|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

นับแต่ปี 1936 เป็นต้นมาดูเหมือนว่าคงจะไม่มีการทำความสะอาดใหญ่ครั้งใดที่จะขัดสีชำระล้างคราบด่างดำที่เกาะอยู่บนหินแกรนิตของอาคารรัฐสภาญี่ปุ่นได้หมดจดเอี่ยมอ่องเท่าครั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศของ Dr.Yukio Hatoyama นายกรัฐมนตรีคนที่ 60 แห่งประเทศญี่ปุ่นซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 93 ในวันที่ 16 กันยายน 2009
หลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรี Taro Aso ประกาศยุบสภาอย่างกะทันหันเพื่อคืนอำนาจกลับสู่ประชาชนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างโดยเฉพาะจากพรรค ฝ่ายค้านที่แถลงข่าวตอบโต้คำประกาศดังกล่าวอย่างเผ็ดร้อน เนื่องจากตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการเตรียมตัวสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ที่กำหนดให้มีขึ้นภายใน 40 วัน
เป็นเรื่องธรรมดาที่พรรคการเมืองใหญ่น้อยต้องรีบเร่งประชุมกำหนดวางนโยบายและกลยุทธ์การหาเสียง ที่ดำเนินไปด้วยชั้นเชิงเกมการเมืองเป็นการด่วนเพื่อช่วงชิงเก้าอี้สมาชิกผู้แทนราษฎรในสภา ไดเอทให้ได้มากที่สุด โดยมีประชาชนเป็นผู้ตัดสินตามระบอบประชาธิปไตย
กฎหมายเลือกตั้งของญี่ปุ่นยืดหยุ่นให้ผู้ลงคะแนนเสียงสามารถเดินทางไปใช้สิทธิ์ล่วงหน้าได้ 1 สัปดาห์ก่อนวันกำหนดเลือกตั้งจริง ซึ่งอำนวยความสะดวกสอดคล้องกับวิถีชีวิตอันเร่งรีบในญี่ปุ่นและมีส่วนสนับสนุนให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ในครั้งนี้มากถึง 69% ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน
ผลการนับคะแนนหลังปิดหีบเลือกตั้งที่เริ่มรายงานตั้งแต่หัวค่ำของวันที่ 30 สิงหาคม 2009 นั้นเป็นไปตามโพลของหลายสำนักที่ชี้ตรงกันว่า พรรค DPJ (Democratic Party of Japan) สามารถกวาดที่นั่งได้ราว 2 ใน 3 ของจำนวนผู้แทนราษฎรทั้งหมด 480 ที่นั่ง ส่งผลให้ Dr.Yukio Hatoyama กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของญี่ปุ่น
นอกเหนือไปจากสถิติที่น่าสนใจเมื่อ DPJ ได้มา 308 ที่นั่งซึ่งมากกว่าผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ถึง 195 ที่นั่ง ในขณะที่ LDP ได้มาเพียง 119 ที่นั่งซึ่งลดลงจากเดิม 192 ที่นั่งนั้น ก็คือการเลือกตั้งในครั้งนี้เท่ากับเป็นการจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองญี่ปุ่นที่ DPJ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านสามารถพลิกชนะพรรค LDP (Liberal Democratic Party) ที่กุมคะแนนเสียงข้างมากในสภาด้วยแนวทางอนุรักษนิยมต่อเนื่องมานาน 55 ปี
สีสันหนึ่งที่ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่สำหรับการเมืองญี่ปุ่นในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ มีสมาชิกผู้แทนราษฎรหน้าใหม่อายุน้อยโดยเฉพาะ ส.ส.หญิงที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกนั้นมีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์
จะด้วยเหตุบังเอิญหรือไม่ก็ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวสะท้อนทัศนะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นราวกับสอดคล้องไปกับสภาวะ Wind of Change ของโลกในปัจจุบัน
Dr.Yukio Hatoyama หัวหน้าพรรค DPJ เกิดเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 1947 ที่โตเกียว ปัจจุบันอายุ 62 ปี นับเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นคนที่ 2 ที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (คนแรกคือ Shinzo Abe) จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยโตเกียว ปริญญาโทและเอกสาขา Managerial Engineering จาก Stanford University จากนั้นเริ่มงานวิชาการที่ Tokyo Institute of Technology ก่อนที่จะย้ายไปเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ Senshu University
มีการเปรียบเปรยถึงตระกูล Hatoyama ว่า เป็น Kennedy ของญี่ปุ่น เนื่องเพราะสายสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องในทางการเมืองที่สืบเนื่องยาวนาน 4 ชั่วอายุตั้งแต่รุ่นปู่ทวด Kazuo Hatoyama ซึ่งเป็นโฆษกรัฐบาลในสมัยปฏิรูปเมจิ เมื่อปี 1896
อดีตนายกรัฐมนตรี Ichiro Hatoyama มีศักดิ์เป็นปู่ ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างสัมพันธ์การทูตกับสหภาพโซเวียต และมีส่วนทำให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์การสหประชาชาติในเวลาต่อมา
Yukio Hatoyama เป็นบุตรชายของ Iichiro Hatoyama นักการทูตและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศ และมารดาคือ Yasuko Hatoyama ซึ่งเป็นบุตรสาวของ Shojiro Ishibashi ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตยางรถยนต์ Bridgestone นอกจากนี้ Kunio Hatoyama น้องชายของเขายังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารในรัฐบาลของ Taro Aso อีกด้วย
ในปี 1986 เขาลงรับสมัครเลือกตั้งในเขต 4 (เดิม) ของจังหวัด Hokkaido ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรครั้งแรกสังกัดพรรค LDP และชนะการเลือกตั้งต่อมาอีก 6 ครั้งจนกระทั่งลาออกจาก LDP ในปี 1993 เพื่อเข้าร่วมกับ Naoto Kan ก่อตั้งพรรค Sakigake ก่อนที่จะเป็นหนึ่งในแกนนำการก่อตั้งพรรค DPJ ในปี 1996
ภายใต้ key word ของคำว่า "Manifesto" ที่ DPJ ใช้นำทางการหาเสียงซึ่งเป็นพันธสัญญาประชาคม ชูประเด็นนโยบายหลัก 5 ประการ ได้แก่ 1) การใช้ภาษีงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ 2) สนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาและวิจัยของประเทศ 3) แก้ปัญหาเงินบำนาญสำหรับผู้สูงอายุและเสริมสร้างระบบประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 4) กระจายอำนาจการปกครองและความเจริญสู่ชนบทเช่นการยกเลิกค่าบริการทางด่วนจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลของ Taro Aso เพิ่งประกาศลดราคาค่าทางด่วนไปหมาดๆ*, ช่วยเหลือเกษตรกรและให้เงินสนับสนุนค่าเลี้ยงดูบุตร และ 5) ฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงแสดงบทบาทของประเทศผู้นำด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเวทีโลกโดยการกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงถึง 25%
ในขณะที่ LDP ชูประเด็นเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และโน้มน้าวให้เห็นถึงความสำคัญของนโยบายที่ต่อเนื่อง ตลอดจนคำมั่นสัญญาในการแก้ไขปัญหาการว่างงานที่พุ่งขึ้นสูงในขณะนี้
แม้ว่าแทบจะไม่มีความแปลกใหม่ที่เป็นตัวเลือกให้ประชาชนได้พิจารณามากนัก แต่ดูเหมือนว่าความไม่พอใจในประสิทธิภาพการบริหารงานของรัฐบาลซึ่งนำโดย LDP หลายชุดที่ผ่านมา ซึ่งเปรียบเสมือนตะกอนที่พัดพาจากทั่วประเทศมาทับถมกันเป็นเวลาแรมปีจนกลายเป็นสันดอนขวางรัฐนาวาในที่สุด
การกลับขั้วการเมืองครั้งประวัติศาสตร์นี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ เริ่มแต่การครองเสียงข้างมากทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร โดย DPJ ซึ่งกำลังนำไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่ของการปฏิรูปแบบแผนการเมืองแบบพรรคใหญ่ 2 พรรคอย่างแท้จริง การลดทอนอำนาจของข้าราชการประจำที่มีส่วนสัมพันธ์กับนักการเมือง, การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ประกาศเจตนารมณ์มุ่งกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ตัดลดการพึ่งพิงสหรัฐอเมริกา
การดำเนินการของ DPJ เพื่อรักษาคำมั่นสัญญาที่ลั่นไว้ในช่วงหาเสียงนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันซึ่ง Manifesto แรกกำลังเริ่มต้นจากการทบทวนงบภาษีในปีงบประมาณหน้า
พร้อมๆ กับการเร่งสร้างผลงานในเบื้องต้นอย่างเช่น การยกเลิกค่าบริการทางด่วน การวางแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงถึง 25% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นโดยรวม การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เปลี่ยนไปก็ดีนั้น ล้วนเป็นงานที่ท้าทายรัฐบาลมือใหม่เป็นอย่างยิ่ง
เพราะชัยชนะของ DPJ ในครั้งนี้เพิ่งดำเนินมาถึงเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม :
* นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ คอลัมน์ Japan Walker ฉบับเมษายน 2552
|
|
 |
|
|