โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นโรงพยาบาลใหญ่ในเมืองไทยที่ไม่มีสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
แต่มีนโยบายการใช้ Network Know-how คือเน้นการสร้างคุณภาพสูงสุดระดับโลก
และสร้างผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาขึ้นมาประมาณ 2-3 ชุด เตรียมพร้อมไว้ให้โรงพยาบาลทั่วไปจ้างทีมงานนี้ไปบริหารจัดการและวางระบบให้กับโรงพยาบาลแห่งใหม่
โดยใช้เวลาในการบริหาร แต่ละแห่งประมาณ 5-6 ปี
ทีมงานส่วนนี้จะอยู่ภายใต้บริษัทบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Bumrungrad
Hospital International-BHI)
ด้วยวิธีการนี้ทำให้โรงพยาบาลไม่ต้องเสี่ยงในการทุ่มเงินเปิดสาขา แต่สามารถได้เม็ดเงินจากค่าจ้างซึ่งแน่นอนกว่า
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2546 BHI ได้ทำการเซ็นสัญญาแล้วเป็นแห่งแรกกับโรงพยาบาลปันเหลี่ยง
อินเตอร์เนชั่นแนลที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ในเงื่อนไข BHI ต้องส่งคนไปร่วมบริหารเป็นเวลา
5 ปี และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการตกลงเซ็นสัญญาเข้าไปบริหารโรงพยาบาลเอกชนที่เมืองดักกาประเทศบังกลาเทศ
ตามสัญญานอกจากจะได้เงินจากค่าจ้างประจำแล้ว ยังมีรายได้ต่อเนื่องที่ผูกมัดกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นด้วยว่ากี่เปอร์เซ็นต์ของกำไรที่เกิดขึ้นด้วย
บำรุงราษฎร์ไม่ได้ใช้คำว่า "โรงพยาบาลในเครือ" ผูกติด กับโรงพยาบาลต่างๆ
ที่เข้าร่วมโครงการ แต่ใช้คำว่า "บริหารโครงการโดยบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
ประเทศไทย" ต่อจากชื่อโรงพยาบาล และเมื่อครบสัญญาการบริหารชื่อนี้ก็จะถูกดึงกลับทันที
เพื่อป้องกันความเสียหายทางด้านชื่อเสียงหลังจากบำรุงราษฎร์ถอนทีมผู้บริหารออกมาแล้ว
เช่นเดียวกับการบริหารของเชนโรงแรม
Network Know-how ต้องไปพร้อมๆ กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพราะการบริการด้านการแพทย์ที่มีคุณภาพจำเป็นจะต้องประกอบไปด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง
และสามารถจัดส่งให้แก่แพทย์ที่รับผิดชอบได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ต้นปี พ.ศ.2543
ได้นำเอาระบบ Hospital 2000 เข้ามาใช้ในกิจการของโรงพยาบาลโดยเฉพาะ โดยการรวบรวมข้อมูลการทำงานของโรงพยาบาลทั้งในส่วนปฏิบัติการทางด้านแพทย์
และการบริหารจัดการอื่นๆ ไว้ในฐานข้อมูลตัวเดียวกัน และสามารถปฏิบัติงานได้หลายภาษา
และยังได้นำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของเดล คอมพิวเตอร์ ในการสนับสนุนด้านฮาร์ดแวร์
สำหรับ Hospital 2000 และการเปิดบริการบีเอช ไซเบอร์ คอร์เนอร์ อีกประมาณ
3 จุดในโรงพยาบาล
ผู้ป่วยหรือคนเยี่ยมไข้ จึงสามารถจิบกาแฟร้อนๆ จาก สตาร์บัคส์ พร้อมๆ กับการเล่นอินเทอร์เน็ต
ส่งอีเมลไปยังญาติพี่น้องได้ทั่วโลก