Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ตุลาคม 2552
Villa Maroc ประติมากรรมริมหาด ของ “ตัน ภาสกรนที”             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
www resources

Villa Maroc Resort Homepage

   
search resources

ตัน ภาสกรนที
Hotels & Lodgings
Villa Maroc Resort
วริษา ภาสกรนที




การลงทุนในรีสอร์ตไม่ได้มีนัยเพียงธุรกิจโรงแรม หลายรีสอร์ตถูกมองเป็นเครื่องประดับสถานะทางสังคมของไฮโซ บางรีสอร์ตถูกตีความเป็น "ของเล่น" ของลูกคนรวย แต่สำหรับ "Villa Maroc" ตันเชื่อว่าเขากำลังสร้างรีสอร์ตที่มีนัยที่ยิ่งใหญ่และมีความหมายมากกว่านั้น

กลุ่มอาคารปูนสีเหลืองสดตัดกับท้องฟ้าสีฟ้า เปรียบราวกับประติมากรรมริมหาดทราย ตั้งอยู่ ณ ทำเลที่ได้ชื่อเป็นมุมที่สวยที่สุดของชายหาดปราณบุรี Villa Maroc จึงกลายเป็นฉากหลังในภาพถ่ายของคู่รักหลายคู่และหลายครอบครัว

ขณะที่ความหรูหราและโดดเด่นแปลกตาของเอกลักษณ์ในสไตล์ความเป็น "โมร็อกโก" ซึ่งแฝงอยู่เกือบทุกรายละเอียดของเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง ก็เรียกเสียงรัวชัตเตอร์ได้แทบทุกมุม

แม้จะยังไม่มีพิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่รีสอร์ตแห่งนี้ก็ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่และกลายเป็นความใฝ่ฝันของหลายคู่ฮันนีมูน

ความหรูหราของสไตล์โมร็อกโกจ๋าซึ่งหาดูได้ไม่ง่ายในเมืองไทยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ที่นี่เป็น "ทอล์คออฟเดอะทาวน์" ในเวลาอันสั้น แต่แรงผลักดันสำคัญยังมาจากชื่อเสียง และความเป็น "พีอาร์แมน" ของเจ้าของที่ชื่อ "ตัน ภาสกรนที"

ในบางเสาร์-อาทิตย์ แขกที่มาพักที่นี่อาจพบเห็นชายร่างท้วมในชุดเสื้อยืดกางเกงขาสั้นและรองเท้าแตะกำลังสาละวนอยู่กับการดูต้นไม้และเก็บใบไม้แห้ง แขกส่วนใหญ่เดินผ่านไปโดยไม่เอะใจว่าเขาคือเจ้าของรีสอร์ตและยังเป็นผู้บริหารธุรกิจมูลค่ากว่า 7 พัน ล้านบาท

นอกจากจะใช้เป็นสถานที่ให้สัมภาษณ์สื่อ แถลงข่าว และรับรองสื่อมวลชน ตันยัง เปิดรีสอร์ตแห่งนี้ให้เช่าถ่าย pre-wedding สำหรับคู่แต่งงานทั่วไปและบรรจุอยู่ในแพ็กเกจ สำหรับลูกค้าที่ใช้บริการเว็ดดิ้งสตูดิโอในเครือของเขา

ย้อนกลับไปกว่า 3 ปีครึ่ง ตันมาชายหาดปราณบุรีครั้งแรกด้วยบัตรเชิญพักฟรีของ โรงแรมหรูแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่ตั้งของ Villa Maroc

"พอเห็นเป็นตึกสไตล์โมร็อกโกที่เจ้าของเดิมทิ้งร้างไว้ ก็คิดถึงลูกสาวก่อนเลย มันใช่ตัวเขาก็อยากซื้อให้เป็นสมบัติของเขา ไม่ได้ตั้งใจทำเป็นโรงแรม ไม่เคยคิดด้วยซ้ำ เพราะเราไม่เคยทำและไม่มีความเข้าใจตรงนี้ ผมเห็นเพื่อนหลายคนที่มีบ้านพักต่างจังหวัด ปีแรกก็มาหลายครั้ง แต่หลังจากนั้นก็มาปีละครั้ง สุดท้ายผมก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น"

ว่ากันว่า เจ้าของที่คนเดิม เป็นคนเดียวกับเจ้าของ "ดาราเทวี" รีสอร์ตหรูที่เชียงใหม่

ตันควักเงินสดร่วม 190 ล้านบาทเป็นค่าที่ดินขนาด 3 ไร่ครึ่งที่มาพร้อมกับบ้านพักสไตล์โมร็อกโกเล็กๆ 3 หลัง และชายหาดหน้ากว้างเกือบ 200 เมตร ว่ากันว่าราคานี้ยังคงเป็นสถิติสูงที่สุดในปราณบุรีมาจนวันนี้

สไตล์กล้าได้กล้าเสียและวิธีบริหารแบบ "เงินต่อเงิน" ของตัน เขามักทุ่มสุดตัวในการ ประมูลซื้อที่ดินทำเลดีราคาแพงมากกว่ากว้านซื้อที่ดินราคาถูก เพราะเชื่อว่าที่ดินราคาแพงที่สุด ณ เวลานั้น แค่ถือรอเวลาผ่านไปก็ขายได้ราคาแพงที่สุดของเวลาถัดมาได้เช่นกัน

ด้วยศักยภาพของทำเลที่ได้ชื่อว่าแพงที่สุดและสวยที่สุดบนชายหาดปราณบุรี ตันคิดว่าน่าจะทำอะไรได้มากกว่าการสร้างบ้านพักส่วนตัวหรือโรงแรมที่พักทั่วไป

"แทนที่จะสร้างโรงแรมห้องพักเยอะเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ผมสร้างแหล่งท่องเที่ยวเพื่อรองรับโรงแรมแถบนี้ สิ่งที่ผมสร้างตรงนี้ก็คือประติมากรรมชายหาดที่มาพักได้" ไอเดียนอกกรอบนี้ถือเป็นคอนเซ็ปต์ของบูติครีสอร์ตแห่งนี้

สอดคล้องกับความคิดที่อยากเห็นที่นี่เป็นงานศิลปะชิ้นเอกอีกชิ้นของเมืองไทย ของ "วริษา ภาสกรนที" ลูกสาวคนโตวัยเพียง 24 ปีของตัน

เธอคือว่าที่เจ้าของรีสอร์ตตัวจริง และเป็นบัณฑิตหมาดๆ จาก Central Saint Martins College of Artand Design สถาบันการศึกษาที่มีชื่อด้านศิลปะและการออกแบบของอังกฤษ

ตันลงทุนให้วริษาและทีมดีไซเนอร์บินไปประเทศโมร็อกโก 2-3 รอบ เพื่อซื้อหากระเบื้องชิ้นเล็กชิ้นน้อยและของตกแต่งแฮนด์เมดมาสร้างกลิ่นอายโมร็อกโกให้อบอวลไปทั้ง รีสอร์ต...นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนค่าตกแต่งถีบตัวสูงถึง 260 ล้านบาท

"อยากทำให้คนประทับใจก็เลยค่อนข้างลงรายละเอียดมาก ภูมิใจกับสิ่งที่ออกมาและก็เชื่อว่าที่นี่ไม่น้อยหน้าใคร" วริษากล่าวในฐานะผู้มีส่วนร่วมดูแลด้านดีไซน์ภายในรีสอร์ตตั้งแต่ต้นจนทุกวันนี้ ที่ดูเหมือนว่างานตกแต่งจะยังไม่จบง่ายๆ

ขณะที่ "อาร์ต" และสไตล์ของรีสอร์ตสะท้อนตัวตนและความชอบของลูกสาว ความเอาใจใส่ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และมุมแปลกในรีสอร์ตก็สะท้อนนิสัยและเป็นไอเดียของผู้เป็นพ่อ

ตันยอมรับว่าฝักบัวและอ่างอาบน้ำบนดาดฟ้าเป็นจินตนาการของเขา ส่วนห้องน้ำและห้องอาบน้ำที่มีมุมโป๊ จนทำให้ผู้อาบรู้สึกราวกับอาจถูกคนข้างนอกมองเห็นได้ ก็เป็นอารมณ์ขันของเขาที่อยากใส่ความตื่นเต้นท้าทายเข้ามาทดแทนความน่าเบื่อของห้องน้ำที่มิดชิดที่ทุกบ้านมี

Villa Maroc ไม่ได้เป็นเพียงมรดกที่ตันตั้งใจจะยกให้แก่วริษา แต่ยังเป็นสนามทดสอบและห้องเรียนชีวิตการทำงานแห่งแรกของวริษา โดยตันเริ่มจากส่งลูกไปเรียนการโรงแรมคอร์สสั้นๆ ที่สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะผลักลูกสาวลงสนามชีวิตจริงที่มีทีมงานมืออาชีพและมีตันเป็นเทรนเนอร์ประกบอย่างใกล้ชิด

จากนั้นตันก็ปล่อยลูกสาวฉายเดี่ยวร่วมกับเพื่อนๆ ในโปรเจ็กต์ ร้านอาหารกึ่งผับที่ชื่อ "EZILY" บนที่ดินในซอยทองหล่อ 10 ของเขา โดยตันคอยให้คำแนะนำผ่านการตรวจงานและติชม

เงินลงทุนกว่า 450 ล้านบาทกับเวลากว่า 3 ปีครึ่ง อาจสร้างโรงแรมขนาด 150 ห้องได้สบายๆ แต่รีสอร์ตแห่งนี้มีบ้านพักเพียง 15 หลัง จับตลาดลูกค้ากลุ่มไฮเอ็นด์

"จริงๆ จะทำให้เสร็จก็ไม่ยาก แต่ทำให้ดีและถูกใจมันไม่ง่าย ทุบกันไม่รู้กี่ครั้ง ลงทุนขนาดนี้ถ้าสร้างเป็นโรงงานชาเขียว ป่านนี้เสร็จแล้ว 3 โรงงาน บางที 2-3 ปีก็คืนทุนหมดแล้ว แต่เรากำลังสร้างแหล่งท่องเที่ยว มันต้องมีมุมสวยงามและประสบการณ์แปลกใหม่เพื่อให้เขาถ่ายรูป"

ต้นทุนค่าตกแต่งรีสอร์ต ดูหมือนยังไม่มีทีท่าจะยุติในเร็ววัน เพราะตอนนี้ตันกำลังสนุกกับการปลูกต้นไม้น้อยใหญ่หลายร้อยต้น และเพลินกับการเพาะสวนตะบองเพชรที่หลายต้นราคาสูงถึง 8 พัน-1 หมื่นบาทขึ้นไป

ทุกครั้งที่พาครอบครัวมาพักผ่อน หรือสัมภาษณ์สื่อที่รีสอร์ต ตันมักจะแวบหายไปขลุกอยู่ในสวนตะบองเพชรครั้งละหลายชั่วโมง ซึ่งเขาว่าเป็นการออกกำลังกายที่ไม่น่าเบื่อเหมือนกอล์ฟหรือสนุกเกอร์ ทั้งยังส่งผลพลอยได้ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม

ไม่ใช่แค่ที่ปราณบุรี ตันยังมีต้นไม้อีกนับหมื่นต้นที่เตรียมนำไปปลูกในที่ดินที่ตำบลบ่อทอง จ.ชลบุรี และที่ดินติดตลาดนัด จ.ลพบุรี ด้วยความเชื่อว่า การปลูกต้นไม้จะทำให้ที่ดินมีชีวิตและที่ดินที่มีชีวิต จะดูไม่โทรมและไม่เสื่อมค่า

ทั้งนี้ ตันหวังจะสร้างสวนตะบองเพชรและสวนป่าต้นไม้บนที่ดินติดกับรีสอร์ตให้กลายเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ที่ผู้คนอยากเข้ามาเที่ยวชมและถ่ายรูป เหมือนกับ "เพลินวาน" แหล่งท่องเที่ยวฮอตฮิตแห่งล่าสุดที่เกือบทุกคนที่ไปหัวหินมักจะแวะไปถ่ายรูป

ระยะเวลาเพียงครึ่งปี ตันสามารถขับเคลื่อนอัตราเข้าพักเฉลี่ยของ Villa Maroc สูงถึง 70% และเกือบเต็มในช่วงสุดสัปดาห์ แต่สำหรับเขา ความสำเร็จของรีสอร์ตนี้ไม่อาจวัดได้ที่ตัวเลขเข้าพัก แต่เมื่อไรก็ตามที่คนมาเที่ยวปราณบุรีเพราะรีสอร์ตของเขา หรือทุกคนที่มาปราณบุรีต้องมาที่นี่ นั่นคือบรรลุเป้าหมายแล้ว

"การที่ผมทำรีสอร์ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสถาปัตยกรรมและเนรมิตสวนกระบองเพชรขึ้นที่นี่เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้มากกว่าเงิน คือใช้เวลาและใช้ใจ เหมือนที่คน พูดว่าต้องมีเงินและโง่ด้วย เพราะถ้าฉลาดก็อาจไม่กล้าทำ (หัวเราะ) ถ้าคิดเรื่องธุรกิจตั้งแต่วันแรก โปรเจ็กต์นี้อาจพับไปแล้ว แต่ที่นี่ผมคิดว่าเราทำในสิ่งที่ชอบและตอบโจทย์ตัวเอง อนาคตผลตอบแทนจะน้อยหรือมากก็ตอบไม่ได้ แต่อย่างน้อยวันนี้ก็ได้ความสุขและความท้าทาย แต่ก็ไม่แนะนำให้ใครทำตาม ยกเว้นมีเงินเหลือ ซึ่งผมก็เอาเงินที่ได้จากโออิชิมาทำ"

ด้วยบทบาทนักธุรกิจที่ต่อสู้อย่างหนักมากว่าครึ่งชีวิต ในวัย 50 ต้นๆ ตันเริ่มเพียงพอกับความคาดหวังจะทำกำไรจากธุรกิจรีสอร์ตนี้ เขาย้ำว่าตรงนี้ไม่ได้เน้นเป็นธุรกิจ แต่เป็นงานศิลปะเพื่อตอบสนองความชอบและสิ่งที่ลูกสาวเรียนมา

"ถ้าเกิดเขาชอบและจะบริหารเอง อนาคตก็คงพออยู่ได้ แต่จะร่ำรวยจากตรงนี้ไหมก็คงไม่ใช่ เพราะที่นี่มีแค่ 15 ห้อง กลับกันถ้าบริหารไม่ดีก็อาจต้องเอาเงินมาเติมทุกเดือน" ตันพูดไปมองหน้าลูกสาวไปด้วยแววตาเป็นห่วง

การเป็นลูกสาวของ "พ่อตัน" วริษายอมรับว่าหนักใจบ้าง เพราะหลายธุรกิจที่พ่อเธอทำมักประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วราวกับ "ขึ้นทางด่วน" ด้วยวิสัยทัศน์และสไตล์บริหารแบบกล้าได้กล้าเสีย แต่ก็นับเป็นโชคดีที่เธอได้เรียนรู้ ผ่านคำสอนและการกระทำของพ่ออยู่เสมอและอย่างใกล้ชิดกว่าใคร โดยเฉพาะเรื่อง "ความอดทน" และ "ล้มแล้วต้องลุก"

ด้วยคำสอนข้างต้นเป็นสิ่งที่ตันมักพร่ำสอนกับลูกอยู่เสมอ นี่อาจเป็นที่มาที่ทำให้ "ต้นนักสู้" ต้นไม้ที่แม้ลำต้นจะล้มลงแล้วแต่ก็ยังดิ้นรนที่จะมีชีวิตอยู่และสามารถผลิใบออกดอกมาจนวันนี้ ถูกตั้งอยู่ไม่ไกลกับล็อบบี้ของรีสอร์ตนัก ซึ่งวริษาบอกว่านี่คือต้นไม้ที่สะท้อนความเป็นคุณพ่อตันของเธอจริงๆ

ขณะที่วริษามักจะพูดกับพ่อว่า หากเธอเกิดล้มลงคงจะรู้สึกกลัวไปเลย แต่วันนี้แม้ตันจะมองเห็นปัญหาในร้านอาหารของลูกสาวที่เขาปล่อยเธอฉายเดี่ยว ซึ่งเป็นปัญหาที่ลูกยังแก้ไม่ตก แต่ตันก็ยอมปล่อยให้ลูกแก้ไขเอง เพราะมองว่าถ้าแก้ได้ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี แต่ถ้าแก้ไม่ได้ ครั้งนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญของลูก

ตันมักบอกกับลูกเสมอว่ากว่าที่ธุรกิจชาเขียวและร้านอาหารแบรนด์โออิชิ จะมีความสำเร็จเหมือนในวันนี้ ต้องผ่านการล้มแล้วลุกมาหลายครั้ง

"พระอาทิตย์มีขึ้นก็มีลง ตอนลงเราก็ลง ตอนขึ้นเราก็ต้องขึ้นด้วย ไม่ใช่ลงมาแล้ว อยู่ข้างล่างตลอดกาล ความล้มเหลวจะสอนเราว่าตอนขึ้นจะเตรียมตัวลงอย่างไรให้ไม่เจ็บ และตอนลงจะต้องเตรียมเกาะขึ้นไปอย่างไร" ตันสอนลูกอีกครั้ง

ดูเหมือนความสุขที่แท้จริงในวัยใกล้เกษียณของนักสู้ชีวิตคนนี้ คงไม่ได้อยู่ที่การนั่งดู "แบรนด์โออิชิ" ที่ตัวเองสร้างขึ้นคว้าชัยในสนามธุรกิจที่รุนแรงขึ้นทุกวัน หรือนั่งดูกำไรก้อนโตจากหลายธุรกิจของเขาอีกต่อไป

แต่น่าจะมาจากความอบอุ่น ขณะนั่งดูต้นไม้ที่เขากับลูกชายปลูกแข่งกันโต และมาจากความรักที่แฝงในบทสนทนาสอนลูกขณะนั่งชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าเหนือเส้นขอบทะเลกับลูกสาว ณ รีสอร์ตที่เขาสร้างขึ้นด้วยความรักในลูกสาว และด้วยความหวังว่าจะทิ้งไว้ให้เป็นประติมากรรมประดับผืนโลกอีกแห่ง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us