|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หากมองการแผ่อิทธิพลของจีนลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้สู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นดั่งการวางยุทธศาสตร์การรบแบบในวรรณกรรมอมตะ "สามก๊ก" แล้ว คนและสินค้าจากจีน เปรียบเสมือนทัพหน้าที่แม่ทัพส่งลงมาสอดแนม เจาะทลายแนวรับของข้าศึก รวมทั้งจับทหารฝ่ายตรงข้ามไว้เป็นไส้ศึก ก่อนที่ทัพหลวงจะกรีธาข้ามคูและกำแพงเมืองเข้ายึดค่าย จับตัวแม่ทัพ เพื่อให้ได้ชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จในภายหลัง
ผู้คนที่มาเดินจับจ่ายซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขารัชดาภิเษกในวันเสาร์-อาทิตย์ยังคงเนืองแน่นเป็นปกติ หากเป็นในเวลาทั่วไป "อาปิง" มักไม่นิยมมาที่ห้างนี้ในวันหยุด เพราะนอกจากเขาจะไม่ชอบบรรยากาศพลุกพล่านแล้ว ภาษาไทยของอาปิงยังไม่เจนจัดพอที่จะสื่อสารกับคนไทยได้อย่างลึกซึ้ง เขาจึงชอบมาในช่วงบ่ายของวันธรรมดามากกว่า
แต่วันนี้เขาจำเป็นต้องมาหาซื้อกางเกงยีนส์ตัวใหม่ เพราะในสัปดาห์หน้า เขาต้องเดินทางไประยองกับจันทบุรี เพื่อควบคุมการขนถ่ายทุเรียนจากสวนที่ได้สั่งจองไว้ ให้สามารถส่งขึ้นไปลงเรือที่ท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้ทันตามกำหนด
อาปิงเป็นชาวหยุนหนัน บ้านของเขาทำธุรกิจค้าขายผลไม้มา 2 ชั่วอายุคนสิบกว่าปีก่อนตลาดผลไม้ของบ้านเขาส่วนใหญ่อยู่แต่ในเมืองคุนหมิง
แต่หลังจากปี 2546 เมื่อข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างจีนและไทยเริ่มมีผลบังคับใช้ ตลาดผลไม้ของบ้านอาปิงขยายกว้างขึ้น เพราะสามารถส่งผลไม้ล่องลงมาตามแม่น้ำโขง เพื่อขายให้กับพ่อค้าในประเทศไทยที่เชียงแสนได้ในราคาที่ถูกลง ขณะเดียวกันเขาสามารถลงมาหาซื้อผลไม้จากไทย เพื่อนำขึ้นไปขายที่บ้านได้สะดวกขึ้น อีกทั้งยังมีพ่อค้าที่มารับผลไม้ไทยที่บ้านของเขานำเข้าไป เพื่อนำไปขายต่อยังมณฑลอื่นๆ ในจีนเพิ่มมากขึ้น
การที่ตลาดเปิดกว้างขึ้นมากเช่นนี้ ทำให้ 3 ปีก่อนเตี่ยของเขาตัดสินใจส่งเขา กับน้องชายเข้ามาอยู่เมืองไทยเพื่อดูแลการซื้อขายผลไม้ที่นี่โดยเฉพาะ
อาปิงมาอยู่ในกรุงเทพฯ เช่าอพาร์ต เมนต์ขนาดไม่ใหญ่มากอยู่แถวห้วยขวาง ซึ่งเป็นที่ที่เขาได้รู้จักกับ "น้อย" หญิงไทยวัย 20 เศษ ที่ต่อมาภายหลังเขาได้ว่าจ้างตกแต่งให้เป็นภรรยาตามกฎหมายไทยและใช้ชื่อน้อยในการทำธุรกรรมต่างๆ ในประเทศไทย แทนชื่อของเขาซึ่งเป็นชาวต่างชาติ
บทบาทของอาปิงจะดูแลเรื่องการนำผลไม้จากจีนที่มาส่งยังท่าเรือเชียงแสน ควบคุมการขนส่งจากเชียงแสนมาถึงตลาดไท รวมถึงควบคุมการกระจายผลไม้เหล่านั้น โดยขายส่งให้กับพ่อค้าชาวไทย ที่มารับซื้อผลไม้จากเขา แล้วนำไปขายต่อให้กับพ่อค้าในตลาดค้าปลีกต่างๆ
อาปิงเช่าห้องชั้นล่างของตึกแถวคูหาหนึ่งในตลาดไทเพื่อทำเป็นสำนักงาน โดยมีน้อยภรรยาไทยตามกฎหมาย รับภาระในงานธุรการ รวมทั้งงานเอกสารทั้งหมด
นอกจากดูแลตลาดผลไม้ในไทยให้กับที่บ้านแล้ว ในทางกลับกัน อาปิงยังมีหน้าที่ จัดซื้อผลไม้จากประเทศไทยเพื่อส่งขึ้นไปลงเรือที่ท่าเรือเชียงแสน ซึ่งเรือจะลำเลียงผลไม้ ไปให้เตี่ยและน้องชายคนเล็กของเขา ที่จะมารับผลไม้ที่ท่าเรือจิ่งหง (สิบสองปันนา) แล้วกระจายออกไปขายในจีนอีกต่อหนึ่ง
ส่วน "อาเหลียง" น้องชายคนกลาง ที่มาอยู่เมืองไทยพร้อมกับอาปิง ปักหลักอยู่ที่จังหวัดเชียงราย อาเหลียงแต่งงานกับ "หล้า" หญิงสาวในอำเภอเชียงแสน เพื่ออาศัยชื่อเปิดบริษัทชิปปิ้งอยู่ใกล้ๆ กับท่าเรือเชียงแสน ทำหน้าที่จัดทำเอกสารตาม พิธีการนำเข้าและส่งออกสินค้าทางเรือ โดย เฉพาะผลไม้ของเขาให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายศุลกากร ทั้งของไทยและของจีน
ตอนที่อาปิงมาอยู่กรุงเทพใหม่ๆ เขาใช้วิธีการซื้อผลไม้ โดยสั่งผ่านพ่อค้าคนกลางที่นำผลไม้จากสวนไปส่งที่ตลาดไท แต่หลังจากเริ่มรู้ช่องทาง เขาลงทุนเพิ่มขึ้นอีกนิด โดยยอมเดินทางไปถึงสวนผลไม้ต่างๆ และสั่งจองไว้กับเจ้าของสวนล่วงหน้า ตั้งแต่ต้นไม้เริ่มติดดอก
ด้วยยอดสั่งซื้อของเขาแต่ละครั้งมีปริมาณมาก เขาจึงมีโอกาสบล็อกสินค้าคุณภาพดีแต่ได้ราคาที่ต่ำลง เพราะเจ้าของสวนส่วนใหญ่มองว่าการขายแบบยกสวนนั้น สะดวกกว่าทยอยขายให้พ่อค้าคนกลางชาวไทยที่มักไปซื้อที่สวนตอนที่ต้นไม้เริ่มติดผลแล้ว
ยิ่งอาปิงรู้จักเจ้าของสวนหลายคนขึ้นเขาก็เริ่มต่อรองราคากับเจ้าของสวนแต่ละรายได้ง่ายขึ้น เพราะหากสวนหนึ่งไม่ยอมขาย เขาสามารถไปหาผลไม้คุณภาพเดียวกันได้จากสวนอื่นๆ
ต่อมาภายหลัง มีพ่อค้าผลไม้ชาวจีนอีกหลายคนที่ทำธุรกิจคล้ายคลึงกับเขามาชักชวนให้รวมกลุ่มกันเวลาไปซื้อผลไม้ตามสวน ทำให้อำนาจต่อรองของพวกเขาก็ยิ่งสูงขึ้น เพราะปริมาณยอดสั่งซื้อที่เมื่อรวมกันแล้วมีเป็นจำนวนมาก ดึงดูดให้เจ้าของสวนอยากขายมากขึ้น เพราะได้เงินเร็วกว่า แม้จะได้ราคาน้อยลงไปสักนิด
ราคาผลไม้ที่อาปิงซื้อได้ถูกลงหมายถึงกำไร เวลาที่เตี่ยรับผลไม้ไปขายต่อในจีนก็จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
อาปิงเป็นตัวอย่างเพียงรายเดียวของพ่อค้าชาวจีนที่ทุกวันนี้เข้ามามีบทบาทในการควบคุมกลไกการค้าผลไม้ของ ไทย ชนิดที่แทบจะเรียกได้ว่า "ครบวงจร"
เพราะหากมองจากปลายทางของทั้ง 2 ด้าน ผลไม้จากจีนนำเข้ามายังประเทศไทยผ่านทางแม่น้ำโขง โดยกองเรือขนส่งสินค้าสัญชาติจีนมาขึ้นที่เชียงแสน ผ่านพิธีการศุลกากรโดยชิปปิ้งชาวจีน โดยมีพ่อค้าจีนคุมลงมาส่งและกระจายสินค้าด้วยตนเองถึงตลาดไท
ในทางกลับกัน ผลไม้จากไทยก็ถูกกว้านซื้อถึงสวนโดยกลุ่มพ่อค้าจีน ที่รวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ส่งขึ้นไปลงเรือสินค้าสัญชาติจีนที่เชียงแสน ผ่านพิธีการศุลกากรจากชิปปิ้งชาวจีน เพื่อนำขึ้นไปขายต่อในจีนผ่านทางลำน้ำโขง
คนไทยที่มีส่วนได้ในกระบวนการเหล่านี้มีเพียง 1-เจ้าของสวนที่สามารถขายผลไม้จำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว แต่ในราคาที่ไม่สูงมากนัก 2-เจ้าของรถห้องเย็น หรือรถปิกอัพ ที่รับจ้างขนผลไม้จากเชียงรายมายังตลาดไท และขนผลไม้จากภาคตะวันออกของไทยไปส่งที่ท่าเรือเชียงแสน
และ 3-หญิงไทยที่รับจ้างแต่งงาน เพื่อใช้ชื่อออกหน้าในการจัดการเรื่องธุรกิจ รูปแบบการทำธุรกิจลักษณะนี้มิใช่มีเฉพาะแต่ผลไม้จากภาคตะวันออกของไทยเท่านั้น แต่รวมถึงการค้าลำไยอบแห้งในภาคเหนือ ที่ระยะหลังมีปัญหาราคาตกต่ำเกิดขึ้นทุกปี เพราะทุกวันนี้การกำหนดราคารับซื้อลำไยล้วนอยู่ในมือ "พ่อค้าชาวจีน" กว่า 40 รายที่เข้ามาลงทุนทำ "ล้ง" ตามจังหวัดต่างๆ ที่เป็นแหล่งผลิตลำไย
การที่พ่อค้าจีนเหล่านี้สามารถกำหนดราคารับซื้อกันเองได้ชนิดวันต่อวัน เพราะคนกลุ่มนี้เป็นผู้ผูกขาดซื้อล็อตใหญ่อยู่เพียงกลุ่มเดียว
ขณะที่สินค้าอื่นๆ ของไทย อาทิ พืชผักหลายชนิด ซึ่งเป็นที่ต้องการบริโภคในจีน กลุ่มพ่อค้าจีนก็ใช้วิธีการรวมกลุ่มกันไปจองซื้อถึงสวนในจังหวัดนครปฐมและขน ขึ้นไปส่งยังท่าเรือเชียงแสนเช่นกัน
สถานการณ์ที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้นกับภาคส่งออกผักผลไม้จากไทยไปจีนในทุกวันนี้
ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าอื่น ที่ทุกฝ่ายพยายามผลักดันให้สินค้าไทยเข้าไปยึดครองตลาดในจีนให้ได้ แต่ด้วยระเบียบการค้าของจีน ซึ่งกำหนดให้สินค้าแต่ละชนิดที่จะวางจำหน่ายในจีนได้ต้องได้รับใบ อนุญาตขาย 1 ชนิดสินค้าต่อ 1 ไลเซนส์ กลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ยังไม่เคยมีการต่อรองกันให้ผ่อนปรนลงมาแม้แต่น้อย
ที่ผ่านมา การส่งสินค้าจากไทยไปจีน โดยเฉพาะสินค้าโอทอปที่รัฐบาลพยายามให้การสนับสนุน หากต้องการเปิดตลาดในจีนให้ได้ต้องเป็นการขายโดยพ่อค้าชาวจีนเท่านั้น
ดังนั้น ผู้ผลิตชาวไทยที่ต้องการขายสินค้าเหล่านี้โดยตรงในจีน จึงจำเป็นต้องอาศัยลักษณะของการฝากขายผ่านคนรู้จักหรือนำสินค้าร่วมขบวนไปกับกลุ่ม หรือหน่วยงานที่เดินทางไปจัดงานแสดงสินค้า โดยระบุให้เป็นเพียงสินค้าตัวอย่าง
(อ่านเรื่อง "ค้าขายกับจีนไม่ใช่เรื่องง่าย" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2551 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)
สถานการณ์ดังกล่าวดูช่างแตกต่างจากสินค้าจากจีนหลากหลายประเภท ที่ขณะนี้ได้เข้ามายึดครองตลาดส่วนใหญ่ในไทยไปได้แล้วอย่างเหนียวแน่น
ด้วยราคาที่ถูกกว่า รวมถึงการเข้ามามีบทบาทควบคุมกลไกการค้าของพ่อค้าชาวจีนถึงในถิ่น ทำให้ผู้ผลิตสินค้าไทยหลายรายได้รับผลกระทบจากการหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าจีนเหล่านี้
ว่ากันว่า ทุกวันนี้พ่อค้าจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย เพื่อควบคุมดูแลการค้าของเขามีเป็นจำนวนมาก อาจสูงถึงหลักร้อยหลักพันคน
ย่านห้วยขวางและสุทธิสารกำลังกลายเป็นชุมชนที่พักอาศัยของชาวจีนแห่งใหม่ คล้ายคลึงกับเยาวราชเมื่อกว่า 100 ปีก่อน
อพาร์ตเมนต์แถบนี้คลาคล่ำไปด้วยคนจีนที่มาพักอาศัยอยู่กับภรรยาชาวไทย
ตึกแถวริมถนนรัชดาภิเษก ช่วงสี่แยกตัดถนนสุทธิสาร มีแหล่งบันเทิงที่เปิดขึ้นเพื่อต้อนรับลูกค้าชาวจีนโดยเฉพาะ
ห้างสรรพสินค้าโรบินสันและคาร์ฟูร์ สาขารัชดาภิเษก มีกรุ๊ปทัวร์ชาวจีนมาจับจ่าย ซื้อสินค้าสัปดาห์ละหลายกลุ่ม จนห้างทั้ง 2 แห่งต้องให้พนักงานขายเรียนพูดภาษาจีนเพื่อให้สามารถสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ได้
กรุ๊ปทัวร์เหล่านี้ส่วนหนึ่ง เข้ามาโดยวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว แต่มีอีกบางส่วนที่เข้ามาหาช่องทางการค้าและยกระดับตนเองขึ้นมาเป็นพ่อค้าจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในภายหลัง
สิ่งที่ต้องพึงพิจารณาสำหรับการหลั่งไหลเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยของพ่อค้าชาวจีนเหล่านี้คือ
คนกลุ่มนี้มิได้เข้ามาเพื่อหวังพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เหมือนคนจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเมื่อกว่า 100 ปีก่อน
แต่เขาเหล่านี้เข้ามาเพื่อหวังดูแลการค้าและหวังได้ "กำไร" ขนกลับไปที่บ้าน
เราจะวางยุทธศาสตร์ตั้งรับการเข้ามาของทัพหน้าเหล่านี้ได้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าคิด
|
|
|
|
|