ในวรรณกรรมอมตะ "สามก๊ก" ผู้นำทัพหลวงของแต่ละฝ่ายในแต่ละยุทธภูมิก็แตกต่างกัน บางยุทธภูมิผู้นำของก๊กอาจจำเป็นต้องนำทัพด้วยตนเอง แต่ในบางยุทธภูมิ ผู้นำอาจใช้เพียงทหารเอก หรือหาคนที่เหมาะสมสามารถต่อกรกับฝ่ายตรงข้ามได้เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
14.55 น. วันที่ 23 สิงหาคม 2552 ปรากฏการณ์สำคัญอีกปรากฏการณ์หนึ่งในยุทธภูมิการค้าระหว่างจีนและไทยได้อุบัติขึ้น ณ ท่าเรือ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
เมื่อเตา หลินอิน ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา นำคณะจำนวน 15 คน นั่งเรือหางยาวจำนวน 3 ลำ จากท่าเรือเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ข้ามแม่น้ำโขง ก้าวลงจากเรือมาขึ้นฝั่งเหยียบแผ่นดินไทย
เป็นก้าวย่างที่มีนัยแห่งการขับเคลื่อนภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก "มุ่งตะวันตก หรือ "Go West" ของรัฐบาลปักกิ่งที่มุ่งกระจายความมั่งคั่งจากที่กระจุกตัวอยู่ทางฝั่งตะวันออก มาสู่พื้นที่แถบตะวันตก โดยมียุทธศาสตร์ "ตงหมง" ได้แก่การเปิดเส้นทางออกสู่ทะเลให้กับมณฑลหยุนหนันและ 4 มณฑลใกล้เคียง ที่เรียกกันว่า "ซีหนาน" เป็นยุทธศาสตร์รอง
การวางกลยุทธ์ต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์เหล่านี้ได้ดำเนินมาอย่างมุ่งมั่นเป็นขั้นตอน และเป็นระบบ
เตา หลินอิน ผู้ว่าฯ สิบสองปันนา ที่นำคณะมาในครั้งนี้ เป็นคนเชื้อสายไทลื้อ สามารถพูดและฟังภาษาไทยได้ นอกจากนี้ยังมีญาติเป็นบุคคลในวงสังคมชั้นสูงอยู่ในกรุงเทพฯ
คณะของผู้ว่าฯ สิบสองปันนาที่เดินทางมาไทยเที่ยวนี้ นอกจากตัวผู้ว่าฯ แล้วยังมีรองประธานสมาคมมิตรภาพระหว่างประเทศสิบสองปันนา, นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงรุ่ง, นายอำเภอเมืองไฮ, นายอำเภอเมืองล่า, ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวสิบสองปันนา, ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมจิ่งหง (เชียงรุ่ง), ผู้อำนวยการนิคมพัฒนาการท่องเที่ยวสิบสองปันนา, ผู้อำนวยการนิคมพัฒนาเศรษฐกิจบ่อหาน, รองประธานสำนักคณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปสิบสองปันนา, รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรสิบสองปันนา, รองผู้อำนวยการสำนักงานวิเทศสัมพันธ์สิบสองปันนา, เลขานุการคณะ, ล่ามภาษาไทย และตัวแทนบริษัท China Eastern Airline สาขาหยุนหนัน
ตามกำหนดการ คณะนี้จะมาเจรจาการค้ากับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ จัดสัมมนาเชิญชวนนักธุรกิจไทยให้ไปลงทุนในสิบสองปันนา โดยจัดทั้งที่เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ เข้าพบผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก่อนจะเดินทางลงไปดูงานด้านการท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต และเดินทางกลับโดยเครื่องบินไปยัง สิบสองปันนา
รวมระยะเวลาการเดินทางทั้งสิ้น 8 วันเต็มๆ
ในการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของคณะผู้ว่าฯ สิบสองปันนาเที่ยวนี้ ตัวแทนที่ร่วมเดินทางมาแต่ละคนสามารถนำเสนอโครงการลงทุนต่างๆ ของสิบสองปันนา พร้อมออกหน้าเจรจากับส่วนราชการของจังหวัดต่างๆ ที่เดินทางผ่าน ตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ ลงไปถึงกรุงเทพฯ และภูเก็ต
หัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเจรจายกตัวอย่างเฉพาะการประชุมร่วมกับผู้ว่าฯและหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม อาทิ การเปิดให้สายการบิน China Eastern Airline บินจากคุนหมิง-เชียงรุ่ง (จิ่งหง)-กรุงเทพฯ โดยให้แวะพักที่ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงรายด้วย ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคมนี้
ข้อเสนอที่ส่งไปถึงรัฐบาลปักกิ่งเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2552 ขออนุมัติให้คนจีนใช้บัตรผ่านแดนเดินทางออกจากสิบสองปันนา เข้าลาว-พม่า ทะลุถึงไทยได้ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของจังหวัดเชียงราย ที่ได้เสนอผ่านกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอไฟเขียวจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)-กระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลไปแล้ว
บรรยากาศหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุม Qian Min ผู้อำนวยการสำนักงานพาณิชย์ สิบสองปันนา หยิบยกปัญหาการส่งออกสินค้าพืช ผัก-ผลไม้จากจีนเข้าไทยภายใต้ข้อตกลง FTA ขึ้นมาถามผ่านล่ามกลางเวทีประชุมว่า กระเทียม และมันฝรั่ง เป็นพืชผักผลไม้หรือไม่ ทำไมพ่อค้าจีนไม่สามารถนำเข้ามาจำหน่ายในไทยได้ตามข้อตกลง FTA ซึ่งพาณิชย์จังหวัดเชียงรายพยายามนำเรื่องความจำเป็นที่จะต้องปกป้องเกษตรกรไทยมาอธิบาย เพราะกระเทียมและมันฝรั่งเป็นสินค้าอ่อนไหว
ขณะที่ข้อเสนอของจังหวัดเชียงราย โดยผู้ว่าฯ เชียงรายกลับพูดถึงการแข่งขันฟุตบอล 6 ชาติที่สิบสองปันนาเป็นเจ้าภาพ และได้เชิญทีมฟุตบอลจากเชียงรายเข้าร่วมการแข่งขันด้วย
ผู้ว่าฯ เชียงรายได้บอกกับผู้ว่าฯ สิบสองปันนาในห้องประชุมว่า ขอให้ทีมบอลของสิบสองปันนาอ่อนข้อให้กับทีมบอลเชียงรายบ้าง เพราะทีมสิบสองปันนาเก่งกว่า!!!
ก่อนหน้าที่คณะของผู้ว่าฯ สิบสองปันนาจะเดินทางมาเยือนประเทศไทยไม่กี่วัน เพิ่งมีคณะของกรมการท่องเที่ยว มณฑลหยุนหนัน นำโดยเหยียน กวงฮั่น รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว มณฑลหยุนหนัน พร้อมหัวหน้าฝ่ายการท่องเที่ยวจากเขตต่างๆ ในสังกัด เช่น นครคุนหมิง เขตอวี้ซี เขตผูเอ่อหรือซือเหมา เขตสิบสองปันนา เขตฉวี้ซง เขตอวี้ลิน เขตเจาทง ฯลฯ รวมประมาณ 30 คน เดินทางเข้ามาดูลู่ทางส่งเสริมการค้าการท่องเที่ยวผ่านเส้นทาง R3a
เหยียน กวงฮั่น บอกว่าส่วนหนึ่งเป็นการเดินทางสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวจากคุนหมิง-สิงคโปร์ โดยเดินทางผ่าน R3a ผ่าน สปป.ลาว ข้ามมายังเชียงราย ก่อนเดินทางต่อไปยังเชียงใหม่ กรุงเทพฯ จนถึงสิงคโปร์ เพื่อยืนยันว่าวันนี้ "คุน-มั่น กงลู่" ("มั่น" ตัวนี้ย่อมาจาก "มั่นกู่" หรือ "ม่าน กู่" ที่แปลว่า กรุงเทพฯ ในภาษาจีนกลาง ระยะทาง 1,800 กว่ากิโลเมตรจากคุนหมิง-กรุงเทพฯ ใช้การได้แล้ว ซึ่งคณะที่มาด้วยทั้งหมดมีเป้าหมายขับเคลื่อนการท่องเที่ยวให้กับหยุนหนันทั้งสิ้น
"ในอดีต ไม่เคยคิดว่าคุน-มั่น กงลู่จะเกิดขึ้นได้และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทำให้การท่องเที่ยวได้ประโยชน์สูงสุด เพราะตลอดเส้นทางมีทรัพยากรการท่องเที่ยวมากมาย"
โอกาสนี้กรมการท่องเที่ยวหยุนหนันได้ยื่นข้อเสนอให้จังหวัดเชียงรายร่วมออกแบบโปรแกรมท่องเที่ยวเผยแพร่ระหว่างกัน, ผลักดันให้ภาคเอกชนไทย-จีนหารือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำแหล่งท่องเที่ยวแต่ละประเทศทำเป็นรูททัวร์ขายให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกต่อไป
การเดินทางเข้ามาทั้งคณะของกรมการท่องเที่ยว มณฑลหยุนหนัน และคณะของผู้ว่าฯ สิบสองปันนา เปรียบได้ดังการส่งนายทหารเอกของทัพหลวงให้ลงมากรุยทางในระดับพื้นที่ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ หลักที่ถูกกำหนดโดยรัฐบาลกลางสามารถเดินหน้าไปได้อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง
โดยในเวลาใกล้เคียงกับที่คณะทั้ง 2 เดินทางเข้ามาในไทย ก็ยังมีอีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าจับตา นั่นคือการที่สมาคมนักธุรกิจยอดเยี่ยมเชื้อสายจีนทั่วโลก นำสมาชิกจำนวนกว่า 300 คน มาจัดสัมมนาธุรกิจไทย-จีน (Thai-Chinese Forum) ที่พัทยา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการสัมมนากว่า 1,000 คน
สมาคมนี้จัดตั้งขึ้นจากสมาชิกที่เป็นนักธุรกิจชาวจีนที่มีสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านหยวนขึ้นไป ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 500 ราย
การสัมมนาครั้งนี้เป็นเหมือนการกรุยทางให้นักธุรกิจเชื้อสายจีนกลุ่มนี้ได้มองเห็นช่องทางการลงทุนในไทย และมีโอกาสหาผู้ร่วมทุนชาวไทยในอุตสาหกรรมการค้าและบริการแขนงต่างๆ
เป็นการยกระดับการรุกเข้ามาในไทยในสเกลที่ใหญ่ขึ้น เป็นย่างก้าวต่อเนื่อง หลังจากการส่งทัพหน้าที่เป็นพ่อค้านำสินค้าเข้ามายึดครองตลาด และควบคุมกลไกการค้าในไทยเอาไว้ได้แล้วในระดับหนึ่ง
หากมองการค่อยๆ แผ่อิทธิพลของจีนลงมาทางใต้สู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจะเห็น ได้ว่าเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ ค่อยๆ ทวีขนาดให้ใหญ่ และมีรูปแบบที่เข้มข้น ขึ้นเรื่อยๆ
พื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนบนมีกลุ่มทุนจีนได้ทยอยเข้ายึดหัวหาดตามแนวเส้นทางคุน-มั่น กงลู่ ไว้แทบทุกจุด ทั้งที่เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น (ชายแดนลาว-จีน ตรงข้ามเมืองบ่อหานของจีน) ที่ทุนจีนได้รับสัมปทานจากรัฐบาล สปป.ลาว โดยตรง, โครงการก่อสร้างโรงแรมในหลวงน้ำทา, สัมปทานพื้นที่ทำการเกษตร ทั้งปลูกยางพารา หรือพืชเศรษฐกิจอื่นๆ, สัมปทานเดินรถตามเส้นทาง R3a, สัมปทานพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว (ตรงข้ามกับอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย) ที่บริษัทดอกงิ้วคำ กลุ่มทุนจากมาเก๊า-จีนแผ่นดินใหญ่กำลังเดินเครื่องสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์มูลค่าหลายพันล้านบาท เป็นต้น
(อ่านเรื่อง "เปิดตลาด (อินโด) จีน" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2550, เรื่อง "คุน-มั่ง กงลู่ เส้นทางจีนสู่อาเซียน" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2551 และเรื่อง "เซินเจิ้นลาวบนสามเหลี่ยมทองคำ" นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือน มีนาคม 2552 หรือใน www.gotomana-ger.com ประกอบ)
อีกด้านหนึ่งจีนก็ใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษเจียก้าว เมืองลุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไต-จิงโพ่ เต๋อหง ผลักดันให้พม่าเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษมูเซ (พม่า) เปิดช่องทางเข้าสู่พม่าออกสู่ทะเลย่างกุ้งให้กับมณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้หรือหยุนหนัน และ 4 มณฑลใกล้เคียง (ซีหนาน) รวมถึงการเปิดช่องทางผ่านชายแดนเหอโข่-ท่าเรือไฮฟอง เวียดนาม (ระยะทาง 389 กิโลเมตร) ด้วย
(อ่านเรื่อง ""เต๋อหง" ช่องทางสินค้าจีนที่ไทยไม่อาจมองข้าม" นิตยสารผู้จัด การ 360 ํ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หรือ www.gotomanager.co.th ประกอบ)
ชัชวาล ศรีวชิราวัฒน์ ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมจิ่งหง และยังเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ความเห็นกับผู้จัดการ 360 ํ ว่าการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนนั้นจะมาเป็นระบบ มาเป็นทีมที่สำคัญคือทุกความเคลื่อนไหวมักได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ขณะที่ของไทยในระดับนโยบายอาจจะมียุทธศาสตร์อยู่ แต่ระดับปฏิบัติกลับไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมใดๆ เกิดขึ้น
"เฉพาะตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย 3 ปีเปลี่ยน 4 คน นโยบายก็ไม่ต่อเนื่องแล้ว"
ชัชวาลบอกว่า คงต้องมีการผลักดันผ่านสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ (สป.) ที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลวางยุทธศาสตร์เรื่องนี้อย่างจริงจังและเข้มข้นก่อนที่ไทยจะเสียโอกาส
สอดรับกับหลากหลายความเห็นของนักธุรกิจในพื้นที่ภาคเหนือที่บอกกับผู้จัดการ 360 ํ ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า จีนได้รุกเปิดช่องทางออกสู่ทะเลให้กับมณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นผ่านทางพม่า ลาว ไทย หรือเวียดนาม
"เรื่องหนึ่งที่เรายอมไม่ได้ คือการที่จีนต้องการจะให้รถสินค้าของเขาวิ่งผ่านตลอด ตั้งแต่ชายแดนลาวเข้ามาในไทย และลงไปถึงท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งคงต้องมีการต่อรองกันอย่างเข้มข้น" ประธานอินทรียงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยาม เซาท์ ไชน่า โลจิสติกส์ ผู้ดำเนินการท่าเรือพาณิชย์ห้าเชียง ริมแม่น้ำโขง ในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายกล่าวย้ำกับชัชวาลระหว่างการสนทนา
คำถามทิ้งท้าย ในเมื่อจีนกำลังรุกเข้ามาเป็นระลอกเช่นในขณะนี้ ไทยได้เตรียมตัวไว้ในระดับใดให้พร้อมรับกับทัพเศรษฐกิจจีนที่กำลังดาหน้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
|