*เอกชนลุ้นปรับเกณฑ์บ้านบีโอไอระลอกสอง เอื้อลงทุนเพิ่ม เชื่อดันซัปพลายเพิ่มปีละ 10,000 ยูนิต
*จัดสรรเสนอกระจายทำเล-ยืดหยุ่นคอนโดคละราคาขาย
*แนะตั้งกรรมการกลางทบทวนหลักเกณฑ์-ต้นทุนก่อสร้างทุก 3-5 ปี
การประกาศปรับปรุงเงื่อนไขบ้านบีโอไอ หรือกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลางเมื่อ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน เพื่อให้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองของการฟื้นเศรษฐกิจ ถือเป็นปัจจัยบวกที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ให้มีความคึกคักขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดที่อยู่อาศัยระดับล่างที่จะมีการลงทุนโครงการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เห็นได้จากความตื่นตัวของดีเวลลอปเปอร์ที่แสดงความสนใจ สอบถามข้อมูลเข้ามายังสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรและสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง
หลังจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเห็นชอบให้ปรับปรุงเงื่อนไขในบ้านบีโอไอไปแล้ว พบว่าได้รับความสนใจจากภาคเอกชนเป็นอย่างดี เห็นได้จากสถิติข้อมูลการส่งเสริมการลงทุน ณ วันที่ 14 ส.ค. 2552 มีจำนวนโครงการบ้านบีโอไอเพิ่มขึ้น 25 โครงการ หรือคิดเป็น 400% สูงกว่าในช่วงก่อนปรับเงื่อนไขที่มีเพียง 5 โครงการเท่านั้น ทั้งนี้มีมูลค่าการลงทุนรวม 1,892.6 ล้านบาท
มีจำนวนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 8,690 ยูนิต แบ่งเป็นโครงการใน กทม. 3 โครงการ เป็นคอนโดมิเนียมทั้งหมด รวม 2,250 ยูนิต ที่เหลือจำนวน 6,640 ยูนิต เป็นทาวน์เฮาส์ในเขตปริมณฑล ฉะเชิงเทรา และสมุทรสาคร ฟากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็เตรียมวงเงิน 15,000 ล้านบาทสำหรับปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษให้กับลูกค้าในโครงการบ้านบีโอไอในปีนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสินเชื่อ Fast Track ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง
เมื่อพิจารณาในจำนวน 25 โครงการที่เพิ่มขึ้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นโครงการของพฤกษาฯ ถึง 21 โครงการ เนื่องจากเป็นดีเวลลอปเปอร์ที่เติบโตและคร่ำหวอดมากับการพัฒนาบ้านบีโอไอมานาน จึงมีความเชี่ยวชาญและความพร้อม สามารถปรับตัวและยื่นโครงการได้เร็วกว่าดีเวลลอปเปอร์รายอื่น ทั้งนี้คาดว่าโครงการแรกจะผ่านการอนุมัติและเปิดขายได้ในเดือนนี้
แต่ในขณะเดียวกันดีเวลลอปเปอร์รายอื่นๆ ที่ยังไม่พร้อม ส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเงื่อนไขและออกแบบโครงการให้เข้ากับเงื่อนไขใหม่นี้ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าในหลักการใหญ่จะมีการแก้ไขให้เพิ่มเพดานราคาขายให้สอดคล้องกับต้นทุนค่าก่อสร้างปัจจุบันไปแล้ว แต่ในทางปฏิบัติก็ยังพบปัญหาบางส่วนที่หากไม่แก้ไข อาจทำให้บ้านบีโอไอไม่สามารถกระตุ้นการลงทุนได้มากเท่าที่ควร เช่น การปรับใช้เงื่อนไขใหม่ที่จำกัดเฉพาะเขต 1 หรือกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น ซึ่งอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เห็นว่า อาจเกิดความไม่เป็นธรรม เพราะยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดย 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์อาจเสนอขอขยายเกณฑ์ดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีค่าครองชีพสูงด้วย เช่น ภูเก็ต ระยอง อยุธยา ชลบุรี
ส่วนอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เห็นว่า บ้านบีโอไอถือเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งมีดีมานด์กระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่ควรจำกัดทำเลเหมือนนิคมอุตสาหกรรมที่ต้องมีการควบคุมพื้นที่การลงทุน ในขณะที่การพัฒนาคอนโดมิเนียมให้เข้ากับเงื่อนไขบ้านบีโอไอยังมีอุปสรรคมากกว่าโครงการแนวราบ เนื่องจากเงื่อนไขกำหนดให้การพัฒนาโครงการทุกยูนิตในอาคารต้องขายในราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาทเท่านั้น ไม่สามารถคละยูนิตที่มีราคาขายเกิน 1.2 ล้านบาทไว้ภายในอาคารเดียวกันได้ ซึ่งอธิปมองว่า หากผ่อนปรนให้คอนโดมิเนียมสามารถมียูนิตที่มีราคาขายเกินเกณฑ์บ้านบีโอไอขายปนอยู่ในโครงการเดียวกันได้เหมือนโครงการแนวราบ เชื่อว่าจะเป็นการลดอุปสรรคเอื้อให้ดีเวลลอปเปอร์เข้ามาลงทุนง่ายขึ้น สามารถกระจายทำเลในการลงทุนโครงการได้หลากหลายทำเล ไม่กระจุกอยู่เฉพาะในทำเลที่มีที่ดินราคาถูกเท่านั้น และทำให้พื้นที่ส่วนกลางของโครงการมีคุณภาพดีขึ้น เพราะสามารถเฉลี่ยต้นทุนค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายส่วนกลางในการบำรุงรักษากับยูนิตที่มีราคาสูงกว่าได้ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยมีทางเลือกในการซื้อบ้านมากขึ้น
อย่างไรก็ตามจากปัญหาดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้คำรับรองว่ายินดีที่จะรับฟังข้อเสนอของเอกชน เพื่อนำไปปรับปรุงเงื่อนไขบ้านบีโอไอให้เหมาะสมต่อไป ขณะนี้ทั้ง 3 สมาคมฯ กำลังอยู่ระหว่างการหารือก่อนนำเสนออีกครั้ง ซึ่งอิสระคาดว่า การปรับเงื่อนไขจะหนุนให้มีการลงทุนบ้านบีโอไอปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 ยูนิต และในระยะยาวเห็นว่าควรจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาทบทวนปรับปรุงเงื่อนไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทุก 3-5 ปี และควรมีคณะกรรมการอีกชุดจากภาครัฐที่มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขดัชนีราคาต่างๆ เป็นตัวเสริมเข้ามาติดตามสถานการณ์ต้นทุนค่าก่อสร้างอย่างใกล้ชิด
|