|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ผู้เขียนได้เขียนบทความเรื่องแฟร์เทรดมาหลายครั้งตามสื่อต่างๆ ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะกระตุ้นให้ทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยเริ่มตื่นตัวกับตลาดทางเลือกใหม่ที่เรียกว่า Ethical Consumerism หรือตลาดที่ผู้บริโภคยึดจริยธรรมและความเป็นธรรมทางสังคมเป็นหลักในการเลือกซื้อสินค้า
เหตุผลแรกเริ่มที่ผู้เขียนเริ่มศึกษาเรื่องตลาดแฟร์เทรด ก็เนื่องจากเห็นว่าตลาดแฟร์เทรดในประเทศอังกฤษซึ่งผู้เขียนเคยใช้ชีวิตอยู่มาเป็นเวลา 5 ปีกว่านั้น มีการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ เอ็นจีโอในอังกฤษ รวมทั้งสื่อหัวเอียงซ้ายนิดๆ อย่าง The Guardian ร่วมกันช่วยโปรโมตให้ผู้บริโภคชาวอังกฤษหันมาให้ความสนใจต่อความเป็นธรรมต่อผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้ายในห่วงโซ่การผลิตสินค้า และเป็นผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งอันน้อยนิดจากราคาสินค้าที่แพงลิบลิ่วที่จำหน่ายอยู่ในประเทศร่ำรวยอย่างเช่นอังกฤษ
แคมเปญส่งเสริมแฟร์เทรดที่กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนอย่าง Oxfam ActionAid Traidcraft ร่วมทำกันมากว่า 10 ปี เริ่มเห็นผล เพราะชาวอังกฤษโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เริ่มยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อสินค้าแฟร์เทรดมากขึ้น โดยรับรู้ว่าส่วนต่างของราคาสินค้าแฟร์เทรดกับสินค้าทั่วไปที่ตนจ่ายไปนั้นจะลงไปถึงผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งห่างไกลจากประเทศของตนเป็นพันๆ กิโลเมตร
ทำให้ยอดขายสินค้าแฟร์เทรดในอังกฤษสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกในปี 2008 โดยมีมูลค่าถึง 880.6 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 43% ตามด้วยสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ซึ่งมียอดขายอยู่ที่ 757.7 และ 255.5 ล้านเหรียญยูโรตามลำดับ
ด้วยตรรกดังกล่าว ผู้เขียนมองว่าหากเกษตรกรของไทยซึ่งมักได้รับการกดขี่ด้านราคาจากพ่อค้าคนกลางและระบบตลาดเสรี สามารถเข้าถึงตลาดแฟร์เทรดได้มากขึ้น ก็น่าจะเป็นประโยชน์ ต่อตัวเกษตรกร และจะสามารถช่วยขจัดปัญหาความยากจนในชนบทของไทยได้มากขึ้น
นอกจากนี้ โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียน ยังคงเชื่อในระบบการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรและผู้ด้อยโอกาส ซึ่งระบบแฟร์เทรดเองได้ให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ และความเป็นธรรมแก่เกษตรกรและแรงงานในประเทศกำลังพัฒนา มากกว่าการสนับสนุนการผลิตขนาดใหญ่ แต่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความถดถอยของสภาพสังคมที่ชุมชนมักมองข้าม
ดังนั้น ระบบแฟร์เทรดจึงเป็นระบบ ที่ตอบโจทย์ในใจของผู้เขียน
แต่หลังจากที่ได้พูดคุยกับกลุ่มผู้ผลิต และผู้ส่งออกสินค้าแฟร์เทรดของไทย ซึ่งมีอยู่ประมาณสิบกว่าราย ผู้เขียนก็เริ่มเข้าใจถึงความซับซ้อนของระบบแฟร์เทรดมากขึ้น
ปัญหาแรกของระบบแฟร์เทรดคือ การได้มาซึ่งตราประทับว่าสินค้าของเกษตรกรนั้นได้รับการผลิตบนรากฐานของความเป็นธรรมต่อตัวเกษตรกร และต่อสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
เหตุผลแรกก็คือ ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างกลุ่มเกษตรกรและผู้ตรวจสอบและให้มาตรฐานแฟร์เทรด คือองค์กร FLO-Cert ซึ่งเป็นแขนขาในด้านการตรวจรับรองมาตรฐานแฟร์เทรดขององค์กร Fairtrade Labelling Organisation (FLO) ในเยอรมนีล้วนแต่เป็นภาษาอังกฤษทั้งสิ้น
เอกสารที่องค์กร FLO ส่งให้แก่เกษตรกร ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของมาตรฐานแฟร์เทรด การแจ้งยอดชำระค่าธรรมเนียมการเข้าเป็นผู้ขอรับการตรวจสอบมาตรฐานแฟร์เทรด การแจ้งผลการตรวจสอบ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นภาษาอังกฤษ โดยทาง FLO กำหนดว่า เกษตรกรจะต้องแปลเอกสารเหล่านี้เป็นภาษาไทย เพื่อสื่อสารให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มได้รับทราบถึงความเป็นไปและประเด็นปัญหาที่ทางตัวแทนกลุ่มได้หารือกับ FLO
เกษตรกรกล่าวว่าการแปลเอกสารแต่ละครั้ง รวมทั้งการจ้างล่ามเข้ามาช่วยสื่อสารเมื่อยามที่เจ้าหน้าที่ FLO เข้ามาตรวจแปลงของตนนั้น มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น คิดเป็นจำนวนเงินมิใช่น้อย
แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ประสานงานของแฟร์เทรดประจำประเทศไทย ซึ่งดูแลกลุ่มผู้ผลิตทั้งในไทยและ สปป.ลาวก็ตาม แต่ที่ผ่านมา การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่คนก่อนๆ กับกลุ่มผู้ผลิตในไทยคงเป็นไปอย่างตะกุกตะกัก เกษตรกรหลายรายยังคงไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของแฟร์เทรดได้ และการเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ประสานงานบ่อยๆ ก็ทำให้การสื่อสารระหว่างเกษตรกรกับองค์กรแฟร์เทรดไม่มีความต่อเนื่อง
นอกจากนี้ จำนวนเงินที่กลุ่มเกษตรกรจะต้องชำระเป็นรายปี เพื่อขอรับมาตรฐานแฟร์เทรดนั้น ก็เป็นจำนวนที่สูงพอควร โดยเกษตรกรต้องชำระค่าสมัคร เป็นจำนวนเงิน 500 ยูโร (ประมาณ 25,000 บาท1) รวมทั้งค่าตรวจแปลงครั้งแรก ซึ่งมีอัตราผกผันกับจำนวนสมาชิกของกลุ่มและประเภทของกลุ่มเกษตรกร (ว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันในระดับใด ดูตารางที่ 1) ดังนั้นสำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ที่แทบจะไม่มีเงินทุนหมุนเวียนมาทำกิจกรรม สำหรับกลุ่มการชำระค่าเป็นสมาชิกแฟร์เทรดเป็นรายปี ปีละหลายหมื่นบาท กลับกลายเป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายอันหนักหน่วง ให้แก่เกษตรกรไปโดยปริยาย
หากดูจากตารางข้างต้น จะเห็นได้ว่ากลุ่มเกษตรกรที่มีสมาชิกต่ำกว่า 50 คน จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในเบื้องต้นทั้งหมด 500 (ค่าสมัคร) + 1,400 (ค่าตรวจสอบเบื้องต้น) = 1,900 ยูโร หรือประมาณ 95,000 บาท
และหากเกษตรกรรวมกลุ่มกันในหลายระดับจากกลุ่มย่อยในระดับ 1 รวมตัวกันเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น (เป็นระดับ 2 และ 3-2nd and 3rd Grade ตามลำดับ) ก็จะต้องชำระค่าตรวจสอบองค์กรเพิ่มขึ้นอีกตามลำดับ โดยเสียทั้งค่าใช้จ่ายของกลุ่มในระดับที่ 1, 2 และ 3 ด้วยเช่นกัน
นับเป็นการเก็บค่าธรรมเนียมที่ซ้ำซ้อนและยากที่จะกล่าวได้ว่าอยู่บนรากฐานของความ "ยุติธรรม" ต่อเกษตรกรรายย่อยที่ FLO และองค์กรแฟร์เทรดอื่นๆ ตั้งใจที่จะให้ความช่วยเหลือ
แต่ถึงแม้จะต้องจ่ายค่าสมาชิกเป็นจำนวนเงินสูง เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ยินดีที่จะจ่าย ขอเพียงแต่มีตลาดรองรับที่แน่นอน ให้กับพวกเขา
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เกษตรกรหลายกลุ่มในไทยที่สามารถฝ่าด่านมาตรฐานแฟร์เทรด จนสินค้าของตนได้รับการรับรองจากองค์กร FLO-Cert ว่าเป็นสินค้าคุณภาพดี ผลิตบนมาตรฐานระดับนานาประเทศ อันว่าด้วยเรื่องการค้าที่เป็นธรรม กลับไม่มีตลาดรองรับ
สินค้าเกษตรของไทยที่เป็นแฟร์เทรด ส่วนใหญ่คือข้าว ซึ่งเป็นสินค้าที่ชาวยุโรปไม่ได้บริโภคเป็นหลัก ดังนั้น ตลาดของสินค้าแฟร์เทรดของไทยจึงอยู่ในวงจำกัด และขายได้ในปริมาณที่ไม่มากเท่าที่ควร
สำหรับกลุ่มผู้ผลิตแฟร์เทรดของไทยที่เข้ามาจับตลาดนี้เป็นระยะเวลานานกว่าสิบปีแล้ว และมีฐานลูกค้าในต่างประเทศที่แน่นอน ปัญหาเรื่องการตลาดอาจจะไม่ใช่ปัญหาที่น่าวิตกกังวลมากนัก
แต่สำหรับเกษตรกรที่เพิ่งเข้ามาจับตลาดทางเลือกนี้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ จะต้องเผชิญกับปัญหาการต้องออกไปหาตลาดต่างประเทศ เพื่อรองรับสินค้าแฟร์เทรดของตน
ในช่วงแรกๆ ที่กระแสแฟร์เทรดในยุโรปยังไม่ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากผู้บริโภคเท่าปัจจุบัน องค์กรพันธมิตรแฟร์เทรดต่างๆ ต่างเดินเข้าไปเจรจากับห้างร้าน ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เพื่อโน้มน้าว ให้ธุรกิจค้าปลีกเหล่านั้นยอมสต็อกสินค้าแฟร์เทรดในห้างร้านของตน
สินค้าที่องค์กรของแฟร์เทรดผลักดันมากที่สุดในช่วงแรกๆ คือกาแฟ เนื่องจากวิกฤติกาแฟทั่วโลกเมื่อประมาณปี 2001-2002 ทำให้ราคากาแฟโลกดิ่งเหว ตกต่ำที่สุดในรอบเกือบร้อยปี ดังนั้นการโปรโมตระบบแฟร์เทรดโดยใช้กาแฟเป็นสินค้านำร่อง จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ
แคมเปญการโปรโมตกาแฟที่เป็นแฟร์เทรด โดยเครือข่ายพันธมิตรองค์กรแฟร์เทรดต่างๆ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ถึงขนาดว่าร้านกาแฟ Starbucks ประกาศเมื่อเดือนกันยายนปีนี้ว่าจะมีนโยบายจำหน่ายแต่กาแฟที่เป็นแฟร์เทรดเท่านั้น ภายในร้านของตนทั่วยุโรป โดยกาแฟดังกล่าวจะอยู่ภายใต้ชื่อ Shared Planet Fairtrade-Certified และ Starbucks ตั้งเป้าไว้ว่าแผนดังกล่าวจะต้อง บรรลุผลสำเร็จภายในปี 2010 นี้
นอกจากกาแฟแล้ว ยังมีชา และกล้วยหอม ซึ่งเป็นสินค้าในยุคบุกเบิกของระบบตลาดแฟร์เทรด สำหรับกล้วยหอมนั้น เป็นเพราะชาวยุโรปบริโภคกล้วยเป็นจำนวนมากต่อวัน จนกลายเป็นอาหารประจำทวีปของชาวยุโรปเลยก็ว่าได้
ต่อมา องค์กรแฟร์เทรดได้หันมาให้ความสนใจในตัวฝ้าย เนื่องจากฝ้ายเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมเสื้อผ้า แต่เกษตรกรผู้ปลูกฝ้ายในประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดีย กลับไม่มีจะกิน และชาวไร่ฝ้ายในอินเดียกว่าแสนราย กระทำการอัตวินิบาตกรรม เพื่อหลีกหนีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งนี้เพราะราคาฝ้ายในตลาดโลกตกต่ำ เนื่องจากสหรัฐอเมริกายังคงไม่หยุดการให้เงินสนับสนุนชาวไร่ฝ้ายของตน ทำให้เกิดการผลิตฝ้ายล้นตลาด อันมีส่วนทำให้ราคาฝ้ายในตลาดโลกตกต่ำ เกษตรกรอินเดียขายฝ้ายไม่ได้ราคา ไม่สามารถจ่ายคืนหนี้สินของตนได้ จึงหาทางปลิดชีพตนเอง ดังนั้นหากบริษัทเอกชนหันมาสั่งซื้อฝ้ายแฟร์เทรด ทางพันธมิตรขององค์กรแฟร์เทรดก็เชื่อว่า เกษตรกรผู้ปลูกฝ้ายในประเทศยากจนอีกหลายหมื่นหลายแสนราย จะได้อานิสงส์จากตลาดแฟร์เทรดไปด้วย
แต่สำหรับข้าวแล้วยังไม่ปรากฏว่าองค์กร FLO ทำตลาดและสร้างแคมเปญส่งเสริมการขยายตลาดข้าวแฟร์เทรดในยุโรปแต่อย่างใด
หากจะถกกันอย่างเป็นธรรมแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า FLO ไม่สามารถที่จะทำแคมเปญให้กับสินค้าแฟร์เทรดทุกตัวได้ เพราะปัจจุบันจำนวนสินค้าแฟร์เทรดมีมากกว่า 6,000 รายการ ดังนั้น การทำแคมเปญแต่ละครั้ง ซึ่งต้องอาศัยเงินจำนวนมหาศาล จึงต้องอยู่บนรากฐานของความคุ้มค่าและผลกระทบในวงกว้างต่อตลาดในยุโรป
หากข้าวมีกลุ่มผู้บริโภคในยุโรปอยู่ในวงแคบก็คงจะเป็นเหตุผลที่องค์กรแฟร์เทรดจะไม่ชูให้ข้าวเป็นสินค้าแฟร์เทรดอันดับต้นๆ เหมือนอย่างกาแฟ ชา และกล้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่จ่ายค่าสมาชิกแฟร์เทรดไป เพื่อหวังที่จะพึ่งพาตลาดทางเลือกของผู้บริโภคที่ยินดีที่จะจ่ายค่าสินค้าในราคาที่เป็นธรรมต่อพวกเขาแล้ว ก็คงอดที่จะสะท้อนใจไม่ได้ หากเงินที่จ่ายค่าสมาชิกแฟร์เทรดไป รวมทั้งเวลาและแรงกายแรงใจที่ทุ่มเทปรับปรุงระบบการผลิต ระบบบัญชี และการจัดการกลุ่มของตน เพื่อปฏิบัติตามมาตรฐานของแฟร์เทรด กลับไม่สามารถย้อนกลับมาเป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นให้แก่พวกเขา
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เกษตรกรไทยคงจะต้องเผชิญกับวังวนของความยากจนต่อไป แม้ว่าจะเกิดปรากฏการณ์ตลาดสีเขียว และตลาดการค้าที่เป็นธรรมขึ้นมาแล้วก็ตาม
สำหรับเรื่องราคารับซื้อขั้นต่ำของสินค้าแฟร์เทรดที่กำหนดโดยองค์กร FLO นั้น เกษตรกรหลายรายกลับมองว่า ขาดซึ่งความยืดหยุ่น เนื่องจากราคาขั้นต่ำที่ทางองค์กรแฟร์เทรดกำหนดไว้ ไม่มีการปรับเปลี่ยนทุกปีให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่นการกำหนดราคารับซื้อข้าวหอมมะลิที่ 12,000 บาทต่อตัน ในขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิในท้องตลาดของไทยเมื่อช่วงปีถึงสองปีก่อน (2550-2551) ได้ทะยานขึ้นไปสูงถึง 18,000 บาทต่อตัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤติอาหารและพลังงานในปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สินค้าอาหารเกือบทุกรายการมีราคาเพิ่มสูงกว่าราคาปกติมาก 2-3 เท่าตัว
ราคาตลาดที่ทิ้งห่างราคาประกันของแฟร์เทรดมากนี้ ทำให้เกษตรกรหลายรายทำใจได้ยากที่จะยอมทิ้งโอกาสในการขายข้าวกับพ่อค้าทั่วไป ซึ่งให้ราคาดีมากจนแทบจะเรียกได้ว่าคงเป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งของชีวิตชาวนาที่จะเห็นราคาข้าวดีขนาดนี้ แล้วหันไปยอมรับราคาแฟร์เทรดที่ต่ำกว่าราคาที่พวกเขาควรจะได้หลายพันบาทต่อตัน
อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนระบบแฟร์เทรดแย้งว่า ผู้คนควรจะมองการณ์ไกลถึงยามที่ราคาสินค้าเกษตรตามท้องตลาดทั่วไปผันผวนและตกต่ำ ดังที่เคยเกิดขึ้นในกรณีของกาแฟมาแล้ว ในวิกฤติ การณ์เช่นนั้น ราคารับซื้อของแฟร์เทรดจะสูงกว่าราคาตลาดมาก เกษตรกรก็จะได้รับประโยชน์จากแฟร์เทรดแน่นอน ดังนั้นจึงไม่ควรมองแต่ในกรณีที่ราคาตลาดสูงกว่าราคารับซื้อขั้นต่ำของแฟร์เทรด แต่ควรพิจารณาว่าในระยะยาวระบบแฟร์เทรดจะสร้างเสถียรภาพด้านราคาให้แก่เกษตรกรได้
ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟร์เทรดหลายราย มักไม่ต้องการให้คนมองแต่ประโยชน์ด้านราคาของระบบแฟร์เทรด แต่ต้องการให้ทุกคนเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของแฟร์เทรดจริงๆ ในการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ช่วยให้เกษตรกรลด ละ เลิกการใช้สารเคมี อันเป็นอันตรายทั้งต่อสุขภาพของเกษตรกรเองและต่อผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมกันพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง โดยจัดการตนเองในการบริหารกลุ่มของตนภายใต้แนวทฤษฎี ประชาธิปไตย อีกทั้งสนับสนุนให้เกษตรกร และผู้ประกอบการยกเลิกการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งการจ้างแรงงานเด็ก และกระตุ้นให้สมาชิกแฟร์เทรดทุกคนปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานที่ดี ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของความเป็นธรรมทางสังคม
แม้จะเกิดประเด็นคำถามมากมายกับระบบการให้การรับรองมาตรฐานแฟร์เทรดในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคควรจะงดให้การสนับสนุนระบบแฟร์เทรดโดยสิ้นเชิง
เพราะหากเป็นเช่นนั้น เกษตรกรทั่วโลกคงไม่มีทางเลือกอื่น แต่คงต้องกลับไปผูกติดกับระบบตลาดที่ปลาใหญ่กินปลาเล็กดังเดิม
สำหรับผู้เขียน ทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนของระบบแฟร์เทรดที่เกษตรกรไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือการเรียกร้องให้องค์กร FLO เข้ามารับรู้และแก้ปัญหาของเกษตรกรไทยมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ของ FLO ปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการเข้าเป็นสมาชิก และค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบไร่นาและการทำงานของกลุ่มเกษตรกร
รวมทั้งเรียกร้องให้ FLO ทบทวนมาตรฐานบางรายการของตน ว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศกำลังพัฒนามากน้อยเพียงใด เช่นมาตรฐานว่าด้วยการห้ามใช้แรงงานเด็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานแรงงานหลักขององค์การแรงงาน ระหว่างประเทศ (ILO Core Labour Standards) แต่ในวิถีและวัฒนธรรมของเกษตรกรไทยที่ลูกหลานต้องช่วยทำไร่ทำนาเพื่อผ่อนแรงพ่อแม่ปู่ย่าตายาย และสืบทอดความรู้ในด้านอาชีพการทำนา และเพื่อพัฒนาทักษะของเด็กนอกเหนือจากการร่ำเรียนตามตำราในโรงเรียนเท่านั้นนั้น การห้ามใช้แรงงานเด็กโดยสิ้นเชิงอาจไม่สอดคล้องกับประเพณีวัฒนธรรมของไทยได้ จึงควรอนุโลมให้เด็กๆ สามารถช่วยพ่อแม่ทำงานได้ แต่ต้องเป็นการใช้เวลายามเย็นหลังเลิกเรียน วันเสาร์และอาทิตย์และช่วงปิดเทอมที่เด็กๆ หยุดเรียน แล้วเท่านั้น
สำหรับข้อเสนอที่ว่า ไทยควรจัดตั้งตรามาตรฐานแฟร์เทรดของประเทศขึ้นมาเอง ดังเช่นการจัดตั้งมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทย ซึ่งมีทั้งมาตรฐานในระดับจังหวัด เช่นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จังหวัด สุรินทร์ ระดับภูมิภาค เช่นมาตรฐานเกษตร อินทรีย์ภาคเหนือ และในระดับประเทศนั้น ไม่น่าจะเป็นทางออกของปัญหาที่นำมาปฏิบัติใช้อย่างได้ผล เนื่องจากในการส่งสินค้าไปต่างประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปนั้น สินค้าแต่ละชิ้นจำเป็นจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานของประเทศผู้ซื้อ จึงจะได้รับการอนุญาตให้ผ่านเข้าไปในประเทศนั้นๆ ได้มาตรฐานของไทย แม้จะเทียบเท่ามาตรฐานสากล แต่หากไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ก็ไม่มีประโยชน์ต่อการส่งออก
นอกจากนี้ สัญลักษณ์ของตรามาตรฐานแฟร์เทรด โดยองค์กร FLO ได้กลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการยอมรับในหมู่ผู้บริโภคในยุโรปอย่างกว้างขวางแล้ว ดังนั้น การจะสร้างมาตรฐานของไทยขึ้นมา เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความยุ่งยากที่เกิดจากระบบของ FLO ดูไม่น่าจะได้ผลนัก เพราะหากทำเช่นนั้น ไทยจะต้องลงทุนอีกมากในการสร้างแบรนด์ "แฟร์เทรดไทย" ให้เป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภคในต่างประเทศให้ได้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินอีกจำนวนมหาศาล
ดังนั้น ทางออกที่ผู้เขียนมองเห็นก็คือ การที่ภาคเอกชนของไทยรุกเชิงนโยบายกับองค์กร FLO ในเยอรมนี โดยพยายามอธิบายให้องค์กร FLO มองเห็นถึงปัญหาที่เกษตรกรไทยเผชิญอยู่ ซึ่งอาจเป็นปัญหาเดียวกันกับที่เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ก็ได้ และพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ส่วนภาครัฐของไทยก็ไม่ควรมองข้ามตลาดทางเลือกนี้ โดยถือเพียงว่าไม่ใช่ตลาดที่สำคัญนัก เพราะหากภาครัฐต้องการช่วยเกษตรกรให้หลุดพ้นจากวงเวียนของความยากจนอย่างจริงจัง ก็สมควรที่จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดแฟร์เทรดนี้ และให้การสนับสนุนแก่กลุ่มเกษตรกรที่ต้องการศึกษาเรื่องตลาดแฟร์เทรด หรือให้บริการด้านการติดต่อสื่อสารระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับองค์กรแฟร์เทรดในต่างประเทศ
และอีกความช่วยเหลือหนึ่งที่ทางภาครัฐสามารถช่วยได้ คือศึกษาด้านตลาดแฟร์เทรดอย่างถ่องแท้และช่วยเสาะหากลุ่มลูกค้าในยุโรปหรือประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนามาเป็นลูกค้าแฟร์เทรดของเกษตรกรไทยได้
เรื่องการตลาดนี้น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่สุดของปัญหาระบบแฟร์เทรดในปัจจุบัน
เพราะหากไม่มีตลาดรองรับแล้ว ไม่ว่าหลักการของแฟร์เทรดจะดีเพียงใด แต่ผลประโยชน์ที่ได้จากระบบนี้ ก็คงยังไม่ถึงมือเกษตรกรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่วันยังค่ำ
หากเป็นเช่นนั้น เกษตรกรคงจะถูกปล่อยให้เผชิญกับปัญหาด้วยตัวเองเหมือนกับที่ผ่านมา ไม่ว่าจะกี่ทศวรรษแล้วก็ตาม
1 คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 1 ยูโร เท่ากับประมาณ 50 บาท
หมายเหตุ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย "การเข้าถึงตลาดสินค้า "Fair Trade" ในสหภาพยุโรป: โอกาสด้านการส่งออกสำหรับประเทศไทย" ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
|
|
|
|
|