Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ตุลาคม 2552
ศิลปะภาพเขียนของรพินทรนาถ ฐากูร             
โดย ติฟาฮา มุกตาร์
 


   
search resources

Art
รพินทรนาถ ฐากูร




รพินทรนาถ ฐากูร กวีและนักคิดชาวอินเดีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงนักอ่านและผู้สนใจระบบการศึกษาทางเลือกของบ้านเรา หลายคนคงได้รับแรงบันดาลใจจากงานนิพนธ์คีตาญชลี พระจันทร์เสี้ยว บ้างขบคิดถึงอิสรภาพในระบบการศึกษาจากแนวคิดโรงเรียนใต้ร่มไม้ของศานตินิเกตัน ซึ่งท่านเป็นผู้ก่อตั้ง แต่อาจมีคนไม่มากนักที่รู้จักรพินทรนาถในฐานะจิตรกร หรือเคยผ่านตาภาพเขียนของท่านซึ่งถือว่าสำคัญต่อแวดวงศิลปะอินเดียสมัยใหม่

กวีชาวเบงกาลีท่านนี้เกิดวันที่ 7 พฤษภาคม1861 ในตระกูลชนชั้นสูงของเมืองกัลกัตตา เป็นบุตรชายคนที่ 13 ของมหาฤษี เดเบนทรานาถ เทวี และชารดา เทวี ชีวิตในวัยเด็กของท่านแม้ค่อนข้างจำกัดบริเวณอยู่แต่ในคฤหาสห์โจราซังโกของตระกูล หากแวดล้อมด้วยกวีและศิลปิน เติบโตมากับเสียงดนตรี การร่ายกาพย์กลอน และวงวิวาทะของนักคิด หัวก้าวหน้าแห่งยุคสมัย

รพินทรนาถค่อนข้างเป็นขบถต่อการศึกษาในระบบและบรรยากาศการเรียนที่ทึบทึมของห้อง เรียนมาแต่เล็ก ท่านเข้าโรงเรียนจนถึงอายุ 13 ปีก็ออกมาแสวงหาความรู้จากการอ่านและเรียนจากครูพิเศษเฉพาะสิ่งที่สนใจ เช่น ดนตรี สันสกฤต วรรณคดีอังกฤษและเยอรมัน และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ต่อมาในปี 1901 ท่านก่อตั้งโรงเรียนเชิงทดลองขึ้นที่ศานตินิเกตัน ในอาศรมที่บิดาของท่านเป็นผู้ริเริ่มไว้ โรงเรียนดังกล่าวมุ่งหมายความใกล้ชิดระหว่างครูกับศิษย์ อิสรภาพในการเรียนรู้ และการเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ อันเป็นที่มาของชั้นเรียนใต้ร่มไม้ ซึ่งต่อมาเติบใหญ่ขึ้นเป็นมหา วิทยาลัยวิศวภารตี ภายใต้คำขวัญที่ว่า "รวงรังที่โลกมาพบกัน"

ในด้านงานประพันธ์ รพินทรนาถมีผลงานทั้งที่เป็นบทกวี บทเพลง เรื่องสั้น บทละคร งานชิ้นสำคัญที่รู้จักแพร่หลายมากที่สุดได้แก่รวมบทกวีชุดคีตาญชลี ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักในแวดวงวรรณกรรม ของโลกตะวันตก และได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ในปี 1913

สำหรับศิลปะภาพเขียนนั้น เป็นที่รู้กันว่าท่านมาให้ความสนใจจริงจัง เมื่อตอนอายุ 63 ปี แม้ ก่อนหน้านั้นจะมีหลักฐานภาพสเกตช์หน้าคนทั้งหมึกและดินสออยู่เป็นครั้งคราว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจในศิลปะภาพเขียนที่อาจเป็นอิทธิพลจากพี่ชายผู้เป็นจิตรกร แต่ท่านก็ยอมรับในเวลาต่อมาว่า ทุกครั้งที่พยายามจะวาดรูป ตนจะเสียเวลากับการลบเสียมากกว่าวาด จนกระทั่งปี 1924 ในช่วงพักฟื้น จากการป่วยระหว่างเดินทางเยือนละตินอเมริกาอยู่ในกรุงบัวโนสไอเรส โดยเป็นแขกรับเชิญของวิกตอเรีย โอคัมโป รพินทรนาถได้ประพันธ์และขัดเกลารวมบทกวีชุด Puravi จนเสร็จ จึงให้เกียรติมอบต้นฉบับแก่เจ้าบ้านได้อ่าน วิกตอเรียนอกจากจะประทับใจกับบทกวีเหล่านั้น ยังค้นพบว่ารูปเขียนและลายเส้นที่ท่านรพินทร์วาดทับปรับโยงขึ้นจากการแก้ไขถ้อยคำ ซึ่งแทรกอยู่ระหว่างวรรคตอนของบทกวี มีความงามดั่งภาพเขียนอยู่ในตัวเองและได้กล่าวชมแก่ท่าน

สิ่งนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านรพินทร์เริ่มวาดรูปอย่างจริงจังและวาดต่อเนื่องไปจนกระทั่ง เสียชีวิตในปี 1941 ด้วยอายุ 81 ปี ทิ้งผลงานภาพวาดลายเส้นและภาพเขียนไว้ถึงกว่า 2,000 ภาพ

นอกเหนือจากกำลังใจที่ได้รับจากเจ้าบ้านหญิงในบัวโนสไอเรส อิทธิพลทางอ้อมที่ทำให้ท่านรพินทร์หันมาใช้ภาพเขียนเป็นศิลปะการแสดงออกอย่างใหม่ อาจเป็นการได้สัมผัสกับงานศิลปะร่วมสมัยของยุโรปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และการพบ ปะกับศิลปินทั้งกลุ่มเบาเฮาส์ เอ็กซ์เพรสชันนิสต์ และเซอร์เรียลิสต์ ซึ่งต่างตั้งคำถามต่อขนบศิลปะดั้งเดิม และค้นหาแนวทางใหม่ที่พ้นไปจากการวาดตามหลักทัศนมิติ (perspective) และสีแสงเงาเหมือนจริง สิ่งนี้อาจทำให้ท่านรพินทร์รู้สึกเป็นอิสระ จากกรอบการเขียนภาพทั่วไป และกล้าที่จะใช้เส้นสีแสดงออกในหนทางของตนเอง แม้ว่าจะไม่เคยร่ำเรียนหรือฝึกปรือในศิลปะแขนงนี้มาก่อน

เมื่อย้อนสำรวจภาพเขียนของรพินทรนาถจะพบว่าแบ่งออกเป็น 4 ช่วงคร่าวๆ ได้แก่ ลวดลาย และรูปเขียนที่เกิดจากการแก้ไขต้นฉบับงานเขียน ซึ่งต่อยอดไปสู่รูปลายเส้นที่ตั้งใจวาดบนกระดาษที่ไม่ใช่ต้นฉบับ ช่วงที่สามเป็นรูปเขียนสี และช่วงที่สี่เป็นการกลับมาเน้นการใช้หมึก เครยอง และลายเส้นสีเดียว

ในแง่ของรูปที่วาดพบว่าสองช่วงแรกจะเป็นลวดลายกึ่งเรขาคณิต บ้างกลายรูปเป็นนก ดอกไม้ หรือใบหน้าคนคล้ายหน้ากาก เหมือนภาพในจินตนาการหรือความฝันที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องราวในงานเขียน หากเป็นเรื่องของ 'จังหวะ' ซึ่งเป็นหัวใจของศิลปะทุกแขนง ไม่ว่าบทกวี ดนตรี หรือภาพเขียน ดังที่ท่านรพินทร์เขียนถึงไว้ว่า "จังหวะเป็นเครื่องถ่ายทอดสิ่งที่อยู่เบื้องในสู่งานสร้างสรรค์... เส้นขีดฆ่าหรือรอยแก้ไขคำจึงมักทำให้ข้าพเจ้าขัดใจ เพราะมันแสดงถึงการผิดกาลเทศะ เหมือนฝูงชนเซ่อซ่าโผล่หน้ามาผิดที่ทางและไม่รู้ว่าจะเอาตัวเองไปไว้ตรงไหน แต่หากจังหวะแห่งการร่ายรำได้จุดประกายขึ้นในใจ ก็อาจช่วยให้พวกเขาเคลื่อนย้ายไปอย่างกลมกลืน รู้ทิศรู้ทาง ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงมักจะพยายามทำให้เส้นสายที่แก้คำผิดร่ายรำ โยงเชื่อมในจังหวะอันกลมกลืน และกลายรูปเป็นลวดลายที่งามตา"

สำหรับสองช่วงหลัง นอกเหนือจากนกและดอกไม้ ท่านยังชอบวาดภาพคน ภาพหุ่นนิ่ง (Still life) ของสิ่งของใกล้ตัว และภาพภูมิทัศน์ (landscape) ในกลุ่มภาพคน โดยเฉพาะผู้หญิง โครงร่างมักดูเหมือนห่มห่ออยู่ในผ้าผืนยาว เผยเพียงใบหน้าดูลึกลับ กึ่งเศร้ากึ่งเชื้อเชิญให้ค้นหาอารมณ์ความรู้สึกที่ซ่อนงำ

ในปี 1930 ภาพเขียนของท่านได้รับการรวบรวมและตระเวนแสดงในหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น

นันดาลัล โบส ศิลปินคนสำคัญในกลุ่ม Bengal School วิเคราะห์ถึงข้อเด่นในภาพเขียนของท่านรพินทร์ว่า มีลักษณะของการสื่อนัยมากกว่าการลงรายละเอียดเหมือนจริง ซึ่งตรงต้องกับหลักสุนทรียศาสตร์ ของอินเดียโบราณ ที่ให้ความสำคัญกับการบรรสานสอดคล้อง (resonance) ยิ่งกว่าถ้อยคำหรือความหมาย ภาพเขียนของท่านจึงมีชีวิต ดูจริงโดยไม่ต้องเหมือนจริง

รพินทรนาถเองเขียนถึงประเด็นนี้ไว้ชัดเจนว่า "บ่อยครั้งผู้คนถามหาความหมายในภาพเขียนของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้แต่นิ่งเงียบ เฉกเช่นภาพเขียนเหล่านั้น ที่กำเนิดขึ้นเพื่อสื่อแสดงมิใช่เพื่ออรรถาธิบาย"

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ขณะที่กระแสชาตินิยมกำลังโหมแรง ทั้งในระดับประชาคมโลกที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และในอินเดียที่เป็นแรงขับเคลื่อนขบวนการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แวดวงศิลปะของอินเดียเองก็กำลังอยู่กับคำถามของความเป็นตะวันออก-ตะวันตก ศิลปินบางกลุ่มพยายามหนีห่างจากสไตล์เหมือนจริง (Realistic) ซึ่งเป็นสไตล์นำเข้าที่มาพร้อมกับเจ้าอาณานิคมอังกฤษและหลักสูตรศิลปะแบบตะวันตกที่สอนอยู่ตามวิทยาลัยศิลปะของรัฐบาล โดยกลับไปรื้อฟื้นศิลปะดั้งเดิมของตนทั้งในแง่สไตล์และโมทีฟ รพินทรนาถผู้เล็งเห็นพิษภัยของกระแสชาตินิยม และตระหนักว่าหายนะที่เกิดจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และความรุนแรงที่เกิดอยู่เนืองๆ จากขบวนการเรียกร้องเอกราช คือผลพวงด้านลบอันเป็นรูปธรรม ท่านจึงพยายามเน้นย้ำถึงความเป็นสากล ที่ตะวันออกและตะวันตก จักปะทะสังสรรค์แลกเปลี่ยนสู่กันได้อย่างสร้างสรรค์

ในแง่ศิลปะ ท่านกล่าวอยู่บ่อยครั้งว่าศิลปินควรสร้างสรรค์งานอย่างเป็นอิสระจากกรอบคิด ลัทธิความเชื่อ หรือแม้แต่เรื่องของอัตลักษณ์ว่าต้องเป็นอินเดียนตะวันออกหรือตะวันตก ด้วยเหตุนี้ภาพเขียนของท่านรพินทร์จึงปลอดซึ่งพันธนาการเหล่านี้และเผยแสดงเพียงการแสดงออกของปัจเจก จากภาวะเบื้องในอันเป็นสากล ทั้งอาจเรียกได้ว่าเป็นศิลปะเพื่อศิลปะ

จากแง่มุมของประวัติศาสตร์ศิลป์ ภาพเขียนของรพินทรนาถ ฐากูร มีลักษณะกึ่งแอ็บสแตร็คท์กึ่งเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ ซึ่งล้ำหน้ากว่าศิลปินกลุ่มอื่นๆ อยู่กว่าทศวรรษ ด้วยเหตุนี้นักประวัติศาสตร์ศิลป์บางคนจึงถือว่า ท่านเป็นศิลปินแนวแอ็บสแตร็คท์คนแรกของแวดวงศิลปะสมัยใหม่ของอินเดีย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us