- ค้าปลีกพลิกโฉม จากสงครามราคาสู่สมรภูมิรบ CRM
- เซ็นทรัล vs เดอะมอลล์ ฟัดกันนัว หมัดต่อหมัด
- บิ๊กซี คาร์ฟูร์ ปรับโปรโมชั่นบัตรสู้ คลับ การ์ด ของ เทสโก้ โลตัส
- ชิงนักชอปขาประจำ สร้างความถี่ เพิ่มบาสเกตไซส์
สงครามค้าปลีกรอบใหม่เดือด สมรภูมิรบ CRM ระอุหลังจากที่ก่อนหน้านี้บรรดาดิสเคานต์สโตร์สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการค้าปลีกไทย ด้วยการแผ่ขยายสาขา เพื่อครอบคลุมตลาดและสร้างอำนาจต่อรองในการสั่งซื้อสินค้าเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการทำสงครามราคาชิงลูกค้าจากคู่แข่ง กระทบไปถึงเซกเมนต์ที่เป็นดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ที่นอกจากจะต้องแข่งขันกันเองแล้ว ยังถูกชิงฐานลูกค้าโดยเฉพาะแผนกที่ไม่ได้มีความแตกต่างของสินค้าอย่างแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า และซูเปอร์มาร์เกต ที่มีการถล่มราคาจากฟากของดิสเคานต์สโตร์ ส่งผลให้ยักษ์ค้าปลีกของไทยอย่างค่ายเซ็นทรัลและเดอะมอลล์พยายามยกระดับห้างสรรพสินค้าให้สูงขึ้น โดยมีการรุกสาขาพรีเมียมใจกลางเมือง ไม่ว่าจะเป็น ดิ เอ็มโพเรียม และสยามพารากอนของค่ายเดอะมอลล์ ส่วนเซ็นทรัลมีทั้งเซ็นทรัลเวิลด์ และเซ็นทรัล ชิดลม ทว่าความสะดวกในการเดินทาง ทำให้ผู้บริโภคมีการเดินทางไปตามห้างต่างๆ ของคู่แข่งได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นก้าวแรกของการสวิตชิ่งไปหาคู่แข่ง
ดังนั้น ทั้งเซ็นทรัล และเดอะมอลล์จึงผุดลอยัลตี้การ์ดเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าใช้บริการเฉพาะห้างในเครือ โดยในช่วงกลางปี 2549 เซ็นทรัล เปิดตัวบัตรสมาชิก The 1 Card สะสมแต้มในการซื้อสินค้าจากร้านค้าในเครือ 6 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ห้างเซ็นทรัล ห้างโรบินสัน เพาเวอร์บาย ซูเปอร์สปอร์ต บีทูเอส โฮมเวิร์ค และเซน (ZEN) ขณะที่อีก 2 กลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัล รีเทล ยังไม่ได้เข้าร่วมโปรแกรมนี้ก็คือ ออฟฟิศ ดีโป้ เนื่องจากเป็นธุรกิจค้าส่งมีมูลค่าการซื้อขายค่อนข้างสูงจึงไม่คุ้มหากจะเข้าร่วมโปรแกรม The 1 Card ในขณะที่ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ก็มีบัตร Spot Reward Card อยู่แล้ว
เดอะมอลล์ ปรับโฉมบัตรสมาชิก
ขณะที่เดอะมอลล์มีการลอนช์บัตรเพรสทีจ การ์ด และแพลทินัม การ์ด เพื่อสร้างลอยัลตี้และชิงลูกค้าจากคู่แข่งให้เข้ามาใช้บริการห้างในเครือเดอะมอลล์ มากขึ้น โดยบัตรดังกล่าวให้ส่วนลดแก่สมาชิก 5-10% สำหรับการซื้อในเดอะมอลล์ พารากอน และ ดิ เอ็มโพเรียม ซึ่งการให้ส่วนลดทันทีจะเป็นที่ต้องการของลูกค้า ทว่าไม่ได้จูงใจให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ หรือกลับมาบ่อยขึ้น ดังนั้นในปีนี้เดอะมอลล์จึงมีการปรับรูปโฉมบัตรดังกล่าวใหม่พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นบัตร M Card ซึ่งให้สิทธิพิเศษผ่านการสะสมแต้มเหมือนThe 1 Card คือยอดซื้อทุกๆ 25 บาทจะได้รับคะแนน 1 คะแนน ยกเว้นแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้าเพาเวอร์มอลล์ที่ยอดซื้อทุกๆ 50 บาทจึงจะได้ 1 แต้ม และสะสมครบ 800 แต้มจะได้รับคูปองส่วนลด 100 บาท
แต่เนื่องจากเดอะมอลล์เพิ่งเริ่มต้นสะสมคะแนน ดังนั้น หากเดินเกมตามเซ็นทรัลก็จะไม่มีทางไล่ทัน เนื่องจากลูกค้าที่ถือบัตร The 1 Card ของเซ็นทรัลด้วยมีการสะสมคะแนนมาตั้งแต่ต้นปี (คะแนนสะสมที่มีตั้งแต่เปิดตัวบัตร The 1 Card เมื่อ 2 ปีที่แล้วถูกตัดบัญชีเนื่องจากคะแนนสะสมหมดอายุ 2 ปี เมื่อปลายปีที่ผ่านมา) แต่ M Card เพิ่งเริ่มสะสมคะแนนเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา การจะสะสมคะแนนจนครบ 800 คะแนนต้องใช้เวลา
ประกอบกับการกำหนดเงื่อนไขในการรับส่วนลดในบัตร M Card รุ่นใหม่ที่ต้องซื้อครบ 1,500 บาทขึ้นไปในดีพาร์ตเมนต์สโตร์ หรือ 800 บาทขึ้นไปในซูเปอร์มาร์เกต จึงจะได้รับส่วนลด 5-10% เฉพาะสมาชิก M Card ที่เปลี่ยนบัตรมาจาก บัตรเพรสทีจ การ์ด และแพลทินัม การ์ด ซึ่งทำให้สมาชิกเก่าส่วนหนึ่งไม่พอใจ เนื่องจากสิทธิเดิมจะได้รับส่วนลดทันทีตั้งแต่การซื้อที่บาทแรก ดังนั้นเดอะมอลล์จึงผุดแคมเปญ Burn Point M Card เพื่อให้สมาชิก M Card ซึ่งมีคะแนนสะสมไม่มากได้ใช้สิทธิดังกล่าวโดยไม่ต้องรอจนคะแนนครบ 800 คะแนน โดยสมาชิกที่มียอดซื้อสะสม 1,250 บาท หรือ 50 แต้ม ก็สามารถร่วมแคมเปญ Burn Point ได้
ทั้งนี้ สมาชิกที่สะสมคะแนนครบ 50 คะแนน สามารถใช้เป็นส่วนลดในการซื้อตั๋วชมภาพยนตร์เรื่อง Gamer หรือสะสมครบ 50 คะแนน บวกเงิน 99 บาท แลกซื้อข้าวหอมมะลิ โฮม เฟรช มาร์ท มูลค่า 200 บาท หรือสะสม 50 คะแนนบวกเงิน 100 บาท แลกซื้อเตารีดฟิลิปส์ มูลค่า 870 บาท เฉพาะห้างเดอะมอลล์ สำหรับคะแนนสะสม 350 คะแนน เพิ่มเงิน 3,000 บาท จะได้รับ ไอพ็อด นาโน 8 กิกะไบต์ มูลค่า 6,290 บาท เฉพาะที่ ดิ เอ็มโพเรียม และสยามพารากอน) ส่วนคะแนนสะสม 500 คะแนน เพิ่มเงิน 10,000 บาท จะได้รับ Blackberry Curve 8900 มูลค่า 25,500 บาท
ทันทีที่เดอะมอลล์ปรับโฉมบัตรพร้อมเปิดตัวโปรโมชั่น Burn Point ทางฟากเซ็นทรัลก็มีการลอนช์แคมเปญฉลองครบรอบ 3 ปี แจก 3 ล้านคะแนน โดยสมาชิกบัตร The 1 Card ที่เช็กคะแนนผ่าน SMS จะได้ลุ้นรับ 50 คะแนนทันที และยังได้สิทธิลุ้นรางวัลใหญ่ 100,000 คะแนน ทั้งนี้เพื่อดึงดูดให้สมาชิกนำคะแนนที่ได้กลับมาแปลงเป็นส่วนลดและกลับมาซื้อสินค้าในเครือเซ็นทรัลต่อไป
โดยเดอะมอลล์ไฟต์แบ็กกลับด้วยแคมเปญแจก 5 ล้านคะแนน โดยสมาชิก 500 คนแรกที่ซื้อครบ 10,000 บาทขึ้นไปจะได้รับคะแนนเพิ่ม 10,000 คะแนน ส่วนแผนกบิวตี้ฮอลล์ ชอปครบ 4,500 บาทขึ้นไปจะได้รับคะแนนโบนัสสูงสุด 40,000 คะแนน หรือเลือกรับของสมนาคุณ Beauty Wishes สำหรับแผนกซูเปอร์มาร์เกต ปรกติจะไม่ได้รับแต้มสะสม แต่ในช่วงแคมเปญ หากสมาชิกซื้อ 400 บาทขึ้นไป จะได้รับแต้มโดยทุกๆ 10 บาท คิดเป็น 1 คะแนน ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ในเครือของเซ็นทรัล เพียงแต่บัตร The 1 Card และบัตร Spot Reward Card ของค่ายเซ็นทรัลยังไม่สามารถรวมสิทธิประโยชน์ไว้ในบัตรสมาชิกใบเดียวกันได้
เซ็นทรัลไฟต์แบ็ก M Card
ล่าสุดมีการทำแคมเปญ The 1 Card X-Treme ปะทะแคมเปญ Burn Point ของเดอะมอลล์ โดยสมาชิกบัตร The 1 Card ที่ซื้อสินค้าตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไปจะได้รับคูปองส่วนลดทันที 10% และหากซื้อถึง 9,000 บาท ก็จะได้รับคูปองส่วนลดทันที 40% ซึ่งนอกจากจะเป็นการมอบสิทธิส่วนลดให้ลูกค้าโดยไม่ต้องสะสมแต้มแล้ว ยังเป็นการเพิ่มปริมาณการซื้อต่อครั้งของลูกค้า
นอกจากนี้ The 1 Card ยังทำโปรโมชั่นร่วมกับท็อปส์เพื่อสู้ M Card ที่สามารถใช้ได้ทั้งในดีพาร์ตเมนต์สโตร์และซูเปอร์มาร์เกต ขณะที่บัตร The 1 Card ของเซ็นทรัล ปรกติจะไม่สามารถใช้ในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ได้ เนื่องจากท็อปส์มีบัตรสปอต รีวอร์ด การ์ด อยู่แล้ว โดยแคมเปญล่าสุด สมาชิกบัตร The 1 Card ที่สะสมแต้มตั้งแต่ 40 คะแนนขึ้นไปจะได้รับคูปองส่วนลด 10% ร่วมกับคูปองเงินสดใช้ในท็อปส์มูลค่า 35 บาท โดยคะแนนสูงสุดที่ 800 คะแนน จะได้รับคูปองส่วนลด 40% พร้อมคูปองเงินสดใช้ในท็อปส์มูลค่า 150 บาท
จากสงคราม CRM ที่ต้องการเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อใช้วางกลยุทธ์การตลาดและพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า กลายมาเป็นสงครามโปรโมชั่นที่จะมอบส่วนลดให้กับลูกค้าทันทีเพื่อดึงดูดให้ลูกค้านำคูปองส่วนลดที่ได้กลับมาใช้ซ้ำ
ขณะที่ค่ายเดอะมอลล์ หลังจากสิ้นสุดแคมเปญ Burn Point ก็มีการลอนช์แคมเปญใหม่ Empower Rewards โดยสมาชิกบัตร M Card ที่มีคะแนนสะสม 40 คะแนนขึ้นไป สามารถแลกรับคูปองส่วนลด 10% โดยคะแนนสูงสุดที่ 800 คะแนนจะได้คูปองส่วนลด 40% คล้ายแคมเปญ The 1 Card X-Treme ของค่ายเซ็นทรัล จะแตกต่างตรงที่ Empower Rewards ไม่มีคูปองเงินสดที่ใช้ในซูเปอร์มาร์เกตเหมือนแคมเปญของเซ็นทรัล
อย่างไรก็ดี เนื่องจากสาขาของเดอะมอลล์น้อยกว่าค่ายเซ็นทรัลที่มีสเปเชียลตี้สโตร์กระจายสาขาออกมานอกห้างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น B2S ซูเปอร์สปอร์ต เพาเวอร์บาย โฮมเวิร์ค ดังนั้น เดอะมอลล์จึงร่วมกับพันธมิตรร้านค้าเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับสมาชิก เช่น ส่วนลดต่างๆ เมื่อใช้บัตร M Card ในโรงพยาบาล โรงแรม ภัตตาคารต่างๆ
ปัจจุบันมีสมาชิก M Card กว่า 6 แสนราย โดยคาดว่าในปีแรกจะมีสมาชิก 1.2 ล้านราย และจะเพิ่มเป็น 3 ล้านรายภายใน 5 ปี โดยบัตร M Card มีอยู่ 4 ประเภท คือ M Platinum คือ กลุ่มสมาชิกบัตร Platinum ปัจจุบันมี 20,000 ราย M Prestige คือ กลุ่มสมาชิกบัตร Prestige เดิม ปัจจุบันมี 600,000 ราย M Expat คือ กลุ่มสมาชิก Expat ซึ่งเดิมมีอยู่ 10,000 ราย บวกกับสมาชิกใหม่อีก 10,000 ราย โดยบริษัทตั้งเป้าว่าจะมีฐานสมาชิก Expat 50,000 รายในสิ้นปีนี้ ส่วนบัตร M Card คือ กลุ่มสมาชิกใหม่ซึ่งจะไม่ได้รับสิทธิในเรื่องของส่วนลดเหมือนบัตรเพรสทีจ และแพลทินัม โดยกลุ่ม M Card จะได้รับสิทธิในเรื่องของการสะสมคะแนนเพื่อแลกคูปองเงินสด ตลอดจนสิทธิพิเศษในการซื้อสินค้าราคาสมาชิกเหมือนสปอต รีวอร์ด การ์ด ของ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต
ในอนาคตลูกค้าที่ไม่ได้เป็นสมาชิกจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษ รวมถึงไม่สามารถซื้อสินค้าในราคาโปรโมชั่นได้ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเข้าสู่ระบบสมาชิก ส่งผลให้เดอะมอลล์มีข้อมูลพฤติกรรมการชอปปิ้งของลูกค้าและใช้พัฒนาแคมเปญการตลาดที่มีประสิทธิภาพต่อไป
ขณะที่ฐานสมาชิกบัตร The 1 Card ปัจจุบันมี 2.2 ล้านราย ซึ่งค่ายเซ็นทรัลคาดว่าจะสามารถขยายฐานเพิ่มเป็น 2.5 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้ ส่วนบัตรสปอต รีวอร์ด การ์ด ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 4 ล้านราย เป็นสมาชิกที่แอกทีฟกว่า 80%
โลตัส ลอนช์ คลับ การ์ด ชกข้ามเซกเมนต์
อย่างไรก็ดี นอกจากสงคราม CRM คู่ยักษ์ของค่ายเดอะมอลล์ และเซ็นทรัล แล้ว เทสโก้ โลตัส ก็เข้าร่วมด้วย โดยส่งบัตรคลับการ์ด ซึ่งจะมอบสิทธิประโยชน์ให้กับสมาชิก โดยยอดขายทุก 2 บาท คิดเป็น 1 คะแนน สะสมครบ 1,000 คะแนนจึงจะได้รับคูปองส่วนลด 10 บาท ทั้งนี้หากเทียบกับบัตร The 1 Card ของเซ็นทรัลและบัตร M Card ของค่ายเดอะมอลล์แล้ว จะพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างยอดซื้อกับแต้มที่สมาชิกได้รับไม่แตกต่างกัน คือ The 1 Card และ M Card ต้องสะสมครบ 800 คะแนนจึงได้คูปองส่วนลด 100 บาท ซึ่งยอดซื้อทุกๆ 25 บาทได้ 1 แต้ม เท่ากับว่า ซื้อ 20,000 บาท จะได้ส่วนลด 100 บาท ขณะที่บัตรคลับการ์ดของเทสโก้ โลตัส ต้องซื้อ 2,000 บาท จึงจะได้ 1,000 คะแนน และได้คูปองส่วนลด 10 บาท เท่ากับว่าบัตรต่างๆ เหล่านี้มีคะแนน 1 คะแนนจากการซื้อทุกๆ 2 บาท เพียงแต่ต่างกันที่จำนวนคะแนนในการนำกลับมาเปลี่ยนเป็นคูปองต่างกันไปตามโพซิชันนิ่งของแต่ละห้าง
เทสโก้ โลตัส จำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ผู้บริโภคมีความถี่ในการมาใช้บริการอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องให้ผู้บริโภคสะสมแต้มมากๆ เพื่อดึงดูดให้กลับมาซื้อซ้ำบ่อยๆ แต่ที่ต้องมีบัตรสมาชิกเพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคเพราะจะเป็นประโยชน์ในการทำการตลาดในอนาคต ที่สำคัญคู่แข่งต่างก็มีบัตรสมาชิกทุกราย ดังนั้นหากห้างใดไม่มีบัตรสมาชิกที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้าแล้ว ในที่สุดก็จะถูกคู่แข่งช่วงชิงลูกค้าไป ในขณะที่ดีพาร์ตเมนต์สโตร์อย่าง เซ็นทรัล และเดอะมอลล์ เน้นสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น เสื้อผ้า แฟชั่น ต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีการซื้อทุกวัน ดังนั้นเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคกลับมาซื้อซ้ำหรือใช้บริการบ่อยขึ้น ก็ต้องใช้คะแนนสะสมที่สูงเป็นเงื่อนไขในการทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ และเป็นการเซกเมนต์กลุ่มลูกค้าระดับบนซึ่งแตกต่างจากตลาดแมสในดิสเคานต์สโตร์
ทว่าทั้งบัตร The 1 Card และบัตร M Card ต่างมีข้อจำกัดในเรื่องอายุของแต้มสะสมที่สูงสุดเพียง 2 ปีก็จะถูกลบทิ้ง แล้วเริ่มสะสมใหม่ ขณะที่ คลับการ์ด ของ เทสโก้ โลตัส แม้จะต้องสะสมแต้มให้ได้มากถึง 1,000 แต้มจึงจะแลกคูปองส่วนลดได้ 10 บาท ทว่าการชอปทุกๆ 2 บาทก็จะได้ 1 แต้ม ประกอบกับแต้มสะสมไม่มีวันหมดอายุ สามารถสะสมได้ไม่จำกัดเวลา และยังสามารถใช้ได้กับเทสโก้ โลตัส ทุกฟอร์แมต ไม่ว่าจะเป็นไฮเปอร์มาร์เกต ตลาดโลตัส ร้านคุ้มค่า และโลตัสเอ็กซ์เพรส รวมแล้วมากกว่า 600 สาขา ทำให้เป็นอีกแม่เหล็กหนึ่งในการดึงดูดผู้บริโภคให้หันมาเป็นสมาชิกของคลับการ์ด
"เราได้มีการทดลองให้บริการคลับการ์ดที่เทสโก้ โลตัส สาขาหาดใหญ่และสมุยเป็นเวลาหลายปี ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าเช่นเดียวกับเมื่อตอนที่คลับการ์ดได้เริ่มเปิดตัวครั้งแรกในประเทศอังกฤษเมื่อ 14 ปีมาแล้ว นอกจากเราจะได้มีการปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการพร้อมสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว เรายังสามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าแต่ละคนจำเป็นต้องซื้อและต้องใช้ คลับการ์ดเป็นส่วนสำคัญของจุดมุ่งหมายการทำงานเราที่จะเพิ่มคุณค่าการจับจ่ายให้แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และในประเทศไทยคลับการ์ดจะเป็นกุญแจตัวหลักเพื่อสื่อสารกับลูกค้าในระยะยาว ทุกครั้งที่เราบอกว่า ไม่มีใครทุ่มเทสำหรับลูกค้าเหนือไปกว่าเรา" กวิน สัณฑกุล กรรมการและประธานบริหารฝ่ายการตลาด เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม ผู้บริหาร เทสโก้ โลตัส กล่าว
เทสโก้ โลตัส ตั้งเป้าว่าจะสามารถขยายฐานสมาชิกบัตร คลับการ์ด ได้ 4 ล้านราย ในเวลา 1 ปี ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะมีฐานลูกค้าขาประจำมากกว่าคู่แข่งในทุกเซกเมนต์ด้วยระยะเวลาที่รวดเร็วกว่า ทว่าจะเพิ่มปริมาณการซื้อต่อครั้งหรือดึงดูดสมาชิกให้มาใช้บริการได้มากเพียงใด นอกจากจะขึ้นอยู่กับสาขาที่มากและสะดวกต่อลูกค้าแล้ว ยังต้องมีแคมเปญโปรโมชั่นที่สร้างความคุ้มค่าคุ้มราคาให้กับผู้บริโภคด้วย
คาร์ฟูร์ อัดโปรโมชั่นบัตรไอวิช ดูดทราฟฟิก เพิ่มปริมาณการซื้อ
ในขณะที่บัตรสมาชิก I Wish ของคาร์ฟูร์ซึ่งเป็นลอยัลตี้โปรแกรมตัวหนึ่ง ดูจะไม่ส่งผลต่อคู่แข่งมากนักเนื่องจากการชอปผ่านบัตรดังกล่าวในช่วงปรกติ สมาชิกจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆ เว้นแต่ช่วงที่มีการทำโปรโมชั่นจึงสามารถใช้บัตรดังกล่าวในการลุ้นรางวัลได้ โดยลูกค้าจะต้องชอปปิ้งไม่ต่ำกว่า 500 บาท
ล่าสุดมีการทำแคมเปญ "ซื้อแล้ว รับเลย ใช้เลย" ด้วยการให้ลูกค้าสะสมแต้มเพื่อรับคูปองส่วนลด เพียงซื้อสินค้าที่ระบุแต้มภายในวันเดียวกัน สาขาเดียวกัน แล้วนำแต้มมาแลกคูปองส่วนลด โดยคะแนน 1 แต้ม เท่ากับส่วนลด 1 บาท
บิ๊กซี โละแต้ม ให้ส่วนลดทันที
หลังจาก เทสโก้ โลตัส เปิดตัวคลับการ์ดได้ไม่นาน ทางฟากของบิ๊กซีก็มีการปรับรูปแบบบัตรสมาชิกใหม่ โดยบัตรสมาชิกแบบเดิมซึ่งมี 2 แบบคือ บัตรช้อปโทรฟรี เติมวงเงินค่าโทรศัพท์ให้กับสมาชิก และบัตรบิ๊กซีโบนัส เป็นบัตรสะสมแต้มตามเงื่อนไขเพื่อแลกซื้อหรือรับสินค้าตามที่กำหนด ทว่าไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของบิ๊กซีต้องการการได้ส่วนลดทันทีโดยไม่ต้องรอสะสมแต้ม ส่วนบัตรช้อปโทรฟรี ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเท่าที่ควร บี๊กซี จึงเปลี่ยนรูปแบบบัตรสมาชิกใหม่ภายใต้ชื่อบัตร Big Card ซึ่งจะให้คูปองส่วนลด 5 บาทแก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป โดยคูปองจะแนบมากับใบเสร็จในการซื้อสินค้า ทว่าสมาชิกแต่ละคนจะได้สิทธิส่วนลด 1 ครั้งต่อวันเท่านั้น
นอกจากนี้สมาชิกยังสามารถซื้อสินค้าที่ร้านเพรียว ซึ่งเป็นร้านเวชสำอางในเครือบิ๊กซี 500 บาทขึ้นไป ยกเว้นสินค้าโปรโมชั่นงดร่วมรายการ พร้อมแสดงบัตรสมาชิกก็จะได้รับคูปองเงินสดมูลค่า 5 บาท ท้ายใบเสร็จ 1 ใบ สำหรับใช้ชอปเฉพาะที่เพรียวในครั้งต่อไป ส่วนการชอปปิ้งที่ มินิ บิ๊กซี ทุก 50 บาทจะได้รับคูปองเงินสดมูลค่า 1 บาท สำหรับใช้ชอปปิ้งเฉพาะที่มินิ บิ๊กซี ในครั้งต่อไป ตลอดจนการทำโปรโมชั่นร่วมกับร้านค้าอื่นๆ นอกห้าง ซึ่งจะเปลี่ยนไปทุกๆ เดือน เช่น คูปองส่วนลดสำหรับใช้ในร้านฟาสต์ฟูดต่างๆ โรงภาพยนตร์ รวมถึงคาร์แคร์
บิ๊กซีมีการสื่อสารแบบไดเรกต์มาร์เกตติ้งไปสู่กลุ่มสมาชิก โดยมีการทำการตลาดแบบ 1 : 1 Marketing โดยเสนอโปรโมชั่นที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของสมาชิกแต่ละราย การปรับรูปโฉมบัตรสมาชิกใหม่ คาดว่าจะช่วยผลักดันให้ลูกค้ามีการใช้จ่ายสูงขึ้น โดยกลุ่มลูกค้าที่ซื้อต่ำกว่า 500 บาทต่อครั้งมีสัดส่วนถึง 35-40% ซึ่งหลังจากลอนช์บัตร บิ๊ก การ์ด แล้วคาดว่าจะผลักดันให้กลุ่มลูกค้าที่ซื้อสินค้า 300-500 บาทต่อครั้ง เพิ่มการซื้อมากกว่า 500 บาทต่อครั้ง ซึ่งจะทำให้สัดส่วนลูกค้าที่ซื้อต่ำกว่า 500 บาทลดเหลือ 25% ภายในสิ้นปีหน้า และจะทำให้ค่าเฉลี่ยการซื้อต่อครั้งของลูกค้าเพิ่มจาก 500 กว่าบาทต่อครั้ง เพิ่มเป็น 650 บาทต่อครั้ง โดยกลุ่มลูกค้าสมาชิกจะมีการใช้จ่ายมากกว่าลูกค้าทั่วไป 2 เท่าตัว ซึ่งสมาชิกบางส่วนซื้อมากกว่า 2-3 พันบาทต่อครั้ง ส่วนความถี่ในการใช้บริการของลูกค้าทั่วไป 1.8-2 ครั้งต่อเดือน ส่วนสมาชิกคาดว่าจะมีการใช้บริการถี่ขึ้นเป็น 2.5 ครั้งต่อเดือน
ปัจจุบันบิ๊กซีมีฐานสมาชิกจากบัตรเดิม 2 ล้านคน โดยคาดว่าในสิ้นปีจะมีสมาชิกใหม่เพิ่มอีก 2 ล้านราย และจะมีสมาชิกทั้งหมดในปีหน้าสูงถึง 5 ล้านราย
|