Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2531
ยกเครื่องโรลส์-รอยซ์ รักษาความคลาสสิกและวิ่งตามโลกให้ทัน             
 


   
search resources

Auto Dealers
วิคเกอร์
ปีเตอร์ เวิร์ด




เดนนิส โจนส์ (DENNIS JONES) เป็นช่างประกอบหม้อน้ำรถยนต์โรลส์-รอยซ์ (ROLLS-ROYCE) ซึ่งตั้ง ณ เมืองครูว์ แขวงเชเชียร์ ตลอดช่วง 17 ปีที่ประจำการมา เขาผลิตผลงานได้เกือบ 6,000 ชิ้น โดยยังไม่เคยใช้วัสดุตามแบบมาตรฐานทั่วไปเลยสักชิ้น หม้อน้ำรถทุกคันของทางบริษัทได้รับการออกแบบประดิษฐ์ขึ้นเป็นการเฉพาะ เน้นให้มีลักษณะโค้งมนตามหลักการที่คาลลิเครตีส (KALLI KRATES) ใช้สร้างวิหารพาเธนอน ซึ่งเชื่อว่าเส้นตรงหรือพื้นผิวแบนราบไม่เอื้อต่อแสงเงา โจนส์สามารถทำให้ชิ้นงานของเขาเล่นเงาจับตาได้ด้วยการคงความโค้งกลมกลึงเอาไว้ตามหลักเช่นว่านี้เอง

โจนส์คือภาพลักษณ์แห่งมาตรฐาน ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมของบริษัทผู้ผลิตรถ "โรลเลอร์" ซึ่งคนส่วนใหญ่ล้วนยอมรับโดยไร้ข้อกังขาว่า เป็นรถยี่ห้อดีเลิศของโลก โรลส์รอยซ์โอ้อวดเช่นนี้ได้เต็มปากด้วยผลงานตลอดระยะ 80 ปีที่ก่อตั้งบริษัท เพราะรถคุณภาพเยี่ยมไร้ตำหนิที่ผลิตออกมาเป็นที่ปรารถนาของผู้ลงชื่อสั่งจองเรื่อยมา แต่เมื่อ 5 ปีที่แล้วทางบริษัทตกอยู่ในสภาพเฉียด ๆ จะล่มจม จึงต้องเปลี่ยนมือให้นักการตลาดเข้ามาบริหารกิจการแทนเพื่อกอบกู้ฐานะเอาไว้ให้ได้ ปีเตอร์ เวิร์ด (PETER WARD) ประธานฝ่ายบริหารของโรลส์-รอยซ์ยืนยันว่า "ฝ่ายการตลาดพร้อมจะดำเนินแผนการตลาดให้ ถ้าหากทางวิศวกรเขาประสงค์?"

ความสำเร็จของนโยบายเยี่ยงนี้จะพิสูจน์ให้ประจักษ์ชัดอีกวาระ เมื่อทางวิคเกอร์ (VICKER) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของโรลส์-รอยซ์มาตั้งแต่ ค.ศ. 1980 จะแถลงผลการดำเนินงานประจำปีให้ทราบกันในเร็ว ๆ นี้ บริษัท วิคเกอร์มีสายผลิตภัณฑ์อยู่หลายหลากประเภท ตั้งแต่แผ่นเพลทสำหรับใช้กับกล้องจุลทัศน์อิเล็คตรอนไปจนกระทั่งถึงรถถังที่ใช้ในสมรภูมิรบ แต่กระนั้นก็ตามสินค้าตัวที่ทำการให้แก่บริษัทได้สูงสุดก็คือ รถโรลส์-รอยซ์ ในปี 1986 โรลส์-รอยซ์ทำยอดกำไรก่อนหักภาษีได้ 17.5 ล้านปอนด์ เท่ากับร้อยละ 10 ของรายได้จากห้องแสดงสินค้า และคิดเป็นร้อยละ 30 ของยอดกำไรของทางวิคเกอร์โดยรวม ปีที่ผ่านมาปริมาณการผลิตรถทวีขึ้นจาก 200 เป็น 2,800 คัน และมีแนวโน้มว่าผลกำไรต่อคันจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 7 รายชื่อสั่งจองรถล่วงหน้าในอังกฤษยืดเยื้อต่อเนื่องไปจนถึงปี 1989 เลยทีเดียว

เวิร์ด หนุ่มวัย 42 ผู้นำคณะบริหารโรลส์-รอยซ์ที่รับผิดชอบต่อผลลัพธ์นี้โดยตรงย้ายจากทัลบอทมอร์เตอรส์ (TALBOT MOTORS) มาสู่โรลส์-รอยซ์เมื่อปี 1983 ก่อนหน้านั้นเขาเคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายอยู่ที่บริษัทบีแอลส์ยูนิพาร์ท (BL'S UNIPART) จากอดีตนักขายเครื่องอะไหล่กลับเข้ามารับภาระบริหารอุตสาหกรรมแสนโอ่อ่า ที่ภาคภูมิใจกันกับการผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์จำนวน 80,000 ชิ้นขึ้นเองถึงร้อยละ 62 ผลิตเองแม้กระทั่งชิ้นส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างวงแหวนรองตัวน็อตและตัวสลักเกลียว

สถานการณ์ค่อนข้างย่ำแย่ของบริษัทปะทุขึ้นในปี 1983 เนื่องมาจากการประเมินปริมาณการผลิตคลาดเคลื่อน และการจัดการผิดพลาดจนผลกำไรตกฮวบเหลือเพียง 1.1 ล้านปอนด์เท่านั้น บรรดาตัวแทนจำหน่ายพากันตระหนกต่อยอดขายที่ลดลงเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องไม่น่าเกิดขึ้นได้ ปีนั้นคนงานจำนวน 2,800 คนต้องเลิกทำงานไปนานถึง 5 สัปดาห์ ถือเป็นการให้หยุดงานอย่างจริงจังหนแรกในระยะ 23 ปีที่ผ่านมา วิกฤติการณ์ครั้งนี้เป็นที่ตื่นตะลึงในหมู่นักสังเกตการณ์อย่างยิ่ง หนังสือไฟแนนเชียลไทมส์ (FINANCIAL TIMES) รายงานบรรยากาศเอาไว้ว่า "รอบเขตโรงงานระอุด้วยความขุ่นเคืองและทุกถ้อยสนทนาเจือด้วยน้ำเสียงคัดค้าน" เนื่องจากวิกฤตเยี่ยงนี้ไม่เคยเป็นที่คาดฝันว่าจะเกิดขึ้นกับบริษัทที่บรรดาคนงานผูกพันภักดีสืบมาหลายชั่วอายุคน เป็นบริษัทที่บุตรชายเคยตามรอยเท้าบิดาเข้ามาทำงานด้วยความภูมิอกภูมิใจมาก่อน

ตั้งแต่นั้นมางานกว่า 2,000 ตำแหน่งก็ถูกยกเลิกทิ้งไป โดยที่เหล่าคนงานประมาณกว่า 4,000 คนที่ถูกเลิกจ้าง ได้รับการแถลงให้ทราบเป็นครั้งสุดท้ายถึงรายละเอียดทางการเงินที่ทางบริษัท ถือว่าเป็นเรื่องลับสุดยอดในที่ประชุมประจำเดือนก่อนออกกันไปราวกลางปีนี้งานในฝ่ายผลิตก็จะ "ว่ากันสด ๆ" ด้วยการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงไปยังห้องแสดงสินค้าของตัวแทนจำหน่ายรายต่าง ๆ ทางโรงงานจะสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยวิธีการอันทรงประสิทธิภาพ ซึ่งส่อนัยให้เห็นว่า ในที่สุดโรลส์-รอยซ์ก็ได้เรียนรู้แล้วว่า การตลาดจำต้องร่ายกลยุทธเบิกทางให้แก่ตัวสินค้า

โรลส์-รอยซ์เริ่มขยายและเบนตำแหน่งครองใจไปยังกลุ่มลูกค้าอีกลักษณะหนึ่ง จากภาพลักษณ์ดึงดูดใจเศรษฐีเก่าที่สะท้อนออกมาด้วยการใช้พวกดารายอดนิยมหรืออื่น ๆ ในทำนองนั้นเป็นสื่อมาเป็นกลุ่มเศรษฐีใหม่และครอบคลุมไปถึงบรรดาพวกที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาอย่างสุ่มเสี่ยงด้วย แผนการโฆษณาที่ทางบริษัทบรู๊คส์แอนด์เวอร์นอนส์ (BROOKES AND VERNONS) เป็นตัวแทนรับทำให้แก่โรลส์-รอยซ์นั้นวางตำแหน่งครองใจไว้ที่ตลาดกลุ่มนี้อย่างเห็นได้ชัด โดยใช้ถ้อยคำยั่วยุใจเศรษฐีใหม่ อย่างเช่น "อย่าเขินที่จะเป็นเจ้าของโรลส์-รอยซ์สักคันถือว่ามันคือเครื่องประดับความมานะบากบั่นแก่คุณเถิด"

ด้านตัวแทนจำหน่ายนั้น เวิร์ดเป็นผู้เลือกเฟ้นตัดทอนลงจาก 72 เหลือเพียง 38 รายเท่านั้น ทั้งยังสร้างเรื่องชวนพิศวงด้วยการส่งเสริมการขายรถมือสอง แทนที่จะเป็นรถใหม่เอี่ยม เพื่อคงยอดจำหน่ายไม่ให้ลดลง นอกจากนี้เขายังเร่งมือในการเจาะตลาดสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ตัวแทนจำหน่ายโรลส์-รอยซ์ในแมนฮัตตันยืนยันว่า ทำยอดขายได้ไม่เกินปีละ 35 คัน แต่เวิร์ดไม่สนใจขีดจำกัดที่ว่า เขาตรงไปเจรจากับเจ้าของโกดังสินค้าย่านใจกลางเมืองที่ค้ารถโรลส์-รอยซ์ซึ่งสั่งเข้าจากแคนาดามาค้าแบบกึ่งตลาดมืด แล้วเสนอข้อตกลงทำสัญญากันไว้ ปรากฏว่าบัดนี้ไมเคิล ชูดรอฟฟ์ (MICHEAL SCHUDROFF) ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายที่มีอำนาจเต็มตามสิทธิ์ประจำสาขานิวยอร์ก สามารถทำยอดขายรถให้ได้ถึง 175 คันเมื่อปีก่อน

ทางบริษัทเร่งปลุกเร้าแผนการตลาดใหม่ ๆ ชนิดที่ไม่เคยนึกฝันกันมาก่อนเลยอย่างเต็มที่ พยายามครองใจลูกค้าด้วยกิจกรรมประเภทยิงเป้านิ่ง แข่งโปโลสุดสัปดาห์ และงานเลี้ยงค็อกเทล ประกอบกับจัดพิมพ์นิตยสารรายสัปดาห์รูปเล่มหรูชื่อ เควสต์ (QUEST) แจกให้แก่ผู้ใช้รถโรลส์และรถเบนท์ลีย์ (BENTLEY) ตลอดจนผู้ที่สนใจทั่วไป

ไม่มีอะไรเร่งปลุกเร้าแผนการตลาดใหม่ ๆ ชนิดที่ไม่เคยนึกฝันกันมาก่อนเลยอย่างเต็มที่ พยายามครองใจลูกค้าด้วยกิจกรรมประเภทยิงเป้านิ่ง แข่งโปโลสุดสัปดาห์ และงานเลี้ยงค็อกเทล ประกอบกับจัดพิมพ์นิตยสารรายสัปดาห์รูปเล่มหรูชื่อเควสต์ (QUEST) แจกให้แก่ผู้ใช้รถโรลส์และรถเบนท์ลีย์ (BENTLEY) ตลอดจนผู้ที่สนใจทั่วไป

ไม่มีอะไรสะท้อนทัศนะใหม่ของโรลส์-รอยซ์ได้แจ่มแจ้งเท่ากับการเข็นรถเบนท์ลีย์กลับคืนสู่ตลาดอีกครั้งแล้วช่วงต้นทศวรรษ 1980 เบนท์ลีย์แทบไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับโรลส์ เมื่อปี 1982 รถยี่ห้อนี้ทำยอดขายให้ทางบริษัทได้เพียงร้อยละ 4 ของรายได้บริษัทเท่านั้น ระหว่างที่เวิร์ดนั่งรถไฟจากครูว์ไปลอนดอน จู่ ๆ เขาก็คิดตกว่าจะวางตลาดรถเบนท์ลีย์ในกลุ่มลูกค้าที่ประสงค์จินตภาพแบบลำลองในราคาที่ย่อมเยาลงสักหน่อย เขาออกตัวว่า "นักการตลาดที่ตาบอดหรือมือไม่ถึงเท่านั้นที่นึกไม่ออกว่า เบนท์ลีย์เคยมีชื่อแค่ไหนในอดีต" รถเบนท์ลีย์เคยกวาดชัยชนะในการแข่งรถประเภท 24 ชั่วโมงของเลอมังส์ (LE MANS) ปีแล้วปีเล่าตลอดการแข่งขันช่วงทศวรรษ 1920 ทางบริษัทจึงพยายามปลุกชื่อเสียงอันเคยครึกโครมในอดีตกาลกลับคืนมาใหม่ ถึงกับยอมใช้แผ่นตะแกรงหน้าหม้อน้ำแบบมาตรฐานทั่วไปสำหรับรถรุ่นที่ราคาต่ำสุด คือ เบนท์ลีย์ 8 ในช่วงปีที่แล้วเบนท์ลีย์ทำยอดขายสูงถึงร้อยละ 48 ของยอดจำหน่ายโรลส์-รอยซ์ในอังกฤษ และบุกตลาดสหรัฐอเมริกาตลอดจนญี่ปุ่นได้อย่างสวยงาม

มือบริหารที่ผลักดันอยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ ล้วนเพิ่งเข้ามาทำงานที่นี่ใหม่ทั้งนั้น คณะกรรมการระดับบริหารของบริษัทเปลี่ยนตัวกันใหม่หมดในชั่วเวลาเพียง 4 ปีที่ผ่านมา น่าจะให้คนนอกเข้าใจไปหรอกว่า บริษัทรถยนต์ชั้นนำแห่งนี้ถูกยำใหญ่โดย "เจ้าพ่อ" จากหลาย ๆ บริษัทรถเสียแล้ว ผู้จัดการฝ่ายการตลาดคือเวิร์ด ย้ายมาจากทัลบอท มอเตอรส์ เมื่อปี 1986 เขาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานคณะบริหาร โดยควบเอาตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบริหารไว้พร้อม ๆ กัน ในบริษัทที่ยังถือแบบแผนพิธีรีตองอย่างเหนียวแน่นเช่นนี้ การทะยานก้าวของเขาถือว่าควรต้องจับตามองอย่างยิ่ง

ไมค์ ดันน์ (MIKE DUNN) ผู้เคยคุมงานด้านพัฒนาผลผลิตที่บริษัทฟอร์ด (FORD) ย้ายเข้ามาเป็นผู้จัดการแผนกวิศวกรรมเมื่อปี 1983 เค็น เลีย (KEN LEA) เคยเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตที่บริษัทเลย์แลนด์วีเคิลส์ (LEYLAND VEHICLES) เพิ่งเข้ามาทำงานกับโรลส์-รอยซ์ในตำแหน่งเดิมเมื่อปีที่แล้วนี้เอง มัลคอล์ม ฮาร์ท (MALCOLM HART) อดีตผู้จัดการสาขาจากบริษัทออสตินโรเวอร์ (AUSTIN ROVER) เข้ารับช่วงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดต่อจากเวิร์ดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1986 ส่วนอีกคนที่เพิ่งมาจากสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่แล้วคือโฮเวิร์ด โมเชอร์ (HOWARD MOSHER) ผู้จัดการฝ่ายวางแผนผลผลิตและควบคุมกำหนดการผลิตคนใหม่ เขาได้เอ็มบีเอมาจากมหาวิทยาลัยบอสตัน ทำงานอยู่กับบริษัทอเมริกันมอเตอร์ส (AMERICAN MOTORS CORPORATION) อยู่นาน 12 ปี จากนั้นก็มาเป็นรองประธานฝ่ายการตลาดของโรลส์-รอยซ์ภาคพื้นอเมริกา ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งนี้ในที่สุด

ผู้บริหารชุดนี้อันได้แก่ โมเชอร์ อายุ 41 ปี เลีย 48 ฮาร์ทจะครบ 50 เดือนนี้ ส่วนดันน์มีอาวุโสที่สุดคืออายุ 52 ปี ช่างดูเป็นรูปลักษณ์ที่แปลกไปจากผู้บริหารหน้าเก่าของบริษัทไม่น้อย เพราะพวกนั้นล้วนแต่เป็นลูกหม้อโรลส์-รอยซ์มาแทบจะชั่วชีวิตก็ว่าได้ ตัวอย่างเช่น จิม ไซมอนส์ (JIM SYMONDS) ซึ่งทำงานที่นี่มาตั้งแต่ ค.ศ. 1966 เขาไต่เต้าขึ้นมาเป็นลำดับ จากเด็กฝึกงานมาจนกระทั่งถึงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวางแผนการผลิต และอย่างปีเตอร์ ฮิลล์ (PETER HILL) ที่เข้าทำงานหลังจิม 2 ปี จนล่าสุดเป็นผู้จัดการฝ่ายบริหารบุคคลและระบบงาน ทั้งคู่อยู่ในวัยต้น 40

คณะบริหารชุดเก่าที่นำโดยเซอร์ เดวิด พลาสโตว์ (SIR DAVID PLASTOW) ผู้กอบกู้สถานะของโรลส์-รอยซ์ไว้เมื่อคราวประสบหายนะในปี 1971 เปิดทางให้แก่คนรุ่นใหม่ด้วยการสละตำแหน่งในปี 1980 หรือทันทีที่วิคเกอร์เข้าถือช่วงดำเนินกิจการของโรลส์-รอยซ์นั่นเอง ตัวเขาย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารที่สำนักงานใหญ่ของวิคเกอร์ ณ มิลล์แบงค์ เทาเวอร์ (MILLBANK TOWER) โดยพาเอาทอม เนวิลส์ (TOM NEVILLE) ฝ่ายการเงินกับ โทนี่ แมคแคน (TONI McCANN) ฝ่ายแผนงานติดตามไปด้วย ทิ้งภาวะสูญญากาศของงานระดับบริหารเอาไว้รับสถานการณ์ พลาสโตว์เองก็ยอมรับว่า "ผมไม่ได้คาดถึงวิกฤตทางเศรษฐกิจล่วงหน้าหรอก คิดแต่ว่าพวกที่เหลือก็คงพอใช้ได้เลยตัดสินใจปลดพวกที่อายุเกือบ ๆ 60 แล้วออกเสียเพราะเห็นว่าจำเป็น ถึงแม้ผมเองจะลำบากใจมากที่ต้องทำแบบนั้นก็ตาม"

พลาสโตว์ก้าวเข้าสู่วงการด้วยตำแหน่งเด็กฝึกงานที่วอกซ์ฮอลล์ (VAUXHALL) แล้วค่อยไต่เต้ามาจนถึงโรลส์-รอยซ์ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการบริหารสูงสุดของบริษัท เขาย้อนระลึกถึงครั้งก่อนว่า "พูดถึงเชิงการค้าแล้วมันต่างกันเลยนะ แต่ก่อนไม่ค่อยมีใครสนใจจะถือหุ้นบริษัทรถเท่าไหร่นักหรอก" ก่อนที่จะประสบหายนะในเดือนกุมภาพันธ์ 1971 ทางบริษัทถูกซ้ำเติมด้วยค่าโสหุ้ยสิ้นเปลืองที่ทุ่มลงไปในการปรับปรุงเครื่องยนต์รุ่นอาร์บี 211 ที่รับผลิตให้แก่สายการบินล็อคฮีดไตรสตาร์ (LOCK HEED TRISTAR) โดยไม่คุ้มทุน จึงปรากฏว่าบริษัทต้องขาดทุนอยู่ถึง 7 ใน 10 ปี

ในฐานะที่พลาสโตว์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการแผนกชิ้นส่วนประกอบรถตอนที่อายุ 39 ช่วงก่อนที่จะบริษัทจะทรุดลงเพียง 1 สัปดาห์ เขาให้ความไว้วางใจแก่ผู้ที่จะเข้ามาช่วยกอบกู้บริษัท คือเอ็ดเวิร์ด นิโคลสัน (EDWARD NICHOLSON) เป็นอย่างยิ่ง เขาเชื่อมั่นในความสามารถของนิโคลสัน เท่าที่เห็นได้จากการตรวจเยี่ยมโรงงาน การพบปะกับสหภาพแรงงาน ว่าเป็นผู้ที่มีความอดทนตลอดจนความเข้าอกเข้าใจสูงยิ่ง พลาสโตว์เห็นว่าแม้โรลส์-รอยซ์จะเพิ่งทรุดลงไปด้วยผลกำไรที่ตกต่ำ แต่รถโรลส์แต่ละคันก็สามารถจะกลับทำงเงินคืนมาให้บริษัทได้อย่างแน่นอน เป็นเพียงต้องอาศัยเวลาเท่านั้น

นิโคลสันศึกษาแบบจำลองดินเหนียวของรถรุ่นคามาร์ก (CAMARGUE) ซึ่งพลาสโตว์ระบุว่าเด่นด้านการคุ้มครองอันตรายแก่ผู้ขับขี่ แล้วเขาก็ออกปากวิพากษ์วิจารณ์ตรงฝาครอบล้ออยู่นานสักครึ่งชั่วโมง พลาสโตว์เล่าว่า "อยู่ ๆ เขาก็มองหน้าผมแล้วบอกว่า ผมล้อคุณเล่นหรอกนะ ที่จริงมันดีมากแล้วล่ะ" นิโคลสันทำให้บริษัทหัวปั่นอยู่ 3 ปี แต่พอเดือนพฤษภาคม 1973 หลังจากวิกฤติการณ์เพิ่งล่วงผ่านไปได้เพียง 2 ปีเท่านั้น ฐานะของบริษัทก็กระเตื้องขึ้นด้วยผลกำไร 33 ล้านปอนด์ ทำให้ใบประมูลราคาซื้อช่วงกิจการที่มีบริษัทอื่นเสนอราคาให้ 30 ล้านปอนด์เป็นอันพับไป

หลังจากพลาสโตว์ขึ้นดำรงตำแหน่งใหม่ได้ 3 สัปดาห์ หรือ 2 สัปดาห์หลังวิกฤติ รถรุ่นคอร์นิช (CORNICHE) ก็ออกตลาดด้วยรูปลักษณ์หรูเลิศ วงการรถยนต์แทบไม่เชื่อตากันเลยว่ามันสามารถเจาะตลาดได้จริงจัง ในปี 1975 รุ่นคามาร์กก็ตามหลังคอร์นิชออกมา พลาสโตว์จำได้แม่นว่า "เป็นรถรุ่นที่อวดได้เลยว่าฟันกำไรถึง 90,000 ดอลลาร์ในตลาดสหรัฐอเมริกา และ 30,000 ปอนด์ในตลาดอังกฤษ นับเป็นสองเท่าของรถทุกรุ่นที่เราเคยทำได้เลยทีเดียว

พลาสโตว์นำโรลส์-รอยซ์รุดหน้าฝ่าวิกฤตการณ์การขึ้นราคาน้ำมันในช่วงทศวรรษ 1970 ได้ด้วยดี แต่ผู้ที่รับงานต่อจากเขาไม่อาจรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ได้ เวิร์ดซึ่งเพิ่งเข้ามาร่วมงานได้ไม่นานก่อนสถานการณ์เลวร้ายในช่วงปี 1983 ระบุว่า "หลายคนหลับหูหลับตาเชื่อแต่ว่า ยี่ห้อโรลส์-รอยซ์จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้กลีบดีได้เอง ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วทางบริษัทตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ เพราะมีผลิตภัณฑ์เพียงสายเดียวเท่านั้นเอง" พลาสโตว์พยายามเฟ้นหาแนวความคิดใหม่ ๆ เข้ามาปรับปรุงแก้ไขโดยตั้งให้ดิกค์ เปอร์รี่ (DICK PERRY เป็นผู้จัดการฝ่ายบริหารในปี 1982 เปอร์รี่อยู่กับโรลส์-รอยซ์มานาน เขาเคยคุมงานตัวถังรถอยู่ที่มัลลิเนอร์พาร์คเวิร์ด (MULLINER PARK WARD) ในลอนดอน (ต่อมาช่วงปี 1984-1986 เขาได้เลื่อนขึ้นเป็นประธานคณะบริหาร)

เปอร์รี่วิเคราะห์ข้อบกพร่องได้ในทันทีทันใด เขาพบว่าอุตสาหกรรมแห่งนี้ ซึ่งมีสหภาพแรงงานสังกัดอยู่ถึง 14 องค์กร กำลังถูกกดดันอยู่ด้วยแนวปฏิบัติประเภทเดียวกับที่เป็นพิษต่อวงอุตสาหกรรมทั่วไปของอังกฤษนั่นเอง ระบบการจัดการล้าสมัยเหลือกำลัง ยังใช้ระบบจ่ายค่าแรงตามชิ้นงานที่ทำได้ แต่ไม่มีมาตรการตรวจสอบผลงานว่าสำเร็จสมบูรณ์อย่างไร ระบบควบคุมพัสดุมีก็เหมือนไม่มี จัดว่าเป็นลักษณะที่ไม่เข้าท่าอยู่แล้วแม้ในช่วงที่กิจการราบรื่นดี และสำหรับช่วงที่กิจการซวดเซด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเข้าก็ถือเป็นเรื่องไม่เอาไหนได้เลย การขึ้นค่าแรงเป็นอันต้องระงับไป ในช่วงนั้นคนงานแผนกผลิตทำการประท้วงโดยยื่นข้อเสนอคัดค้านระบบการขีดคั่นชนชั้นของบริษัท ซึ่งมีช่องว่างถ่างกว้างมานานนับทศวรรษแล้ว

เปอร์รี่จัดการยุบรวมห้องอาหารที่เคยแบ่งแยกออกเป็น 3 ส่วน สำหรับระดับบริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงาน และคนงานฝ่ายผลิตเข้าด้วยกัน (ปัจจุบันห้องอาหารรวมแห่งนี้ยังคงใช้ชื่อว่า ดิสก์คาเฟ่) เขาปลดนาฬิกาที่ตั้งคุมไว้ที่ฝ่ายผลิตออกเสียด้วย ระหว่างช่วงนั้นผู้ปฏิบัติงานทุกคนจำเป็นต้องทำงานกันเต็มไม้เต็มมือ เพื่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ต่างก็รู้ซึ้งว่าเป็นยอดอยู่ในตลาดโลกก็แต่เพียงด้านชื่อเสียงเท่านั้น

ถ้าอยากรู้จักโรลส์-รอยซ์ให้ลึกซึ้งก็จำเป็นต้องมองย้อนกลับไปยังประวัติความเป็นมาของมัน กระเทาะเข้าไปถึงแก่นของหลักการที่เหล่าวิศวกรของบริษัทยึดมั่น ที่จะเนรมิตแต่ยวดยานชั้นเยี่ยมเท่านั้น ต้องเข้าใจให้ซึ้งถึงแรงดึงดูดใจให้กล้าเสี่ยง แรงกระตุ้นให้เกิดพลังสร้างสรรค์ตลอดจนแนวทางและจุดมุ่งหมายของบริษํท รวมถึงกระทั่งสัญลักษณ์อักษรอาร์คู่อันเลื่องลือ และทุกสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นโรลส์-รอยซ์

แล้วจะเข้าใจอย่างซาบซึ้งว่า ปีเตอร์ เวิร์ดได้สืบทอดคำมั่นที่เคยมีผู้ลั่นวาจาไว้เมื่อ ค.ศ. 1904 ณ โรงแรมมิดแลนด์ (MIDLAND HOTEL) แขวงแมนเชสเตอร์ คำมั่นที่นักขายให้ไว้แก่วิศวกรที่เพิ่งรู้จักหน้าค่าตากัน คำมั่นที่ชาร์ลส์ สจ๊วร์ต โรลส์ (CHARLES STEWART ROLLS) ผู้สืบตระกูลขุนนางมอบแก่เฟรเดอริค เฮนรี่ รอยซ์ (FREDERICK HENRY ROYCE) นายช่างหนุ่มว่า เขายินดีจะซื้อรถทุก ๆ คันที่เป็นฝีมือสร้างของรอยซ์ โรลส์อยู่ในตระกูลเศรษฐีเก่ารุ่นที่กำลังต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่ เขาเป็นบุตรขุนนางเก่า รู้ดีว่าในอีกไม่ช้าไม่นานชนระดับตนนั้นต้องซื้อหารถชนิดไม่ใช้ม้าเทียมเอาไว้ใช้แล้ว บางทีอาจจะต้องซื้อไว้นับเป็นร้อยคันก็เป็นได้

โรลส์เป็นบุคคลประเภทที่ต้องเป็นที่หนึ่งในทุกกรณีเสมอ (ดูแต่ข้อตกลงที่ระบุกันไว้ว่าชื่อยี่ห้อรถห้ามขึ้นต้นด้วยรอยซ์ก่อนโรลส์เป็นอันขาดเถอะ) เขาเป็นคนที่ 5 ในอังกฤษที่มีรถยนต์ใช้ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนที่ทรินิตี้คอลเลจ และเป็นนักศึกษาเคมบริดจ์ในช่วงทศวรรษ 1890 ด้วยซ้ำ ปี 1900 โรลส์ขับแพนเฮิร์ด (PANHARD) 12 แรงม้าชนะการแข่งรถบริติชเทาซันด์ไมลส์ (BRITISH THOUSAND MILLESTRIAL) ซึ่งจัดเป็นการแข่งขันที่สามารถกระตุ้นวงการรถยนต์ในอังกฤษให้ตื่นตัวกันอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรก

เขาตั้งห้องแสดงสินค้าขึ้นมาแห่งหนึ่งที่ถนนคอนดุยท์ แถบเมย์แฟร์ (ซึ่งทางโรลส์-รอยซ์ยังใช้ดำเนินการมาจนกระทั่งทุกวันนี้) ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายรถโดยช่วงแรกสั่งรถแพนเฮิร์ด (PANHARD) และรถมิเนอร์วัส (MINERVAS) เข้ามาขาย แต่ต่อมาในปี 1904 เขาเกิดไปประทับใจรถขนาด 10 แรงม้าที่รอยซ์ทดลองสร้างขึ้นมาเข้า

รอยซ์นั้นเป็นลูกเจ้าของโรงสีจน ๆ ธรรมดา เขาเคยเป็นช่างทำโคมไฟบ้าง ทำเครื่องไดนาโมบ้าง จนกระทั่งประสบความสำเร็จในฐานะนักธุรกิจสมัยใหม่ เขาซื้อรถยนต์คันแรกตามคำแนะนำของแพทย์ประจำตัว เป็นรถเฟรนช์เดอโควิลล์ (FRENCH DECAUVILLE) แต่เกิดเชื่อมือตัวเองว่าต้องทำได้ดีกว่าคันที่ซื้อมาแน่ ฝ่ายโรลส์ก็ตกลงรับประกันจะดำเนินงานด้านจัดจำหน่ายให้เอง

ตอนที่ทั้งคู่ร่วมกันตั้งบริษัทเมื่อปลายปี 1906 สาธารณชนทั่วไปไม่เลื่อมใสถึงขนาดจะร่วมซื้อหุ้นด้วย จนสุดท้ายจึงได้เพื่อนของเพื่อนอีกทียื่นมือช่วยเหลือ อาเธอร์ บริกส์ (ARTHUR BRIGGS) ชาวยอร์คเชียร์เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้ถึง 1 หมื่นปอนด์ โรงงานผลิตเริ่มต้นโดยปราศจากอุปกรณ์เครื่องมือตามมาตรฐานใด ๆ ทั้งสิ้น รอยซ์กับบรรดานายช่างของเขาต้องคิดประดิษฐ์เครื่องมือนานาขึ้นมาใช้เองอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากตั้งโรงงานได้ไม่นานพวกเขาก็ตกลงใจจะเลือกผลิตเพียงแบบเดียวก่อน คือรถรุ่นซิลเวอร์โกสต์ (SILVER GHOST) และเริ่มรุกสู่ตลาดด้วยคำขวัญ "รถที่เป็นเลิศในโลก" ซึ่งขจรขจายไปทั่วด้วยแผนการโฆษณาอันวิเศษสุด กล่าวคือ ROYAL AUTOMOBILE CLUB ยอมสนับสนุนให้โรลส์เป็นผู้ทดลองการเดินทางมาราธอนรอบโลกโดยใช้รถซิลเวอร์โกสต์นี้ และรถชั้นเยี่ยมก็สามารถทำสถิติได้ถึงสองเท่าของสถิติเดิมที่ทำไว้ 14,731 ไมล์ โดยใช้เงินยกเครื่องให้คืนสภาพเหมือนรถใหม่ไปเพียง 2 ปอนด์ 2 ชิลลิ่ง 7 เพนนีเท่านั้นเอง

แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี โรลส์กลับหันไปสนใจกิจกรรมด้านการบินแทน เขาเป็นคนแรกที่บินไปกลับข้ามช่องแคบอังกฤษได้ในเที่ยวบินเดียว เขารบเร้าให้คณะกรรมการของโรลส์-รอยซ์จดทะเบียนสิทธิบัตรขอผลิตเครื่องบินแบบปีกสองชั้นในยุโรป ตามที่ตัวเขาได้ไปเจรจาทาบทามพี่น้องตระกูลไรท์เอาไว้แล้ว แต่ทางคณะกรรมการไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เมื่อผิดหวังในการนี้โรลส์จึงจืดจางความใส่ใจในด้านรถยนต์ลงอย่างรวดเร็ว

โรลส์กลายเป็นคนแรกที่เสียชีวิตในอุบัติเหตุเครื่องบินชนกัน ขณะที่เขาเข้าร่วมการแข่งนำเครื่องลงสู่ลานบิน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1910 ส่วนรอยซ์นักอุดมคตินิยมผู้แข็งขัน ก็ล้มป่วย เนื่องจากหักโหมงานเกินกำลัง เขาจำใจต้องรามือจากงานบริหารกิจการของบริษัท ทั้ง ๆ ที่ยังมีชีวิตยืนยาวต่อมาจนถึงปี 1933 แต่แม้ในช่วงที่ละจากงานมาตั้งรกรากอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสแล้วเขาก็ยังให้คำแนะนำปรึกษาด้านงานออกแบบแก่คนของบริษัทที่หมั่นแวะมาเยี่ยมเยียน โดยอาศัยการเขียนบันทึกช่วยจำและภาพร่างให้

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทางบริษัทยอมรับคำขอร้องที่รัฐบาลอังกฤษของให้ช่วยสร้างเครื่องยนต์สำหรับประกอบเครื่องบินแบบฝรั่งเศส และเมื่อถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานที่คูรว์ก็เป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์แบบเมอร์ลินแอนด์กริฟฟอน (MERLIN AND GRIFFON) คุณภาพเยี่ยม จำนวน 29,632 เครื่อง ซึ่งทางกองทัพใช้เป็นยุทโธปกรณ์สำคัญยิ่งในการเอาชนะสงคราม

สำหรับรถเบนท์ลีย์นั้น ทางบริษัทไม่มีความสามารถจะจัดการกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930 ได้ แม้เบนท์ลีย์จะกวาดความสำเร็จจากชัยชนะช่วงทศวรรษ 1920 ระยะที่สงครามสิ้นสุดใหม่ ๆ นั้นตลาดต้องการรถยนต์ราคาถูกเป็นอย่างยิ่ง โรงงานโรลส์-รอยซ์จึงฉวยโอกาสผลิตเบนท์ลีย์ออกจำหน่าย และขายดียิ่งกว่าโรลส์-รอยซ์ถึง 9 ต่อ 1 คันทีเดียว แต่หลังจากนั้นชื่อเบนท์ลีย์ก็กลับซบเซาลงตามที่เอ่ยถึงไว้แล้ว

รถรุ่นเบนท์ลีย์ 8 ที่ปีเตอร์ เวิร์ดนำออกตลาดเมื่อเดือนกรกฎาคม 1984 จัดว่ามีรายละเอียดใกล้เคียงกับรถโรลส์-รอยซ์มากเหลือเกิน เพราะใช้ฝีมือทางวิศวกรรมระดับเดียวกัน แต่ตั้งราคาจำหน่ายในช่วงแรกวางตลาดเพียง 49,500 ปอนด์เท่านั้น นับว่าราคาต่ำกว่ารถที่บริษัทเคยผลิตมาทุกรุ่นถึงเกือบ 6,000 ปอนด์ เวิร์ดเปิดเผยว่าบริษัทต้องควบคุมต้นทุนการผลิตกันอย่างเข้มงวด แต่รถรุ่นนี้ก็เปิดทางให้บริษัทสามารถเจาะตลาดระดับใหม่ได้อย่างง่ายดาย ลูกค้าระดับที่ยังหนุ่ม และนิยมบุคลิกแบบลำลองมากกว่า ทั้งยังไม่มีกำลังจะซื้อรถโอ่อ่าระดับโรลส์-รอยซ์ได้ รถเบนท์ลีย์รุ่นเทอร์โบอาร์ (TURBO R) นั้นเน้นจุดขายที่อัตราความเร็วสูงสุดถึง 150 ไมล์ต่อชั่วโมง จัดว่าเป็นรถชั้นหรูที่มีพิกัดความเร็วสูงที่สุดในโลก ตั้งราคาขายตกคันละเกือบ 85,000 ปอนด์ แถมทางบริษัทยังสามารถฟันกำไรเพิ่มได้อีกโดยรับดัดแปลงแต่ละคันให้เหมาะสมกับแต่ละภูมิภาค แต่ละทวีป ในราคาบวกเพิ่มไป 1 แสนปอนด์ (ราคารถโรลส์ตกระหว่าง 73,000 ปอนด์ สำหรับรุ่นซิลเวอร์สปิริต จนถึง 207,000 ปอนด์สำหรับรุ่นแฟนธอม 6)

บัดนี้ทางสหภาพแรงงานต่างเข้าใจซึ้งกันทั่วไปแล้วว่า ความสำเร็จของงานที่ตั้งหน้าตั้งตาทำอยู่านั้น ขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของการตลาดอย่างยิ่ง เวิร์ดยกระดับความรับรู้ของบรรดาคนงานด้วยการจัดบรรยายในโรงงาน นอกจากนี้ยังปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบการควบคุมงานเช่นการคุมวัสดุอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบเบิกใช้ได้สะดวก และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยติดตั้งคอมพิวเตอร์มูลค่า 750,000 ดอลลาร์ เพื่อช่วยในการผลิตชิ้นส่วนนานาชนิด ทั้งยังกำลังจัดสร้างแผนกพ่นสีรถแบบล้ำสมัยในราคา 10 ล้านปอนด์ และยังมีการปรับปรุงด้านอื่น ๆ ในทำนองนี้อีกมากมาย

เวิร์ดมีนโยบายที่จะ "เข้มงวดกับแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ และเอาใจใส่สนับสนุนพวกที่มีฝีมือมีความชำนาญงาน" เขาเสริมถึงความก้าวหน้าทางวิศวกรรมบางส่วนไว้ว่า "ถัดจากแผนกผลิตเครื่องยนต์จะมีเครื่องเจาะโลหะขนาดใหญ่ราว 30 เครื่อง ซึ่งใช้ผู้เชี่ยวชาญควบคุมโดยตรง เพราะแต่ละร่องต้องตั้งเครื่องกันเป็นการเฉพาะไป ถึงแม้มันออกจะฟังดูเหลวไหลหน่อย เพราะรถของเราไม่ได้ตั้งราคาแพงได้ด้วยรูเรี้ยวพวกนั้นหรอก"

ราคาอันสูงลิบลิ่วของโรลส์-รอยซ์นั้นเป็นค่าความพิถีพิถันเอาใจใส่ต่อรายละเอียดเฉพาะคันชนิดที่แทบจะเหลือเชื่อ อย่างหนังสัตว์ที่ใช้หุ้มเบาะรถนั้นต้องสั่งโดยตรงมาจากเดนมาร์ก ทั้ง ๆ ที่ราคาสูงกว่าในอังกฤษถึงร้อยละ 40 แม้แต่แผ่นไม้วอลนัทที่นำมาใช้ประกอบเครื่องเคราเป็นการตกแต่งในรถก็ต้องเลือกเฟ้นให้กลมกลืนงดงาม เมื่อเร็ว ๆ นี้เองลูกค้าสตรีรายหนึ่งยืนยันว่าหล่องต้องการไม้ที่มีลายวงปีวนเป็นรูปลักษณะคล้ายหมาพูเดิ้ล ติดตรงแผงหน้าปัทม์แบบเดียวกับรถโรลส์คันหนึ่งที่ได้เห็นมา ทางบริษัทก็สนองตอบด้วยการบรรจงคัดหาลายไม้เช่นนั้นอยู่นานนับสัปดาห์กว่าจะได้พบที่คล้ายกันด้วยเหตุบังเอิญตามธรรมชาติ

รถรุ่นสปิริตออฟแอคตาสีย์ (SPIRIT OF ACSTASY) หรือที่เรียกกันว่ารุ่นอนงค์เหิรเวหานั้น สร้างขึ้นตามแบบจำลองขี้ผึ้งที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 1911 รถแต่ละคันที่สำเร็จสมบูรณ์ตามแบบงานฝีมือจะมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นการเฉพาะ อย่างการเลือกใช้หินเชอร์รี่ขัดเงารถ หรือถ้าทำส่งลูกค้าทางตะวันออกกลางก็จะมีที่รองเข่าสำหรับสุภาพสตรีเป็นพิเศษด้วย ทางโรงงานรู้ดีว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ได้เสริมประโยชน์ใช้สอยมากมายอะไร แต่มันส่งผลต่อคุณค่าทางจิตใจมากกว่า

โรลส์-รอยซ์แหวกกฎเกณฑ์ข้อแรกในการขายรถที่เฮนรี่ ฟอร์ด (HENRY FORD) ตั้งเอาไว้โดยยินดีให้ผู้ซื้อเลือกสีรถเอาเองตามใจชอบ ทางบริษัทจะเป็นฝ่ายสนองบริการให้อย่างเต็มความสามารถ กระทั่งเส้นสีฝาครอบล้อก็ยังสามารถระบุเอาไว้ได้ด้วย

เวิร์ดยังยึดมั่นในหลักที่พลาสโตว์วางเอาไว้โดยไม่ยอมเสี่ยงต่อการผลิตรถออกวางตลาดล่วงหน้าโดยไม่ต้องสั่งจองไว้ก่อน เพื่อเลี่ยงการเสี่ยงกับปัญหาค่าเงินดอลล์ผันแปร เนื่องจากยอดขายในอเมริกาค่อนข้างสูง ขนาดที่ทางบริษัทอวดไว้ว่าโรลส์-รอยซ์เป็นรถยุโรปยี่ห้อเดียวที่เพิ่มยอดขายในสหรัฐอเมริกาได้ในช่วงปี 1987 ญี่ปุ่นเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงซึ่งทางบริษัทกำลังให้ความสนใจเป็นลำดับต่อไป ปีที่แล้วยอดจำหน่ายในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งเป็น 82 คันแล้ว และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็มีบุคคลสำคัญในวงรัฐบาลขอรายละเอียดการสั่งซื้อรถเบนท์ลีย์รุ่นเทอรโบอาร์ไว้แล้วด้วย

เวิร์ดขยายความว่า "เป็นครั้งแรกที่กิจการโรลส์-รอยซ์กำหนดแผนการระยะยาวถึง 10 ปี โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 1988 โดย 3 ปีแรกเป็นการรุกอย่างรอบคอบแม่นยำ 2 ปีถัดไปต้องยืดหยุ่นปรับเปลี่ยน ส่วนอีก 5 ปีที่เหลือก็รอรับรายชื่อสั่งจองรถได้เลย" เขายังคาดการณ์ในด้านดีไว้ด้วยว่า กิจการโรลส์-รอยซ์จะต้องขยายตัวขึ้นราวร้อยละ 8 ถึง 10 ต่อปีอย่างแน่ยิ่งกว่าแน่

แต่ก็ใครจะไปรู้แน่…

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us