Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กันยายน 2552
VANILLA GARDEN ตัวตนที่เติบโตของ “วิสาขา ไรวา”             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
www resources

Vanilla Industry Homepage

   
search resources

Restaurant
วิสาขา ไรวา
Vanilla Garden




เป็นเวลาเกือบ 6 ปีสำหรับแบรนด์ "วนิลา" แม้ทั้ง 4 ร้านของวนิลาฯ จะมีบุคลิกที่แตกต่างและเปลี่ยนแปลง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนไปนั่นคือ "สไตล์" ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของไอเดียและประสบการณ์ชีวิตที่หล่อหลอมเป็นตัวตนของเธอคนนี้

ท่ามกลางความวุ่นวายของซอยเอกมัย 12 ความเขียวขจีของสวน ธรรมชาติที่มีทั้งต้นไม้น้อยใหญ่ดึงดูดคนเมืองที่โหยหาความรื่นรมย์จากธรรมชาติแวะเวียนเข้าไป ส่วนบ้านไม้สีขาวที่มีกลิ่นอายแห่งยุค 70s ก็ทำหน้าที่ยั่วยวนความสงสัยของแขกผู้แวะมาเยือนได้สำเร็จเกือบทุกครั้ง

ภายในพื้นที่เกือบ 1 ไร่ของสวนวนิลา หรือ "Vanilla Garden" โซนแรกที่เปิดประตูต้อนรับผู้แวะเวียน ได้แก่ "Royal Vanilla" ร้านอาหาร จีนสีขรึมบรรยากาศโรงเตี๊ยม ที่ให้อารมณ์ Chinese tea-break ในร้าน น้ำชามากกว่าที่จะเห็นเป็นภาพโต๊ะจีนโต๊ะกลมเต็มไปด้วยอาหารจานใหญ่ที่ทานกันจนพุงกาง ตามขนบวิถีการทานอาหารจีนในเหลาหรือภัตตาคารหรูแบบเดิมๆ

อาหารจีนทั่วไปทั้งติ่มซำ ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว และเมนูอื่นๆ นำมา ใส่ดีไซน์ในเรื่องรสชาติพอร์ชั่น (portion) ที่เล็กลง และมีการนำเสนอ (presentation) ใหม่ให้ดูโมเดิร์นขึ้นจนหลายเมนูดูไม่คุ้นตา ส่วนขนมหวานจานหรูประจำร้านอาหารจีนอย่างบัวหิมะ ที่นี่ก็มีการประยุกต์สูตร จนออกมาเป็นไส้ต่างๆ อย่างหลากหลาย นอกจากนี้ยังมีเมนูขนมที่ผสมผสานความเป็นจีนกับกลิ่นอายไทยอย่างลงตัว

ทั้งนี้ พ่อครัวแม่ครัวของที่นี่หลายคนเป็นเชฟมือเอกจากภัตตาคาร "มังกรทอง" ในเครือของ S&P ซึ่งเป็นแบ็กอัพสำคัญของแบรนด์ "Vanilla" เพราะไม่เพียง S&P จะเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์ Vanilla แต่ "วิสาขา ไรวา" ผู้ก่อตั้งแบรนด์ก็คือบุตรสาวคนโตของ "วรากร ไรวา" ผู้บริหาร ระดับสูงแห่งบริษัท S&P นั่นเอง

บ้านไม้ 2 ชั้น สีขาวสะอาดตาและกะทัดรัด ตกแต่งด้วยสไตล์โมเดิร์นผสมกลิ่นอายย้อนยุคเล็กๆ ตามอายุบ้านที่ร่วม 50 ปี ดูจะมีเสน่ห์ดึงดูดแขกชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นและชาว ไทยที่หลงใหลอารมณ์ของคาเฟ่ในมหานคร โตเกียว ให้เข้ามาเยี่ยมเยียนเป็นประจำ

บ้านไม้หลังนี้เป็นที่ตั้งของ "Vanilla Cafe" ร้านอาหารและเบเกอรี่ที่มีทั้งเมนูอาหารอิตาเลียนกลิ่นอายญี่ปุ่นและเมนูอาหารญี่ปุ่นที่ถูกปรับสไตล์ให้ดูโมเดิร์น นอกจากนี้ยังมีชา กาแฟ เครป และเบเกอรี่ แนวญี่ปุ่นไว้คอยเอาใจสาวกแบรนด์ Vanilla ที่หลายคนเริ่มหลงรักร้านอาหารชื่อนี้จากเบเกอรี่

ย้อนกลับไปกว่า 10 ปี หลังจากลงลึกในรายละเอียดเรื่องของการทำอาหาร เพื่อทำหน้าที่พัฒนาสร้างสรรค์ลุคและดีไซน์ ใหม่ให้กับบรรจุภัณฑ์ของ S&P มานาน ด้วยวัย 28 ปีกว่า วิสาขานึกอยากท้าทาย พลังสร้างสรรค์ของตัวเองด้วยการแตกหน่อ ธุรกิจร้านอาหารแนวใหม่ที่มีเธอเป็นผู้พัฒนา และฟูมฟักคาแรกเตอร์ของแบรนด์ใหม่นี้ด้วยตัวเองในทุกรายละเอียด ทั้งคอนเซ็ปต์ แบรนด์ ดีไซน์ร้าน เมนูอาหาร ดิสเพลย์ บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ

ในปี 2547 กับวัยยังไม่ย่างเข้าเลขสาม ร้าน Vanilla แห่งแรกจึงเปิดตัวในรูปแบบ ร้านเบเกอรี่ที่มีสีสันสดใส ตั้งอยู่ในสยามสแควร์ ซอย 11 ติดกับร้าน S&P ภายใต้ชื่อ "Vanilla Industry" ซึ่งเป็นร้านเบเกอรี่ขนาดเล็กแนว DIY Bakery สำหรับกลุ่มคนที่รักการทำเบเกอรี่ โดยเริ่มจาก 5 โต๊ะและมีพื้นที่ของโรงเรียนสอนทำอาหารอยู่ภายในร้านด้วย

"แนวทางในการทำร้าน Vanilla ที่เรายึดมาตลอดคือ เลือกในสิ่งที่เราชอบเหมือน ว่าเลือกให้ตัวเอง ทำในสิ่งที่ดีที่สุดเหมือนทำให้ตัวเอง ก็คิดดูง่ายๆ ว่าถ้าเราทำอะไรแล้ว ขนาดตัวเองยังไม่ชอบ คนอื่นก็คงไม่ประทับใจ" วิสาขากล่าวถึงวิธีคิดของเธอที่มีมาตั้งแต่ร้านแรกจนถึง Vanilla Garden ซึ่งเป็นร้านที่สี่

ด้วยความสนใจในทุกดีไซน์ของรายละเอียดภายในร้านจนกลายมาเป็นกราฟิกและกิมมิคที่มีสไตล์โดดเด่นจนเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ จึงไม่น่าแปลกที่ลูกค้าบางคนกลับหลงใหลในรสสัมผัสของบรรยากาศร้านมากกว่ารสชาติอาหารด้วยซ้ำ

1 ปีถัดไป แบรนด์ Vanilla เปิดสาขาที่สองในซอยทองหล่อ (ตั้งอยู่ในทองหล่อมิดทาวน์) ภายใต้ชื่อ "Vanilla Restaurant" ร้านอาหารเต็มรูปแบบที่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และแสงสีโทนขรึมดูเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น โดยเปิดเป็นร้านอาหาร แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะมีเมนูเค้กและของหวาน ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายมากขึ้นโดยต่อยอดไอเดียเมนูและสูตรใหม่มาจากร้านแรก

ปีรุ่งขึ้น Vanilla Brasserie ร้านอาหารกึ่งคาเฟ่สไตล์ฝรั่งเศสโบราณเปิดตัว ณ สยามพารากอน ซึ่งอาหารจานเด่นที่แตกต่างจาก 2 ร้านแรก ได้แก่ "เครป" นานาเมนูทั้งแบบคาว และหวาน โดยที่ยังได้พัฒนาหน้าตาและสูตรเค้กที่มีอยู่ให้มีกลิ่นอายฝรั่งเศสผสมผสานเข้าไป

ความสำเร็จของทั้ง 3 ร้าน พัฒนาเป็นความเชื่อมั่นในแนวทางของแบรนด์ Vanilla อีกปีถัดมาจึงเกิด Vanilla Garden สวนสวรรค์ของคนลุ่มหลงในสไตล์และคาแรกเตอร์ของแบรนด์นี้ ด้วยทุนสร้างที่มากกว่าทุกร้าน ทั้งในเรื่องของการตกแต่งและสถานที่ที่ใหญ่ขึ้น

เพราะทำมา 3 ร้านล้วนแต่อยู่ในห้างหรือไม่ก็มีพื้นที่จำกัด ก็อยากเปลี่ยนมาทำร้าน ที่มีบริเวณนั่งด้านนอกในบรรยากาศสวน ก็เป็นอะไรที่เราชอบ ส่วนตัวด้วย ทั้งบรรยากาศบ้านไม้หลังเก่าและต้นไม้ล้อมบ้าน" วิสาขาในวัย 35 ปีเล่าถึงที่มาของร้านในสวนแห่งนี้ ซึ่งเปิดมาแล้วกว่า 2 ปี

นอกจากบ้านไม้ที่เป็นที่ตั้งของร้านอาหารสไตล์เอเชีย ทั้ง 2 ร้านของ Vanilla อาคารกระจกสไตล์ลอฟท์ (loft) ก็เป็นอีกอย่างที่เชิญชวนให้มีแขกเข้าออก ณ สวนวนิลาแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง อาคารนี้เป็นที่ตั้งร้านหนังสือชื่อเก๋ "ซอส (Sauce)" ที่แปลความได้ว่าเครื่องปรุงอาหาร ซึ่งนับเป็นหนึ่งในความโดดเด่นของเมนูอาหารคาวหวานของร้าน Vanilla และยังเป็นการเลียนเสียงกับคำว่า Source ที่แปลว่า "คลังความรู้"

ในร้าน Sauce มีทั้งหนังสือนำเข้าจากต่างประเทศ และหนังสือในประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นหนังสือว่าด้วยตกแต่งและดีไซน์ในแขนงต่าง คู่มือทำอาหาร หนังสือว่าด้วยเรื่องสุขภาพ วรรณกรรมไทยและวรรณกรรมแปล ตลอดจนหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาและศาสนา ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจส่วนตัวของวิสาขา

"ภายใต้ข้อจำกัดหลายๆ อย่าง หนังสือเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดที่ทำให้เราได้เห็นอะไรและเข้าใจชีวิตได้มากกว่า" การอ่านหนังสือเป็นงานอดิเรกที่วิสาขาโปรดปรานและกลายเป็นวิธีกลั่นกรองหนังสือเข้าร้านให้กับเธอด้วย

เนื่องจากไม่ได้อยู่ในย่านศูนย์การค้า ร้านหนังสือจึงเป็นแหล่งเดียวที่จะทำให้ลูกค้าได้มาพักผ่อนและฆ่าเวลาขณะที่ต้องมาคอยเพื่อน นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่ร้าน Vanilla แห่งนี้ต้องลงทุนร่วม 30 ล้านบาท และเพราะงบลงทุนที่ค่อนข้างสูง เป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้วที่แบรนด์ Vanilla ยังไม่ได้มีการเปิดร้านใหม่เพิ่มเติม

"นอกจากเงิน ร้านนี้ยังลงทุนแรงและจินตนาการเยอะเพราะค่อนข้างเรียกว่าเริ่มใหม่ทั้งหมด เพราะ 3 ร้านที่เปิดมาเป็นสไตล์ยุโรป ก็ยังอยู่ในอารมณ์เดียวกัน เมนูอาหารก็ยังมีหลายตัวที่ซ้ำกันดึงสูตรดึงซอสมาใช้กันได้ แต่พอมาร้านอาหารจีนและญี่ปุ่น เราไม่เคยทำมาก่อน มันก็เลยเหมือนเริ่มใหม่หมด"

นับเป็นอีกความท้าทายใหม่ที่ทำให้วิสาขากลับมารู้สึกสนุกสนานกับการเปิดร้านแห่งใหม่มากขึ้น หลังจากที่เธอค่อยๆ เริ่มรู้สึกว่าคอนเซ็ปต์เดิมที่ใช้ใน 3 ร้านแรกเริ่มหมดอารมณ์ สนุกแปลกใหม่ที่เคยเป็นพลังขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นในสมัยเปิดร้านแรก จนเกือบ "จบ" แล้ว

แม้ร้าน Vanilla Garden จะลงทุนมากกว่าและเหมือนว่าเธอจะได้เริ่มต้นสร้างสรรค์รายละเอียดหลายอย่างขึ้นใหม่ แต่วิสาขายังจำได้ดีถึงความรู้สึกในช่วงแรกของการเปิดร้าน Vanilla Industry

"ตอนเปิดร้านที่สยามลนสุด และก็เป็นอะไรที่ต้องดิ้นรนมาก เพราะเราเคยทำแต่แพ็กเกจจิ้งให้กับ S&P มาตลอด แค่ดีไซน์ออกมาเสร็จทุกอย่างก็ขายได้หมด ไม่เคยรู้สึกว่าแบรนด์มันยากแค่ไหน แต่พอมาสร้างร้านใหม่ แล้วร้านดันอยู่ชั้นสองด้วย ช่วงสามเดือนแรกไม่มีคนมาเลย มีรายได้วันละ 500 บาท แต่พอสื่อเห็นว่าร้านมีคาแรกเตอร์แปลกใหม่ฉีกแนวก็มาทำ คนก็เริ่มรู้จักระดับหนึ่งก็เลยต่อยอดมาถึงวันนี้ได้" เธอเล่าด้วยรอยยิ้ม

อันที่จริงการตกเป็นข่าวในหน้าประชาสัมพันธ์ของสื่ออาจง่ายกว่านี้ หากเพียงวิสาขา ใช้นามสกุลและความเป็นลูกหลานเจ้าของ S&P หรือเพียงใช้ "by S&P" ต่อท้ายชื่อแบรนด์ Vanilla แต่ก็ย่อมจะมีปัญหาภาพลักษณ์และกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ชัดเจนตามมาทันที

ตรงกันข้ามเมื่อได้คอนเซ็ปต์และสร้างแบรนด์ได้ชัดเจนและแข็งแรงพอ ก็ง่ายที่จะต่อยอดด้วยการฉีกแนวไปสู่บุคลิกที่ต่างไป เหมือนกับที่วันนี้ Vanilla มีร้านอาหารในบุคลิกที่แตกต่างถึง 4 แนว ทั้งที่เมื่อเกือบ 6 ปีก่อน วิสาขาเองก็ไม่เคยคิดถึงการขยายสาขาที่สองเลยด้วยซ้ำ

จากความมั่นใจที่สั่งสมผ่านการเรียนรู้จากร้านทั้ง 4 แห่ง ณ วันนี้ วิสาขากำลังสนใจ จะทำร้านอาหารสุขภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในความชอบและความสนใจตามวัยวุฒิที่เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันด้วยประสบการณ์สร้างแบรนด์ที่เติบโตขึ้น วิสาขาจึงท้าทายตัวเองอีกครั้ง ด้วย "ของเล่น" ตัวใหม่ ได้แก่ ไอศกรีมผัดที่เธอลงทุนซื้อ Know-how มาจากประเทศญี่ปุ่น แต่คิดค้นสูตรขึ้นเอง โดยเธอหวังจะใช้สินค้านี้มุ่งเข้าสู่ตลาดแมส (mass) แทนที่จะใช้แบรนด์ Vanilla ซึ่งมีจุดยืนที่แข็งแรงแล้วในตลาดนิช (niche)

ยิ่งเวลาหมุนผ่านไปจนพลบค่ำ ดูเหมือนสวนวนิลาแห่งนี้กลับยิ่งมีชีวิตชีวาและมีสีสันที่ถูกแต่งเติมด้วยลูกค้าที่หลากหลายทั้งเด็กเล็กที่มากับพ่อแม่ วัยรุ่น วัยทำงาน ผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย ที่พากันเข้ามานั่งตามมุมต่างๆ ภายในสวนแห่งนี้ ภาพน่ารักๆ เหล่านี้เติมความชุ่มฉ่ำ ให้กับวิสาขาทุกครั้งที่เธอแวะมาทำงานที่นี่

"ร้านแรกตอนนั้นเรายังเด็ก บุคลิกร้านก็เลยดูเด็กสุด แต่พอถึงร้านที่ทองหล่อก็เป็นผู้ใหญ่ขึ้นอีกนิด พอร้านที่สยามพารากอนก็ดูโตขึ้นอีกหน่อย แต่พอมาถึงร้านนี้ เราก็อยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง (หัวเราะ) แต่จริงๆ ก็คือทุกอย่างก็ควรพัฒนาไปตามผลึกความคิดและประสบการณ์ ไม่ใช่แค่แก่ไปตามวัย" วิสาขาสรุป   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us