Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ตุลาคม 2552
Yuan Zone อาวุธหนักที่รอสับไก             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ เอกรัตน์ บรรเลง
 

 
Charts & Figures

การค้าไทย-จีน (ปี 2547-2551)

   
related stories

อิทธิพลการค้า “จีน” กรณีศึกษา “ประเทศไทย”
ทัพหน้า (จีน)
การเคลื่อนพลของทัพหลวง
ทัพหน้า (ไทย)
ภาษาจีน อาวุธลับที่ซึมลึก

   
search resources

International
China
Currency Exchange Rates




หลังจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับจากการเยือนจีนอย่างเป็นทางการ เมื่อปลายเดือนมิถุนายน ประเด็นหนึ่งที่หยิบยกขึ้นมาถกกันแม้ยังไม่เป็นในวงกว้างแต่เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือการนำเงินหยวนมาเป็นสื่อกลางการค้าระหว่างไทยและจีนได้โดยตรง

เฉลิมพรเป็นลูกหลานชาวจีนจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่มาได้ภรรยาเป็นคนเชียงของ จังหวัดเชียงราย เขามาอยู่เชียงรายได้ 10 กว่าปีแล้ว

เฉลิมพรเคยเป็นมนุษย์เงินเดือน ทำงานอยู่ในบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งก่อนฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 คนอย่างเฉลิมพรเคยถูกสื่อเรียกขานกันว่าเป็น "มนุษย์ ทองคำ" เพราะสามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นในแต่ละวัน

แต่จากวิกฤติในปี 2540 เฉลิมพรต้องออกจากงาน เพราะบริษัทปิด เขาจึงพาภรรยาเดินทางกลับมาหาช่องทางทำมาหากินที่บ้านในอำเภอเชียงของ

เฉลิมพรลองทำงานมาหลายประเภท ทั้งเป็นเซลส์ขายรถยนต์ เช่าตึกแถวค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว

ที่ร้านขายก๋วยเตี๋ยวนี่เอง ทำให้เขาเริ่มสังเกตเห็นปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นั่นคือลูกค้าที่เป็นชาวจีน ซึ่งเดินทางผ่านลาว และข้ามมายังฝั่งไทยค่อยๆ มีเพิ่มขึ้นๆ

ลูกค้าหลายคนมากินก๋วยเตี๋ยวที่ร้านของเขาบ่อย จนเริ่มสนิทกัน

จากการพูดคุยกับลูกค้าเหล่านั้น ทำให้เฉลิมพรรู้ว่าในมณฑลหยุนหนัน มีความต้องการเกลือทะเลเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นสินค้าราคาแพง ต้องสั่งซื้อผ่านทางมณฑลที่อยู่ทางภาคตะวันออก ซึ่งมีค่าขนส่งสูง

เมื่อมองเห็นช่องทาง เขาจึงลองสั่งซื้อเกลือจากนาเกลือในจังหวัดสมุทรสาคร ฝากลูกค้าก๋วยเตี๋ยวที่สนิทกัน ให้นำขึ้นไปขายที่หยุนหนัน เวลาคนเหล่านี้เดินทางกลับ

ปรากฏว่าอาชีพใหม่ของเฉลิมพรประสบความสำเร็จ เขากลายเป็นผู้ส่งออกเกลือรายย่อยที่มีตลาดส่วนหนึ่งอยู่ในมือ

เขาเริ่มมองหาสินค้าจากจีนที่ตลาดในไทยกำลังต้องการ แล้วให้อดีตลูกค้าก๋วยเตี๋ยวที่ได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นคู่ค้าของเขาเป็นผู้จัดหาให้

อุปสรรคอย่างเดียวที่เฉลิมพรพบในอาชีพใหม่ คือการที่คู่ค้าชาวจีนของเขานิยมใช้เงินหยวนเป็นสื่อกลางในการซื้อขาย ซึ่งหาสถานที่แลกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินบาทไทยในอัตราที่น่าพอใจค่อนข้างยาก

ถ้าจะแลกจากธนาคารพาณิชย์ ส่วนต่างระหว่างอัตราซื้อกับขาย ก็ห่างกันถึงหยวนละ 1 บาท หรือกว่า 20%

หากเก็บเงินหยวนไว้กับตัวมากเกินไป เขาก็ไม่รู้ว่าจะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนทำอะไร เพราะตลาดยังไม่เปิด

เฉลิมพรจึงต้องอาศัยตลาดแลกเปลี่ยนนอกระบบ ที่ให้อัตราดีกว่าธนาคารพาณิชย์และบ่อยครั้งที่ต้องใช้วิธีการแลกเปลี่ยนสินค้าตามมูลค่าที่เท่ากัน โดยไม่ต้องมีเงินตราเป็นตัวกลางเข้ามาช่วยในการค้าขายแทน

พ่อค้าอย่างเฉลิมพรยังมีอีกเป็นจำนวนมากในแถบชายแดนภาคเหนือ ที่มีช่องทางค้าขายกับจีนได้สะดวก

ปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทและหยวน เป็นปัญหาที่พ่อค้าชายแดนไทยเผชิญอยู่ตลอดตั้งแต่ปริมาณการค้าผ่านแดนระหว่างไทยและจีนมีมากขึ้น

มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยกันบ่อยครั้ง ทั้งในระดับหอการค้าและพัฒนาเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.)

ล่าสุด ในการประชุม คสศ.และหอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ครั้งที่ 1/2552 ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติให้ผลักดันให้มีการใช้สกุลเงินท้องถิ่น โดยเฉพาะเงินหยวนในการแลกเปลี่ยนกันโดยเสรีกับเงินบาท และกำหนดให้สมาชิก คสศ.-หอการค้า นำเรื่องนี้เข้าหารือในทุกเวทีที่มีโอกาสทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในเวทีสภาหอการค้าไทย, คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร), สมาคมไทย-หยุนหนัน รวมถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ฯลฯ

ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญที่มติของ คสศ.ครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับที่ทางการจีน โดยรัฐบาลปักกิ่งมีนโยบายที่จะยกระดับให้เงินหยวนเป็นเงินตราสากล (International Currency) โดยเริ่มจากการให้เงินหยวนเข้ามามีบทบาทเป็นสื่อกลางในการค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศมากขึ้น

เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งได้ผ่อนปรนมาตรการหลายอย่างที่ส่งผลให้เงินหยวนเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี อาทิ

1 พฤศจิกายน 2551 รัฐบาลจีนอนุญาตให้ชาวจีนที่อยู่บริเวณชายแดนสามารถนำเงินข้ามไปซื้อสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องเสียภาษี จากเดิมวันละ 3,000 หยวนต่อคน เป็นวันละ 8,000 หยวนต่อคน

24 ธันวาคม 2551 รัฐสภาจีนเปิดทางให้การค้าระหว่างเมืองชายฝั่งตะวันออกบริเวณปากแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) และปากแม่น้ำจูเจียง นำร่องชำระเงินเพื่อการค้าด้วยหยวนกับฮ่องกง-มาเก๊า และระหว่างมณฑลหยุนหนัน และเขตปกครองตนเองของชาวจ้วงในมณฑลกว่างสีกับอาเซียน

8 เมษายน 2552 รัฐสภาจีนให้พื้นที่ชายฝั่งตะวันออก คือ มหานครเซี่ยงไฮ้ และ 4 เมืองในกวางตุ้ง คือ กวางโจว เซินเจิ้น จูไห่ และตงกวน นำร่องชำระเงินด้วยสกุลหยวน เพื่อการค้าระหว่างประเทศ ได้ พร้อมกับส่งเสริมการจัดทำข้อตกลงทวิภาคีแลกเปลี่ยนสกุลเงิน (Currency swap arrangement) กับประเทศต่างๆ เพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และส่งเสริมการใช้เงินหยวนแทนเงินดอลลาร์

2 กรกฎาคม 2552 ธนาคารกลางจีน (The People's Bank of China) ออกประกาศกฎระเบียบวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการนำร่องชำระเงิน เพื่อการค้าด้วยสกุลหยวนระหว่างเมืองนำร่องของจีนกับฮ่องกง มาเก๊า และอาเซียน ทำให้ทุกประเทศในอาเซียนสามารถชำระเงินหยวนเพื่อการค้ากับเมืองที่ได้รับอนุญาตได้

ซึ่งหมายรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน แต่ขณะนั้นยังไม่มีธนาคารพาณิชย์รายใด ที่เปิดให้บริการอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ขณะที่จีนและบราซิลก็กำลังเริ่มศึกษาการใช้เงินท้องถิ่นในการค้าระหว่างกันและค่อยๆ เลิกใช้ดอลลาร์สหรัฐ

ซึ่งความเคลื่อนไหวเหล่านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด

"การที่จะให้เงินหยวนเป็น international currency ได้นั้นก็ต้องมีขั้นตอน คืออย่างแรก ต้องให้เงินหยวนสามารถเป็นสื่อกลางในการค้าขายได้ก่อน หลังจากนั้นก็สามารถนำเงินหยวนไปใช้เพื่อการลงทุนได้ และขั้นตอนสุดท้ายคือทุกประเทศยอมรับให้เงินหยวนเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ" สุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. อธิบายกับ ผู้จัดการ 360 ํ


ในระดับประเทศ การผลักดันเงินหยวนให้เป็น international currency นั้นอาจยังต้องใช้เวลา เพราะจีนเองก็ต้องผ่อนปรนมาตรการอีกหลายอย่างให้สถาบันการเงิน สามารถนำเงินหยวนกลับไปลงทุนในจีนหรือที่อื่นๆ ได้ เพราะไม่เช่นนั้นสถาบันการเงินก็ไม่อยากรับแลกเปลี่ยนเงินหยวนจากลูกค้า หรือหากจะรับก็ถ่างช่องว่างระหว่างอัตราซื้อและขายให้กว้างเอาไว้ เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน

ที่สำคัญ ประสบการณ์จากที่ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อปี 2540 ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของไทยอย่างรุนแรงนั้น จีนใช้ปรากฏการณ์นี้มาเป็นบทเรียน ก่อนที่จะปล่อยให้เงินหยวนสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี เพราะรัฐบาลจีนไม่ต้องการให้นโยบายนี้มีผลกระทบกับเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ จึงต้องศึกษาเพื่อวางมาตรการป้องกันเอาไว้โดยละเอียด

"จะสังเกตได้ว่าเขาใช้วิธีการค่อยๆ ผ่อนคลายทีละระดับ เพราะเขาเองก็ต้องระวังว่าถ้าเปิดไปแล้ว จะมีผลกระทบกลับไปถึงเขาอย่างไรบ้าง"

แต่ในระดับท้องถิ่น จากปริมาณเงินหยวนที่หมุนเวียนอยู่ในการค้านอกระบบ ทำให้นักธุรกิจท้องถิ่น ต้องการให้เงินเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบ เพราะจะช่วยให้ปริมาณการค้าระหว่างไทยและจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

คณิต ขันมอญ เจ้าของเลาลีฮิลล์รีสอร์ท บนดอยวาวีที่ค้าขายกับจีนมานาน มองว่าหากไทยและจีนซื้อขายสินค้ากันโดยใช้เงินหยวนได้ จะทำให้การค้าย่านนี้เติบโตแบบเห็นหน้าเห็นหลังแน่นอน

รายงานการศึกษาของ ธปท. สำนักงานภาคเหนือ ระบุว่าการค้าชายแดนไทย-จีนผ่านเส้นทางแม่น้ำโขงและถนน R3 มีรูปแบบการชำระเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ ด้วยสกุลดอลลาร์สหรัฐเพียง 0.6% เท่านั้น ที่เหลือเป็นการชำระเงินโดยไม่ผ่านระบบธนาคารทั้งสิ้น

และเป็นการชำระเงินด้วยเงินสกุลท้องถิ่นถึงร้อยละ 99.0 ทั้งด้วยสกุลบาทและหยวน

โดยใช้วิธีการที่หลากหลายคือ 1. หักบัญชีคู่ค้า 32.0% 2. หักบัญชีระหว่างกลุ่มพ่อค้าหรือจับคู่ชำระเงิน 27.4% 3. ชำระผ่านตลาดแลกเปลี่ยนเงินนอกระบบ มีสัดส่วน 29.8% 4. ชำระเงินสด 9.9%

ส่วนที่ชำระเงินผ่านสถาบันการเงิน 1.0% คือ 1. ระบบ L/C 0.6% และ 2. วิธีอื่นๆ 0.3% (ชำระเงินโดยการฝากเงินสดเข้าบัญชีธนาคารพาณิชย์พ่อค้าไทย-หรือจีน)

ดังนั้น หากจีนเปิดให้ใช้หยวนมาเป็นสื่อกลางการค้าได้ก็จะทำให้การค้าเข้าสู่ระบบทันที พ่อค้าก็ไม่ต้องเสียค่าแลกเปลี่ยนเงิน 3 ทอด จากบาทเป็นดอลลาร์ จากดอลลาร์เป็นหยวน รวมทั้งไม่เสียส่วนต่างจากการซื้อขายเงินหยวนที่แต่ละธนาคารจะคิดแตกต่างกันไปด้วย

ธปท.สำนักงานภาคเหนือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด หลายปีที่ผ่านมาได้มีการประสานงานกับธนาคารชาติของจีน ประจำมณฑลหยุนหนัน เพื่อเตรียมมาตรการรองรับให้การซื้อขายระหว่างจีนและไทยสามารถใช้เงินหยวนเป็นสื่อกลางได้

"ธปท.ภาคเหนือเขาก็คงเห็นเป็นประโยชน์ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ว่าทุกวันนี้ จีนเขาก็ไล่ลงมาเรื่อยๆ แล้วประเทศอื่นเขาก็เริ่มรับเงินหยวนแล้ว ถ้าเราไม่รับ เราก็อาจเสียโอกาส" สุชาดาบอก

จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สำนักงานภาคเหนือ พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการให้รายละเอียดกับผู้จัดการ 360 ํ ว่า ผู้แทนจาก ธปท.ภาคเหนือได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับมณฑลและท้องถิ่นของหยุนหนัน และเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา เกี่ยวกับการใช้เงินหยวนในการค้าในเขตสิบสองปันนามาตั้งแต่ปี 2547 รวมทั้งได้เชิญผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางของจีนมาประชุม focus group ที่ ธปท.สำนักงานภาคเหนือ เพื่อกำหนดขอบเขตการชำระเงินด้วยเงินสกุลท้องถิ่นระหว่างกันด้วย

ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของพ่อค้าและธนาคารพาณิชย์ด้วยเช่นกัน โดยจนถึงขณะนี้ธนาคารที่มีศักยภาพในการเปิดให้บริการชำระเงินด้วยเงินหยวนในประเทศไทยก่อน คือ Bank of China ซึ่งมีแหล่งเงินทุนเป็นเงินหยวนจำนวนมาก

ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาเซี่ยงไฮ้ และสาขาอื่นในประเทศจีนกำลังดำเนินการขออนุญาตจากทางการจีนเพื่อยกระดับเป็นธนาคารท้องถิ่นของจีน เพื่อให้สามารถทำธุรกรรมเงินหยวนได้เต็มรูปแบบ รวมถึงธนาคารกรุงไทยที่อยู่ระหว่างดำเนินการขออนุญาตทำธุรกรรมเงินหยวนจากทางการจีน

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ชาตรี โสภณพณิช ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับกัว เกิงเม่า ผู้ว่าการมณฑลเหอหนาน ในการขยายความร่วมมือทางการเงินระหว่างธนาคารกรุงเทพกับมณฑลเหอหนาน โดยธนาคารกรุงเทพได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลจีนให้จัดตั้งธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีน โดยใช้ชื่อว่า ธนาคารกรุงเทพประเทศจีน (Bangkok Bank China: BBC) ด้วยทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านหยวน มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเซี่ยงไฮ้ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในเร็วๆ นี้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 กันยายน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประกาศว่าเครือข่าย ธนาคารที่อยู่ในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดในประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะเริ่มให้บริการใช้สกุลเงินหยวนเพื่อชำระเงินสำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศ บริการเคลียริ่ง บริการอัตราแลกเปลี่ยนและบริการธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศแก่บรรษัท และสถาบันการเงินในภูมิภาคอาเซียน

ยุทธเดช ปัทมานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายธุรกรรมการเงิน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ระบุในเอกสารแถลงข่าวว่า "โอกาสเติบโตของการใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีอยู่สูง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงบทบาทและความสำคัญของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศจีนกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน จากการที่ทางการจีนมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อเพิ่มบทบาทของเงินหยวนในเวทีการค้าโลก ทำให้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดสามารถให้บริการหลากหลายครอบคลุมมากยิ่งขึ้นแก่ลูกค้าบรรษัทและสถาบันการเงินในภูมิภาคอาเซียนจากโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นดังกล่าว โดยปัจจุบันธนาคารสามารถให้บริการลูกค้าที่อยู่ในไทย ฮ่องกง มาเก๊า และประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีความสนใจต้องการใช้เงินหยวนในการชำระค่าสินค้าและบริการแก่บริษัทต่างๆ ในประเทศจีน"

นอกจากนี้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดยังมีแผนเพิ่มบริการเงินฝากและบัญชีออมทรัพย์เป็นสกุลเงินหยวนแก่ลูกค้าบรรษัท และธุรกิจ SMEs ในไทย โดยจะเริ่มให้บริการได้ภายในเดือนธันวาคม

"ในฐานะธนาคารตัวแทนที่ได้รับอนุญาตจากทางการจีน และเป็นธนาคารที่สามารถให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการการค้าระหว่างประเทศเป็นเงินหยวนได้ ธนาคารคาดว่าจะสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น โดยสามารถช่วยให้ลูกค้าทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์จากโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นนี้ อีกทั้งช่วยให้บริษัทคู่ค้าในประเทศจีน ได้เข้าร่วมอยู่ในบัญชีรายชื่อบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากทาง การจีน (Mainland Designated Entity List) ในการทำธุรกรรมเงินหยวนดังกล่าว" ยุทธเดชกล่าว

สำหรับภาพรวมการค้าไทย-จีนในปี 2551 มีมูลค่าทั้งสิ้น 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.2% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย โดยจีนถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับสองของไทย รองจากญี่ปุ่นที่มีสัดส่วน 15.0% (ปี 2541 จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 6 ของไทย)

ปี 2552 (มกราคม-พฤษภาคม) การค้าไทย-จีนเพิ่มมูลค่าขึ้นมาก คิดเป็น 11.1% ของการค้ารวม เมื่อรวมกับตลาดฮ่องกงแล้ว ถือเป็นตลาดสำคัญที่สุดของไทย เพราะมีมูลค่าการค้าเกิดขึ้นเป็นสัดส่วนถึง 15.2% มากกว่าญี่ปุ่นที่อยู่ในสัดส่วน 13.8%

ขณะที่การค้าชายแดนไทย-จีนในเขตภาคเหนือมีมูลค่ารวม 5,008.2 ล้านบาท คิดเป็น 0.41% ของการค้าไทย-จีนทั้งประเทศ แต่หากพิจารณาอัตราการขยายตัวของการค้าชายแดนในเขตภาคเหนือในช่วง 10 ปี (2541-2551) จะพบว่าขยายตัวสูงถึง 49.8% สูงกว่าการค้าไทย-จีนทั้งประเทศที่มีอัตราขยายตัว 23.8% (รายละเอียดดูจากตาราง)

การนำเงินหยวนเข้ามาใช้ในการค้าขายระหว่างไทยกับจีน คงเป็นสิ่งที่คงต้องเกิดขึ้นแน่ในอนาคต

แต่เหรียญก็มี 2 ด้าน และดาบก็มี 2 คม

ด้านหนึ่ง เมื่อไทยและจีนสามารถค้าขายกันโดยใช้เงินหยวนได้ แม้ว่าจะทำให้ปริมาณการค้าเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาในประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยก็ตาม

สกุลเงินถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด องค์ประกอบหนึ่งในกลไกการค้าขาย

สรภพ เชื้อดำรง รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กรรมการผู้จัดการบริษัทซีดีอาร์เพิ่มพูนกิจ จำกัด ผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างไทย-จีน, ปณิธิ ตั้งผาติ ที่ปรึกษาหอการค้า จังหวัดตาก ที่คร่ำหวอดการค้าชายแดนไทยในภาคเหนือมานานหลายสิบปี รวมถึงพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธาน คสศ. ล้วนมองถึงความเคลื่อนไหว เรื่องหยวนของจีน ในทำนองเดียวกันว่าหากจีนเปิดให้ซื้อขายสินค้าด้วยเงินหยวนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือในตลาดโลกมากขึ้น จะทำให้จีนสามารถคุมกลไกการค้าในอาเซียนได้มากขึ้น อิทธิพลทางการค้าของจีนจะสูงขึ้นอีกมหาศาล

นั่นหมายถึง จีนจะสามารถควบคุมกลไกการค้าย่านนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

สกุลเงินจึงเป็นเสมือนอาวุธหนักที่กำลังรอการสับไก   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us