สมาคมประเมินค่าทรัพย์สินฯ ประเมินค่าก่อสร้างอาคารปี 52 พบ บ้านไม้ปรับขึ้น 6-6.5% เหตุไม้หายาก ส่วนค่าก่อสร้างประเภทอื่นปรับลงทุกประเภท 1.0-8.7% เหตุต้นทุนเหล็กปี 51 ลดลงกว่า 50% ส่วนปี 52 แม้ราคาเหล็กขึ้น 8% แต่วัสดุก่อสร้างประเภทอื่นทรงตัว ส่งผลค่าก่อสร้างลดไม่มาก
สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ได้ประกาศราคาค่าก่อสร้างอาคาร ปี 2552 ขึ้นใหม่ ซึ่งพบว่าราคาค่าก่อสร้างอาคารโดยรวม ปรับลดลงเกือบทุกประเภท ยกเว้น บ้านไม้ ที่ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 6.0-6.5% จากปี 2551 เช่น บ้านเดี่ยวไม้ชั้นเดียวราคาค่าก่อสร้างต่ำสุด 9,200 บาท/ตร.ม. ราคาปานกลาง 10,700 บาท/ตร.ม. และราคาสูง 12,000 บาท/ตร.ม.ปรับขึ้น 6% , บ้านเดี่ยวไม้ 2 ชั้น ต่ำสุด 8,000 บาท/ตร.ม. ราคาปานกลาง 10,100 บาท/ตร.ม. และราคาสูง 11,600 บาท/ตร.ม. ปรับขึ้น 6.5%
ส่วนอาคารต่อไปนี้ ราคาค่าก่อสร้างปรับลดลงจากปี 2551 ทุกประเภท ได้แก่ บ้านเดี่ยวตึกชั้นเดียว ราคาค่าก่อสร้างต่ำสุด 10,200 บาท/ตร.ม., ราคาปานกลาง 11,600 บาท/ตร.ม. และราคาสูง 13,200 บาท/ตร.ม. ปรับลง -1.4%, บ้านเดี่ยวตึก 2-3 ชั้น ราคาค่าก่อสร้างต่ำสุด 9,300 บาท/ตร.ม., ราคาปานกลาง 10,800 บาท/ตร.ม., ราคาสูง 13,200 บาท/ตร.ม. ปรับลง -1.5%
สำหรับทาวน์เฮาส์ชั้นเดียว ราคาค่าก่อสร้าง 6,900 บาท/ตร.ม. ราคาปานกลาง 8,400 บาท/ตร.ม. ราคาสูง 9,100 บาท/ตร.ม. ปรับลง –2.4%, ทาวน์เฮาส์ 2-3 ชั้นหน้ากว้าง 4 เมตร ราคาต่ำ 6,800 บาท/ตร.ม. ราคาปานกลาง 8,200 บาท/ตร.ม. และราคาสูง 9,700 บาท/ตร.ม. ราคาปรับลง -2.4%, อาคารพาณิชย์ 2-3 ชั้น ราคาค่าก่อสร้างต่ำ 6,000 บาท/ตร.ม. ราคาปานกลาง 7,100 บาท/ตร.ม. ราคาสูง 8,300 บาท/ตร.ม. ราคาปรับลดลง -2.8%
กรณีอาคารชุด อาคารพักอาศัยไม่เกิน 5 ชั้น ราคาต่ำ 9,500 บาท/ตร.ม. ราคาปานกลาง 11,900 บาท/ตร.ม. ราคาสูง 13,500 บาท/ตร.ม. ราคาปรับลง -1.4%, อาคารพักอาศัย 6-15 ชั้น ราคาค่าก่อสร้างต่ำสุด 11,400 บาท/ตร.ม. ราคาปานกลาง 15,300 บาท/ตร.ม. ราคาสูง 18,300 บาท/ตร.ม. ราคาปรับลง -1.4%, อาคารพักอาศัย 16-25 ชั้น ราคาค่าก่อสร้างต่ำสุด 15,300 บาท/ตร.ม., ราคาปานกลาง 19,000 บาท/ตร.ม. ราคาสูง 24,500 บาท/ตร.ม. ราคาปรับลง -1.5%
นายโสภณ พรโชคชัย ในฐานะเลขานุการคณะทำงานกำหนดราคาค่าก่อสร้างอาคาร สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินฯ กล่าวว่า ในกรณีที่บ้านไม้ราคาเพิ่มขึ้น เพราะไม้หายากขึ้นทุกวัน นอกนั้นอาคารเกือบแทบทุกรายการราคาค่าก่อสร้างลดลงเป็นครั้งแรก นับแต่การจัดทำราคาที่เทียบตั้งแต่ปี 2539, 2543 จนถึงปัจจุบัน อาคารที่มีค่าก่อสร้างลดลงสูงสุดคือ สนามเทนนิส และอาคารจอดรถส่วนบนดิน ที่ลดลงไปประมาณ 8.4-8.7% ที่ลดหลั่นรองลงมาได้แก่ อาคารโกดัง-โรงงานทั่วไป ซึ่งลดลง 6.8% และอาคารจอดรถส่วนใต้ดิน (1-2 ชั้น) ลดลง 5.5% ทั้งนี้เพราะอาคารเหล่านี้ใช้เหล็กเป็นวัสดุก่อสร้างสำคัญ และเหล็กได้ลดราคาลงเหลือเพียงครึ่งเดียว จากเดิมในปี 2551 การที่เหล็กลดราคาลงเช่นนี้ก็เพราะการก่อสร้างต่าง ๆ ทั่วโลกชะลอตัวลงเพราะพิษเศรษฐกิจโลก ความต้องการเหล็กจึงลดลงอย่างมาก
สำหรับอาคารประเทศอื่น ๆ ที่ปรับลดลงไม่มาก ส่วนมากเป็นอาคารขนาดใหญ่ ได้แก่ อาคารพักอาศัย 16-25 ชั้น ลดลง 1.5% อาคารพักอาศัย 26-35 ชั้น ลดลง 1.2% อาคารธุรกิจสูง <23 เมตร ลดลง 1.2% อาคารธุรกิจสูง >23 เมตรแต่ไม่เกิน 20 ชั้น ลดลง 1.0% อาคารศูนย์การค้าสูง 4 ชั้นขึ้นไป ลดลง 0.9% และอาคารธุรกิจ 21-35 ชั้น ลดลง 0.5%
นายโสภณ กล่าวต่อว่า นับแต่มิถุนายน-กันยายน 52 เห็นว่า ราคาค่าก่อสร้างมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยราคาเหล็กปรับขึ้นกว่า 8% ส่วนราคาปูนซีเมนต์ยังเท่าเดิม ดังนั้น ราคาค่าก่อสร้างจึงไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด บัญชีราคาค่าก่อสร้างที่สมาคมประกาศใช้สำหรับเดือนมิถุนายน จึงยังไม่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติม
|