ในฐานะคู่ค้าปฏิเสธไม่ได้ว่าจากนี้ไปคนไทยต้องเรียนรู้เรื่องราว "จีนศึกษา" กันมากขึ้น ทั้งภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง และปรัชญาจีน เพื่อให้รู้เขารู้เรามากที่สุด แต่คำถามมีอยู่ว่า การที่คนไทยสามารถพูดจีนได้มากขึ้น จีนหรือไทย ใครจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน
ช่วงเช้าวันที่ 20 สิงหาคม 2552 ที่โรงแรมรัชดาซิตี้ โรงแรมขนาดไม่ใหญ่มาก ตั้งอยู่เลยสี่แยกห้วยขวางไปไม่เกิน 300 เมตร คลาคล่ำไปด้วยบรรดาผู้อำนวยการโรงเรียนจีนและผู้บริหารโรงเรียนสามัญศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนภาษาจีนจากทั่วประเทศไทยจำนวนมากกว่า 500 คน
ทุกคนมาร่วมประชุมกันในงาน "สัมมนาผู้บริหารโรงเรียนเพื่อสร้างเครือข่าย" ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้โรงเรียน ตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมศึกษาทุกแห่งในประเทศไทย ที่เปิดการเรียนการสอนภาษาจีน (หลักสูตรจีนแผ่นดินใหญ่) รวมตัวกันจัดตั้งเครือข่ายในลักษณะสมาพันธ์โรงเรียนสอนภาษาจีนขึ้นโดยเฉพาะ
การประชุมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน โดยกว่าน มู่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ให้เกียรติขึ้นเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ
เป็นความเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญ อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งของยุทธศาสตร์การค้าระหว่างจีนกับประเทศไทย
เพราะหากคนไทยสามารถพูดภาษาจีนได้มากขึ้นเท่าใด ย่อมจะส่งผลต่อการค้าการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศ
จีนให้ความสำคัญในการสนับสนุนสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ได้เปิดการเรียนการสอนภาษาจีนมาระยะหนึ่งแล้ว
เป็นการให้ความสำคัญที่ดูจะมากกว่าที่จีนให้กับประเทศอื่นๆ
ยกตัวอย่างสถาบันขงจื๊อที่รัฐบาลจีนสนับสนุนให้มีการจัดตั้งขึ้นตามสถาบันอุดมศึกษาของประเทศต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเพียงประเทศละ 1-2 แห่ง
ในประเทศไทยกลับมีสถาบันขงจื๊อ อยู่มากกว่า 10 แห่ง กระจายอยู่ทุกภาคทั่วประเทศ
4-5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลปักกิ่งทุ่มงบประมาณผ่านเฉียนปั้น (สำนักงานกิจการ ด้วยจีนโพ้นทะเล) และฮั่นปั้น (กระทรวงศึกษาธิการของจีน) ดำเนินงานผ่านสถาบันขงจื๊อ ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยวางตำแหน่งไทยเป็นอันดับ 3 รองจากสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้
จีนสนับสนุนให้ครูอาสาสมัครมาสอนในไทยมากขึ้น เฉพาะปี 2550 ส่งมาแล้ว 639 คน โดยฝ่ายไทยจ่ายค่าจ้างเดือน ละ 8,000 บาท พร้อมดำเนินการเรื่องพักอาศัยในไทยทั้งหมด ขณะที่ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบเรื่องค่าเดินทางและจ่ายสมทบให้ครูจีนอีกเดือนละ 200 เหรียญสหรัฐ รวมทั้งประกันชีวิต แน่นอน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความตื่นตัวในการเรียนภาษาจีนของคนไทยเองที่มีมากขึ้น เพราะมองว่าจีนเป็นภาษาที่ 3 ที่เขาต้องรู้นอกเหนือจากภาษาแม่และภาษาอังกฤษ
คนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าแกนเศรษฐกิจ ของโลกกำลังเปลี่ยนมาอยู่ทางเอเชียโดย มีจีนเป็นผู้นำ
อีกเหตุผลหนึ่งที่จีนให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศ ไทย เพราะไทยมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อยู่อีกมาก อันเนื่องมาจากนโยบายปิดโรงเรียนจีนตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ 50 ปีก่อน ทำให้การเรียนภาษาจีนของคนไทยขาดช่วงไปกว่า 10 ปีเต็ม
แม้ต่อมาภายหลัง รัฐบาลอนุมัติให้เปิดการสอนภาษาจีนได้อีกครั้ง แต่แนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนแกนไปอยู่ทางตะวันตก ทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่จัดตารางเรียนไว้เพียง 1-2 คาบต่อสัปดาห์เท่านั้น ทำให้การเรียนการสอนไม่เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควร
ส่วนโรงเรียนสอนภาษาจีนที่ได้รับแรงหนุนจากชุมชนชาวจีนต่างๆ ทั่วประเทศที่จัดตารางเรียนภาษาจีน 5-10 คาบต่อสัปดาห์นั้น ในมุมหนึ่งกลับเกิดคำถามถึงอนาคตของนักเรียนที่จบหลักสูตรเช่นกัน เพราะหากมุ่งเส้นทางสายนี้ แน่นอนว่าโอกาสที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไทยย่อมน้อยลงไปด้วย
จึงถือเป็นความท้าทายที่สำคัญของโรงเรียนสอนภาษาจีน ที่จะต้องสร้างศรัทธาจากผลสัมฤทธิที่ออกมาจากตัวศิษย์เก่าที่จบออกไปรุ่นแล้วรุ่นเล่าเป็นหลัก
โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตามภูมิศาสตร์นับเป็นด่านหน้าที่จะรับกับกระแสจีน ซึ่งทะลักลงมาตามแม่น้ำโขง แม้จะมีโรงเรียนสอนภาษาจีนเกิดขึ้นทุกๆ จังหวัด แต่ก็ยังเพิ่งกลับมาตั้งไข่เช่นกัน
"ถ้าดูแนวโน้มเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนแล้ว เดิมทุกอย่างอยู่ที่ตะวันตก แต่อนาคตคำตอบอยู่ที่โซนตะวันออกอย่างจีน อินเดีย เวียดนาม ซึ่งไทยจะก้าวทันหรือไม่ ก็อยู่ที่การสอนให้คนรู้ภาษาจีน ไม่งั้นไม่ทัน" ดิษฐ์ ลินพิศาล ประธานมูลนิธิช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุง มูลนิธิที่เป็นเจ้าของโรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงฯ โรงเรียนสอนภาษาจีนชื่อดังของเชียงใหม่ กล่าวกับผู้จัดการ 360 ํ
มูลนิธิช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุง เดิมชื่อมูลนิธิช่องฟ้าวาณิชบำรุง ก่อตั้งเมื่อปี 2515 โดยณรงค์ ศักดาทร เจ้าของนิยม พานิช เป็นแกนนำในการก่อตั้ง
ตามบันทึกโรงเรียนจีนในเชียงใหม่ ของสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนจีนในเชียงใหม่ 8 สถาบัน ระบุว่า "ช่องฟ้าซินเซิง" เป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนในเชียงใหม่ที่มีรากฐานมาตั้งแต่ปี 2444 เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของนักธุรกิจเชื้อสายจีนจากกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ (ตี๋ย่ง แซ่แต่, สุ่นอี้ แซ่ฉั่ว หรือหลวงอนุสารสุนทร, เอี่ยวหก แซ่เอง, อุ่ย แซ่เหลี่ยว หรือเหลี่ยวหย่งง้วน) บริจาคทรัพย์-ที่ดิน จัดตั้งเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรกชื่อ "โรงเรียน ฮั่วเอง" บนถนนเจริญราษฎร์ใกล้กับวัดเกตุ เปิดสอนภาษา-วัฒนธรรมจีนให้กับลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลที่มีจำนวนมากในเชียงใหม่ จากนั้นขยับขยายไปตั้งบนถนนช้างคลาน (ปัจจุบันคือที่ตั้งไนท์บาร์ซา ที่ถือเป็นแหล่งรายได้หลักของมูลนิธิฯ)
เนื่องจากชาวจีนในเชียงใหม่มีจำนวนมากและใช้ภาษาแตกต่างกัน เช่น จีนแคะ ไหหลำ กวางตุ้ง หยุนหนัน ฯลฯ ทำให้ระยะที่ผ่านมามีการก่อตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนมากถึง 8 แห่ง (ฮั่วเอ็ง, หัวเคียว, ชิงหัว, ซินเซิง, ช่องฟ้า, ศักดาวิทยา, วาณิชบำรุงวิทยา และสหศึกษา) ก่อนยุบรวมเป็น "ช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุง" เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2549 และย้ายมาอยู่เลขที่ 196-197 หมู่ 2 ถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง ต.หนองผึ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่เขต 4 ในปัจจุบันเปิดสอนตั้งแต่อนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 6
อย่างไรก็ตาม ในการทำ Work Shop เรื่องการเรียนการสอนภาษาจีนในระดับชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนจีนที่ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2550 มีการสะท้อนถึงอุปสรรคปัญหาที่น่าคิดไว้หลายประเด็นทั้งอุปสรรคเรื่องครู-หลักสูตรและแบบเรียน-การต่อยอดของเด็ก
ดิษฐ์สะท้อนว่า มีคำถามเกิดขึ้นเช่นกันว่า เด็กที่จบ ม.6 โรงเรียนจีนจะเรียนต่อที่ไหน ต่อยอดอย่างไร ซึ่งโดยเป้าหมายแล้วมีคำตอบอยู่ ก็คือใช้ฐานภาษาจีนทำธุรกิจและการท่องเที่ยว แต่ก่อนเดินไปสู่จุดนั้น รัฐบาลไทยต้องสนับสนุนด้วยการเปิดหลักสูตรขึ้นมา เช่น สถาบันราชภัฏที่เปิดได้ง่าย ทำหลักสูตรระดับปริญญาตรีขึ้นมารองรับ สอนให้ทำธุรกิจ สอนให้ทำการท่องเที่ยว สอนให้รู้ว่าจะทำเงินกับจีนได้อย่างไร
"นี่แหละ คือจีนศึกษา สำหรับคนไทยจากนี้ไป"
ส่วนประเด็นเรื่องครูสอนภาษาจีน ที่แม้ว่าจีนแผ่นดินใหญ่จะส่งครูสอนภาษาเข้ามา แต่ก็เกิดปัญหาการสื่อสารกับเด็ก เพราะครูชาวจีนเหล่านี้ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ กลายเป็นปัญหาในกระบวนการสอนขึ้นมา จำเป็นที่รัฐบาลต้องลงทุนเปิดหลักสูตรครูสอนภาษาจีนขึ้นในประเทศไทย ผลิตบุคลากรขึ้นมารองรับเอง
สำหรับปัญหาแบบเรียนทาง "ฮั่นปั้น" หรือสำนักงานคณะอนุกรรมการกำกับ การเรียนการสอนภาษาจีนสำหรับชาวต่างชาติแห่งประเทศจีน ได้สนับสนุนให้ผลิตแบบเรียนและสื่อการสอนชุด "สัมผัสภาษา จีน" ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย ขณะนี้แจกฟรีเพื่อใช้ทดลองสอนในชั้น ป.1 ม.1 และ ม.4 ในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมานี้เอง
"มาถึงตอนนี้ การพลิกฟื้นเรื่องจีนศึกษา อาจไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง แต่ไทยก็ต้องรีบทำ" ดิษฐ์ย้ำ
อย่างไรก็ตาม ดิษฐ์ ลินพิศาล พร้อมด้วยคณะผู้บริหารโรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงฯ ไม่ว่าจะเป็นภาณุพงษ์ ศักดาทร ทายาทตระกูล "ศักดาทร" แห่งนิยมพานิช ในฐานะรองประธานกรรมการมูลนิธิฯ และผู้รับใบอนุญาตโรงเรียน, บพิตร ศรีชรากุล ผู้จัดการโรงเรียน, วัลลภ แซ่เตี๋ยว (เฮียจิง) นักเรียนเก่าไต้หวัน อดีตผู้รับสัมปทานเส้นทาง R3a จากรัฐบาลลาวมือแรก ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์เก่า ต่างยืนยันว่าจะเดินหน้าผลิตบุคลากรด้านภาษาจีนให้กับประเทศไทย รองรับกับกระแสโลกที่เกิดขึ้น
ภาณุพงศ์บอกว่า ตอนนี้โรงเรียนฯ ได้อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเป็นผู้อำนวยการเชื่อว่าจะช่วยให้การเรียนการสอนมีมาตรฐานยิ่งขึ้น จากเดิมที่เด็กจากที่นี่สอบผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามระดับชั้นต่างๆ รวมถึง HSK ได้ประมาณ 20% ก็จะทำให้ได้ต่ำสุด 45% ขึ้นไป เป็นต้น รวมถึงฐานความรู้เรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีจีนก็ต้องเพิ่มครูที่จะเข้ามาสอนภาษาจีนก็ต้องพูดไทยได้ด้วย จึงจะสามารถสื่อสารกับเด็กได้
ปี 2551 มีนักเรียนช่องฟ้าซินเซิงฯ เข้าสู่สนามสอบ HSK ระดับพื้นฐาน 103 คน สอบผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 53 คนและระดับต้น-กลาง 16 คน สอบผ่าน 6 คน
ในปีนี้มีนักเรียนชั้น ม.6 ของโรงเรียนสอบผ่านระบบโควตาภาคเหนือของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คิดเป็นสัดส่วนอยู่ในอันดับ 3 จากผู้สมัคร 54 คน สอบผ่าน 22 คน หรือ 40.74% และสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระบบรับตรงได้อีก 24 คน รวมเป็น 46 คนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้
ดูเหมือนจะไม่ต่างไปจากชุมชนพ่อค้าไทยเชื้อสายจีนที่แม่สอด จ.ตาก พรมแดนไทย-พม่า ซึ่งมองถึงอนาคตจีนในคอนเซ็ปต์เดียวกัน ล่าสุดก็ได้สถาปนาความเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับเขตปกครองตนเองชนชาติไต-จิงโพ่แห่งเต๋อหง มณฑลหยุนหนันที่มียุทธศาสตร์เปิดเส้นทางการค้าการลงทุนจากพรมแดนจีนเข้าพม่าผ่านย่างกุ้ง-เมียวดี-แม่สอด
(อ่านเรื่อง "เต๋อหง ช่องทางสินค้าจีนที่ไทยไม่อาจมองข้าม" นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หรือ www.gotomaneger.com ประกอบ)
ซึ่งสามารถเชื่อมประสานกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ที่ถือว่าแม่สอดเป็นประตูหน้าด่านฝั่งตะวันตกของไทย
(อ่านเรื่อง "East-West Corridor ประตูฝั่งตะวันตกที่รอวันเปิด" นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2551 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)
ที่แม่สอดมีโรงเรียนราษฎร์วิทยา (ตี่มิ้ง) ในความอุปถัมภ์ของแม่สอดมูลนิธิสามัคคีการกุศล อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรด้านภาษาจีนมาตั้งแต่ปี 2490 เป็นอีกหนึ่งในโรงเรียนเครือข่าย ชมรมโรงเรียนสอนภาษาจีนภาคเหนือ เช่น เดียวกับช่องฟ้าซินเซิงฯ เชียงใหม่, ประชา วิทย์ ลำปาง, เจริญศิลป์ แพร่, บัวใหญ่ โคราช, ฮั่งเคี้ยง ขอนแก่น ฯลฯ
"วันนี้ รัฐต้องเข้ามาส่งเสริมเรื่องการเรียนจีนแล้ว เพื่อความเจริญในอนาคต"ปณิธิ ตั้งผาติ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก, ประธานชมรมโรงเรียนสอนภาษาจีนภาคเหนือ, สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุด 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน หลักของตี่มิ้งบอก
แต่ตี่มิ้งที่ใช้ Hungu 12 เล่ม สอนภาษาจีน 9 ปีจนถึง ม.3 (ป.1-4 ใช้ปีละ 2 เล่ม ที่เหลือใช้สอนถึง ม.ต้น) มีครูจีนเข้ามาช่วยสอนตั้งแต่ 10 กว่าปีก่อน ยุคที่สัมพันธ์ ทอง-สมัคร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ประสบปัญหาเช่นกัน เพราะเด็กที่จบ ป.6 แล้ว มักจะออกไปเรียนต่อระดับมัธยมที่อื่น เพราะมองไม่เห็นว่าเรียนภาษาจีนแล้วจะได้อะไร
ทั้งๆ ที่ นี่คือเทรนด์ของโลก!
อย่างไรก็ตาม ภายใต้การขับเคลื่อนของชมรมโรงเรียนสอนภาษาจีนภาคเหนือ ทำให้ได้รับโควตาเรียนฟรีจากวิทยาลัยกว่างสี 4 คนต่อปี และโควตาเรียนแบบเสียค่าเล่าเรียน 50% อีก 20 คนต่อปี ซึ่งสามารถส่งเด็กนักเรียนไปตามโควตาแล้ว 2 รุ่น
ซึ่งอาจเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์สำหรับการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนได้ส่วนหนึ่ง
|