เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานกรรมการบริหาร BenQ Corporation มร.เค วาย ลี ชาวไต้หวัน
ได้เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของเบ็นคิว (ประเทศไทย) ตรวจเยี่ยมร้านค้า
และพบปะคู่ค้าพร้อมทั้งสื่อมวลชน นับเป็นการเดินทางมากรุงเทพฯ ครั้งแรกของเขาในฐานะ
CEO ของบริษัท
มร.เค วาย คนนี้กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในฐานะผู้กำหนดทิศทางของ BenQ
เขาได้ขึ้นปกนิตยสาร Forbes ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2003 ได้รับการคัดเลือกในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีของไต้หวันโดย Global Views เมื่อปี 2001 และยังได้รับรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย
มร.เค วาย จบการศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ก่อนเข้าร่วมงานกับ
Acer ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเพียงบริษัทคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก โดยเป็นพนักงานลำดับที่
7 ของ Acer หลังจากร่วมงานกับ Acer ได้ระยะเวลาหนึ่ง จึงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่
International Institute for Management Development เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ก่อนกลับเข้ามาร่วมงานกับ Acer อีกครั้ง
มร.เค วาย ก้าวหน้าในตำแหน่งงานอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านการผลิต การขาย
การตลาด และการวางกลยุทธ์ เขาเป็นผู้กำหนดทิศทางของบริษัท ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนจากธุรกิจทำชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์
ไปสู่ธุรกิจด้านการสื่อสารและมัลติมีเดีย ก่อนที่จะแยกตัวออกมาเป็นเบนคิวในที่สุด
ซึ่งเขายอมรับว่า การแยกตัวออกมาจาก Acer เป็นการผจญภัยครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา
เป็นความจริงที่ว่า หลายปีที่ผ่านมา IT ถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องมือในการทำงาน
เพื่อช่วยประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ในปัจจุบัน IT เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น
นอกจากใช้ทำงานแล้ว เรายังสามารถใช้ IT เพื่อความสนุกสนานและความบันเทิงได้มากขึ้น
เพื่อตอบสนอง lifestyle ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ผู้ผลิตสินค้า IT ส่วนใหญ่จึงพยายามนำเสนอสินค้าที่ผสมผสานการทำงานและความบันเทิงเข้าด้วยกัน
หนึ่งในนั้นก็คือ BenQ Global Brand สายเลือดไต้หวัน ที่สามารถฉีกตัวเองออกจากผู้ผลิตรายอื่นได้อย่างโดดเด่น
BenQ เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1984 และเคยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Acer โดยใช้ชื่อว่า
Acer Communications & Multimedia Inc. ก่อนที่จะแยกตัวออกมาและจดทะเบียนในนาม
BenQ Corporation เมื่อเดือนธันวาคม 2001
สาเหตุที่ BenQ ต้องแยกออกมาจาก Acer เพราะ Acer เองในฐานะผู้ให้บริการด้านเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
ต้องการสะท้อนตัวเองในรูปของแบรนด์ที่เต็มไปด้วย stability และ reliability
ซึ่งขัดกับสินค้าในกลุ่ม Communications และ Multimedia ที่จำเป็นต้องมีลูกเล่น
มีสีสัน สนุกสนาน เพื่อให้เหมาะกับ Digital Lifestyle ของคนรุ่นใหม่
หลังจากการแยกตัว เป้าหมายหลักของ BenQ ไม่ได้อยู่ที่ ยอดขาย แต่อยู่ที่การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล
นับเป็นกลยุทธ์ที่ต้องอาศัย Brand Marketing นอกเหนือจากเทคโนโลยี และการทำตลาดในต่างประเทศที่บริษัทไอทีส่วนใหญ่
พึงมี
BenQ เชื่อว่าการสร้างแบรนด์ที่ดี เป็นมากกว่าการคิดสโลแกนและการออกแบบโลโกทุกอย่างต้องสอดคล้องกันเป็นอย่างดี
เริ่มตั้งแต่คอนเซ็ปต์ของสินค้า ชื่อของแบรนด์ บุคลิกและสีสันของแบรนด์
รวมถึงดีไซน์และประโยชน์ใช้สอยของผลิตภัณฑ์
คอนเซ็ปต์ของ BenQ พัฒนามาจากความเชื่อที่ว่า ในยุคปัจจุบันไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่าง
work และ play อีกต่อไป เราสามารถรวมทั้งสองเข้าด้วยกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ
BenQ ต้องการสื่อให้ผู้บริโภคเห็นว่า ความสนุกสนานเป็นเรื่องสำคัญ (Enjoyment
Matters) โดยการพัฒนาสินค้าที่สามารถใช้ได้ทั้งในการทำงาน ในการเรียนรู้
และเพื่อความบันเทิง
ชื่อของแบรนด์ BenQ เป็นการนำตัวอักษรมาจากประโยค ที่ว่า Bring Enjoyment
aNd Quality to life นอกจากนี้ BenQ เลือกที่จะสะท้อนตัวเองในฐานะเป็นแบรนด์ที่ชัดเจน
(vivid), ดั้งเดิม (original), สนุกสนาน (enjoyable), และแท้จริง (genuine)
นับเป็นบุคลิกและความรู้สึกที่ BenQ สามารถสื่อสาร กับกลุ่มผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
ส่วนสัญลักษณ์ของแบรนด์ BenQ มีปีกผีเสื้อเป็นสัญลักษณ์ เพราะความสวยงามสดใส
มีสีสัน และความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผีเสื้อแต่ละตัว
ที่ผ่านมาการสร้างแบรนด์ของ BenQ ถือว่าประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
และถูกใช้เป็นกรณีศึกษาในสถาบันชั้นนำทางด้านบริหารธุรกิจกันอย่างแพร่หลาย
โดยในปี 2002 BenQ Corporation มียอดขายสินค้าแบรนด์ BenQ รวม ทั้งสิ้น 870
ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดหลักอยู่ที่จีนและไต้หวัน และมีแผนที่จะเน้นขยายตลาดในเอเชีย-แปซิฟิก
ยุโรป และอเมริกา
ในประเทศไทยด้วยศักยภาพของตลาดสินค้าไอที-สื่อสาร-มัลติมีเดียและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
BenQ ได้เข้ามาทำตลาดอย่างเต็มรูปแบบพร้อมทั้งจัดตั้ง บริษัท เบ็นคิว (ประเทศไทย)
จำกัด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2003 โดยจัดให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (Host Country)
เพื่อทำตลาดในเขตเอเชียแปซิฟิก
ปัจจุบัน สินค้าของ BenQ ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักคือกลุ่มสินค้าไอที
ซึ่งมี projector, plasma display, scanner, and PC monitor กลุ่มสินค้าดิจิตอล
ไลฟ์สไตล์ เช่น กล้องดิจิตอล, LCD TV, DVD, notebook และกลุ่ม โทรศัพท์เคลื่อนที่
ในช่วงที่ มร.เค วาย ปฏิบัติภารกิจอยู่ในกรุงเทพฯ "ผู้จัดการ" มีโอกาสนัดพบ
มร.เค วาย ที่โรงแรมแห่งหนึ่งริมถนนสาทร เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับภารกิจของเขา
ก่อนที่เขาจะออกเดินทาง สู่ยุโรป และตะวันออกกลาง เพื่อเยี่ยมชมกิจการ
นอกจากการค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว มร.เค วาย จะให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นอย่างมาก
ทุกวันนี้ BenQ Corporation มีพนักงานกว่า 13,000 คนทั่วโลก มร.เค วาย จะ
ทำการอบรมผู้บริหารใหม่ด้วยตนเอง เขาบอกว่า จำเป็นอย่างมากในการทำให้พนักงานทุกคนรู้สึก
entrepreneur และเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
เมื่อพูดถึงการทำตลาดในประเทศไทย มร.เค วาย บอกว่า เมื่อเทียบกับชาติอื่น
คนไทยเป็นคนที่รับสิ่งใหม่ๆ ได้ง่าย รักสนุก มองไปที่ไหนก็เห็นผู้คนยิ้มแย้ม
สินค้าของ BenQ น่าจะเข้ากันได้ดีกับคนไทย
เบ็นคิว ไทยแลนด์ ตั้งเป้ายอดขายในปี 2003 ที่ประมาณ 1,250 ล้านบาท และมีเป้าหมายที่จะให้แบรนด์
BenQ เป็นที่ยอมรับมากขึ้น
ด้วยดีไซน์ที่โดดเด่น นับเป็นแบรนด์ที่น่าจับตามองสำหรับวงการไอทีบ้านเรา