|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กระแสความร้อนแรงของตลาดโลว์คอสต์แอร์ไลน์ปัจจุบันเริ่มอ่อนตัวลง หลังจากสายการบินหลายค่ายพร้อมใจปรับทัพรับศึกช่วงโลว์ซีซันที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาพรวมการแข่งขันของโลว์คอสต์ในประเทศไทยจำเป็นต้องลดจำนวนเที่ยวบินลงอย่างเห็นได้ชัด หรือบางเส้นทางก็ถูกยกเลิกไปอย่างไม่มีกำหนด
ทว่าสงครามราคาของธุรกิจโลว์คอสต์แอร์ไลน์ กลับสวนกระแสเพิ่มดีกรีความร้อนแรงมากขึ้น แต่นั่นก็ใช่ว่าจะทำให้ธุรกิจกลับเฟื่องฟูเหมือนในอดีตที่ผ่านมา กลยุทธ์และยุทธศาสตร์การทำตลาดของธุรกิจโลว์คอสต์กำลังจะเปลี่ยนไปจริงหรือ?...
ขณะเดียวกัน บางค่ายเตรียมเสริมทัพด้วยเครื่องบินจำนวนมาก ดูได้จากไทยแอร์เอเชียที่มีเครื่องบิน ณ ปัจจุบันประมาณกว่า 18 ลำ ขณะที่นกแอร์มีจำนวนเครื่องบินเพิ่มอีกเป็น 6 ลำ และวันทู โก มีเครื่องบินประมาณกว่า 11 ลำ (แต่จะถูกใช้ปฏิบัติงานจริงเพียงแค่ 3 ลำเท่านั้น)
ว่ากันว่าการมีเครื่องบินจำนวนหลายลำของไทยแอร์เอเชีย ส่วนใหญ่จะเน้นกลยุทธ์บุกทำตลาดในเส้นทางต่างประเทศเสียมากกว่า สังเกตได้จากที่ผ่านมางานไทยเที่ยวไทยครั้งล่าสุดซึ่งเป็นรายการที่ชวนคนไทยเที่ยวนั้นกลับไม่มีบูทไทยแอร์เอเชียร่วมงานแต่อย่างใด ซึ่งมีเพียงแค่ 2 สายการบินอย่าง วัน ทู โก และนกแอร์เท่านั้นที่ร่วมงาน
ความชัดเจนของตลาดโลว์คอสต์ภายในประเทศ จึงเหมือนมีเพียงแค่ วัน ทู โก และนกแอร์สองสายการบินเท่านั้นที่ยังคงให้ความสำคัญ อาจเป็นเพราะเส้นทางส่วนใหญ่ที่เปิดให้บริการมีเพียงในประเทศเท่านั้น ในขณะที่ไทยแอร์เอเชียมีทั้งเส้นทางในประเทศและต่างประเทศ
แม้ว่าทั้งนกแอร์ และวัน ทู โก จะเน้นเส้นทางในประเทศเป็นหลักก็ตาม แต่การทำตลาดกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศไทยต้องการสินค้าราคาถูกเท่านั้น กอปรกับไทยแอร์เอเชีย ก็เล่นสงครามราคาออกมากระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ลูกค้าหันไปจองตั๋วไทยแอร์เอเชียเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะเดินทางได้ในอีกสองถึงสามเดือนก็ตาม
งานนี้ทั้งนกแอร์ และวัน ทู โก ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ จนต้องหาวิธีต่อกรกับคู่แข่งขันอย่างไทยแอร์เอเชียที่มีทั้งฐานการเงินจำนวนมาก กอปรกับมีสายการบินแอร์เอเชีย (สายการบินแม่)ในมาเลเซียให้การสนับสนุนโดยร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจอีกด้วย
ล่าสุด นกแอร์หันไปซบการบินไทย สายการบินที่ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่แรกทั้งในแง่การตลาดและกลยุทธ์ที่สัมพันธ์กัน นำมาเปิดเกมรุกเพื่อให้สามารถขยายฐานการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างมีศักยภาพ ขณะที่ วัน ทู โก เลือกที่จะใช้บริการของโอเรียนท์ไทย มาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ โดยในปีหน้าแบรนด์ของวัน ทู โก จะถูกเปลี่ยนไปภายใต้ชื่อ 'วัน ทู โก by โอเรียนท์ไทย'
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ การต่อสู้ของธุรกิจโลว์คอสต์จะเข้มข้นมากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพในด้านการตลาดแล้ว การขยายเส้นทางบินทั้งในประเทศและต่างประเทศก็จะสอดคล้องกัน หรือมีความเสี่ยงน้อยกว่าที่จะบุกเบิกด้วยตนเอง
สอดคล้องกับที่ อุดม ตันติประสงค์ชัย ยอมรับว่า ทุกวันนี้การทำธุรกิจการบินต้องปรับตัวเองอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการควบรวมสายการบินเข้าด้วยกันก็เพื่อช่วยให้ศักยภาพความพร้อมที่มีอยู่ถูกนำออกมาใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
'ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสายการบินคาเธ่ย์กับดรากอนแอร์ หรือสิงคโปร์แอร์ไลน์กับสายการบินเจ็ทสตาร์ ต่างใช้กลยุทธ์แบบนี้เข้ามาช่วยเสริมด้านการตลาดและขยายเส้นทางสู่ต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ' อุดม กล่าว
ความชัดเจนในการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไป จึงถูกแต่ละค่ายสายการบินต่างหยิบนำมาใช้เพื่อช่วงชิงลูกค้าให้เข้าไปใช้บริการมากที่สุด ว่ากันว่า ต่อไปสงครามหั่นราคาค่าตั๋วโดยสารแม้ว่าจะกลายเป็นสูตรสำเร็จในรูปแบบของความจำเป็นก็ตาม แต่อาจจะถูกงัดออกมาใช้เพื่อหนีตายในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าบางสายการบินซุ่มปรับราคาถี่ ชนิดที่ว่า 1-2 เดือนปรับครั้ง
พูดถึงเรื่องสงครามราคา ด้านไทยแอร์เอเชีย แม้จะเป็นผู้นำเรื่องราคาตั๋วโดยสารราคาถูก จนชื่อของ ไทยแอร์เอเชีย ติดใจคนไทยอย่างรวดเร็ว ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นไม่อาจทำให้ไทยแอร์เอเชีย หวั่นไหว ในทางกลับกันกลับยึดนโยบาย 'ใครๆ ก็บินได้' พร้อมที่จะขายตั๋วราคาถูกต่อไป
ทัศพล แบเลเว็ลด์ ซีอีโอไทยแอร์เอเชีย ให้เหตุผลว่าทำไมบริษัทสามารถยืนหยัดราคาตั๋วถูกได้ อานิสงส์ตรงนี้มาจาก 'ฐานการเงิน' ของไทยแอร์เอเชียที่มาจากมาเลเซียนั่นเอง
ขณะเดียวกัน กลยุทธ์ที่ทัศพลหยิบนำมาใช้สู้กับวิกฤตครั้งนี้คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการหารายได้เสริมให้กับธุรกิจ การขยายฐานลูกค้าใหม่ รวมถึงสิ่งที่ทำให้ผู้โดยสารไม่รู้สึกว่าต้องจ่ายหรือแบกภาระการเดินทางเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ คือ เพียงต้องการคงภาพลักษณ์ของโลว์คอสต์เอาไว้เท่านั้น
หากทุกสายการบินมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเป็นจริงแล้ว เชื่อได้ว่าฐานราคาตั๋วโดยสารจึงน่าจะมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงหรือสูสีกัน ซึ่งนั่นหมายถึงกลยุทธ์ด้านราคาจะไม่ใช่ตัวแปรสำคัญอีกต่อไป สงครามราคาที่เกิดขึ้นในยุคเริ่มต้นของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำอาจจะไม่เห็นในช่วงเวลาแบบนี้
สิ่งสำคัญในการปรับตัวของโลว์คอสต์แอร์ไลน์เพื่อใช้เป็นยุทธวิธีของการต่อสู้แข่งขันบนเส้นทางการบินจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน?...และใช้อะไรมาเป็นเครื่องมือทางการตลาดแทนสงครามราคาเพื่อออกมากระตุ้นให้คนเดินทางโดยสารด้วยเครื่องบิน ซึ่งมีอยู่หลากหลายวิธี
ล่าสุด สายการบิน วัน ทู โก ดูจะเป็นสายการบินที่ปรับเปลี่ยนระบบการทำงานใหม่ เพื่อให้ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงต้องควบคุมต้นทุนด้านต่างให้เกิดความกระชับมากขึ้น และต้องส่งผลกระทบต่อการบริหารน้อยที่สุด แม้ว่าสายการบินวัน ทู โก จะได้จัดเตรียมแผนหารือกับสายการบินต้นทุนต่ำในประเทศไทยทุกสาย เพื่อร่วมกันหาทางออกในการปรับราคาค่าโดยสารอย่างเป็นธรรม ไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างสายการบิน แต่ก็ช่วยอะไรได้ไม่มากนัก
ที่ผ่านมา อุดม ออกมายอมรับว่าบริษัทมีการทุ่มเทให้กับธุรกิจการบินต้นทุนต่ำ (วัน ทู โก)เป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้รายได้จากธุรกิจการบินเช่าเหมาลำนั้นลดลงไป ดังนั้น วัน ทู โก จึงรื้อฟื้นธุรกิจเช่าเหมาลำขึ้นมาอีกครั้งโดยจะเพิ่มสัดส่วนในการสร้างรายได้จากธุรกิจเช่าเหมาลำ
ปัจจุบันการจัดเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำ และการให้เช่าเครื่องบินเพื่อการพาณิชย์กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่เพิ่มรายได้ให้กับโอเรียนท์ไทย โดยปัจจุบันเปิดให้บริการในเส้นทางระหว่างประเทศ และว่ากันว่าภายในปีนี้จะมีการเปิดให้บริการในเส้นทางใหม่ๆ อาทิ ตะวันออกกลาง ตามมา
ในช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยว หรือโลว์ซีซัน สำหรับปีนี้จำนวนผู้โดยสารสายการบินโลว์คอสต์ต่างหดหายไปเป็นจำนวนมาก การปรับทัพเพื่อกระตุ้นให้คนเดินทางของธุรกิจโลว์คอสต์จึงมีส่วนจำเป็นและช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนได้
ล่าสุด วัน ทู โก สู้โลว์คอสต์ ออกบัตรสยามพาส บินไม่อั้น เริ่มต้นเดือนละ 1.5 หมื่นบาท โดยมี 3 รูปแบบ คือ รายเดือน ราย 2 เดือน และราย 3 เดือน โดยผู้ถือบัตรดังกล่าวสามารถเดินทางได้ทุกเส้นทางในประเทศที่สายการบินเปิดให้บริการได้อย่างไม่จำกัดจำนวน ภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในบัตร ว่ากันว่าการออกแคมเปญบัตรนี้ก็เพื่อแข่งกับโลว์คอสต์อื่น ไม่มุ่งลดราคา เน้นเพิ่มมูลค่าเดินทาง โดยนักท่องเที่ยวสามารถจองที่นั่งได้จริง
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของสายการบินไทยแอร์เอเชีย เน้นเรื่องกลยุทธ์ด้านบริการเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากในปัจจุบันมีอัตราการจองบัตรโดยสารประมาณ 80% ผ่านทางระบบออนไลน์ ปัจจุบันการเปิดศูนย์จำหน่ายบัตรจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของการให้บริการตอบสนองต่อความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภคที่หลากหลาย เป็นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จจากที่เดียว ยืดหยุ่นวิธีการชำระเงินหลากหลายวิธีทั้งโดยเงินสดและบัตรเครดิตเป็นการเสริมบริการออนไลน์ เนื่องจากผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ 70% เป็นชาวต่างชาตินั่นเอง
ส่วนด้านการตลาดประชาสัมพันธ์ได้จ้างมืออาชีพอย่าง 124 คอมมิวนิเคชั่น เข้ามาเพื่อรับบริหารงานด้านการจัดหารายได้จากการใช้สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ของไทยแอร์เอเชียทั้งหมด
ว่ากันว่าการที่ 124 เข้าไปดูแลบริหารโฆษณาของไทยแอร์เอเชียครั้งนี้ นอกจากจะสามารถสร้างรายได้แล้ว ยังทำให้มีอะไรสนุกและสร้างสรรค์ซึ่งตรงกับบุคลิกของไทยแอร์เอเชียในด้านความสนุกสนานและเป็นมิตร เพราะสื่อโฆษณาในที่นี้คงไม่ได้จำกัดอยู่แค่สื่อที่เห็นกันอยู่ทั่วๆ ไป แต่เชื่อว่าน่าจะมีโอกาสทำอะไรใหม่ๆ มากขึ้น
ด้านนกแอร์กลับใช้ลูกเล่นด้วยการเขย่าราคาตั๋วให้ถูกลงมาถึง 555 บาทต่อเที่ยวบิน สำหรับช่วงแนะนำเส้นทางใหม่ ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป วันละ 2 เที่ยวบินด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 168 ที่นั่ง ซึ่งช่วง 3 เดือนแรกเป็นช่วงแนะนำกำหนด 6,000 ที่นั่งราคา 555 บาท (ไป-กลับ ราคา1,000 บาท) หลังจากนั้นราคาจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท ควบคู่ไปกับการให้สิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าที่สมัครสมาชิก 'นกแฟนคลับ' สามารถสะสมเที่ยวบิน 15 เที่ยวบินฟรี 1 เที่ยวอีกด้วย
การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของแต่ละค่ายจึงเป็นสิ่งที่น่าติดตาม เพราะสงครามในตลาดโลว์คอสต์กลายเป็นสงครามการแข่งขันที่ฟาดฟันกันอย่างดุเดือด ซึ่งมีการสู้รบกันหลายรูปแบบทั้งเรื่องของกิจกรรมและการส่งเสริมการขายต่างๆ รวมไปถึงช่องทางการจำหน่ายและราคา...ที่สำคัญเรื่องของเทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งที่ถูกหยิบนำมาใช้ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดโลว์คอสต์ในปัจจุบันเรียกได้ว่าใช้กลยุทธ์ 4P แบบครบเครื่อง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งหมายถึงเรื่องความภักดีของลูกค้าในแต่ละแบรนด์นั่นเอง
|
|
|
|
|