สำหรับการทำตลาดผ่านกิจกรรมสปอร์ตมาร์เก็ตตี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำตลาดยางรถยนต์ในเมืองไทย ตลอดหลายปีที่ผ่าน ส่งให้แบรนด์ได้รับความนิยม และเป็นที่รับรู้ของตลาด พรชัย เครือญาติดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โค้ว อินเตอร์ บิสซิเนส จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายยางรถยนต์ โตโยไทร์ จากญีปุ่นก็มองในทิศทางเดียวกัน และมองว่าที่ผ่านมาโตโย ไทร์ ก็เข้าร่วมสนับสนุนการแข่งขัน รถยนต์ทางเรียบรายการโตโยต้า วีออส และยาริส วันเมคเรซ ทำให้โตโย ไทร์เป็นที่รู้จักของผู้ใช้รถกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของยางรถยนต์สมรรถนะสูง
3ปีที่ผ่านมา โตโยไทร์ จับตลาดกลุ่มพรีเมียม ที่ชื่นชอบยางรถยนต์สมรรถนะสูง ซึ่งในกลุ่มนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ดังจะเห็นจากตัวเลขยอดขายที่แต่เดิมตั้งเป้าไว้ 55,000 เส้น แต่ก็ขายได้กว่า 70,000 เส้นต่อปี และในปีนี้คาดว่าจะทำยอดขายได้ 100,000เส้น ดังนั้นแนวรุกที่จะผลักดันให้ยอดขายเป็นไปเป้าหลังจากนี้คือการขยายไปหากลุ่มเป้าหมายใหม่ที่เป็นกลุ่มระดับกลาง
ดังนั้นการรุกไปหากลุ่มเป้าใหม่ในครั้งนี้ยังคงเน้นหนักไปที่สปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง หรือการสื่อสารด้านมอเตอร์สปอร์ต เพื่อแสดงให้เห็นถึงโพสิชั่นของแบรนด์ว่าอยู่กลุ่มไหน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการทำตลาดในรูปแบบนี้ก็ทำให้เกิด Product Awareness และนำไปสู่ Word of Mouth เพราะหลังจากที่ ผู้บริโภคได้สัมผัสและมีประสบการณ์จริงกับยางที่ใช้ในการแข่งขันรถยนต์ ทำให้ยางของโตโยไทร์ได้รับการยอมรับว่าเป็นแบบ UHP หรือ Ultra High Performance นอกจากนั้นแล้ว ในแง่ของตัวผลิตภัณฑ์ ก็เตรียมส่งยางในกลุ่มรถยนต์นั่ง รุ่น Proxes C1S โดยคาดว่าผู้บริโภคจะให้การตอบรับยางรุ่นนี้ประมาณ 30,000 เส้น
ด้านช่องทางการจำหน่าย โตโยไทร์ก็มีแนวทางที่ไม่แตกต่างจากค่ายยางในตลาดอย่างบริดจสโตน,มิชลินหรือกู๊ดเยียร์ โดยมีการผุดฟาสต์ ฟิต ภายใต้ชื่อ โตโยชอป ที่จะเน้นขายยางแบรนด์โตโยไทร์มากกว่า 90% สามารถขายยางยี่ห้ออื่นๆได้ และยังมีสินค้าและบริการอื่นๆอีก อาทิ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง,เปลี่ยนผ้าเบรก ซึ่งโตโยชอปสาขาแรกอยู่บนถนนวิภาวดี กรุงเทพ และอีก1สาขาที่หาดใหญ่ และภายใน 5ปีจะขยายสาขาให้ได้ 10 แห่ง
ส่วนช่องทางการขายผ่านดีลเลอร์นั้น ปัจจุบันโตโยไทร์มีจำนวนดีลเลอร์ทั้งสิ้นกว่า 200แห่งทั่วประเทศ แบ่งออกเป็นพื้นที่กรุงเทพกว่า 60-65 % ส่วนที่เหลือคือต่างจังหวัด โดยโตโยไทร์ยังไม่มีแผนจะขยายดีลเลอร์เพิ่มแต่จะใช้ความแข็งแกร่งด้านช่องทางจำหน่ายผ่านศูนย์ฟาสต์ฟิตของตัวเอง
การเปิดแนวรุกตลาดยางรถนำเข้าของทั้ง 2 แบรนด์ครั้งนี้ แม้จะเป็นแบรนด์ระดับกลาง แต่การทุ่มงบประมาณผ่านกิจกรรมมอเตอร์สปอร์ตในช่วงที่ผ่านมา ช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น และมียอดขายที่เติบโตมากยิ่งขึ้น แนวโน้มการเติบโตของตลาดยางรถนำเข้า จึงเป็นช่องว่างที่พอให้ คอนติเนนทอล และโตโยไทร์ พอจะแทรกเข้ามา แข่งกับยางรถยนต์แบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง มิชลีน, บริดจสโตน และกู๊ดเยียร์ ซึ่งส่วนใหญ่เน้นทำตลาดยางรถยนต์ที่ผลิตในประเทศได้อย่างสบายๆ
|