ถึงแม้ว่าไอทีวีจะพยายามอย่างหนักในการปรับเปลี่ยนบุคลิก รูปแบบ เนื้อหา และผังรายการ
ให้สอดคล้องกับบุคลิกของการเป็นทีวีเพื่อคนรุ่นใหม่ ภายใต้นิยามว่า I Generation
ด้วยคอนเซ็ปต์ที่ฟังดูร้อนแรง Speed & Spice
เป็นความพยายามในการขยายจากกลุ่มดั้งเดิมของไอทีวี ที่เป็นผู้ชาย ช่วงวัย
40 ปี ให้ขยายไปสู่คนรุ่นใหม่วัย 15 ปี ถึง 39 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนดูที่เป็นกลุ่มผู้หญิง
เป็นเป้าหมายทางธุรกิจที่อิงกับฐานข้อมูลของกลุ่มคนดูทีวีส่วนใหญ่ที่ไอทีวีวิเคราะห์ได้มา
ซึ่งเป็นผู้หญิงมากกว่าครึ่ง และที่สำคัญไปกว่านั้น คือสินค้าที่ลงโฆษณามากที่สุด
ล้วนแต่สินค้าของผู้หญิง
เป้าหมายของการขยายกลุ่มคนดูในระดับ Mass ของไอทีวีตามความหมายของไอทีวี
จึงอยู่ที่ลูกค้ากลุ่มผู้หญิงเป็นสำคัญ
"ถ้าคิดว่าช่วงเวลาของผู้หญิง ข่าวอะไรที่จะคุยกับเขาคนทำเนื้อหาต้องชัดเจนว่าคนรับเนื้อหาคือใคร
ถ้าเราตอบสนองได้ดี คนดูก็จะตอบรับ" ทรงศักดิ์ เปรมสุข กรรมการผู้จัดการ
บริษัทไอทีวี ให้สัมภาษณ์กับ "ผู้จัดการ" ถึงเป้าหมายกับภาระหน้าที่ของเขาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ประสบการณ์การเป็นครีเอทีฟในด้านงานโฆษณาที่มีมากกว่า 20 ปี ทำให้เข้าใจเรื่องราวของธุรกิจบันเทิงได้มากกว่าผู้บริหารคนอื่นๆ
ของกลุ่มชินคอร์ป ทำให้ทรงศักดิ์ถูกเลือกสำหรับเป้าหมายเหล่านี้ของไอทีวี
การจะมัดใจคนดูกลุ่มนี้จึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนสีแดงเป็นฉากหลัง และตราสัญลักษณ์มาใช้
สีแดง เพื่อสะท้อนภาพความสดใสในแบบผู้หญิง หรือการผลิตรายการที่ทำขึ้นสำหรับการขยาย
กลุ่มคนดูเหล่านี้เท่านั้น แต่ต้องเป็นภาพรวมทั้งหมดของสถานี
"ข่าว" ก็เช่นกัน เมื่อกลุ่มคนดูเปลี่ยน เนื้อหาของข่าวก็ต้องเปลี่ยนตาม
และการจะดึงให้กลุ่มผู้หญิงหรือคนเปลี่ยนใจมาดูข่าว จึงไม่ใช่เนื้อหาข่าวหนักๆ
แบบเดิม แต่ต้องทำให้ข่าวเป็นความบันเทิงในอีกรูปแบบหนึ่ง
ผู้ประกาศข่าวเอง ก็ต้องมีบุคลิกสร้างความสนใจชัดเจนไม่ต่างจาก "ดารา"
เพื่อดึงเรตติ้งกลุ่มคนดูที่เป็นเป้าหมายใหม่
ดังเช่นผู้ประกาศข่าวหลายคนของไอทีวี ที่กำลังถูกวางตัว เพื่อสร้างบุคลิก
โดยดึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป
แต่เป็นทิศทางคนละด้านกับประสบการณ์ในแวดวงสื่อมวลชน ของวสันต์ ภัยหลีกลี้
และสำราญ รอดเพชร ที่มีมาตลอด
เดิมทีทั้งสองถูกวางตัวจากผู้บริหารให้ทำงานสอดประสานกัน เหมือนกับสรรค์ชัย
เตียวประเสริฐกุล และทรงศักดิ์ เปรมสุข คนหนึ่งทำหน้าที่เป็นครีเอทีฟ ในขณะที่อีกคนหนึ่งดูแลด้านปฏิบัติการ
"ปลายสัปดาห์ที่แล้ว (ต้นเดือนกันยายน) คุณนิวัฒน์ บุญทรง เรียกเข้าไปคุยด้วย
บอกว่ามีเสียงสะท้อนเรื่องการบริหารงาน เรื่องการคิดประเด็นข่าว คงจะต้องเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร
วันรุ่งขึ้นผมก็ยื่นใบลาออก" มีผลสิ้นเดือนกันยายนนี้ วสันต์บอกกับ "ผู้จัดการ"
ในขณะที่ทรงศักดิ์ เปรมสุข กรรมการผู้จัดการ ไอทีวี บอกเหตุผลสั้นๆ เพียงแค่ว่า
"เป็นเหตุผลส่วนตัว และเรื่องงาน แต่ไม่ใช่เรื่องในด้านลบ ผมเชื่อว่าเรายังเคารพซึ่งกันและกันอยู่"
วสันต์เข้าสู่สายตาของไอทีวีเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ในระหว่างที่ไอทีวีกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาภายในองค์กรอย่างหนัก
การเข้ามาบริหารของกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่นในไอทีวีที่ถูกโจมตีจากกลุ่มเนชั่น
และการไม่ได้รับการยอมรับจากทีมงานข่าว ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของไอทีวีต้องตกต่ำลงอย่างมาก
ประสบการณ์คลุกคลีอยู่ในวงการสื่อสารมวลชน ผ่านงานในค่ายสิ่งพิมพ์ใหญ่ๆ
อย่างมติชน เคยร่วมงานกับสำนักข่าว บีบีซีของอังกฤษ วิทยุผู้จัดการ และสถานีโทรทัศน์ช่อง
7 บวกกับบุคลิกที่ประนีประนอมของวสันต์ ทำให้เขาถูกเลือกสำหรับสถานการณ์ในเวลานั้น
บุคลิกที่ประนีประนอมของวสันต์อาจสอดคล้องกับสถานการณ์ของไอทีวีในช่วงนั้น
แต่อาจไม่สอดคล้องกับนโยบาย และทิศทางของไอทีวีในเวลานี้
ต้องไม่ลืมว่าการเข้ามาลงทุนในไอทีวีของชินคอร์ปอเรชั่น มิได้เป็นไปเพื่อเจตนารมณ์ของการเป็นทีวีเสรี
หากแต่เป็นการลงทุนเพื่อหวังผลทางธุรกิจ ที่มีผลกำไรของธุรกิจเป็นเป้าหมายสูงสุด
แต่สถานการณ์ทางด้านข่าวของไอทีวีกำลังถูกท้าทายอย่างหนักจากการแข่งขันทั้งจากช่อง
3 ที่หันมาให้น้ำหนักกับข่าวภาคเช้า โดยดึงเอาสมเกียรติ อ่อนวิมล และสรยุทธ
สุทัศนจินดา ส่งผลให้เรตติ้งคนดูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับ
การปรับปรุงรายการในเฟส 3 ของสถานีช่อง 9 ที่เพิ่มช่วงเวลารายการข่าวภาคเช้า
กำลังเห็นผลชัดเจนขึ้น
การรั้งตำแหน่งผู้อำนวยการข่าวของอานันท์ อัศวานนท์ เจ้าของนามปากกา "มดคันไฟ"
เป็นเพียงแค่รักษาการชั่วคราวเท่านั้น เชื่อว่าอีกไม่นานผู้อำนวยการข่าวคนใหม่
ที่ถูกเลือกแล้วจะมีบุคลิกและประสบการณ์สอดรับกับทิศทางใหม่ของไอทีวีส่วนจะบรรลุตามเป้าหมายหรือไม่
เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม