สหกรุ๊ปปรับระบบจัดจำหน่ายกลุ่มสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หลังพบจุดอ่อน บริษัทในเครือถือ
สินค้าหลายแบรนด์ จนทำให้ทุ่มตลาดได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ยอดขายและส่วนแบ่งตลาดหลายยี่ห้อที่กำอยู่มีปัญหายอดขายน้อย
ขณะที่หลาย แบรนด์ที่ร่วมทุนต้องการให้เพิ่มยอดจำหน่ายมากกว่านี้ ส่งดีทแฮล์ม
ประเดิมเข้าจัดจำหน่าย "เมียวโจ้" แทนสหพัฒน
สหกรุ๊ปเป็นกลุ่มที่ทำตลาดสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลายแบรนด์ และมากที่สุดในบรรดาผู้ประกอบการ
ตลาดนี้ในเมืองไทย โดยมีมากถึง 9 ยี่ห้อ มีทั้งการเป็นเจ้าของสินค้าเองและการร่วมทุนผลิต
โดยใช้บริษัทในเครือรับผิดชอบแตกต่างกันไปแต่บทบาทหนักจะตกอยู่ที่สหพัฒนพิบูลที่เป็นผู้รับจัดจำหน่ายเกือบทุกยี่ห้อ
อย่างไรก็ตาม จากการที่สินค้าหลายยี่ห้ออยู่ในตลาดเดียวกันและยังอยู่ในการจัดจำหน่ายของบริษัทเดียวกัน
ย่อมทำให้การทุ่มเทหรือการให้ความสำคัญกับสินค้าทุกตัวเป็นไปได้ยากอยู่แล้ว การจัดจำหน่ายหรือการ
ขายย่อมต้องเน้นไปที่ตัวสินค้าที่ขายได้ง่ายที่สุดและขายได้มากและมีมาร์จิ้นสูงที่สุด
แหล่งข่าวจากวงการ กล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน"ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับส่วนแบ่งการตลาดและยอดขายแต่ละยี่ห้อล้วนแต่เป็นตัวบ่งบอกได้ชัดเจนว่า
มาม่าคือพระเอกของกรุ๊ปและของวงการด้วย ขณะที่ทุกยี่ห้อที่เหลือในมือสหกรุ๊ปเป็นเพียงตัวประกอบ
ซึ่งเจ้าของยี่ห้อที่ร่วมทุนกับสหกรุ๊ปเองไม่ได้ต้องการเช่นนั้นด้วย เพราะมีเพียงมาม่าตัวเดียวที่มียอดขายสูงที่สุดและมีส่วนแบ่งในตลาดมากที่สุดประมาณ
50-51% จากมูลค่าตลาดรวม 9,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขรอบล่าสุดจากเอซีนีลสันเมื่อ
เดือนมิถุนายน และคาดว่าจะโต 1-2% ในปีนี้
ที่ผ่านมา มาม่าจะเป็นธงนำของสหกรุ๊ปอยู่แล้วในกลุ่มธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
การจัดจำหน่าย จะเน้นไปที่ 2 รสชาติหลักคือ ต้มยำกุ้งกับหมูสับ โดยแยกทีมขายทีมหน่วยรถ
2 รสชาติ นี้ออกจากกันเป็นสองสายหลัก กลุ่มหนึ่งจะมีต้มยำกุ้งเป็นตัวนำพร้อมกับสินค้าอาหารที่เกี่ยวเนื่องกัน
ส่วนอีกคันก็จะเป็นรสชาติหมูสับพร้อม กับสินค้าเกี่ยวเนื่องอาหารอื่นๆ ในลักษณะของการ
ทำโปรดักต์มิกซ์ ซึ่งจะสามารถช่วยผลักดันสินค้าอื่นๆ ที่มียอดขายน้อยเข้าตลาดได้ง่ายด้วย
ส่วนบะหมี่ยี่ห้ออื่นๆในเครือก็จะขายไปกับหน่วยรถเหล่านี้ด้วย
ขณะที่ยี่ห้ออื่นๆทั้ง ฟอร์มี นิสชิน เมียวโจ้ โคคา และอื่นๆ แทบจะไม่มีบทบาทในตลาดมากนัก
โดยเฉลี่ยแล้วมีส่วนแบ่งตลาดเพียงแค่ 1-3% เท่านั้นในแต่ละยี่ห้อ ซึ่งหลายยี่ห้อเป็นการร่วมทุนกับญี่ปุ่น
ที่เจ้าของแบรนด์ต้องการอยากให้มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่านี้ เพราะมองเห็นการเติบโตที่ดีของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย
และมีมูลค่าตลาดสูง แต่ทำไมมีส่วนแบ่งเพียงน้อยนิด
สหกรุ๊ปย่อมเข้าใจปัญหานี้ดี สิ่งที่ปรากฏขึ้นขณะนี้น่าจะเป็นการบ่งบอกถึงการปรับตัวเคลื่อน
ไหวของสหกรุ๊ปในการจัดระบบการจัดจำหน่ายบะหมี่สำเร็จรูปหลายตัวในเครือได้ เนื่องจากล่าสุดนี้
สหกรุ๊ปได้ปรับระบบการจัดจำหน่ายใหม่โดยเริ่มต้นที่ บะหมี่ยี่ห้อเมียวโจ้ ซึ่งแต่เดิมทางบริษัท
สหพัฒนเป็นผู้จัดจำหน่าย แต่ได้เปลี่ยนเป็น บริษัทดีทแฮล์ม (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามารับผิดชอบจัดจำหน่ายแทน
ซึ่งดีทแฮล์มนี้ก็เคยจะเป็นผู้จัดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ ฟอร์มี แล้ว
แต่ก็เกิดการเปลี่ยน แปลงภายหลังยังไม่ทันได้ทำอะไรเป็นจริงเป็นจัง
ก่อนหน้านี้ บะหมี่ยี่ห้อฟอร์มีซึ่งเป็นการร่วมทุน ระหว่างกลุ่มสหกรุ๊ปกับเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่และนายไพบูลย์
ดำรงชัยธรรม ก็ให้ทางไทยเพรซิเดนท์ฟู้ด เป็นผู้ผลิตและให้ทางไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นผู้จัดจำหน่าย
ได้ปรับยุทธศาสตร์ใหม่หลังจากที่นายไพบูลย์และกลุ่มแกรมมี่ได้ถอนหุ้นออกไป ซึ่งในที่สุดก็เปลี่ยนมาเป็นทางสหพัฒนพิบูลเป็นผู้จัดจำหน่ายส่วนทางไอ.ซี.ซีจะเป็นผู้ทำการตลาดให้
แหล่งข่าวกล่าวว่า การที่หลายยี่ห้อที่ร่วมทุนกับสหกรุ๊ปมีส่วนแบ่งตลาดเล็กน้อยน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
โดยเฉพาะในระบบการจัดจำหน่าย ด้วยการแยกบริษัทใหม่รับผิดชอบที่ไม่ซ้ำกันกับสินค้าในเครือของสหกรุ๊ป
และเชื่อว่าเมื่อมีรายแรกอย่างเมียวโจ้แล้วน่าจะมีรายต่อไปเกิดขึ้นอีก
กรณีของเมียวโจ้น่าจะตอบโจทย์ได้ดีในระดับหนึ่ง เพราะว่าเมียวโจ้ซึ่งเป็นแบรนด์ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสหกรุ๊ปกับบริษัท
เมียวโจ้ ฟู้ดส์ เจแปน ได้ยุบฐานการผลิตในต่างประเทศทั้งสิงคโปร์ และมาเลเซีย เพื่อย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยให้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก
ขณะที่ในญี่ปุ่นเป็นฐานผลิต ขายในประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก พร้อมกับการทุ่มเงินลงทุนในไทยอีกกว่า
100 ล้านบาท และเพิ่มสัดส่วน การถือหุ้นจากเดิม 20% เป็น 35% ที่ร่วมทุนกับกลุ่มสหกรุ๊ป
เนื่องจากต้องการรุกตลาดในไทยมากขึ้น
จากการเปลี่ยนแปลงนี้เองทำให้เมียวโจ้ต้องการเปลี่ยนแปลงการจัดจำหน่าย โดยหาผู้ที่อยู่
ในวงการและมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่ได้รับการยอมรับอย่างดีเข้ามารับผิดชอบแทน
เพื่อที่จะได้รุกได้อย่างเต็มที่ จากเดิมที่สหพัฒนเป็นผู้จัดจำหน่าย ซึ่งถือเป็นเกมแรกที่เกิดขึ้น
เมียวโจ้ที่ญี่ปุ่นต้องการส่วนแบ่งตลาดที่มาก กว่านี้ และเมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้จัดจำหน่ายใหม่แล้ว
ความเคลื่อนไหวด้านกลยุทธ์อื่นจึงตามมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเพิ่มรสชาติใหม่ๆให้กับเมียวโจ้ซันมัยมากขึ้น
ส่วนเมียวโจ้ราเมนนั้นก็จะเพิ่มรสชาติเช่นกัน ส่วนเมียวโจ้ตำรับไทยคงจะเลิกการทำตลาด
และปล่อยให้ชื่อนี้หายไปเอง เนื่องจากไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร พร้อมกับการทุ่มเม็ดเงิน
20 ล้านบาทในการทำตลาดเต็มที่
เมียวโจ้น่าจะเป็นฉากแรกที่มีการรื้อระบบจัดจำหน่ายใหม่อย่างชัดเจนของสหกรุ๊ปในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ซึ่งหากประสบผลสำเร็จด้วยดี เชื่อได้แน่ว่า สหกรุ๊ปต้องเปิดทางให้สหพัฒนเปลี่ยนเกมใหม่
แน่นอนด้วยการทยอยให้บริษัทอื่นรับผิดชอบแทน