Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์7 กันยายน 2552
แบงก์แข่งฉกเงินออม-พันธบัตรขายไม่คล่องกดดันรัฐออกล็อตใหม่ต้องเพิ่มดอกเบี้ยล่อใจ             
 


   
search resources

Bond




พันธบัตรแบงก์ชาติส่อเค้าฝืด หลังไทยเข้มแข็งฉกเงินไปก่อนหน้า แถมแบงก์พาณิชย์เริ่มโดดลงเล่นสงครามเงินฝากระยะยาวแข่ง กลายเป็นทางเลือกหากพลาดหวังด้วยผลตอบแทนที่ต่างกันแค่ 0.2% นักบริหารเงินประเมินหากกระแสตอบรับครั้งนี้ไม่ดีเพิ่มการบ้านให้พันธบัตรรุ่นต่อไปที่อาจต้องขยับดอกเบี้ยเพื่อล่อใจมากขึ้น พร้อมแนะดูเงื่อนไขจ่ายเงินยิ่งถี่ยิ่งดี

พันธบัตรหน่วยงานรัฐได้ฤกษ์จำหน่าย คิวนี้เป็นของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เสนอขายพันธบัตรด้วยผลตอบแทนและระยะเวลาแตกต่างไปจากพันธบัตรของกระทรวงการคลัง

พันธบัตรออมทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2552 ครั้งที่ 1 ที่จำหน่ายในช่วง 3-4 และ 7 กันยายน 2552 ได้เปิดขายต่อประชาชน รวมไปถึงสหกรณ์ มูลนิธิ องค์กรสาธารณะที่ไม่มุ่งหวังกำไร ด้วยวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท จำหน่ายผ่านธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง

โดยพันธบัตรดังกล่าวมี 2 รุ่นคืออายุ 4 ปีผลตอบแทน 3.5% ต่อปี และอายุ 7 ปี ผลตอบแทนแบ่งเป็นช่วงคือ 1-2 ปีแรก 3% ปีที่ 3-4 ผลตอบแทน 4% ปีที่ 5-6 ผลตอบแทน 5% และปีที่ 7 ผลตอบแทน 6% ผู้ถือพันธบัตรจะได้รับดอกเบี้ยทุก 6 เดือนในวันที่ 3 มีนาคมและ 3 กันยายนของทุกปี

นับว่าเป็นการเปิดขายพันธบัตรของหน่วยงานรัฐเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ หลังจากที่พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งของกระทรวงการคลังได้เปิดขายไปเมื่อ 13-21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาด พันธบัตรที่ตั้งไว้มูลค่า 5 หมื่นล้านบาทหมดลงอย่างรวดเร็ว แม้จะเพิ่มอีก 2 หมื่นล้านบาทก็หมดก่อนเวลาที่กำหนดเช่นกัน ครั้งนั้นเป็นพันธบัตรอายุ 5 ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 4%

คึกแพ้ไทยเข้มแข็ง

ผู้บริหารเงินลงทุนรายหนึ่งกล่าว การจำหน่ายพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยครั้งนี้ มีความแตกต่างกับไทยเข้มแข็งของกระทรวงการคลัง เห็นได้จากตัวพันธบัตรตัวนี้มีอายุ 4 ปีและ 7 ปี ผลตอบแทนที่ 3.5% และเฉลี่ยที่ 4.29% ตามลำดับ

นอกจากนี้สถานการณ์แวดล้อมยังแตกต่างกัน เห็นได้จากความตื่นตัวของผู้ต้องการลงทุนช่วงไทยเข้มแข็งมีมากกว่าในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการทำประชาสัมพันธ์ให้คนได้รับรู้ในวงกว้าง ขณะที่พันธบัตรของแบงก์ชาติมักจะรับรู้กันไม่แพร่หลายนัก

หากพิจารณาถึงเรื่องความเหมาะสมในการลงทุนแล้ว พันธบัตรทั้ง 2 รุ่นจัดว่าผลตอบแทนอยู่ในระดับที่เหมาะสมหากเทียบกับเงินฝากปกติของธนาคารพาณิชย์ แต่ปัญหาคือตัวพันธบัตรอายุ 7 ปีน่าจะได้รับความสนใจน้อยกว่า 4 ปี เนื่องจากถือว่าเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างนานซึ่งคนไทยมักไม่คุ้นเคยกับการฝากเงินระยะยาว ๆ เช่นนี้

คาดการณ์ว่าการตอบรับของพันธบัตรแบงก์ชาติน่าจะได้รับความสนใจจากภาคประชาชนและหน่วยงานที่ได้รับสิทธิในการซื้อครั้งนี้ไม่มากนัก ระยะเวลาในการจำหน่ายนั้นอาจต้องใช้เวลานานกว่าพันธบัตรไทยเข้มแข็ง

ทั้งนี้เป็นผลมาจากบรรยากาศของพันธบัตรแบงก์ชาตินั้น มีคู่แข่งเช่นแบงก์พาณิชย์ที่เริ่มหันมาแข่งขันล็อกเงินฝากระยะยาวมากขึ้น หลังจากที่พันธบัตรไทยเข้มแข็งขายเสร็จสิ้นลง ซึ่งในครั้งนั้นแบงก์พาณิชย์ยังไม่เปิดศึกในเรื่องเงินฝากมากนัก จากนั้นสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ได้หายไปไม่น้อย ประกอบกับกองทุนรวมพันธบัตรเกาหลีก็ยังคงได้รับความนิยมจากประชาชนมากแม้จะครบอายุไปจำนวนหนึ่งก็มีการออกกองใหม่เข้ามารับช่วงต่อทันที รวมไปถึงหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนต่าง ๆ เริ่มทยอยออกจำหน่ายด้วยผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงและบริษัทประกันภัยได้เร่งระดมเงินฝากเช่นกัน

พันธบัตรของแบงก์ชาติรุ่นนี้จึงมีคู่แข่งค่อนข้างมาก ผู้ฝากเงินจึงมีทางเลือกหลายทางหากไม่สามารถซื้อพันธบัตรได้ แตกต่างจากช่วงที่ไทยเข้มแข็งเสนอขาย ที่ไม่มีแหล่งฝากเงินที่มีความมั่นคงสูงแล้วให้ผลตอบแทนดีเข้ามาแข่ง อีกทั้งในช่วงนั้นประเทศไทยว่างเว้นจากการมีพันธบัตรรัฐบาลออกมาจำหน่าย

'เอาง่าย ๆ วันนี้มีบัญชีเงินฝากประจำของธนาคารอาคารสงเคราะห์ 24 เดือนผลตอบแทน 2.5% ฝาก 36 เดือน 3.25% และ 60 เดือน 3.75% หรือของธนาคารกรุงไทยและกรุงศรีอยุธยา 48 เดือน 3.3% ที่ระยะเวลาฝาก 4 ปีเท่ากับพันธบัตรของแบงก์ชาติแต่ผลตอบแทนน้อยกว่าแค่ 0.2% เท่านั้น หรือถ้าจะเทียบ 5 ปีของอาคารสงเคราะห์กับพันธบัตรไทยเข้มแข็งผลตอบแทนน้อยกว่าแค่ 0.25%'

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ยังไม่โดดมาเล่นบัญชีเงินฝากประจำระยะ 4-5 ปีมากนัก เน้นที่ฝากประจำไม่เกิน 18 เดือนเป็นส่วนใหญ่ด้วยดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยปกติเล็กน้อย แต่ก็ดูดลูกค้ากลุ่มที่ต้องไม่ต้องการฝากเงินระยะยาวได้ไปไม่น้อย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ความต้องการพันธบัตรจากนี้ไปมีน้อยลง

'เราไม่กล้าประเมินว่าพันธบัตรของแบงก์ชาติจะจำหน่ายไม่หมด แต่คาดหมายได้ว่ายอดขายคงจะไม่ร้อนแรงเท่าไทยเข้มแข็งแน่ แต่หากจำหน่ายได้หมดทั้ง 5 หมื่นล้านบาท คนที่ต้องการซื้อแล้วพลาดหวังก็คงไม่ต้องรอนาน เพราะเท่าที่ทราบแบงก์ชาติยังมียอดที่เตรียมขายอีกราว 5 หมื่นล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่าแบงก์ชาติจะขายต่อเนื่องหรือรอดูสถานการณ์อีกระยะ'แหล่งข่าวกล่าว

กดดอกเบี้ยต่ำ

การที่พันธบัตรแบงก์ชาติเสนอขายต่อจากพันธบัตรไทยเข้มแข็งนั้น เท่ากับดูดสภาพคล่องไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท หากแบงก์ชาติเตรียมจะขายอีก 5 หมื่นล้านและไทยเข้มแข็งเตรียมขายอีกขึ้นต่ำ 3 หมื่นล้าน เฉพาะพันธบัตรก็จะดูดเงินไป 2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้คงต้องรอการตัดสินใจของแบงก์ชาติและกระทรวงการคลังว่าจะออกพันธบัตรรุ่นต่อไปหรือไม่ แต่ผลจากการออกพันธบัตรที่ผ่านมาจะทำให้การออกพันธบัตรครั้งต่อไปทำได้ไม่ง่ายเหมือนเดิม

สภาพตลาดถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของทางการ แน่นอนว่าคงต้องขึ้นกับเจตนาของหน่วยงานที่ออกพันธบัตรว่าต้องการอะไรเป็นหลัก เช่น ต้องการให้ดอกเบี้ยสูงเพื่อซื้อใจประชาชนหรือต้องการต้นทุนต่ำเพื่อมีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่น้อยลง

แต่จากการสังเกตถึงการที่รัฐบาลพยายามติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์แทนนั้น สะท้อนถึงทิศทางที่ลดต้นทุนของเงินลงมากกว่าที่จะใช้ดอกเบี้ยสูงเหมือนครั้งแรก เพราะการเลือกกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐนั้นจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการออกพันธบัตรเสนอขายประชาชน

รวมถึงกระทรวงการคลังพยายามส่งสัญญาณให้แบงก์ชาติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ด้วยการพิจารณากรอบของเงินเฟ้อใหม่ ตรงนี้จะทำให้ผลตอบแทนของตลาดซื้อขายพันธบัตรลดลง เพราะสูตรในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรจะใช้ผลตอบแทนของตลาดตราสารหนี้เป็นเกณฑ์แล้วจึงค่อยบวกเพิ่มอีก 15% เข้าไปเพื่อนำไปเป็นตัวในการหักภาษีเงินได้จากดอกเบี้ย

หากรัฐบาลจะหันกลับมาเลือกวิธีออกพันธบัตรอีกครั้งก็สามารถทำได้ และจะได้ดอกเบี้ยที่ต่ำลงกว่าเดิม แต่อาจจะทำให้การขายไม่ประสบความสำเร็จเหมือนไทยเข้มแข็งครั้งแรก

เชื่อว่าหากรัฐเลือกที่จะขายพันธบัตรไทยเข้มแข็งรุ่นต่อไปคงต้องมีลูกเล่นของดอกเบี้ยที่มากขึ้นกว่าเดิม ครั้งที่แล้วเราได้เห็นดอกเบี้ยแบบขั้นบันได ครั้งต่อไปอาจจะเป็นดอกเบี้ยลอยตัวแล้วบวกเพิ่มผลตอบแทนเข้าไปก็เป็นได้

หากผลของการขายพันธบัตรแบงก์ชาติออกมาแล้วได้รับการตอบรับไม่ดีนัก ครั้งต่อไปของพันธบัตรอาจต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อหุ้นกู้ของภาคเอกชนด้วยเช่นกัน เมื่อพันธบัตรรัฐบาลได้รับความสนใจน้อยลง หุ้นกู้ก็ต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นไปอีกเพื่อดึงดูดความสนใจ เนื่องจากตัวหุ้นกู้จะมีความเสี่ยงที่มากกว่าพันธบัตรรัฐบาล

การเสนอขายพันธบัตรทั้ง 2 หน่วยงานคือของกระทรวงการคลังและของแบงก์ชาตินั้นเป้าหมายเน้นไปที่ภาคประชาชนและหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร ส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกในการออมที่ดีให้กับคนกลุ่มนี้ แต่อีกด้านหนึ่งเท่ากับไม่ได้ช่วยพัฒนาตลาดรองตราสารหนี้เท่าใดนัก เนื่องจากผู้ที่ซื้อส่วนใหญ่จะซื้อแล้วถือยาวจนครบอายุ ดังนั้นในตลาดรองตราสารหนี้จึงไม่มีพันธบัตรรุ่นใหม่เข้ามาซื้อขายเพิ่มความคึกคักให้กับตลาดนี้

จ่ายดอกเบี้ยถี่น่าสน

เมื่อแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกที่คาดหมายกันว่าเริ่มดีขึ้น รวมไปถึงการคาดการณ์เศรษฐกิจของไทยว่าเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ นั้น ส่งผลให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเริ่มที่จะปรับขึ้น แบงก์ก็ต้องรีบสำรองเงินต้นทุนต่ำให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมปล่อยกู้ให้กับลูกค้า ผู้ที่จะออกหุ้นกู้หรือพันธบัตรก็ต้องประเมินตลาดดอกเบี้ยกันใหม่เช่นกัน

หลายคนอาจคาดหวังว่าดอกเบี้ยน่าจะปรับขึ้น แต่ในทางปฏิบัติแล้วดอกเบี้ยเงินฝากคงไม่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนดอกเบี้ยเงินกู้ ดังนั้นหากคิดจะรอให้ดอกเบี้ยปรับขึ้นก่อนแล้วค่อยเลือกลงทุนนั้นอาจทำให้ต้องเสียโอกาสการลงทุนไป

ทางที่ดีที่สุดคือแบ่งเงินออมที่มีอยู่แล้วเลือกลงทุนในพันธบัตรบ้าง เงินฝากประจำบ้าง หรือพักเงินบางส่วนไว้รอช่วงที่ดอกเบี้ยฝากขยับขึ้น แต่ต้องสำรองเงินบางส่วนไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็นด้วย

ผู้ที่ต้องการออมเงินในระยะยาวต้องประเมินความต้องการใช้จ่ายเงินของตนเองให้ได้ว่า สามารถที่จะฝากเงินได้ตามกำหนดที่ระบุไว้ มิเช่นนั้นจะเสียประโยชน์จากดอกเบี้ยที่พึงได้รับ แหล่งข่าวคนเดิมยังให้คำแนะนำว่า ก่อนตัดสินใจฝากเงินหรือซื้อพันธบัตรนั้นควรอ่านรายละเอียดเรื่องการจ่ายดอกเบี้ยให้ดีว่าผู้รับฝากนั้นจ่ายแบบใด ดีที่สุดคือถ้าจ่ายทุกเดือนหรือ 3 เดือนครั้งได้ก็จะเป็นการดี หรือปีละ 2 ครั้งอย่างพันธบัตรแบงก์ชาติก็น่าสนใจ เพราะหากเรามีความจำเป็นต้องใช้เงินจริง ๆ แล้วต้องถอนเงินออกมาก่อนครบกำหนดเราก็จะได้รับสิทธิประโยชน์จากดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ไปก่อน

ส่วนใครที่สนใจหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรนั้น ต้องเลือกบริษัทที่มีความมั่นคง เป็นบริษัทขนาดใหญ่ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระเงินได้ แต่ไม่ควรเลือกลงทุนระยะยาวเกินไป เพราะจะมีความเสี่ยงมากขึ้นหากเศรษฐกิจทั่วโลกและของไทยไม่ฟื้นตัว ดังนั้นหากต้องการลงทุนระยะยาวจริงควรลงทุนในพันธบัตรจะดีกว่า   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us