|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ปลายเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา การออกมายืนยันถึงการทำสัญญาระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้บริษัทไชน่า ยูนิคอม (China Unicom) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อันดับ 2 ของประเทศจีน นำเข้าไอโฟน (iPhone) ไปจำหน่ายในประเทศจีน ถือเป็นนิมิตหมายอันดีของบริษัทแอปเปิล (Apple Inc.) ในการเปิดตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
อนึ่ง นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 (ค.ศ. 2007) ที่ "ไอโฟน" ปรากฏโฉมสู่สายตาชาวโลกถึง ปัจจุบันที่สิ่งประดิษฐ์ไฮเทค (Gadget) ดังกล่าวได้มีพัฒนาการมาแล้วถึง 3 รุ่น โดยรุ่นล่าสุดคือ iPhone 3GS มียอดขายรวมกันทั่วโลกมากกว่า 26 ล้านเครื่อง ทว่าแอปเปิลกลับไม่มีโอกาสเข้าไปกอบโกยหารายได้จากประเทศจีนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยแต่อย่างใด เนื่องจากติดปัญหาในการเจรจากับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศจีน ผูกขาดโดยรัฐวิสาหกิจเพียง 3 เจ้า อันประกอบไปด้วยไชน่า โมบาย, ไชน่า ยูนิคอม และ ไชน่า เทเลคอม
ปัจจุบันประเทศจีนมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ (Subscriber) จำนวนทั้งสิ้น 687 ล้านราย มากกว่าจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีตัวเลขอยู่ที่ 270 ล้านราย ถึง 2.5 เท่า และมาก กว่าตลาดผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปรวมกันด้วยซ้ำ
ณ สิ้นปี 2551 (ค.ศ.2008) ในจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 687 ล้านรายนั้น ราว 490 ล้านราย เป็นลูกค้าของไชน่า โมบาย (China Mobile) ราว 140 ล้านราย เป็นลูกค้าไชน่า ยูนิคอม (China Unicom) และที่เหลือ 50-60 ล้านราย (หรือเท่าๆ กับประชากรของประเทศไทย) นั้นเป็นลูกค้าของไชน่า เทเลคอม (China Telecom)
อย่างไรก็ตาม ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจีนที่ปัจจุบันมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนั้น ยังไม่หยุดโต เพียงเท่านี้ แต่มีการคาดการณ์กันว่าภายใน 4 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2556 (ค.ศ.2013) จำนวนผู้ใช้ โทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศจีนจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 1.22 พันล้านราย โดยในอนาคตไชน่า โมบายจะกินส่วนแบ่งตลาดราวร้อยละ 71-72 ไชน่า ยูนิคอมจะกินส่วนแบ่งราวร้อยละ 16.8 ส่วนไชน่า เทเลคอมจะกินส่วนแบ่งตลาดราวร้อยละ 11.5 (1)
ในความเป็นจริงแล้วมีข่าวออกมาเป็นระยะว่า ไชน่า โมบายนั้นเป็นเจ้าแรกที่เปิดโต๊ะเจรจากับแอปเปิลเพื่อนำไอโฟนเข้ามาขายในจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ปลาย ปี 2550 หรือเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่ไอโฟนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในสหรัฐอเมริกา ทว่าทั้งสองฝ่ายกลับไม่สามารถตกลงกันได้ในหลายๆ ประเด็น เช่น เรื่องส่วนแบ่งของค่าโทรและราคาจำหน่าย ทำให้ในท้ายที่สุดทั้งสองบริษัทไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้
ความล้มเหลวในการเจรจาเพื่อนำไอโฟนเข้ามาจำหน่ายในประเทศจีนระหว่างไชน่า โมบายกับแอปเปิลที่เรื้อรังมาถึงช่วงต้นปี 2552 ส่งผลให้ไชน่า ยูนิคอมได้โอกาสเข้ามาเสียบเจรจาต่อ ในที่สุดก็สามารถบรรลุข้อตกลงและทำการเซ็นสัญญากันได้เป็นผลสำเร็จเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา
สำหรับข้อตกลงระหว่างไชน่า ยูนิคอม กับ แอปเปิล ระบุว่าสัญญาระหว่างสองบริษัทเป็นสัญญา ระยะเวลา 3 ปี รายงานข่าวระบุว่า ไชน่า ยูนิคอม สัญญาว่าจะสั่งซื้อไอโฟนจากแอปเปิลจำนวนทั้งสิ้น 5 ล้านเครื่องในช่วง 3 ปี โดยตัวเครื่องจะเริ่มวางจำหน่ายในประเทศจีนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552
อย่างไรก็ตาม ตัวเครื่องไอโฟนรุ่นที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในจีนอย่างเป็นทางการโดยไชน่า ยูนิคอม ไม่สามารถใช้ไวไฟ (Wi-Fi) ได้ เนื่องจากติดระเบียบของทางการจีน ซึ่งควบคุมดูแลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศจีน
ที่สำคัญที่สุดก็คือ สัญญาระหว่างไชน่า ยูนิ-คอมกับแอปเปิลไม่ได้เป็นสัญญาแบบ Exclusive หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ สัญญาดังกล่าวมิได้ปิดกั้นการเจรจาทางธุรกิจระหว่างแอปเปิลกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เจ้าอื่นๆ ของจีน อย่างเช่น ไชน่า โมบาย หรือไชน่า เทเลคอม แต่อย่างใด
ทั้งนี้ทั้งนั้น "ความเขี้ยว" ของไชน่า โมบาย (CMCC) เครือข่ายโทรศัพท์มือถือซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศจีนและมีผู้ใช้มากที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นบริษัทจีนที่ถูกจัดอยู่ในทำเนียบ 500 บริษัทที่แข็งแกร่งที่สุดของโลก และถือเป็นแบรนด์จีนที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 313,000 ล้านหยวน (หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 1.56 ล้านล้านบาท) ก็คือ ภายหลังประสบความล้มเหลวในการเจรจากับแอปเปิล ที่จะนำไอโฟนเข้ามาจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศจีนเป็นเจ้าแรก หวัง เจี้ยนโจ้ว นายใหญ่ของ ไชน่า โมบาย ก็ประกาศเดินหน้าพัฒนาระบบปฏิบัติการโทรศัพท์มือถือของตนเองขึ้นมาในนาม "โอโฟน (OPhone)"
เพียงพิจารณาจากชื่อเสียงเรียงนามก็เห็นได้ชัดว่า ไชน่า โมบายมีความมุ่งหมายที่จะผลักดันให้ "โอโฟน" นั้นเข้ามาแข่งขันและทัดทานกระแส "ไอโฟน" ของแอปเปิลโดยตรง แม้ว่าปัจจุบันชาวจีน จะมีไอโฟนเครื่องหิ้วที่นำเข้ามาจากฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ยุโรป ใช้งานกันมากกว่า 1.5 ล้านเครื่องอยู่แล้วก็ตาม แต่ไชน่า โมบายก็ไม่อยากให้เกิดปรากฏการณ์ "คลั่งไอโฟน" ซ้ำรอยกับที่เคยเกิดขึ้น ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ซึ่งผู้คนออกมาต่อแถวเพื่อรอซื้อไอโฟนในวันวางจำหน่ายวันแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "กระแสคลั่งไอโฟน" ภายใต้การจำหน่ายของคู่แข่งคือ ไชน่า ยูนิคอมด้วย
สำหรับโอโฟนของไชน่า โมบายนั้นเป็นแพลต ฟอร์มของระบบปฏิบัติการบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ของกูเกิ้ล ซึ่งเปิดให้ใช้และพัฒนาได้ฟรี โดยโอโฟนนั้นถูกออกแบบและพัฒนาให้เหมาะสมเครือข่าย 3G แบบ TD-SCDMA ของไชน่า โมบาย และเหมาะสมกับการใช้งานของชาวจีนโดยเฉพาะ ขณะที่ตัวเครื่องนั้นไชน่า โมบายได้มอบหมายให้ผู้ผลิตมือถือค่ายใหญ่ๆ อย่างเช่น แอลจี เลอโนโว เดลล์ ไฮเซนส์ (ไห่ซิ่น) ฟิลลิปส์ ดูพอด (ในประเทศ ไทยคือแบรนด์เอชทีซี) เป็นผู้ผลิตตัวเครื่องแบบต่างๆ
"แพลตฟอร์มโอโฟนนั้นถูกพัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของหลายๆ บริษัทเพื่อตอบสนองต่อคุณสมบัติและความสามารถของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไชน่า โมบายโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของเครือข่าย TD-SCDMA ของไชน่า โมบายได้อย่างมาก
"ปีนี้ค่ายโทรศัพท์มือถือแต่ละเจ้าจะมีโทรศัพท์ โอโฟนวางจำหน่ายอย่างน้อย 1 รุ่น จากนั้นในปีหน้า ทุกเจ้าก็จะมีโอโฟนรุ่นใหม่จำหน่าย 5-6 รุ่น... แม้การก้าวเดินครั้งนี้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่สำหรับทุกคนแล้วนี่ก็คือโอกาส" ซีอีโอของไชน่า โมบายกล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันเปิดตัวโอโฟนเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา
ความระหว่างบรรทัดในถ้อยแถลงของหวัง เจี้ยนโจ้วคล้ายกับเป็นการยอมรับในทีว่า ในช่วงแรกนั้น "โอโฟน" อาจจะสู้ "ไอโฟน" ไม่ได้ ทว่าในอนาคตโอโฟนนั้นมีดีพอที่จะแข่งกับไอโฟนได้แน่นอน ทั้งในเรื่องความหลากหลายของรูปแบบและราคาจำหน่ายที่มีการคาดการณ์กันว่าในช่วงแรกโทรศัพท์ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการโอโฟนนั้นจะมีราคาประมาณ 2,000-4,000 หยวน (ราว 10,000-20,000 บาท) ขณะที่ในระยะยาวไชน่า โมบายวางเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้โทรศัพท์โอโฟนที่ใช้กับเครือข่าย 3G ได้ ลดราคาลงเหลือประมาณ 1,000 หยวนหรือ 5,000 บาทเท่านั้น
มากกว่านั้นก็คือ ว่ากันว่าเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ การเจรจาระหว่างไชน่า โมบายกับแอปเปิล ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าก็คือ แต่ไหนแต่ไรมา ไชน่า โมบายนั้นมีแผนการที่จะสร้างร้านจำหน่ายซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชัน สโตร์ (Application Store) เหมือนกับที่แอปเปิลประสบความสำเร็จมาก่อนแล้วกับ Apple App Store และส่งผลให้บริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ อย่างเช่น โนเกีย (Ovi Store) แอลจี (LG Application Store) กูเกิ้ล (Android Market) ไมโครซอฟท์ (Windows Marketplace) ฯลฯ ต้องทำตาม โดยทั้งหมดต่างถือเป็นคู่แข่งโดยตรงของแอปเปิลสโตร์
ทั้งนี้ ไชน่า โมบายทราบดีว่า รายได้ก้อนโตของแอปเปิลมิได้เกิดจากการจำหน่ายเครื่องไอโฟนหรือไอพอดเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการวางโครงสร้างตลาดซอฟต์แวร์เพื่อใช้กับสินค้าของตัวเองด้วย ด้วยเหตุนี้หลังจากการเปิดตัวโอโฟน ไชน่า โมบาย จึงพยายามผลักดันให้เกิดเครือข่ายการพัฒนาซอฟต์ แวร์และ Widget สำหรับโอโฟน หรือ SDN (Software Development Network) ของโอโฟนขึ้นอีกด้วยทางเว็บไซต์ OPhone SDN (www.ophone sdn.com) เพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัทในระยะยาว
ในตลาดที่มีขนาดมหึมาและประชากรยังไม่คุ้นเคยกับการใช้ภาษาอังกฤษอย่างประเทศจีน วิสัยทัศน์และก้าวย่างของไชน่า โมบาย ก้าวนี้แม้จะไม่สง่างามนัก แต่ก็ต้องถือว่าล้ำลึกยิ่ง
หมายเหตุ (1) ข้อมูลโดย IE Market Research Corp.
|
|
|
|
|