|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ตำราก่อสร้างที่ปู่ พ่อ และผมเรียนมามันได้ตายไปนานแล้ว เพราะมันเป็นศาสตร์เก่า แต่การออกแบบและวัสดุก่อสร้างกำลังกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ของการสร้างอาคารและบ้าน"
คำกล่าวของสมรัก พิศาลบุตร วัย 49 ปี กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาและวิศวกรรมสมรักพิศาลบุตร จำกัด และบริษัทอีโค่เฮาส์บิลเดอร์ จำกัด กับประสบการณ์ก่อสร้างตึกอาคารมาร่วม 20 ปี ทำให้เขารู้ว่าการออกแบบก่อสร้างยังเป็นแบบเก่าแต่วัสดุที่ใช้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหันมาใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานมากขึ้น
สมรักเลือกเรียนวิศวกรรมโยธาตามรอยเท้าปู่และพ่อ หลังจากที่ซึมซับกับวิชาชีพนี้มาตั้งแต่ยังจำความได้
เขาจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโยธา ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และไปเรียนต่อปริญญาโทในสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยยูทาห์สเตท สหรัฐอเมริกา
เขาเริ่มรับงานก่อสร้างอาคารตั้งแต่อายุ 20 ปีต้นๆ กู้เงินครั้งแรก 80 ล้านบาทมีประสบการณ์สร้างคอนโดมิเนียมในยุคแรกที่ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมออกมาใช้ หลังจากฝึกฝนประสบการณ์หลายปี เขาหันไปเปลี่ยนอาชีพใหม่เป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ระดับองค์กร เช่น บริษัทประกันชีวิตและธนาคารได้ในระยะหนึ่ง ซึ่งเขาบอกว่าเป็นประสบการณ์ใหม่
สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการทำงานด้านซอฟต์แวร์ เป็นศาสตร์ที่เรียนรู้แตกต่างจากวิศวกรรมซอฟต์แวร์สามารถเรียนรู้ลองผิดลองถูกได้ ในขณะที่วิศวกรรมต้องถูกเท่านั้น เพราะวิศวกรถูกสอนให้เป็นคนหัวสี่เหลี่ยม เนื่องจากการก่อสร้างเป็นสิ่งที่ผิดพลาดไม่ได้
"ผมเคยคุยกับลูกน้องว่า การทำงานของวิศวกรต้องถูก ต้องรู้ว่าถูกหรือผิด ผมไม่เคยกดเครื่องคิดเลขผิด ถ้าคำนวณผิดหมายถึงอาคารพัง"
แม้ว่าเขาจะหันไปทำงานด้านซอฟต์แวร์ได้ในระยะหนึ่งก็ตาม แต่ในที่สุดเขาก็กลับมาทำงานในสิ่งที่เขาเรียนและรัก โดยมีน้องชาย สันติ พิศาลบุตร เป็นทั้งสถาปนิกและมือขวาของเขาร่วมงานมากว่า 20 ปีตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท
ประสบการณ์อาคารสูงที่เขาก่อสร้างมีหลายแห่ง เช่น อาคารดีแทค อาคาร Le Monaco คอนโดมิเนียมควอด สีลม ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง โรงแรม อพาร์ตเมนต์ และตึกเมอร์คิวรีส์
ด้วยอุปนิสัยของสมรักที่ชอบเรียนรู้เทคโนโลยี เขาเริ่มศึกษาวัสดุใหม่ๆ ที่มาใช้สร้างบ้าน เช่น สีทาบ้าน กระจกลามิเนต ผนังใช้วัสดุฉนวนใยแก้ว ที่มีคุณสมบัติกันความร้อนสูง ทนต่อการกัดกร่อน ท่อน้ำที่มีอายุคงทนได้นาน 20-30 ปี หรือแม้แต่พื้นบ้านที่มีความทนทาน หลอดไฟฟ้าและแอร์ที่ประหยัดพลังงาน
นอกจากนี้ได้ศึกษาอิฐมวลเบา เป็นวัสดุก่อสร้างแบบใหม่ที่ผลิตจากการผสมผสานระหว่างทราย ซีเมนต์ ปูนขาว ยิปซัม ผงอะลูมิเนียม และสารกระจายฟองอากาศ จึงทำให้น้ำหนักเบา มีคุณสมบัติทน ป้องกันเสียง แตกหักยากและป้องกันความร้อนได้ดี
ด้วยคุณสมบัติอิฐมวลเบาที่ศึกษามาทำให้สมรักมีแนวคิดจะร่วมทุนกับเพื่อนเพื่อทำโรงงานผลิตอิฐมวลเบา
การศึกษาวัสดุสร้างบ้านและอาคารใหม่ เขาได้นำมาผสมผสานกับประสบการณ์ โดยเฉพาะระบบวางท่อจะใช้วิธีการเลียนแบบก่อสร้างอาคารสูง ด้วยการทดลองอัดน้ำเข้าไปในท่อเพื่อตรวจสอบรอยรั่วและแก้ไขให้สมบูรณ์เพราะบ้านในปัจจุบันไม่มีการทดสอบ และเกิดปัญหารอยรั่วตามมาภายหลังจากสร้างบ้านเสร็จไปแล้ว
ความท้าทายใหม่ของสมรักกับการสร้างบ้านขนาดเล็ก แตกต่างจากงานโครงการขนาดใหญ่อย่างไร เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเขาไม่น้อย
|
|
|
|
|