Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์5 ตุลาคม 2552
แบรนด์ไทยพร้อมรบ ชิงกำลังซื้ออาเซียน 560 ล้านคน             
 


   
search resources

Investment
Branding




*'แบรนด์ไทย' เตรียมทัพพร้อมรบอาเซียน
*ปูพรม 2 สเตป..จากตลาดรีจินัลก้าวขึ้นโกลบอลแบรนด์
*รับศึก 'แบรนด์นอก' ปักหลักไทย แสวงหาตลาดใหม่
*กลุ่มลูกค้ามหาศาล 10 ประเทศ กว่า 560 ล้านคน

สัญญาณการแข่งขันที่ร้อนแรง ในสมรภูมิการค้าขายช่วงชิงตลาดอาเซียน (AFTA) เพื่อรองรับกำลังซื้อจาก 10 ประเทศที่มีมหาศาล 560 ล้านคน ที่ผ่านมานั้น เริ่มก่อตัวจากปรากฏการณ์การหลั่งไหลกันเข้ามาของกลุ่มทุนบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาบรรดาบิ๊กแบรนด์ดังนอกประเทศที่เข้ามาด้วยรูปแบบการย้ายหรือขยายฐานการผลิตเข้ามาเพื่อชูประเทศไทยให้เป็นฮับของอุตสาหกรรมต่างๆ มีทั้งกลุ่มธุรกิจรถยนต์ ขนมขบเคี้ยว นมพร้อมดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์

คิริน ซานมิเกล เอฟแอนด์เอ็น โฟร์โมสต์ ลอตเต้ 'ยีดไทยเป็นฮับ' มีการขยับขยายเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย พร้อมวางเป้าหมายตั้งเป็นฮับเพื่อเจาะตลาดอินโดจีน โดยมองเห็นโอกาสที่ประเทศไทยมีทำเลดี คือระบบโลจิสติกส์ที่เป็นเรื่องสำคัญ ทำให้สามารถจัดการสินค้าและการขนส่งได้รวดเร็ว และยังเป็นประตูบานใหญ่ที่เอื้อประโยชน์เพื่อขยับไปสู่ตลาดอาเซียน

กลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาปักหลักสร้างฐาน ทำให้บรรดาค่ายสินค้าแบรนด์ไทยต่างๆ ทั้งในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และภาคการบริการต่างๆ มีการปรับทัพใหม่ เตรียมพร้อมจะลุยรับศึก โดยหลังจากวันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป สมรภูมิการค้าขายในตลาดอาเซียนจะยิ่งร้อนแรงเป็นที่น่าสนใจยิ่งขึ้น เมื่อการติดต่อค้าขายใน 6 ประเทศสมาชิกเขตการค้าเสรีอาเซียนคือ 1.ไทย 2.สิงคโปร์ 3.อินโดนีเซีย 4.ฟิลิปปินส์ 5.มาเลเซีย 6.บรูไน จะมีการลดภาษีสินค้าเป็น 0% รวมทั้งนับต่อไปอีก 5 ปีข้างหน้า ในปี 2558 จะเพิ่มอีก 4 ประเทศสมาชิก CLMV คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งจะทำให้การค้าภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นไปอย่างเต็มรูปแบบ

ศึกอาฟตา 2 ด้าน ที่แบรนด์ไทยเผชิญ

ช่วงที่ผ่านมา ก่อนเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟตา มีผลบังคับใช้ และทำให้สมรภูมิชิงตลาดอาเซียนปะทุขึ้นนั้น บรรดาแบรนด์ดังของไทยเริ่มนับถอยหลัง เร่งปรับตัว เตรียมพร้อมรบรับมือกับการแข่งขันกับยักษ์ข้ามชาติในตลาดอาเซียน ในนานารูปแบบ ทั้งในแง่ของการขยายฐานการผลิต และให้ความสำคัญกับการทุ่มเม็ดเงินการตลาดเพื่อแบรนดิ้งตราสินค้าให้แข็งแกร่งก่อนที่จะขึ้นชกในเวทีอาเซียน บันไดขั้นแรกเพื่อดำเนินตามรอย 'เรดบูล' ที่สร้างชื่อในตลาดโลกไปก่อน

แบรนด์ไทยที่จัดทัพรบนั้นมีหลากหลายวงการ ในกลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักส์ อาทิ แบรนด์ 'ทเวลฟ์ พลัส' จากโอสถสภา ลงทุน 100 ล้าน เพิ่มกำลังการผลิตสินค้าทเวลฟ์ พลัสทุกกลุ่ม ที่โรงงานนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง บุกขยายตลาดอาเซียนโดยใช้กระแสเกาหลีฟีเวอร์ พรีเซนต์ศิลปิน 'ชอย วีออน' สมาชิกวงซูเปอร์จูเนียร์ เป็นตัวเดินเกมทั้งในแง่ยอดขายและการรับรู้ต่อแบรนด์ 'บีเอสซี' แบรนด์พันธุ์ไทยจากเครือสหพัฒน์ เดินเกมสยายปีกบนเวทีโลก ด้วยสินค้าเสื้อผ้า เครื่องสำอางที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งยังมีการขยายไลน์มาสู่ตลาดอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาฟตาจะสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับแบรนด์ไทย เพราะการขยายตลาดนอกประเทศทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าเป้าหมายที่มีขนาดตลาดกว้างกว่าเดิม แต่ใช่ว่าหนทางนี้จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ นั่นเพราะการเข้ามาของคู่แข่งต่างประเทศที่เข้ามาสร้างฐานการผลิตส่งออก และเจาะตลาดลูกค้าในไทยนั้น เท่ากับว่าแบรนด์ไทยกำลังเผชิญกับด่านหินกลุ่มทุนนอกที่มีสายป่านยาว

ในแวดวงอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ดูจะรับศึกหนักสุดที่มีแต่ยักษ์เข้ามาท้าชน และท่ามกลางสถานการณ์นี้ ทางค่ายเบียร์สิงห์ และเครือไทยเบฟ เบียร์ช้างได้ออกมาเคลื่อนไหวรับมือ ด้วยนโยบายฟูลพอร์ตโฟลิโอ ขยับขยายไปสู่กลุ่มเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ เพื่อปูทางสู่บริษัทเครื่องดื่มครบวงจร ขณะเดียวกัน ไวตามิ้ลค์ ที่เริ่มปูทางน้ำนมถั่วเหลืองส่งออกแต่เนิ่นๆ ด้วยการเข้าไปทุ่มเม็ดเงินแบรนดิ้งตราสินค้านั้นดูจะไปได้ไกล ส่วนตลาดน้ำผลไม้พร้อมดื่มเอง ก็ต้องเผชิญกับกลุ่มทุนนอก ไม่น้อยหน้าวงการเบียร์ ที่ผ่านมานั้นมีการปรับทัพด้วยการลงขันร่วมทุน โดยทิปโก้ยักษ์ใหญ่ครองตลาดน้ำผลไม้ 100% อุดจุดอ่อนด้วยการจับมือกับยักษ์เครื่องดื่มซันโตรี่ ที่มีความพร้อมในกลุ่มเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ที่สามารถจะต่อกรกับศึกแบรนด์นอกที่กำลังเข้ามาตีตลาด

ลงขันวิจัยตลาด ลดต้นทุนอาเซียน

จากวงสัมมนา 'อาฟตา โอกาสและความท้าทายของแบรนด์ไทย' ที่มีแบรนด์ไทยที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ อาทิ ศรีไทยซูเปอร์แวร์ แป้งตรางู และเบียร์ช้าง เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นนั้น ธรรมศักดิ์ จิตติมาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนสปอต จำกัด กล่าวว่า แบรนด์ไทยที่เตรียมกระสุนไว้อย่างเพียบพร้อม ทั้งในเรื่องการผลิต แบรนดิ้ง การวางระบบการจำหน่าย เพื่อเตรียมพร้อมจะผงาดในตลาดอาเซียนอย่าง 'ไวตามิ้ลค์' กล่าวถึงสิ่งที่จะช่วยเสริมศักยภาพ โอกาสของการขยายตลาดอาเซียน 10 ประเทศ ที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านสภาพกฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ ด้วยการลงขันกันทำการศึกษาตลาด เพื่อนำข้อมูลวิจัยความต้องการผู้บริโภคที่ได้มาใช้ร่วมกัน โดยเสนอแนะให้ภาครัฐเป็นโต้โผและแกนกลางในโปรเจกต์นี้

ความแตกต่างกันทั้งในด้านสภาพกฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ นับว่าเป็นอุปสรรคของแบรนด์ไทยที่กำลังขยับขยายเจาะตลาดส่งออกกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะมาตรฐานของกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม กระทั่งมาตรฐานอาหารฮาลาลที่มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ

อาเซียนแบรนด์ ผงาดหลังเปิดเสรี

แบรนด์ดังๆ ในเอเชียที่พร้อมขยับจากรีจินัลขึ้นสู่โกลบอลแบรนด์ ดูจะได้แต้มต่อจากอาฟตา ที่เป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน ให้มีตลาดเดียวกัน มีฐานการผลิตร่วมกัน และนอกจากทำให้บริโภคสินค้าในราคาถูกลงแล้ว ยังมีการดึงดูดการลงทุนทั้งจากในประเทศกลุ่มอาเซียนและนอกกลุ่มให้มีการเข้ามาลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งการรวมกลุ่มในตลาดอาเซียนที่มีประชากรรวมกัน 560 ล้านคนนี้ยังสามารถสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศนอกกลุ่มด้วยเช่นกัน

นับว่าโอกาสของอาฟตาที่มีต่ออาเซียนแบรนด์นี้เอง ที่เป็นสิ่งสำคัญจะเปลี่ยนภาพการแข่งขันในตลาด จากเดิมขั้วแบรนด์ยุโรปผงาดเกือบในทุกภูมิภาค โดยเปลี่ยนมาเป็นการต่อสู้ช่วงชิงกันระหว่าง ฟากแบรนด์จากยุโรป กับแบรนด์เอเชีย โดยหลังจากที่ เอฟแอนด์เอ็น ค่ายยักษ์ใหญ่จากสิงคโปร์ ฮุบนมแบรนด์ดังตราหมี ไมโล กลุ่มเครื่องดื่มของค่ายยักษ์เนสท์เล่ในปี 2550 และในเวลาเพียงไม่กี่ปี ก็เดินแผนเจาะตลาดนมพร้อมดื่มในไทยแบบต่อเนื่อง ซึ่งเอฟแอนด์เอ็น คาดหวังจากการถล่มตลาดในไทย ด้วยกลยุทธ์บลูโอเชียน ที่เปิดตัวสินค้าที่ Differentiate หลีกเลี่ยงการชนกับเจ้าตลาด จะสร้างแบรนด์ไต่อันดับเทียบชั้นยูนิลีเวอร์และพีแอนด์จี ที่ได้รับการยอมรับจากคนไทยมานาน

คู่ชกแบรนด์ไทย ในตลาดอาเซียน

เปิดเสรีทางการค้าในอัตราภาษี 0% ซึ่งมีทั้งได้และเสีย ส่วนหนึ่งแบรนด์ไทยที่ทำตลาดในประเทศจะต้องเผชิญกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีความมั่งคั่งทางต้นทุน และนั่นหมายถึง การมีสายป่านยาวเพียงพอสำหรับฐานการผลิต กระบวนการทำตลาดเพื่อแบรนดิ้ง และวางระบบการกระจายสินค้าให้ต่อกรกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดอยู่ก่อน โดย 3 ประเทศคือ 'สิงคโปร์-ฟิลิปปินส์-มาเลเซีย' ถือว่าเป็นคู่ชกที่สำคัญของแบรนด์ไทยในอาเซียน ดังเช่น การปูพรมเข้ามาของค่ายซานมิเกล เบียร์ชื่อดังประเทศฟิลิปปินส์ที่วางจำหน่ายไปกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ล่ำสูง กลุ่มธุรกิจอาหารเครื่องดื่มประเทศมาเลเซีย และเอฟแอนด์เอ็น ยักษ์เครื่องดื่มจากสิงคโปร์ ที่มีพอร์ตโฟลิโอเครื่องดื่มที่หลากหลาย ค่อยๆ เปิดฉากรุกเข้ามาทำตลาด

สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับการเคลื่อนทัพของ 2 เจ้าตลาดเบียร์สิงห์ และเบียร์ช้าง ที่ระยะหลังเริ่มให้ความสำคัญกับนโยบายขยายพอร์ตเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่ธุรกิจหลักในกลุ่มเบียร์ที่กำลังจะเผชิญศึกเบียร์นอก อาทิ เบียร์ซานมิเกล เบียร์ลาว เบียร์คอสเตอร์ เข้ามาช่วงชิงตลาด

ในจุดนี้เบียร์ช้างยกระดับแบรนด์สำหรับการแข่งขันในตลาดโลก เป็นสปอนเซอร์สโมสรฟุตบอลอังกฤษทีมเอฟเวอร์ตัน ขณะที่เบียร์สิงห์ สร้างแบรนด์ในตลาดต่างประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา ด้วยการเป็นเอ็กซ์คลูซีฟเบียร์ที่จำหน่ายในสนามฟุตบอล สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตีรวมทั้งทุ่มงบประมาณกว่า 10 ล้านบาท ในการสนับสนุนทีมแข่งรถยนต์ฟอร์มูล่า 1 เพื่อนำโลโก้ เบียร์สิงห์ ไปติดอยู่บนรถแข่งของทีม 'RedBull Racing'

การก้าวข้ามไปสร้างชื่อในตลาดเบียร์โลก อาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้ค่ายเบียร์แบรนด์ไทย ได้มีโอกาสกลับมาชิงแชมป์ในเอเชีย ตลาดระดับรีจินัล ที่มีเจ้าตลาดจับจองพื้นที่อยู่ก่อน โดยช่วงที่ผ่านมาค่ายเบียร์เอเชีย แปซิฟิก บริวเวอรี่ จากประเทศสิงคโปร์ ที่มีพอร์ตโฟลิโอ บริวเวอรี่ ครบครันทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะแบรนด์ดังอย่าง 'ไฮเนเก้น' และ 'ไทเกอร์' 'Anchor' 'Baron's Strong Brew' และ 'ABC Extra Stout' ซึ่งเป็นสินค้าที่ทำตลาดมานาน และได้รับความนิยมเป็นอย่างดีในกลุ่มประเทศของอาเซียนมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกันการทำตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามกลุ่มอาเซียนนั้นก็ดูจะเป็นเรื่องยากด้วยเช่นกัน

สมชัย สุทธิกุลพาณิชย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ กล่าวว่า โอกาสของเบียร์ช้าง ที่เข้าไปเปิดตลาดส่งออกกลุ่มประเทศอาเซียนได้จำเป็นต้องสร้างแบรนด์สินค้าให้มีเอกลักษณ์ไทย และมีไลน์สินค้าที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลาย แต่ที่ผ่านมานั้นมักเผชิญกับข้อจำกัดในการขยายตลาดกลุ่มอาเซียน ที่หลายๆ ประเทศนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งทำให้เบียร์ช้างต้องมองตลาดที่กว้างกว่าอาเซียน

สิงห์ในฟอร์มูล่าวัน ยิงปืนนัดนี้ดังไกลไปทั่วโลก

สิงห์ คอร์ปอเรชั่น ผู้ทำตลาดเบียร์สิงห์ ยอมทุ่มงบประมาณกว่า 10 ล้านบาท ในการสนับสนุนทีมแข่งรถยนต์สูตร 1 หรือฟอร์มูล่า 1 เรียกสั้นๆ ว่า F1 เพียงเพื่อต้องการให้มีโลโก้ เบียร์สิงห์ ไปติดอยู่บนรถแข่งของทีม 'RedBull Racing' มองดูผิวเผินตัวเลขการลงทุนอาจดูสูงไปสักหน่อย แต่หากมองถึงสิ่งที่สิงห์จะได้รับกับการลงทุนครั้งนี้น่าจะคุ้มค่าไม่น้อย

นั่นเพราะการแข่งขันรถยนต์ฟอร์มูล่า 1 ผู้ชมส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชาย และเบียร์ก็เป็นเครื่องดื่มของผู้ชายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกับรถยนต์ F1 แล้ว มันคือการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและมีผู้ชมมากที่สุดในโลกถึงกว่า 800 ล้านคนในแต่ละสนาม โลโก้สิงห์บนรถแข่ง F1 จึงเป็นการโปรโมต สร้างการรับรู้ และตอกย้ำแบรนด์ได้ในคราวเดียว กับกลุ่มเป้าหมายทั่วโลก

วรวุฒิ ภิรมย์ภักดี ผู้จัดการฝ่ายพันธมิตรและกิจกรรม บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บอกว่า การเข้าร่วมเป็นสปอนเซอร์ในครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญในการที่จะทำให้คนทั่วโลกรู้จักแบรนด์สิงห์และเรดบูล ซึ่งเป็นแบรนด์ของคนไทย พร้อมทั้งเป็นการตอกย้ำภาพความเป็นผู้นำในวงการมอเตอร์สปอร์ตไทยของแบรนด์สิงห์อีกด้วย นอกจากนั้นยังเป็นการนำประสบการณ์ความสนุกตื่นเต้นของแวดวงมอเตอร์สปอร์ตระดับโลกมามอบให้แก่แฟนๆ ฟอร์มูล่า 1 และผู้ที่ชื่นชอบความเร็วในไทยโดยเฉพาะ สำหรับย่างก้าวที่สำคัญในการผนึกกำลังกันสร้างความโดดเด่นในเวทีการแข่งขันรถยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในวันนี้

สำหรับตำแหน่งโลโก้สิงห์ ที่ติดอยู่บนตัวรถนั้น แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โต แต่ สิงห์ คอร์ปอเรชั่น ค่อนข้างพอใจ เพราะอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับนักแข่ง และปรกติ เป็นตำแหน่งที่ติดชื่อนักแข่ง ซึ่งสิงห์ฯ มองว่าเป็นการได้รับเกียรติจากทีม RedBull Racing และยังมีโลโก้ติดกับชุดนักแข่งของทีมอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การสนับสนุนทีม RedBull Racing ของ สิงห์ คอร์ปอเรชั่น กับการแข่งขันรถ F1 ครั้งนี้ จะมีเฉพาะที่สนามซูซูกะ ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 3 และ 4 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นสนามที่ 15 จากทั้งหมด 17 สนาม เหตุผลที่เลือกสนามแข่งในญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่สิงห์เข้าไปบุกตลาด และเป็นตลาดใหญ่ของเบียร์สิงห์ในต่างประเทศ

วรวุฒิ เชื่อว่า อนาคตของแบรนด์สิงห์ ในการสนับสนุนทีม RedBull Racing กับการแข่งขันรถ F1 นั้น น่าจะมีการสนับสนุนในสนามแข่งอื่นๆ รวมถึงในฤดูกาลต่อไป โดยเฉพาะกับสนามแข่งของประเทศที่มีเบียร์สิงห์เข้าไปทำตลาด เพราะการลงทุนครั้งนี้ มีเป้าหมายในทางการตลาดเป็นหลัก อีกทั้งความสัมพันธ์อันดีที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มสิงห์ ในนามตระกูล 'ภิรมย์ภักดี' กับตระกูล 'อยู่วิทยา' เจ้าของแบรนด์กระทิงแดง และทีม RedBull Racing ซึ่งร่วมกันตั้งบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เฟอร์รารี่ในประเทศไทยด้วย ก็ยิ่งทำให้เบียร์สิงห์มีโอกาสสร้างแบรนด์ในต่างประเทศได้ ผ่านการแข่งขันรถ F1 ต่อไป

แม้ผู้บริหารจากค่ายสิงห์จะออกตัวว่า อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน และมีโอกาสที่สิงห์จะร่วมสนับสนุนทีมอื่น แต่ด้วยสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่น จะทำให้สิงห์ กับ RedBull Racing อยู่คู่กันในสนามแข่ง F1 ในระยะยาว ซึ่ง คริสเตียน ฮอร์เนอร์ หัวหน้าทีมแข่ง 'RedBull Racing' บอกว่า ทีมมีความยินดีที่ บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้การสนับสนุนทีม 'RedBull Racing' ในการแข่งขันที่กำลังจะเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น ซึ่งการแข่งฟอร์มูล่า 1 ที่ญี่ปุ่น เป็นสนามที่เร้าใจ มีคนติดตามรอชมเป็นจำนวนมาก และเป็นครั้งแรกที่ผู้ชมทั้งในสนามและทั่วโลกจะได้เห็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ 'สิงห์' และ 'RedBull' คู่กันในสนามแข่ง F1

การลงทุนครั้งนี้ สิงห์ ยังไม่ได้คาดหวังว่าจะก่อให้เกิดการขยายตลาดเบียร์สิงห์ในต่างประเทศเป็นมูลค่าเท่าใด แต่แน่นอน การลงทุนครั้งนี้ สิงห์ คอร์ปอเรชั่น ดูมั่นใจมากว่าจะทำให้เบียร์สิงห์เป็นที่รู้จักของกลุ่มนักดื่มเบียร์ชาวญี่ปุ่น รวมถึงการถ่ายทอดภาพการแข่งขันไปในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แน่นอนว่า ในนั้นต้องมีกลุ่มประเทศแถบอาเซียน ด้วยนั่นเอง

'BSC' แบรนด์พันธุ์ไทย สยายปีกบนเวทีโลก

บีเอสซี (BSC) เด็กสร้างจากเครือไอ.ซี.ซี. อีกหนึ่งแบรนด์ไทยที่วันนี้พูดได้เต็มปากว่า 'โกอินเตอร์ 100%' ภายใต้ชื่อ 'BSC International' ตราสินค้าใหม่ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานสหกรุ๊ป ครั้งที่ 13 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ด้วยระยะเวลาเพียง 11 ปี นับจากการเปิดตัวแบรนด์ครั้งแรกเมื่อปี 2541 ด้วยสินค้ากลุ่มเสื้อผ้าผู้หญิง เครื่องสำอาง เสื้อผ้าผู้ชาย ชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องประดับเพชร จากนั้นก็ขยายไลน์มาสู่ตลาดอุปโภคบริโภค เช่น แผ่นอมระงับกลิ่นปาก ชาเขียวพร้อมดื่ม ยาสีฟัน จะเห็นว่านี่คือ ตราสินค้า ที่ถูกออกแบบให้เป็นลักษณะมัลติแบรนด์ เช่นเดียวกับ มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์

โดยกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ของค่ายนี้ คือ การเสริมภาพให้เทียบเท่ากับแบรนด์ต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการนดีไซเนอร์มาช่วยออกแบบสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า หรือการร่วมกับบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรี่ส์ จำกัด ในการคิดค้นและพัฒนาสินค้ากลุ่มสกินแคร์ ก็เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับคุณภาพและนำเสนอนวัตกรรมให้ดูเทียบเท่ากับแบรนด์ต่างชาติ

นั่นคือ การเตรียมตัวเพื่อก้าวสู่ตลาดโลก ทว่า หากจะสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักเช่นเดียวกับอินเตอร์แบรนด์ทั้งหลาย เชื่อว่าคงต้องใช้เวลานานหลาย 10 ปี ดังนั้นไอ.ซี.ซี.จึงสร้างทางลัดเพื่อย่นระยะเวลา ด้วยการติดสปริงให้บีเอสซีสามารถกระโดดเข้าสู่ตลาดโลกได้อย่างโดดเด่นและรวดเร็ว ซึ่ง 'เวทีประกวดมิสยูนิเวิร์ส ปี 2005' ก็คือ จิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่กลายเป็นกระบอกเสียงตัวใหญ่ในการช่วยประกาศชื่อให้บีเอสซีเป็นที่รู้จักกว่า 80 ประเทศทั่วโลกในฐานะผู้สนับสนุนชุดว่ายน้ำ ซึ่งหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนั้น กอปรกับการได้ นาตาลี เกลโบวา มาร่วมเป็นพรีเซนเตอร์และพาร์ตเนอร์ทำธุรกิจร่วมกัน ส่งผลให้แบรนด์บีเอสซีเป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดยุโรปที่ให้การยอมรับสินค้ากลุ่มชุดชั้นใน และชุดว่ายน้ำมากขึ้น ด้านยอดขายก็เติบโตขึ้นราว 15% รวมทั้งจากการสำรวจของบริษัทยังพบว่า ผู้บริโภครับรู้ในแบรนด์บีเอสซีมากถึง 90% และกว่า 70% รู้ว่าเป็นสินค้าของคนไทยในเครือสหพัฒน์ จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้บีเอสซีจึงวางแผนให้การสร้างแบรนด์ผ่านเวทีประกวดเป็นกลยุทธ์ระยะยาว

'เวทีมิสยูนิเวิร์ส คือเครื่องมือตัวสำคัญในการสร้างใบเบิกทางให้ชื่อบีเอสซีเป็นที่รู้จักในตลาดโลก พร้อมยกระดับจากโลคัลแบรนด์ให้กลายเป็นอินเตอร์แบรนด์อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยให้ผู้บริโภคเกิดการยอมรับและเชื่อถือแบรนด์อีกด้วย และนั่นคือ เหตุผลที่เรายอมลงทุนกว่า 20 ล้านบาทต่อการประกวดในแต่ละปี ซึ่งบีเอสซีใช้เวทีนี้สร้างชื่อติดต่อกันมา 5 ปีแล้ว และเราจะผูกติดกับเวทีไปอย่างต่อเนื่อง' ชัยเลิศ มนูญผล รองผู้อำนวยการฝ่าย บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวเมื่อครั้งแถลงข่าวอย่างเป็นทางการกรณีที่บีเอสซีเป็นสปอนเซอร์ชุดว่ายน้ำของเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2009

ล่าสุดกับเวที Miss Universe 2009 ในปีนี้บีเอสซีรับหน้าที่เตรียมชุดว่ายน้ำทั้งหมด 3 เซต สำหรับสาวงามทั่วโลก 84 ประเทศ แต่ที่พิเศษไปกว่าทุกปี คือ การดึงชุดไฮไลต์จากเวทีมาวางเป็นคอลเลกชั่น ลิมิเต็ด จำหน่าย 80 ชุดเป็นครั้งแรก วางราคาจำหน่ายชุดละ 4,888 บาท สูงกว่าชุดว่ายน้ำคอลเลกชั่นปรกติที่มีราคาเฉลี่ย 1,000-2,000 บาท โดยรองผู้อำนวยการฝ่ายของ ไอ.ซี.ซี. บอกว่า สินค้าชุดนี้มีราคาสูงเพราะเป็นสินค้าแฮนด์เมดและมีจำนวนจำกัด โดยจะเป็นคอลเลกชั่นที่ช่วยยกระดับให้สินค้ากลุ่มชุดว่ายน้ำของบีเอสซีดูพรีเมียมยิ่งขึ้นด้วย

นอกจากเวทีดังกล่าวแล้ว บีเอสซียังสามารถนำชื่อและโปรดักส์ขึ้นไปอวดโฉมบนเวทีการประกวดสาวงาม Miss USA ปี 2006, 2007 และเวที Miss Teen USA ปี 2006, 2007 ขึ้นไป ซึ่งทั้งสองเวทีนี้ก็ยิ่งช่วยผลักดันให้บีเอสซีเป็นที่รู้จักและบุกตลาดอเมริกาได้ดียิ่งขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยความพร้อมที่ไอ.ซี.ซี.ปลุกปั้นแบรนด์บีเอสซีมากว่า 11 ปี กอปรกับการมีสินค้ากลุ่มชุดว่ายน้ำช่วยกรุยทางไปล่วงหน้า ในปีนี้บีเอสซีจึงพร้อมนำสินค้าบุกตลาดต่างประเทศอย่างเต็มตัว แต่เพราะชุดว่ายน้ำไม่ใช่สินค้าที่ทำรายได้หลัก โดยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 5% จากยอดขายรวมบีเอสซี ดังนั้น สินค้าที่นำออกสู่ต่างประเทศเป็นตัวแรกจึงเป็นสินค้ากลุ่มชุดชั้นในและกลุ่มคอสเมติก เนื่องจากเป็นสินค้าหลักที่ทำรายได้ให้แบรนด์บีเอสซี โดยเฉพาะกลุ่มคอสเมติกที่เริ่มส่งสินค้าออกไปชิมลางในต่างประเทศบ้างแล้ว เช่น บีเอสซี ปนัดดา ซับแบรนด์ที่เกิดจากการยืมชื่อและดีกรีนางสาวไทยมาช่วยเสริมทัพให้แบรนด์บีเอสซีแข็งแกร่งขึ้น โดยเปิดตัวเมื่อต้นปี 2551

ทั้งนี้ ประเทศแถบเอเชียถือเป็นประตูบานแรกที่บีเอสซีก้าวออกไปเต็มตัว เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ก่อนจะขยายไปสู่ตลาดยุโรปและอเมริกาต่อไป โดย ไอ.ซี.ซี.ได้มีการเตรียมพร้อมด้วยการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ตราสินค้าในแต่ละประเทศสำคัญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนสินค้ากลุ่มชุดว่ายน้ำ ผู้บริหาร ไอ.ซี.ซี.บอกว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการนำเข้าไปจำหน่ายในแถบอินโดจีน โดยอยู่ในระหว่างการศึกษาและทดลองตลาด และนี่คืออีกหนึ่งแบรนด์ไทยที่สามารถขยับข้ามไปสู่ตลาดโลกในฐานะอินเตอร์แบรนด์ได้อย่างสวยงาม

'ทเวลฟ์ พลัส' จากโลคัลสู่รีจินัลแบรนด์

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทเวลฟ์ พลัส เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่พยายามอัปอิมเมจตนเองให้มีความอินเตอร์มากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายตลาดออกต่างประเทศ ด้วยการรุกเข้มกลยุทธ์พรีเซนเตอร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแบรนด์นี้ยอมลงทุนเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการนำนักร้องวงซูเปอร์จูเนียร์ศิลปินแดนโสมมาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้าหลายโปรดักส์ภายใต้แบรนด์ทเวลฟ์ พลัส เช่น โรลออน แป้งเย็น โคโลญจน์ ซึ่งนอกจากยอดขายที่ทางผู้บริหารโอสถสภาหวังว่าจะขยับขึ้นตามเป้าหมายแล้ว สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ การยกระดับภาพลักษณ์แบรนด์ทเวลฟ์ พลัส ให้เป็นที่รู้จักและมีความเป็นอินเตอร์มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีภาพความทันสมัยตามเทรนด์ K-Pop ตามความนิยมของกลุ่มวัยรุ่นที่ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์

ล่าสุด การแตกซับแบรนด์ 'มิราเคิล' อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ค่ายนี้วางไว้ โดยตั้งเป้าวางบทบาทให้ซับแบรนด์นี้เป็นหัวหอกในการพัฒนาสินค้าที่มีความเป็นเกาหลีทั้งจากภายในและภายนอกของตัวสินค้า ทั้งนี้เพื่อเปิดศึกชนกับคู่แข่งแดนโสมหรือคู่แข่งที่เป็นเอเชียด้วยกัน

ทว่า จากการเริ่มต้นเพื่อเปิดประตูสู่ต่างประเทศที่แบรนด์นี้เริ่มอย่างจริงจังได้เพียง 3 ปี ทำให้วันนี้ภาพของทเวลฟ์ พลัส จึงอยู่ในระดับของรีจินัลแบรนด์ ซึ่งผู้อำนวยการตลาด บริษัท โอสถสภา จำกัด วิเชียร สันติมหกุลเลิศ กล่าวกับผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ ว่า ตอนนี้ทเวลฟ์ พลัสยังอยู่ในระดับของรีจินัลแบรนด์ และอยู่ในช่วงของการไต่ระดับไปสู่เอเชี่ยนแบรนด์ ซึ่งกว่าจะไปถึงจุดนั้นจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี และทเวลฟ์ พลัสจะต้องมีการพัฒนาแบรนด์และโปรดักส์อย่างต่อเนื่อง

SWOT analysis ประเทศไทย

'อภิรักษ์ โกษะโยธิน' ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวในวงสัมมนา 'อาฟต้า โอกาสและความท้าทายของแบรนด์ไทย'ว่า มีการทำ SWOT analysis ประเทศไทยถึงปัจจัยที่เป็นความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นในอาเซียนคือ 1.มีจุดแข็งทางด้านค่าครองชีพที่ต่ำ 2.สภาพแวดล้อมการทำงานที่มีคุณภาพ 3.จุดศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ 4.การบริการที่มีคุณภาพ 5.ภาคเกษตรกรรมที่เป็นทรัพยากรของประเทศ

ปัจจัยที่เป็นจุดอ่อนด้านคือ 1.สิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทางและสิ่งก่อสร้างของประเทศไทย มีผลกระทบต่อธุรกิจ 2.การผลิตที่มีมีประสิทธิภาพต่ำ 3.คุณภาพการศึกษาไม่เพียงพอ 4.คุณภาพของสุขภาพไม่เพียงพอ

กลยุทธ์สิ่งที่ควรจะมีการโฟกัสเพราะเป็นโอกาสสำหรับการสร้างรากฐานของประเทศไทยคือ 1. สังคมผู้สูงอายุ (การพัฒนาประเทศ) 2.การความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว 3.การเชื่อมต่อ 4.กำลังเปลี่ยนเศรษฐกิจมาเป็นผู้นำของภูมิภาคเอเชีย 5.กระแสห่วงใยสุขภาพ

ขณะเดียวกันจุดอ่อนของประเทศไทยคือ 1. สังคมผู้สูงอายุ 2.อากาศตามฤดูกาลเปลี่ยน 3.คุณภาพของทรัพยากรน้ำ พลังงาน อาหาร 4.ลักษณะองการเป็นเมืองใหญ่ 5.มุ่งไปสูการปกครองที่เข้มแข็ง

คีย์ซัคเซสในแข่งขัน ไล่บี้กับประเทศสิงคโปร์

แนวโน้มธุรกิจไทย กำลังเปลี่ยนเศรษฐกิจมาเป็นผู้นำของภูมิภาคเอเชีย และมุ่งไปสู่ระบบการปกครองที่เข้มแข็ง โดยวิชั่นความสามารถและความเป็นไปได้ของประเทศไทยใน ปี 2020 มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ จากผู้ผลิตสินค้าซัพพลายเออร์ มาเป็นสินค้ามีแบรนด์ที่มีคุณภาพสูงภายใต้ 4 หัวข้อคือ 1.จัดหาเสบียง ของโลก (world Suppliers) 2 ผู้นำในการผลิตสินค้า (Leader in Creative Product) 3.ประเพณีวัฒนธรรม และทัวร์ทางธรรมชาติ 4.ฮับเอเชีย (Regional Logistic Hub) ส่วนคีย์ซัคเซสสำหรับสร้างความสำเร็จแบรนด์ไทยสู่โกลบอลแบรนด์คือ 1.อาหาร 2.ครีเอทีฟอีโคโนมี 3.การท่องเที่ยว 4.ลอจิสติก

แม้ว่ากำลังเปลี่ยนเศรษฐกิจมาเป็นผู้นำของภูมิภาคเอเชีย ทว่าประเทศไทยมีคู่แข่งในอาเซียนคือ ประเทศสิงคโปร์ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว ที่ติดอันดับโลก Top 20 มีกำลังซื้อต่อหัวสูงถึง 3,8500 เหรียญต่อคน พร้อมทั้งมีจุดแข็งที่เหนือกว่าประเทศไทย อาทิ การเป็นเมืองท่าการติดต่อธุรกิจของโลก ประเทศที่มีท่าอากาศยานที่ดีติดอันดับของโลก และติดอันดับหนึ่งของโลกในการเป็นประเทศที่มีความสะดวกในการทำธุรกิจ

แนวทางแข่งขันของอุตสาหกรรมหลายสาขาในประเทศไทยที่อยู่ในบทบาทรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ตามแบบที่ลูกค้ากำหนด (OEM : Origianl Equipment Manufacturer ) สามารถใช้โอกาสนี้พลิกสถานการณ์มาเป็นทั้งผู้ผลิตสินค้าและเจ้าของแบรนด์ ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการออกแบบ และแบรนด์ โดยสามารถการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added)ให้กับสินค้าให้ประสบความสำเร็จ แต่ละประเทศที่มีเอกลักษณ์สามารถนำเป็นจุดขาย เช่นโอกาสของสินค้าโอท็อปที่จะก้าวออกไปตลาดต่างประเทศ เช่นเดียวกับผ้าไหมจิมทอมสัน

ประเทศไทยมีเกษตรกรรมผักผลไม้เป็นจุดแข็ง จะต้องให้ความสำคัญทั้งกระบวนกระบวนการผลิตสร้างมาตรฐานสินค้าที่มีคุณภาพ และวิธีการสร้างแบรนด์ นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นคือ การเพาะปลูก การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ระบบการจัดจำหน่าย และการตลาด กรณีตัวอย่าง การทำตลาดกล้วยหอมแบรนด์ไทย 'โดล (Dole )' ซึ่งหลังจากกล้วยหอมเป็นใบเบิกทางติดตลาดแล้ว ตามด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีหลากหลายอาทิ ผลไม้สด ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์บรรจุกระป๋อง สับปะรด มะละกอ ฝรั่ง มะม่วง รวมถึงการทำตลาดผลไม้กีวี ผลไม้ของประเทศนิวซีแลนด์ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในสายตาชาวโลกด้วยเช่นกัน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us