|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ผู้บริหารหลายคนตระหนักดีว่าความคิดสร้างสรรค์และความรู้สึกดีจุดประกายให้เกิดประสิทธิภาพการทำงาน แต่มีเพียงน้อยรายที่รู้ว่าบรรยากาศของออฟฟิศแบบไหนที่ฟูมฟักทั้ง 2 สิ่งนี้ให้เกิดกับพนักงานได้ดีที่สุด...โดยหนึ่งในนั้นคือผู้บริหาร "ดีแทค"
ผู้คนในชุดลำลองพร้อมรองเท้าผ้าใบและผ้าขนหนูทยอยเดินเข้ามาใช้เครื่องออกกำลังกายราคาแพงที่มีอยู่หลากหลายประเภทให้เลือกตามอัธยาศัย บางส่วนขยับแข้งขารอเต้นแอโรบิกในห้องที่อยู่ใกล้กัน ขณะที่อีกกลุ่มยืนรับลม และแดดยามเย็นเพื่อรอครูฝึกโยคะและบอดี้คอมแบตอยู่ทางระเบียงด้านนอก
บรรยากาศเช่นนี้ทำให้หลายคนนึกว่ากำลังอยู่ในฟิตเนสเซ็นเตอร์ขนาดย่อมมากกว่าที่จะคิดว่ากำลังอยู่ในออฟฟิศสักแห่ง
บนชั้นเดียวกันนี้ เสียงดนตรีเล่นสดๆ ที่แว่วมาจากมุมซ้อมดนตรี ดังสลับกับเสียงหัวเราะสนุกสนานที่ลอยมาจากหลายมุม ทั้งโต๊ะปิงปอง โต๊ะสนุกเกอร์ สนามฟุตซอล ห้องคาราโอเกะ และโซนตู้เกม
ภาพเหล่านี้พบได้บนชั้น 38 ของอาคารจัตุรัสจามจุรี ซึ่งเป็น creativity floor โดยหวังว่ากิจกรรมเพื่อสุขภาพและความผ่อนคลายเหล่านี้จะเติมพลังความคิดสร้างสรรค์และ "ความรู้สึกดี" (Feel Good) ให้แก่พนักงานที่นี่
"เราไม่มีอะไรเด่นกว่าคู่แข่ง จุดแข็งอย่างเดียวที่ดีที่สุดของเราคือคน พนักงานของเราคือ ผู้ถ่ายทอดความรู้สึกดีต่อแบรนด์ไปยังลูกค้า เพราะฉะนั้นความคิดสร้างสรรค์และความรู้สึกดีๆ ของพนักงานที่มีต่อแบรนด์ จึงถือเป็นสิ่งสำคัญมาก"
ธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานพาณิชย์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวบนเวทีในวันเปิดบ้านหลังใหม่ของดีแทคที่ตั้งอยู่บนชั้น 22-41 ของอาคาร จัตุรัสจามจุรี รวมพื้นที่เกือบ 6.2 หมื่นตารางเมตร
จากเดิมที่พนักงานดีแทคในกรุงเทพฯ ต้องอยู่กระจัดกระจายใน 6 ตึก โดยอยู่ที่ตึกชัยกว่า 2 พันคน ที่เหลือเกือบพันคนกระจายตามตึกแอลพีเอ็น อีสต์วอเตอร์เฮาส์ ยานนาวา วังเด็ก และบางส่วนของอาคารศรีนครินทร์ ซึ่งยากต่อการตอบโจทย์การแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่อง การประสานงานและประชุมแก้ปัญหา และการรวมกลุ่มทำกิจกรรมองค์กร เป็นต้น
กระทั่งปลายเดือนมิถุนายนปีนี้ พนักงานดีแทคในกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมดร่วม 3.2 พันคนจึงมาอยู่ในบ้านใหม่หลังเดียวกัน แค่เพียง 2-3 เดือนก็พบว่าการประสานงานและแก้ปัญหาหลายอย่างรวดเร็วขึ้นและดีขึ้นจนเห็นได้ชัด โดยเฉพาะฝ่ายวิศวกร
ยกตัวอย่าง SOC (Service Operation Center) หรือศูนย์ควบคุมและปฏิบัติการดีแทค ที่เป็นการรวมศูนย์ในการบริหารจัดการ ติดตามควบคุม และแก้ไขปัญหาเครือข่ายดีแทคทั่วประเทศให้มาอยู่ที่เดียวกัน ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็ทำให้เกิดการแชร์การทำงานและความซ้ำซ้อนของตำแหน่งงานได้ จึงสามารถลดคนในแผนกนี้ได้ถึง 30% เพื่อให้ไปทำหน้าที่อื่นแทน
ตัวเลขประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้นของ SOC นับเป็นคำตอบที่ชัดเจนของคำถามที่ว่า ดีแทคย้ายบ้านเพื่ออะไร ขณะที่ประสิทธิภาพแง่ความคิดสร้างสรรค์ แม้จะวัดยากแต่ธนาก็เชื่อว่าบ้านใหม่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
"ผมวัดจากจำนวนคนที่พูดมากขึ้นในห้องประชุม มีส่วนร่วมกับกิจกรรมองค์กรมากขึ้น และผมว่าตั้งแต่มาอยู่ตึกใหม่นี้ พนักงานมีไอเดียเยอะกว่าเดิม"
เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการสร้างสรรค์ออฟฟิศใหม่ติดตั้งสัญญาณ Wi-Fi ทั้งตึก เพื่อให้พนักงานสามารถหอบโน้ตบุ๊กไปนั่งทำงานในมุมสงบหรือมุมสนุกได้ทั่วออฟฟิศ หรือหากนึกครึ้มใจอยากนั่งมองวิวสวนลุมพินีก็เลือกนั่งฝั่ง Park แต่ถ้าฟ้าใส อยากนั่งมองแม่น้ำเจ้าพระยาและเห็นสะพานพระรามแปดอยู่ลิบตา ก็เลือกนั่งสบายๆ ที่ฝั่ง River
ถ้าคิดงานไม่ตกจะไปคลายเครียดอยู่บนสไลเดอร์ที่ชั้น 32 ก็สร้างความสนุกราวกับได้ย้อนวัย ทีเดียว ว่ากันว่า คนที่มาสมัครงานที่ดีแทคต้องลื่นสไลเดอร์ลงมา เพื่อทดสอบว่าเป็นคนที่ชอบความสนุก และยังมีความเป็นเด็กอยู่ในตัวไหม
หากต้องแลกเปลี่ยนระดมสมองทีมออฟฟิศใหม่ก็มีห้องประชุมหลากสไตล์หลายบรรยากาศให้เลือกตามใจชอบ เช่น อยากได้อารมณ์เหมือนถูกโอบด้วยภูเขาก็เลือก "ห้องเขาใหญ่" อยากรู้สึกเหมือนประชุมรอบกองไฟก็จอง "ห้องปาย" เป็นต้น
ทั้งนี้ ชื่อห้องประชุมของที่นี่ตั้งตามชื่ออำเภอที่มีสำนักงานขายดีแทคตั้งอยู่ อันเป็นไอเดียสร้างสรรค์ โดยทีมงานการตลาดของดีแทค
ขณะที่บรรยากาศในห้องทำงานก็เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียได้ดีด้วย ดีไซน์แบบ open office ที่ไม่มีพาร์ทิชั่นกั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยน และเปิดรับความคิดใหม่
แม้ว่าห้องผู้บริหารจะมีกระจกกั้น แต่ก็ไม่มีม่านปิดกั้น ส่วนประตูก็มักเปิดไว้ตลอดเวลา ราวกับเป็นการสื่อนัยว่า "always welcome!"
สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ระหว่างแผนก บ้านใหม่ของดีแทคพยายามสร้างหลายมุมสบายๆ ในส่วนของ common floor ที่เป็นชั้นเปิดกว้างเพื่อเป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์และจัดกิจกรรมของพนักงาน
การที่ลิฟต์ต้องหยุดชั้น 32 เป็นกุศโลบายให้พนักงานทุกคนต้องผ่านล็อบบี้ เพื่อเพิ่มโอกาสพบปะพูดคุยกับคนในแผนกอื่น ทั้งยังเป็นการอัพเดทข่าวสารและกิจกรรมของบริษัท ขณะที่บริเวณบันไดที่เจาะทะลุตั้งแต่ชั้น 31-34 ยังถูกประยุกต์ใช้เป็น tower hall สำหรับซักซ้อมกิจกรรมเดินสายของดีแทคได้ด้วย
ไม่เพียงดีไซน์ให้สอดรับกับกิจกรรมของดีแทคเพื่อประสิทธิภาพการทำงานและแบรนดิ้ง ออฟฟิศใหม่นี้ยังจัดสรรพื้นที่เพื่อเติมเต็มความต้องการเล็กๆ น้อยๆ ของพนักงาน เช่น ห้องเด็กเล่น ห้องให้นมลูก ห้องนั่งสมาธิ และห้องละหมาด ซึ่งผลสำรวจบอกว่านี่เป็นสิ่งที่พนักงานดีแทคอยากได้เป็นอันดับต้น
"นอกจากฟังก์ชันใช้งานทุกส่วนยังแฝงกลิ่นหรือฟีลลิ่งของแบรนด์ดีแทค เพราะเราใช้ทีมแบรนดิ้งร่วมกันคิดกับทีมดีไซน์และก่อสร้างตั้งแต่ตอนทำตึกที่นี่จึงตอบโจทย์ของแบรนด์ดีแทคได้ดี" ธนาเผยเคล็ดลับ
ไม่ใช่เพียงคนในดีแทค คนภายนอกทั้งที่เป็นพาร์ตเนอร์และไม่ใช่ ก็ยังรับรู้และสัมผัสถึง "วิถีดีแทค" ที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมผ่านรายละเอียดการออกแบบของบ้านใหม่ของดีแทคหลังนี้
นี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเพียงไม่กี่เดือนที่ดีแทคย้ายไปบ้านหลังใหม่ จึงมีคณะนิสิตนักศึกษา และบริษัท ลูกค้าหรือว่าที่ลูกค้าพาเหรดเข้ามาเยี่ยมชมและเปิดโอกาสให้ดีแทคได้ "ขายแบรนด์"
ยังไม่นับรวมจดหมายสมัครงานที่ส่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ดีแทคย้ายออฟฟิศ ธนาฝากเตือนไปยังผู้สมัครฯ ว่า ออฟฟิศดีแทคอาจดูสนุกสนาน แต่อย่าคิดว่างานเบา เพราะที่นี่ work hard ก็เลย play hard เพียงแต่ผู้บริหารดีแทคยินดีลงทุนและสนับสนุนเพื่อสร้างบรรยากาศให้พนักงานทำงานให้สนุกและเล่นก็ให้สนุก
สำหรับธีมการออกแบบของออฟฟิศนี้ ธนาเรียกง่ายๆ ว่าธีม "we care" และเมื่อ พิจารณาจากดีไซน์และดีเทลก็จะเห็นชัดว่า กลุ่มคนที่ผู้บริหารดีแทคแคร์มากที่สุดก็คือพนักงาน
"พนักงานคือแบรนด์ มันมากกว่าหน้าที่การงาน สมมุติหน้าที่คือเจอลูกค้า พนักงานดีแทคจะเจอลูกค้าปกติก็ไม่ได้ ต้องยิ้ม ต้องมีความสุข เขาถึงจะถ่ายทอด "ความรู้สึกดี" และดูแลลูกค้าได้ดี เมื่อลูกค้ารู้สึกดี ผู้ถือหุ้นก็รู้สึกดีไปด้วย" ธนาอธิบาย
อันที่จริง ดีแทคเริ่มให้ความสำคัญกับคนนับตั้งแต่ปี 2002 อันเป็นปีที่การแข่งขันด้านโทรคมนาคมรุนแรงทั้งเจ้าเก่าและหน้าใหม่ ซึ่งธนาบอกว่าเป็นปีที่ดีแทคเกือบล่มสลาย แต่ก็เป็นปีที่ดีเพราะเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้ดีแทคกลับมามีกำไรดีในปีที่แล้วและปีนี้
"ถามว่า 6 ปีที่ผ่านมาอะไรเปลี่ยน พนักงานก็กลุ่มเดิม ผู้ถือหุ้นก็กลุ่มเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือทัศนคติ พอเรามองตัวเองเป็นมวยรอง ก็เริ่มยอมรับว่าถ้าสู้ด้วยเทคโนโลยีเครือข่ายเราก็แพ้ AIS เพราะเขาใหญ่กว่า เรามีอาวุธที่สำคัญที่สุดคือคน ก็ต้องสู้ด้วยพลังคนและไอเดียประหลาดๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรดีแทคถึงวันนี้"
ตัวเลข 450 ล้านบาท เฉพาะค่าตกแต่งอาจจะฟังดูเยอะ แต่เมื่อเทียบเป็นค่าใช้จ่ายต่อตารางเมตรซึ่งตกที่ไม่ถึงหมื่นบาท ก็นับเป็นค่าใช้จ่ายที่ต่ำและมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อเทียบกับออฟฟิศเทเลนอร์ในประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน
แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพการทำงานที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เชื่อว่าต่อให้ต้นทุนสูงกว่านี้อีกเท่าตัว ผู้บริหารดีแทคก็คงยอมลงทุน
...ในเมื่อพลังจาก "ความรู้สึกดีๆ" ที่พนักงานมีต่อองค์กรและแบรนด์ สามารถถ่ายทอดและนำไปสู่...ความรู้สึกดี...ของผู้คนภายนอกได้อีกมากมาย
|
|
|
|
|