Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2546








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2546
ตาที่สามบนหลังคาโลก             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
 





การเดินทางท่องเที่ยววัฒนธรรมทิเบตไม่เหมือนที่อื่นใดในโลก เพราะทิเบตมี 3 อย่างที่น้อยมาก คือ ออกซิเจน (68%) คน (2.6 ล้าน) และต้นไม้ แต่กลับมี economic value มาก ด้วยสัญลักษณ์เก่าแก่ 4 ประการ คือ เทือกเขาหิมาลัย, craftmanship, ผ้าแพรขาว Hada สำหรับต้อนรับและบูชา และล้อธรรมจักร (prayer wheel) ซึ่งเป็นกระบอกล้อหมุนรอบ ที่บรรจุมนตรา "โอม มณี ปัทมี หุง" ซึ่งแปลว่า "โอมมณีในดอกบัว"

ชาวทิเบตนิยมบริกรรมคาถานี้ขณะเดินหมุนล้อธรรมวันหนึ่งนับร้อยนับพันรอบเมืองลาซา ซึ่งมีถนนเวียนสามวงแหวน เป็นวิถีชีวิตที่เห็นสลับกับชีวิตทันสมัยบนถนนคอนกรีตที่นำความศิวิไลซ์ มาเรียงรายด้วยห้างสรรพสินค้า, ร้านค้าแบรนด์เนมดังๆ กับป้ายโฆษณาโทรศัพท์มือถือเกลื่อนเมืองหลวงลาซา

หลังอาหารเที่ยงแดดแรงแสงจัดจ้า ชีวิตทุกชีวิตของนครลาซาสงบนิ่งในกระแสลมหนาวราว 19 องศาในเดือนกันยายน ตามปกติชาวทิเบตนิยมพักผ่อนช่วงบ่ายๆ ก่อนจะเริ่มกิจวัตรประจำวันต่อหลังบ่ายสามโมงแล้ว ลมหายใจของทิเบตสงบ แต่สำหรับผู้มาใหม่ภายใน 1-2 วันกลับพบประสบการณ์แพ้อากาศเบาบาง (high altitude) มีอาการหัวใจเต้นแรง ปวดหัว สมองเต้นตุบๆ บางคนก็อาเจียน ท้องเสีย เมื่อออกแรงคุยนิดยกของหน่อยก็พาลเหนื่อยมาก ลมหายใจ ขาดเป็นห้วงๆ แทบเป็นลม จนบางครั้งต้องนอนพักสูดออกซิเจนที่โรงแรม Himalaya ตั้งเครื่องในห้องพักไว้บริการตามแต่จะรูดบัตรค่าอากาศมูลค่า 50 หยวนจ่าย แต่วิธีปรับตัวที่ดีที่สุดใน 1-2 วันแรกคือ ปฏิบัติธรรม สำรวมกายและใจ งดคุยและเดินช้าๆ เพื่อออมแรงและออกซิเจน จากนั้นอมบ๊วยจีนแล้วดื่มน้ำอุ่นมากๆ และ ทายาน้ำสมุนไพรทิเบตให้นอนหลับสนิท โดยยังไม่ต้องอาบน้ำในวันสองวันแรกเพื่อมิให้ร่างกายสูญเสียความร้อน

เขตปกครองตนเองทิเบตตั้งอยู่เหนือ ระดับน้ำทะเลกว่า 4,000 เมตร อยู่ระหว่าง อารยธรรมเก่าแก่ของจีนกับอินเดีย ขณะบินจากเฉิงตู เมืองหลวงมณฑลเสฉวนสู่ทิเบต จะแลเห็นยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ที่ปกคลุมด้วยหิมะสูงเสียดฟ้า 8,848 เมตร ภูมิประเทศที่นี่เต็มไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนเบื้องล่างเหมือนฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ตามหลักฐานธรณีวิทยาพบว่า ดินแดนทิเบต ที่เรียกว่าหลังคาโลกนี้เคยเป็นทะเล เมื่อ 20 ล้านปีก่อน เพราะเปลือกโลกส่วนทวีปเอเชีย ยุโรป และคาบสมุทรอินเดียเปลี่ยนแปลงรุนแรง ก่อให้เกิดที่ราบสูงแห่งใหม่ Qinghai-Tibet และเทือกเขาสูงใหญ่ในทิเบตเป็นต้นธารของสายแม่น้ำสำคัญๆ ของเอเชียทั้งสิ้น เช่น แม่น้ำคงคา ฮินดู พรหมบุตร โขง สาละวิน และ อิระวดี

กว่าห้าทศวรรษที่จีนได้ปกครองทิเบต ดินแดนขุมทรัพย์อันลี้ลับค่อยๆ เปิดสู่สายตาโลก ปีนี้น่านฟ้าทิเบตเปิดรับนักท่องเที่ยวกว่า 170,000 คนเข้าประเทศ โดยทางการจีนเปิดบินภายในระหว่างลาซา ถึงปักกิ่ง, เฉิงตู, เซี่ยงไฮ้, Guangzhou, Chongqing และซีอาน ขณะที่สายการบินระหว่างประเทศ มีเส้นทางบินจากลาซาถึง Kathmandu ในเนปาล เส้นทางสายไหมเหล่านี้ มีประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมเชื่อมโยงกันมานานนับพันๆ ปี

นอกจากนี้เส้นทางถนนระหว่างสนามบิน Gonggar ถึงนครลาซา ในอดีตต้องใช้เวลาเป็นวันกว่าจะเดินทางถึงลาซาแต่ปัจจุบันรถวิ่งแค่ชั่วโมงครึ่งและในอนาคต อีกสองปีข้างหน้า คาดว่าจะใช้เวลาเดินทางแค่ครึ่งชั่วโมง เพราะสามารถลอดผ่านอุโมงค์ที่เกิดจากการเจาะทะลุภูเขาไปได้สบายๆ

ตลอดโปรแกรมเดินทางสัมผัสทิเบต 7 วัน Shirab Phuntsok หรือ"ซีผิง" เลขาสมาคมแลกเปลี่ยนวิเทศ สัมพันธ์ทิเบตได้ดูแลและประสานงานอย่างแข็งขัน เขาเป็นคนหนุ่มชาวทิเบตที่เกิดช่วงหลังๆ ปี ค.ศ.1959 ที่มีเหตุจลาจลหลังพรรคคอมมิวนิสต์เข้ามาปลดปล่อยทิเบต ซึ่งจีนมองว่ายุคก่อนปี 1950 ชาวทิเบตส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ระบบศักดินาแบบยุคกลางของยุโรป ซีผิงจบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยที่ทิเบต มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษและภาษาจีนอย่างเห็นได้ชัดในฐานะคนรุ่นใหม่ เขาแสดงออกเกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนาอย่างเหมาะสม แต่ไม่เคยลบหลู่บรรพบุรุษ ในเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับ "แชงกริลา" หรือดินแดนสุขาวดีหรือการกลับชาติมาเกิดของปัจเจกพุทธเจ้า

"ผมขออย่างหนึ่งอย่าเปรียบเทียบวัฒนธรรมของเรากับวัฒนธรรมที่อื่น ถ้าไม่เช่นนั้นคุณจะไม่เข้าใจ" ซีผิงกล่าว

สำหรับเวลาที่อยู่ทิเบตกับประสบการณ์ที่พานพบตัวแทนของคนในทิเบต หลากหลายสถานภาพอาชีพที่มีบทบาทพัฒนาทิเบต เช่น ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองทิเบต, พระลามะที่วัดจองกลาง (วัดต้าเจา), อธิการบดีมหาวิทยาลัยทิเบต, รองอธิบดีกรมเทคโนโลยีที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์, ผู้อำนวยการการแพทย์แผนทิเบตที่ปัจจุบัน ผลิตยาสมุนไพรกว่า 300 ชนิด, ไกด์หนุ่ม สาวที่นำชมโนบุลิงคา และวังโปตาลา มรดกโลกที่ทางรัฐบาลจีนทุ่มงบบูรณะใหญ่, คุณลุงชาวทิเบตผู้ลี้ภัยจากทิเบตไปสวิตเซอร์แลนด์ แล้วกลับคืนถิ่นกำเนิดอีก จนถึงผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านพัฒนา ซึ่งเป็นเจ้าของวัว 4 ตัว กับคณะนาฏศิลป์ชาวนาพื้นเมืองทิเบต ต้องยอมรับว่าความเข้าใจ ลึกซึ้งกับบริบททางประวัติศาสตร์ สังคมและเศรษฐกิจการเมืองของทิเบตยังต้องใช้เวลามากกว่า 7 วัน แต่สิ่งที่โดนใจทันที คือ ทิเบตยังมีเสน่ห์ลี้ลับและงดงามในเชิงศิลปะวิทยาการโบราณเกี่ยวกับ เภสัชกรรมที่มีประวัติกว่า 3,000 ปี, ศาสนา, จิตรกรรม, นาฏศิลป์ และดนตรีอยู่มากๆ โดยมีทางการจีนให้การสนับสนุนเต็มที่

ณ กระโจมการแสดงที่ต้องใช้เวลาจัดกางกว่าครึ่งวัน เพื่อต้อนรับสื่อมวลชนไทย เราพบว่านาฏศิลป์พื้นเมืองที่ชาวนา หนุ่มสาวร่ายรำขับขานร้องด้วยเสียงแหลมสูงจากขุนเขาทิเบต มีลีลาวัฒนธรรมเผ่าชนพื้นเมืองหลากหลายที่เร้าใจและน่าติดตามตลอดการแสดงทั้งสิ้น 12 ชุด ยกตัวอย่างเช่น การเต้นรำจับมือรอบวงในรูปแบบที่เรียกว่า Guoxie, การเต้นแท็ปแบบทิเบตที่เรียกว่า Duixie และการร้องรำ ทำเพลงของหมู่ชาวนาทิเบตในฤดูเก็บเกี่ยว ที่เรียกว่า Guozhuang ซึ่งชุดที่มีชื่อเสียงมากมาจากอัมโด (คนจีนเรียกชิงไห่) ส่วนชุด Qiangmu เป็นพิธีกรรมร่ายรำของหมอผีซึ่งทรงเจ้าขับไล่วิญญาณชั่วร้าย มีการขับร้องเสียงสูงแบบโอเปร่า ซึ่งแสดงเรื่องราว ท่วงทำนองดนตรี การร่ายรำและพิธีกรรมพิเศษ

ทิเบตยังรักษาขนบประเพณีโบราณ ทางศาสนาพุทธนิกายมหายานที่ดำรงนานกว่าพันๆ ปีไว้อย่างน่าศึกษา เช่น ภาพจิตรกรรมอันวิจิตรเกี่ยวกับพุทธศาสนา ที่เรียกว่า "Thangka" ที่ช่างเขียนบนหนังจามรีบางๆ น่าเสียดายที่เราไม่ได้เห็นภาพเขียนพระพุทธเจ้าผืนสูงใหญ่กว่า 50 เมตรที่ชาวทิเบตบูชากางแนบภูผาสูงใกล้วัดใหญ่ในเทศกาลโยเกิร์ตที่ทำถวายวัดที่เรียกว่า Shoton ซึ่งเพิ่งจบไป แต่ถึงกระนั้นเราก็ได้ไปชมภาพพระพุทธเจ้านับพันองค์ที่เขียนสลักที่ภูผาธรรมศักดิ์สิทธิ์ Thousand Buddha Cliff ในลาซา

แต่ที่สุดยอดของลาซาที่ทุกคนไม่พลาดคือ พระราชวังโปตาลา มรดกโลกที่ซึ่งเป็นพระราชวังฤดูหนาวของกษัตริย์โบราณและทะไลลามะ สร้างเมื่อ ค.ศ.7 ทุกเรื่องเล่าประวัติศาสตร์การเมืองและศาสนาเก่าแก่เข้มข้นจนสัมผัสได้ ณ จุดที่สูงที่สุดในโลกบนดาดฟ้า หลังคาสีทองและโดมที่ส่องแสงประกายเจิดจ้า มองเห็นปีกทิศตะวันออกคือ White Palace (Potrang Karpo) และ Red Palace (Potrang Marpo) แต่กว่าจะไต่บันไดไม้ที่เล็กชันถึงยอดวังโปตาลาก็มีขุมทรัพย์ทางปัญญาให้ชมมากมาย

มีข้อสงสัยประการหนึ่งเกี่ยวกับกรณีที่เราจะทราบได้เช่นไรว่า ผู้ใดเป็นท่านลามะองค์เก่ากลับชาติมาเกิด หรือภาษาทิเบตเรียกกันว่า "ตุลกู" ซึ่งปรากฏว่าคณะเราได้พบ 2 ท่านต่างกรรมต่างวาระกัน คือ ประธานสมาคมพุทธศาสน-สัมพันธ์ของทิเบต ซึ่งมอบคัมภีร์กานจุรซึ่งเป็นพระธรรมของชาวทิเบตให้แก่คณะของเรา และอีกท่านคือสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของลาซาที่เคยเป็นลามะลี้ภัยไปอยู่สวิตฯ 28 ปี

ท่านแรกได้กรุณาตอบข้อสงสัยนี้ว่า เป็นเรื่องที่ตระหนักรู้ตั้งแต่สองขวบ เมื่อบิดามารดาได้นำเรื่องเสนอต่อเจ้าอาวาสในวัดละแวกบ้าน เพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบโดยผูกดวงชะตาขึ้นเพื่อพยากรณ์ แต่ก่อนเกิด และตรวจสอบร่างกายว่ามีเครื่องหมายตามตัว จากนั้นคณะกรรมการ จะตรวจระลึกชาติว่า เมื่อชาติก่อนเกิดเป็นผู้ใด นอกจากนี้ยังพิสูจน์โดยนำสมบัติเก่าออกมาปะปนกับของอื่นๆ อีก 30 ชิ้น ท่านเลือกได้ถูกต้อง 9 ชิ้น แต่ถ้าเลือกผิดเกินกว่า 2 ชิ้นถือว่าไม่ใช่ตัวจริง

นี่เป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสในสิ่งที่ตามองไม่เห็น ต้องอาศัยตาที่สาม...

ภายใต้กลุ่มควันหนาจากธูปและแสงตะเกียงน้ำมันเนยริบหรี่ในวัดจองกลาง (Lhasa Jokhang Temple) ทำให้เห็นรูปต่างๆ เคลื่อนไปมาอยู่เบื้องหน้าพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวรพันกร และพันตา ขณะท่านลามะผู้ใหญ่นำชมและเล่าประวัติเก่าแก่ ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองในทิเบต เพราะเมื่อ ค.ศ.641 เจ้าหญิง Wencheng แห่งราชวงศ์ถังได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้า โดยเจ้าหญิงได้นำพระพุทธรูป Jowo Shakyamuni ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้มาประดิษฐานที่วัดจองกลางซึ่งสร้างเพื่อการนี้ด้วย ชาวทิเบตบูชารูปปั้นเจ้าหญิง Wencheng ในวัดนี้มาก

เท่าที่สังเกต วัดใหญ่ในทิเบตไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่พระหรือนักปฏิบัติธรรมอยู่กันเท่านั้น แต่เป็นเมืองเล็กๆ ในตัวที่มีทุกอย่างพร้อมบริบูรณ์ สามารถซื้อเสื้อผ้า หนังสือ และของใช้จากร้านค้าบริเวณวัดนั้น แต่ปัจจุบันที่บริเวณลานกว้างทางเข้าวัดจองกลาง กลายเป็นแหล่งชอปปิ้งราคาถูกของนักท่องเที่ยวไปแล้ว

ทั้งนี้ในทิเบตมี 4 นิกาย คือ นิงมาปา (หมวกแดง) การ์กู ศากยะ และเกลักปา (หมวกแดง) ซึ่งสังเกตความแตกต่าง จากเครื่องประดับที่สวมใส่บนศีรษะในพิธีฉลอง ปัจจุบันจำนวนวัด 1,700 แห่งโดยมีพระจำนวน 46,000 รูป โดยทางการจีนให้งบพัฒนากว่า 400 ล้านหยวน

ชาวทิเบตถือเอาวันที่ 8 และ 15 ของเดือนเป็นวันพระ วันนั้นผู้เปี่ยมศรัทธาทุกเพศทุกวัย จะมาวัด มาไหว้พระท่าอัษฎางคประดิษฐ์ที่ร่างกาย 8 จุดแตะพื้น โดยนอนราบคว่ำหน้ากับพื้นที่ปูด้วยเบาะ เมื่อกราบไหว้เสร็จก็วางเคลื่อนไปข้างหน้า บางคนที่มีความมุ่งมั่นแรงกล้าก็กราบไหว้และหมุนล้อธรรมจักรไปตามถนนวงแหวน Lingkhor รอบเมืองลาซาทีเดียว การปฏิบัติ บูชาที่ย้ำทำปริมาณมากๆ เช่นนี้มีเห็นทั่วไปในทิเบต

อย่างไรก็ตาม ทิเบตยังคงมนต์ขลังทรงคุณค่าในศิลปวิทยาการโบราณที่น่าศึกษา ดังเช่นคำบอกเล่าของผู้บริหารองค์การเภสัชกรรมทิเบต ได้อธิบายถึงแพทย์แผนทิเบตและตำรายาสมุนไพรโบราณที่ทรงคุณค่า สมุนไพรยาที่หายากมากและมีราคาแพงจนห้ามส่งออก เช่น หญ้าหนอนทิเบต ซึ่งต้องเก็บจากเทือกเขาสูง Nagqu 4,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะบำรุงตับและปอด, บัวหิมะ ซึ่งเก็บจากที่สูงกว่า 3,500-5,000 เมตร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทิเบต แก้โรคแพ้ที่สูง (Altitude sickness & stress) แต่ต้องยอมรับว่ายาทิเบตแก้โรคท้องเสีย และ ปวดหัวได้ผลชะงัดจริงๆ เมื่อคนในคณะของเราป่วย

ของดีในทิเบตมีอยู่มากเหมือนดังขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าลี้ลับที่คนนอกอย่างเราต้องการตาที่สามสัมผัส เพราะลึกๆ ของจิตวิญญาณของชาวทิเบตกว่า 2.6 ล้านคนยังคงอยู่ในโลกทิพย์ ขณะที่กายพวกเขาต้องสัมผัสโลกวัตถุนิยมที่หมุนเปลือกรอบๆ ประดุจล้อธรรมจักรที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามวัฏจักร เก่า-ใหม่นั่นเอง ฤานี่คือ ทิเบตในนิยาม Shangri-La ยุคใหม่ ที่ไม่เคยปรากฏในงานเขียน เมื่อร้อยปีก่อน อย่าง "The Lost Horizon" ของนักเขียนอังกฤษ James Hilton มาก่อน!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us