|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เดือนนี้ (ตุลาคม) เป็นเดือนแรกของไตรมาสที่ 4 เดือนที่หลายคนเชื่อว่า ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่ไทยเผชิญมาเกือบ 1 ปีเต็มกำลังจะเริ่มฟื้นตัว
บางคนยังเชื่ออีกว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยรอบนี้จะเป็นการฟื้นตัวแบบตัว "วี" ซึ่งในความหมายของนักเศรษฐศาสตร์หรือนักการเงินแล้ว หมายความว่าในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำนั้น "ยิ่งตกลงมาแรงเท่าใด ก็ฟื้นตัวกลับขึ้นไปได้แรงเท่านั้น"
นักการเงินมักจะยกตัวอย่างลูกบาส หรือลูกปิงปอง ที่เมื่อเหวี่ยงหรือเขวี้ยงลงไปกระทบพื้น แรงเด้งกลับจะเท่ากับแรงที่เหวี่ยงลงไป
ความเชื่อเช่นนี้อาจทำให้บางคนกำลังนั่งฝันหวาน
ต้องยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเผชิญในรอบนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เหมือนเมื่อ 11 ปีก่อน
ภาคที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือภาคการส่งออก และท่องเที่ยว
ในภาคการส่งออก ผลกระทบเกิดขึ้นเพราะกำลังซื้อจากตลาดในต่างประเทศที่เคยมีอยู่ ถดถอยลงไป จนมีผลต่อยอดขาย และจำเป็นต้องลดกำลังการผลิต
บางบริษัทปิด เพราะไม่มีออร์เดอร์ บางบริษัทต้องลดกำลังการผลิต ทำให้ต้องมีการปลดคนงานเป็นระลอกๆ
ส่วนภาคการท่องเที่ยว เกิดจากปัจจัยหลายประการ ทั้งปัจจัยภายในและต่างประเทศ
มีการประมาณการกันว่า GDP ของประเทศอาจติดลบลงมาสูงถึง 3% จากปัญหาเศรษฐกิจรอบนี้
แต่พอย่างเข้าปลายไตรมาส 2 โรงงานหลายแห่ง เริ่มเปิดรับคนงานให้กลับเข้ามาทำงานใหม่ เพราะได้ออร์เดอร์ใหม่ๆ เข้ามา
รวมทั้งไตรมาสที่ 4 ของแต่ละปีเป็นช่วงก้าวเข้าสู่ไฮซีซันส์ของการท่องเที่ยว
ความเชื่อที่ว่าปัญหาเศรษฐกิจกำลังจะเริ่มคลี่คลาย และกำลังเข้าสู่ช่วงแห่งการฟื้นตัวจึงเกิดขึ้น และหลายคนก็มีความเชื่อมั่นเช่นนั้น
ในทางทฤษฎีก็มีปัจจัยรองรับ
แต่ในความเป็นจริง แม้สัญญาณแห่งการฟื้นตัว เริ่มปรากฏให้เห็นจริง แต่ก็ไม่ควรจะประมาท
ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งใช้เวลาบ่มเพาะมานาน จนเพิ่งระเบิดขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ได้ทำให้การวิเคราะห์ตัวแปรทางเศรษฐกิจ โดยใช้ทฤษฎีแบบเดิมๆ อาจไม่ได้ผล
เพราะมีตัวแปรที่มีผลต่อเศรษฐกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมา อีกหลายตัว
ตัวแปรดังกล่าว อาทิ เรื่องของการก่อการร้าย โรคระบาด ปัญหาดินฟ้าอากาศ และเรื่องสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ดังนั้น ทุกคนไม่ควรจะมั่นใจกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้จนเกินไป จนกล้าคิดการใหญ่ที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก
มีปรากฏการณ์ที่ต้องพึงตระหนัก ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกันยายน ที่เป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างสิ้นไตรมาส 3 กำลังจะเข้าไตรมาส 4 อยู่ 2-3 ปรากฏการณ์ด้วยกัน
ปรากฏการณ์แรก การประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องโลกร้อนที่จัดกันในประเทศไทย เพื่อหาข้อสรุปไปเสนอในที่ประชุมใหญ่ที่ประเทศเดนมาร์ก มีข้อสรุปประการหนึ่งว่า ปัญหาโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ไม่สามารถรอได้อีกแล้ว ดังนั้นทุกคนควรต้องติดตามแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวว่าจะมีมาตรการอะไรที่จะออกมา แล้วมีผลกระทบต่อการลงทุน
ปรากฏการณ์ที่ 2 ความรุนแรงของพายุไต้ฝุ่นกฤษณา ที่ซัดถล่มประเทศฟิลิปปินส์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ก็เป็นผลสะท้อนอย่างเป็นรูปธรรมอันหนึ่งของปรากฏการณ์แรก
ปรากฏการณ์ที่ 3 ความวิตกกังวลต่อการกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่จะเริ่มในเดือนตุลาคม เดือนแรกของไตรมาส 4 นี้เช่นกัน
ว่ากันว่าการระบาดรอบนี้อาจรุนแรงกว่าการระบาดในรอบแรก
ปรากฏการณ์เหล่านี้ ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่าไรนักในการประเมินแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจ แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว เพราะโลกเศรษฐกิจที่ซับซ้อนขึ้นในปัจจุบัน ตัวแปรบางตัวแปรที่ตอนแรกคนอาจเห็นว่าไม่สำคัญ แต่กลับมามีผลโดยตรงในภายหลัง
ดังนั้น หากใครที่กำลังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะฟื้นตัว ทางที่ดี ยิ่งมีความมั่นใจมากเท่าไร ก็ต้องยิ่งเพิ่มความระมัดระวังเข้าไปมากเท่านั้น
น่าจะเป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุด
|
|
|
|
|