|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

"โลกร้อน" หรือภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ร้อนขึ้น สืบเนื่องมาจากการสะสมตัวของก๊าซเรือนกระจกที่ดูดซับความร้อนไว้ในบรรยากาศ "โลกร้อน" ไม่เลือกข้างว่าจะเป็นฝ่ายเหลืองหรือฝ่ายแดง แต่มีผลครอบคลุมไปถึงวิถีชีวิตของทุกๆ คน ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีไปจนถึงคนกวาดถนน เก็บขยะ ข้อมูล "โลกร้อน" เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่มักจะเป็นไปในทางที่รุนแรงขึ้นและมิใช่เป็นข่าวแบบรู้ทันเหตุการณ์รอบโลกเท่านั้น แต่มีผลที่รู้สึกได้ เห็นได้ ใกล้ตัวเรานี้เอง
หมดเวลาแล้วที่จะมาสืบค้นสาเหตุ "โลกร้อน" ทางด้านวิทยาศาสตร์กัน มันกลายเป็นภาวการณ์เฉพาะหน้าที่เราจำเป็นต้องปรับตัวตั้งรับกันโดยเร็วที่สุด "โลกร้อน" มิใช่แต่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเราทั้งนั้น แต่มีผลไปถึงความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ดิน แหล่งน้ำ และเชื่อมโยงไปถึงการทำมากิน ภาวะเศรษฐกิจ และสังคม ตามไปด้วยการแก้ไขปัญหาก็ต้องใช้วิทยา การหลายสาขา เนื่องจากผลกระทบที่ครอบคลุมไปหมด
แต่ที่สำคัญ เมืองไทยของเรานี้มีขีดความสามารถในการจัดการบรรเทาปัญหาได้มากน้อยขนาดไหน ถ้ามัวทะเลาะกันอยู่แบบนี้ เราคงทำอะไรกันไม่ได้มาก ต้องก้มหน้ายอมรับโชคชะตาไป แต่ถ้าเรามีความรู้ มีจิตสำนึก มีความสมานฉันท์ เราก็สามารถเตรียมการตั้งรับความเสี่ยงต่างๆ จากความรุนแรงมากเป็นความรุนแรงน้อยได้ ความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนนั้นเกี่ยวพันตั้งแต่ความแห้งแล้ง การขาดแคลนน้ำในฤดูร้อน มรสุมฝนตกหนัก น้ำท่วมในฤดูฝน มีพายุไต้ฝุ่นขึ้นชายฝั่งทะเลบ่อยครั้ง ขึ้น รุนแรงขึ้น มีผลต่อเกษตรกรรม การประมง ตลอดไปจนถึงโรคระบาดต่างๆ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและแมลงจากภาวะอากาศที่ร้อนขึ้น นั่นก็คือทุกอย่างดูจะได้รับผลพวงไปหมด
ปรากฏการณ์เหล่านี้เห็นผลได้จริง ในเขตภูมิอากาศเขตร้อนของโลก ปกติเราก็ร้อนกันอยู่แล้ว เมื่อบรรยากาศร้อนมากขึ้น ประกอบกับอุณหภูมิทางการเมืองก็ร้อนระอุ เราก็แทบจะทนไม่ไหวกันเลยทีเดียว ในระยะยาวถ้าเราไม่มีการตั้งรับที่ดี เราอาจจะขาดแคลนทั้งอาหารและพลังงาน ฝันของรัฐบาลที่จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทั้งทางด้านอาหารและพลังงานก็จะล่มสลาย เพราะเป็นไปไม่ได้ทั้งสองอย่าง
ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเรามีพื้นฐานทางจิตใจที่ดี มีพลังในการต่อสู้ สมองของไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เราก็อาจเอาชนะปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้ แต่ทั้งหมดต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน การทำงานอย่างประสานร่วมมือกันของภาครัฐ จิตสำนึกและความเข้าใจ ยิ่งกว่านั้นคือการให้ความสำคัญจากรัฐสภา นอกเหนือจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรม และอะไรต่อมิอะไรที่ไร้สาระ
การปรับตัวตั้งรับให้พ้นจากการคุกคามของภาวะ "โลกร้อน" นี้ เราอาจทำได้สองทาง ทางหนึ่งคือการหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งภาษาสากลเรียกกันว่า mitigation และอีกทางหนึ่งคือการหาวิธีการปรับตัวตั้งรับต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เรียกว่า adaptation ทั้งสองอย่างต้องอาศัยการประสานร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะผลกระทบและความเสี่ยงมีอยู่อย่างกว้างขวางครอบคลุมไปหมด ตั้งแต่คนที่นั่งอยู่กับบ้านเฉยๆ ไปจนถึงคนที่ทำธุรกิจระดับพันล้าน เพราะทุกคนมีส่วนในสาเหตุที่เกิดภาวะเช่นนี้ อันเนื่องด้วยการใช้เชื้อเพลิง ใช้ไฟฟ้ารวมๆ ที่มากเกินไป
ที่ผ่านมาในอดีต ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมากต่ำกว่า 0.5% ของปริมาณทั้งหมดทั่วโลก เมื่อเราเข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญา United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) เมื่อปี 1995 ประเทศเราจึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มิได้ถูกบังคับให้ต้องลดก๊าซเรือนกระจกแต่อย่างใด คือกลุ่ม Non-Annex1 เราเพียงแต่ยอมรับให้ความร่วมมือตามหลักการ "common but differentiated responsibilities" หรือการให้ความร่วมมือตามความรับผิดชอบที่แตกต่าง กล่าวคือ ใครเคยปล่อยก๊าซไว้มากในอดีต ซึ่งเป็นต้นตอให้เกิดปัญหา ก็ต้องรับผิดชอบมาก ใครที่มีวิถีชีวิตพอเพียงใช้เชื้อเพลิงน้อย ก็รับผิดชอบน้อย ฟังดูก็น่าจะยุติธรรมดี แต่ปัจจุบันการณ์กลับมิเป็นเช่นนั้น เพราะประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่มิได้ถูกบังคับ ต่างปล่อยก๊าซกันอย่างไม่บันยะบันยัง จนมีอัตราเพิ่มขึ้นสูงกว่าประเทศพัฒนาไปแล้ว
ต่อมาอนุสัญญา UNFCCC จัดตั้ง Kyoto Protocol ขึ้น เพื่อให้เป็นกระบวนการในการบังคับลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย โดยมีผลผูกพันทางกฎหมาย ประเทศพัฒนาในกลุ่ม Annex1 ต่างถูกกำหนดเป้าหมายลดปริมาณก๊าซไปตามกัน ไทยมิได้ถูกบังคับก็จริง แต่ก็ต้องให้ความร่วมมือ ซึ่งเราก็ได้ให้ความร่วมมืออย่างแข็งขัน โดยการเข้าร่วมในโครงการ Clean Development Mechanism หรือ CDM
CDM เป็นวิธีการที่จะจูงใจให้ประเทศต่างๆ หันมาร่วมมือกันลดก๊าซเรือนกระจกอย่างไม่เสียเปรียบได้เปรียบกัน มีการตกลงซื้อขาย carbon ระหว่างประเทศพัฒนาที่มีภาระในการลดก๊าซกับประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีภาระ โดยความสมัครใจ ประเทศที่ไม่มีภาระแต่มีพื้นที่ป่าไม้ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ หรือมีกิจกรรมที่ลดก๊าซได้ จะได้รับ carbon credit ซึ่งประเทศที่มีภาระอาจจะไปขอซื้อ carbon credit ได้ โดยมีการตกลงกันเป็นเรื่องเป็นราว ประเทศทั้งหลายที่อยู่ในกลุ่ม Annex1 จึงมีความต้องการซื้อ เพื่อให้ประเทศของตนสามารถบรรลุพันธกรณีได้ โดยไม่ต้องดำเนินการลดภายในประเทศ เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ส่วนประเทศอย่างเราๆ ก็ได้ประโยชน์หลายอย่างจากการใช้พลังงานสะอาด ได้เงินตราไหลเข้าประเทศ และได้รับเทคโนโลยีสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ทั้งนี้และทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราทำได้จริงจังแค่ไหน และต้องทำให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นประโยชน์เหล่านี้ จึงได้มีการจัดตั้งองค์การก๊าซเรือนกระจกขึ้นมาเป็นองค์การมหาชนเมื่อปี 2550 เพื่อคอยกำกับดูแลการดำเนินงาน CDM
ปัจจุบันมีโครงการ CDM ผ่านการกลั่นกรองและได้รับอนุมัติในส่วนของประเทศไทย โดยองค์การก๊าซเรือนกระจกไปแล้วเกือบ 80 โครงการ โครงการเหล่านี้จะต้องไปผ่านขั้นตอนที่เมืองนอก ในเรื่องการต่อรองราคา การคำนวณปริมาณก๊าซ การติดตามผลต่อไป ฟังดูก็ยุ่งยากพิลึก แต่ก็ต้องลองกันไป
ในจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติที่น่าสนใจ เช่นโครงการรวบรวมเก็บกักก๊าซมีเทนจากการบำบัดน้ำเสียโรงงานแป้งมัน ซึ่งให้ประโยชน์ถึงสองต่อ ต่อแรกคือการป้องกันไม่ปล่อยก๊าซมีเทนออกสู่บรรยากาศ เพราะมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวร้ายที่ดูดซับความร้อนไว้มากกว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 24 เท่า ต่อที่สองคือการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงได้จากการเอามีเทนมาใช้เป็นเชื้อเพลิง
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นเรื่องที่ประเทศไทยได้ทำไปแล้ว และกำลังทำอยู่ ซึ่งได้ให้ประโยชน์กับเมืองไทยมิใช่น้อยในฐานะที่เราเป็นประเทศกำลังพัฒนา และไม่ต้องมีภาระผูกพันอะไรมากนัก แต่เราได้เรียนรู้วิทยาการและการเข้าร่วมกับประชาคมโลก ทำให้เราต้องพยายามเสริมสร้างการบริหารจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ต่อจากนี้ไปเราอาจจะต้องถูกบังคับให้รับภาระเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ ที่ Kyoto Protocol กำลังจะหมดวาระลงในปี 2012 และทั่วโลกกำลังจะเริ่มการเจรจารอบใหม่กันขึ้น
ท่าทีของประเทศไทยต่อประชาคมโลก
ต่อการบรรเทา "โลกร้อน"
แหล่งข้อมูลระบุว่า ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นๆ ทุกปี ในอัตราที่ค่อนข้างสูง สูงกว่าค่าโดยเฉลี่ยของประเทศใน ASEAN ทั้งๆ ที่อัตราการเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP ของเราก็ไม่ได้สูงมากนัก
เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศอื่นๆ ก็คงจะไม่ยอมให้เราลอยนวลไปได้ง่ายๆ นักบริหารหลายคนเสนอแนะว่า เราไม่ควรจะสนใจกิจกรรมทางด้าน mitigation ให้มากนัก แต่ควรมุ่งเน้นไปในทาง adaptation เสียมากกว่าเพื่อเอาตัวรอด เพราะเราเป็นประเทศที่ยากจน (มีคนที่ยากจนอยู่มาก มีคนรวยไม่มากนัก แต่คนที่รวยนั้น รวยมาก) ความคิดเห็นเป็นเรื่องของต่างคนต่างมุมมมอง แต่แนวโน้มของความเป็นจริงแล้ว ดูเหมือนว่าประเทศไทยจำเป็นต้องรับภาระทั้งสองด้าน คือเราต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เราก่อขึ้น และในขณะเดียวกันเราก็ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ส่วนประเทศอื่นๆ ก็ต้องปฏิบัติต่อเราอย่างเป็นธรรม มีการแลกเปลี่ยน และไม่เอาเปรียบ
ประเทศไทยกำลังเตรียมงานการเจรจานอกรอบในปลายเดือนกันยายนนี้ เพื่อไปลงมติในที่ประชุมใหญ่ที่กรุงโคเปน เฮเกนในเดือนธันวาคม ท่าทีของไทยเราจากแถลงการณ์ของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 15 กันยายน มีวัตถุประสงค์สรุปได้ดังนี้
- ประเทศไทยจะเตรียมรองรับผลกระทบจากภาวะ "โลกร้อน" เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีส่วนร่วมในการลดบรรเทาภาวะ "โลกร้อน" กับประชาคมโลกบนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน
- การเตรียมการรองรับ หรือ adaptation นั้น เราเน้นถึงการให้มีความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานเป็นหลัก ส่วนการลดหรือ mitigation เราเน้นถึงการสนับสนุนให้ใช้พลังงานทดแทนให้มากที่สุด
เป็นจุดยืนที่ฟังดูดี ฉะนั้นการเจรจาที่จะมีขึ้น ประเทศไทยจะเน้นย้ำให้ประเทศพัฒนาทั้งหลายให้ความช่วยเหลือเราในเรื่องใหญ่ๆ คือ
- ขอเงินทุนสนับสนุนในการดำเนินงานปรับตัวตามข้อเสนอ "Adaptation Fund" ที่ได้มีการเสนอแนะไว้ในการเจรจาที่ Bali เมื่อ 2-3 ปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามมาตราของอนุสัญญาฯ ที่ให้ประเทศพัฒนาซึ่งใช้พลังงานมาก ต้องให้ความช่วยเหลือกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา
- ขอการสนับสนุนทางด้านวิทยาการ (technology transfer) แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและการปฏิบัติที่เหมาะสม (best practices) รวมถึงบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ
เราอาจเจรจาในเวทีโลกผ่านไปได้ด้วยดี แต่ทั้งหมดเราจะทำตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายได้มากแค่ไหน ยังเป็นเรื่องที่คลางแคลงใจอยู่มิใช่น้อย เพราะยังมีปัญหาอุปสรรคอยู่หลายประการ หากมองในแง่ของนักวิชาการอิสระ ขอตั้งคำถามว่า
การเข้าถึงนโยบาย "ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน" ในทางปฏิบัติ มันมีความขัดแย้งกันในตัวเอง จริงอยู่ทั้งสองอย่างเป็นเรื่องของเกษตรกรรม แต่ที่ขัดแย้งกันคือ ผลประโยชน์ที่ได้และใครได้ ผลประโยชน์ ทั้งนี้และทั้งนั้นอาจทำได้ ถ้ามีการวางแผนอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ และมีการปฏิบัติที่โปร่งใส แต่การณ์ก็ยังอาจไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ได้ เพราะเกษตรกรรมยังต้องขึ้นกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอยู่ดี ทุกวันนี้มี climate variability (หรือการปรวนแปรไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศ) สูง ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดฝนตกหนัก ความแห้งแล้งขึ้นได้ในลักษณะไหน แม้เรามีนักวิชาการที่เก่งที่สุดก็ตาม
วิทยาการที่พอจะช่วยให้เรามั่นใจได้มากขึ้น คือการหารูปแบบทางวิทยาศาสตร์ (scientific model) ที่จะคาดการณ์สภาพภูมิอากาศในอนาคตสำหรับประเทศไทยให้ได้แม่นยำที่สุด จริงๆ แล้วก็ต้องอาศัย นักวิทยาศาสตร์ของเรานี้เองเป็นหลัก ด้วยการ downscaling มาจากรูปแบบของภูมิอากาศโลกที่ IPCC ทำไว้ โดยเอาข้อมูลสภาพอากาศของเราจากกรมอุตุนิยมฯ มาใช้ เท่าที่ทราบมีการดำเนินการอยู่บ้างแล้ว โดยกรมอุตุฯ พยายามประมวลศึกษาข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อชี้แนวโน้ม climate variability ส่วนทีมนักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีก็กำลังสร้างโมเดลคาดการณ์ภูมิอากาศอนาคต รวมทั้งประเมินความเสี่ยง ผลกระทบให้ได้แม่นยำที่สุด (โดยไม่ต้องพึ่งหมอดู) ซึ่งยังต้องการเงินทุนและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญอยู่เป็นอันมาก
สรุปก็คือ การดำเนินการเรื่องโลกร้อนให้ได้ผลในทางปฏิบัติ เราต้องสร้างขีดความสามารถของเราขึ้นมาให้ได้ ก่อนที่จะไปคาดหวังขอรับความช่วยเหลือสนับสนุนจากใครๆ ในความเป็นจริง ความสามารถดังกล่าวมีอยู่บ้างแล้วในตัวของคนไทยเรา เพียงแต่ผู้บริหาร นักการเมือง นักปกครอง ต้องเล็งเห็นความสำคัญ และสนับสนุนให้มีการประยุกต์ใช้กันอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างเช่น การใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านและแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เพื่อการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนชาวบ้านให้หาพืชท้องถิ่นทนแล้งทนฝนมาปลูกหมุนเวียน การทำสวนแบบยกท้องร่อง ถ้ามีการให้เงินทุนและความช่วยเหลือจากนักวิชาการ น่าจะเกิดผลดีได้ไม่มากก็น้อย ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีก็ควรเป็นเรื่องที่จะต้องตามมาในระยะยาว โดยเฉพาะในเรื่องพลังงานทดแทน
ที่สำคัญที่สุดคือ นักปกครอง นักการเมืองของบ้านเราต้องมีจิตสำนึก มีความตระหนักรู้กันแล้วหรือยัง ส่วนประชาชนก็ต้องมีพลังไขว่คว้าหาความรู้กันอย่างจริงๆ จังๆ ในเชิงลึก มิใช่เทคโนโลยีเพื่อหากำไรหรือเพื่อความสะดวกสบายเท่านั้น
|
|
 |
|
|