กระทรวงการคลังเร่งศึกษาแนวทางปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลบริษัทน้ำมัน เตรียมชงเข้าครม.หลังการประชุมสุดยอดผู้นำนี้
ล่าสุดกรมสรรพากรกำลังศึกษารูปแบบการจูงใจด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี และผลดี-ผลเสียของแต่ละแนว
ทางให้กระทรวงการคลังพิจารณา
นายพัฒเดช ธรรมจารีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าทางด้านการปรับลดภาษีเพื่อการส่งเสริมยุทธศาสตร์พลังงานแห่งชาติให้ประเทศไทยป็นศูนย์กลางการค้าพลังงานในภูมิภาคว่าขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางในการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับบริษัทน้ำมัน โดยคาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปเพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
(ครม.) เพื่อพิจารณาได้หลังการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก หรือเอเปกซัมมิต ที่จะถึงในเดือนตุลาคมนี้
ขณะที่ แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร กล่าวว่าแนวทางในการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับบริษัทผู้ค้าน้ำมันเพื่อเป็นการจูงใจให้บริษัทเหล่านี้มาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดนั้น
น่าจะเป็นการลดภาษีให้กับบริษัทค้าน้ำมันที่ทำธุรกิจการค้าแบบ out-out คือ การนำเข้าน้ำมันดิบมาเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปแล้วส่งออกจำหน่าย
หรือ โดยการปรับลดภาษีลดลงจาก 30% เป็น 10% เช่นเดียวกับการค้าน้ำมันดิบแบบในตลาดสิงคโปร์
แหล่งข่าวกล่าวว่าปัจจุบันประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีภาษีต่ำสุด คือ อยู่ที่ระดับ
10% ดังนั้นหากประเทศไทยปรับลดอัตราภาษีลงมาให้เท่ากับ 10% เช่นเดียวกับสิงคโปร์
ถือว่าเป็นการจูงใจบริษัทต่างประเทศมากพอสมควร เพราะแม้ว่าระดับภาษีเท่ากัน แต่ต้นทุนทางการขนส่งต่างๆ
ของประเทศไทยต่ำกว่าสิงคโปร์ค่อนข้างมาก ดังนั้น การจะเข้ามาลงทุนในไทยย่อมได้เปรียบกว่า
ทั้งนี้ การปรับลดภาษีดังกล่าวลงเหลือ 0% นั้น จะส่งผลเสีย 2 ประการ คือ ประการแรก
ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้ค่อนข้างมาก แต่หากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะจูงใจนักลงทุน
ต่างประเทศ และกล้าที่จะยอมสูญเสียรายได้ก็สามารถดำเนินการได้ทันที ประการที่สอง
การยกเว้นภาษีเหลือ 0% อาจจะทำให้การเกิดธุรกรรมการฟอกเงินได้ง่ายขึ้น เพราะบริษัทที่ทำการฟอกเงินจะไม่มีต้นทุนการโอนเงินที่เกิดจากภาษีในการสร้างรายการซื้อขาย
"หากบริษัทค้าน้ำมันไม่ต้องเสียภาษีจากการซื้อขายน้ำมัน อาจจะไม่มีการนำเข้าส่งออกน้ำมันจริง
แต่สร้างรายการซื้อขายเพื่อให้เกิดการโอนเงิน แต่หากมีการจ่ายภาษีจะทำให้บริษัทต้องได้รับการตรวจสอบที่มาที่ไปของรายได้และการทำธุรกรรมต่างๆ" แหล่งข่าวกล่าว
ล่าสุด กรมสรรพากรกำลังอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการจูงใจด้วยสิทธิประโยชน์ทาง
ภาษีในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะมีการเสนอความเห็นในหลายรูปแบบ รวมทั้งผลดีผลเสียของแต่ละแนวทาง
ให้กระทรวงการคลังและรัฐบาลพิจารณา หลังจากนั้นรัฐบาลจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งที่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด
แผนยุทธศาสตร์พลังงานเพื่อการแข่งขันของประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้า พลังงานในภูมิภาคเอเชียเป็นการประหยัด
พลังงานในระยะ 10 ปี คือระหว่างปี พ.ศ 2550- 2560 ที่ระบุเป้าหมายการใช้พลังงานต่อจีดีพี
ให้ลดลงจาก 1.4 ต่อ 1 เหลือเป็น 1 ต่อ 1 เพื่อ ให้ไทยประหยัดการใช้พลังงานได้สูงถึง
3.1 ล้านล้านบาท และสามารถลดการใช้พลังงาน ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 12% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าของประเทศ
และในระยะเวลา 6 เดือน จะมีการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่อจัดตั้งเขตส่งออกพิเศษเพื่อให้สามารถนำน้ำมันที่กลั่นได้แต่ไม่สามารถขายได้ในประเทศไทย
มาผ่านกระบวนการใหม่ โดยให้กระทรวงการคลังผ่อนปรนเรื่องภาษีเพื่อการส่งออกถูกกฎหมาย
รวมทั้งแก้กฎหมายต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการค้าน้ำมัน