ทุกวันนี้ยังมีความสับสนและความคิดที่หลากหลายของแนวคิดเรื่อง Cloud Computing อยู่มาก
บริษัท Version One ซึ่งเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์ด้านการบริหารจัดการเอกสารเคยทำการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ Cloud Computing พบว่า 41 เปอร์เซ็นต์ของมืออาชีพทางด้านไอทีระดับซีเนียร์ (ซึ่งหมายถึงระดับผู้อำนวยการและผู้จัดการฝ่ายไอที) ในองค์กรภาครัฐและเอกชนของสหราชอาณาจักรยอมรับว่า พวกเขาไม่รู้ว่า Cloud Computing คืออะไร
ขณะที่ 59 เปอร์เซ็นต์ของมืออาชีพทางด้านไอทีที่รู้ว่า Cloud Computing เป็นอย่างไรนั้น 17 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้ เข้าใจว่าเป็นการประมวลผลที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ 11 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าเป็นการผสมผสานระหว่างการประมวลผลที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นฐาน, บริการด้านซอฟต์แวร์ (SAAS), ซอฟต์แวร์ตามความต้องการใช้งาน (Software on demand), บริการเอาท์ซอร์ส และบริษัทโฮสต์ซอฟต์แวร์ ส่วนที่เหลือนั้นจะเข้าใจว่า Cloud Computing คือการผสมผสานของทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Cloud Computing จะเป็นเทรนด์ที่เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง แต่มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ตอบว่า พวกเขาใช้มันเป็นประจำ และ 19 เปอร์เซ็นต์ใช้มันน้อย ในขณะที่เกือบครึ่งหนึ่ง (47 เปอร์เซ็นต์) ยอมรับว่า องค์กรของพวกเขาไม่เคยใช้ Cloud Computing เลย ที่เหลืออีก 29 เปอร์เซ็นต์ไม่รู้ว่าองค์กรของพวกเขาใช้ Cloud Computing หรือเปล่า
เมื่อมองถึงแนวโน้มการใช้งาน Cloud Computing ในอนาคต 2 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคนที่ถูกสำรวจบอกว่าองค์กรของพวกเขาจะลงทุนใช้งาน Cloud Computing อย่างแน่นอนภายใน 12 เดือน ข้างหน้า 30 เปอร์เซ็นต์บอกว่าองค์กรของพวกเขาอาจจะลงทุนด้านนี้ 45 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า พวกเขาไม่รู้ว่าองค์กรของพวกเขาจะทำอะไรเกี่ยวกับ Cloud Computing หรือไม่ และอีก 23 เปอร์เซ็นต์ไม่มีแผนใดๆ ทั้งสิ้น
เมื่อมองในแง่ความหมายแล้ว เว็บไซต์ Javaboom ค่อนข้างอธิบายได้อย่างละเอียดเป็นภาษาไทยในเรื่อง Cloud Computing โดยบอกไว้ว่า "Cloud Computing คือวิธีการประมวลผลที่อิงกับความต้องการของผู้ใช้ โดยผู้ใช้สามารถระบุความต้องการไปยังซอฟต์แวร์ของระบบ Cloud Computing จากนั้นซอฟต์แวร์จะร้องขอให้ระบบจัดสรรทรัพยากรและบริการให้ตรงกับความต้องการผู้ใช้ ทั้งนี้ระบบสามารถเพิ่มและลดจำนวนของทรัพยากร รวมถึงเสนอบริการให้พอเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้ได้ตลอดเวลา โดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องทราบเลยว่าการทำงานหรือเหตุการณ์เบื้องหลังเป็นเช่นไร"
ขณะเดียวกัน บริษัท Gartner ก็กล่าวถึง Cloud Computing ว่า เป็นแนวทางการจัดการระบบประมวลผลที่อาศัยศักยภาพของโครงสร้างทางไอทีขนาดใหญ่ที่สามารถขยายตัวได้ และถูกนำ ไปให้บริการกับลูกค้าภายนอกจำนวนมาก
ฟอเรสเตอร์กรุ๊ปกล่าวว่า Cloud Computing คือ กลุ่มของโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกบริหารจัดการและสามารถขยายตัวได้อย่างมาก โดย Cloud Computing นี้มีขีดความสามารถในการรองรับโปรแกรม ประยุกต์ต่างๆ ของผู้ใช้ โดยผู้ให้บริการจะเก็บค่าบริการตามการใช้งาน
ใน Wikipedia ให้ความหมายไว้ว่า Cloud Computing เป็นการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการประมวลผล โดยทรัพยากรเหล่านี้จะมีผู้ให้บริการเป็นบุคคล หรือองค์กรที่สาม (Third party) เป็นเจ้าของและจัดการมันโดยจะรวมทรัพยากร เหล่านี้ไว้ที่ดาต้าเซ็นเตอร์ ผู้ที่จะใช้งานหรือบริการ Cloud Computing จะซื้อบริการเหล่านั้นในรูปของจำนวนหรือขนาดของความสามารถของทรัพยากรตามความต้องการใช้งานโดยไม่ต้องสนใจว่าทรัพยากร ที่มีอยู่นั้นมีศักยภาพมากน้อยเพียงใด รวมถึงไม่จำเป็นต้องมีความรู้หรือมีความเชี่ยวชาญใดๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีของทรัพยากรที่ถูกจัดสรรไว้ให้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คนที่จะต้องกังวลก็คือผู้ให้บริการต่างหาก พวกเขาจะต้องจัดเตรียมระบบที่สามารถขยายตัวได้ตามความต้องการที่ไม่จบไม่สิ้นของผู้ใช้ทั้งหลาย โดยถ้าผู้ใช้ต้องการทรัพยากรมากกว่าที่ผู้ให้บริการจะสามารถจัดเตรียมให้ได้ ผู้ให้บริการเหล่านั้นก็จะต้องทำอย่างไรก็ได้ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการเหล่านั้น ซึ่งความต้องการที่เกิดขึ้นก็มักจะเป็นความต้องการฉับพลันที่สามารถเกิดขึ้นในเวลาไหนก็ได้ ซึ่งหลายๆ ครั้งก็เป็นเรื่องยากที่ผู้ให้บริการจะสามารถลงทุน ขยายทรัพยากรให้มากตามความต้องการได้ทันท่วงที ทางออกก็อาจจะเป็นการที่ผู้ให้ บริการไปเป็นลูกค้าของผู้ให้บริการรายใหญ่ หรือรายอื่นแทน หรืออาจจะวางแผนเตรียม ทรัพยากรจำนวนมหาศาลไว้ ซึ่งก็จะต้องวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าของการลงทุนประกอบด้วยเช่นกัน
โดยหลักๆ แล้ว บริการที่ Cloud Computing จัดสรรไว้ให้จะมีโครงสร้างพื้นฐานแพลทฟอร์ม และซอฟต์แวร์ที่ถูกจัดสรรไว้เป็นบริการให้ใช้ได้
ผมเคยกล่าวถึง Cloud Computing มาบ้างแล้วก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดมากมายนัก ในบทความฉบับนี้ผมจึงอยากพูดถึงในแง่ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า
เราอาจจะกล่าวได้ว่า Cloud Computing กำลังจะสร้างความแปลกใหม่ให้กับการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนไปสู่แนวทาง Cloud Computing จะทำให้องค์กรนั้นๆ สามารถลดค่าใช้จ่าย ที่เกิดขึ้นกับการจัดการโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาแอพพลิเคชั่นด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ขององค์กรในการจัดการระบบทางด้านความอัจฉริยะต่างๆ
ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า จริงๆ แล้ว Cloud Computing จะเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญของวงการไอที หรือไม่ บริษัทอย่าง Amazon, Google และ Microsoft ต่างเดิมพันครั้งสำคัญกับแนวคิด Cloud Computing กันทั้งสิ้น โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่ว่า Cloud Computing สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนเริ่มต้น ทำให้ความสามารถในการขยายระบบ หรือ scalability สูง สามารถเข้าถึงแพลทฟอร์มที่หลากหลาย และความสามารถในการทำงานร่วมกับแพลทฟอร์มที่ยืดหยุ่นและมีศักยภาพด้วยโครงสร้างราคาที่หลากหลายและไม่มีข้อผูกมัดใดๆ
การใช้ Cloud Computing ทำให้ ผู้ใช้สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องของค่าใช้จ่ายในการลงทุน หรือ capital expenditure หรือ CapEx ของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการต่างๆ ได้ โดยพวกเขาจะจ่ายเพียงเฉพาะสิ่งที่พวกเขาใช้จริงๆ เท่านั้น การใช้ ทรัพยากรหรือที่เรียกว่า Consumption นั้นจะวัดจากการใช้งานจริง ซึ่งเรียกว่า utility เช่น การใช้ทรัพยากรอย่างการใช้ไฟ เป็น ต้น หรืออาจอยู่ในรูปแบบของการสมัครใช้งานหรือ subscription ซึ่งจะวัดจากระยะเวลา เช่น การรับหนังสือพิมพ์รายวัน ซึ่งแทบจะไม่มีค่าเริ่มต้นหรือมีก็น้อยมาก
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการ Cloud Computing หลายๆ รายยังให้บริการในลักษณะของค่าบริการรายเดือนแทนการวัดจากการใช้งานจริง ข้อดีของการใช้วิธี Time sharing แบบนี้คือ จะมี Barrier to entry หรืออุปสรรคในการเข้าตลาดที่ต่ำ มีการแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐานและต้นทุนซึ่งกันและกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และทำให้สามารถเข้าถึงแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่หลากหลายได้ นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถยกเลิกสัญญาตอนไหนก็ได้ ซึ่งทำให้สามารถหลีก เลี่ยงความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุน (return on investment) ได้
อย่างไรก็ตาม ตามปกติแล้วบริการต่างๆ มักจะถูกปกป้องไว้ด้วย Service level agreements หรือ SLAs โดยมีการปรับเงินหรือในรูปแบบของการตอบแทนใดๆ อยู่แล้ว
SLA เป็นพันธสัญญาในการให้บริการของหน่วยงานใดๆ โดยจะมีการกำหนดระดับของการให้บริการไว้อย่างชัดเจนและประกาศให้รู้โดยทั่วกัน โดยที่ระดับของการให้บริการนั้นจะหมายรวมถึง ลักษณะของการให้บริการ, ลำดับความสำคัญ, อำนาจหน้าที่รับผิดชอบ และการรับประกันด้วย
นอกจากนี้ SLA ยังหมายถึงข้อตกลงในลักษณะของเวลาหรือประสิทธิภาพ ในการส่งมอบบริการให้กับลูกค้า เช่น การเอานาฬิกามาตั้งบนเคาน์เตอร์ให้ลูกค้ากดจับเวลาการให้บริการของพนักงานในร้านแมคโดนัลด์ หรือการรับประกันการไปส่งอาหารภายในเวลาที่กำหนด เป็นต้น ซึ่งถ้า องค์กรนั้นๆ ไม่สามารถให้บริการได้ตามที่กำหนดก็จะมีบทลงโทษในรูปแบบต่างๆ ได้ เช่น การลดราคาให้เป็นพิเศษ หรือการให้สินค้าอื่นฟรี เป็นต้น ปัจจุบัน SLA จะเป็นดัชนีตัวหนึ่งที่ใช้วัดในการเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งเพราะสามารถบอกถึงศักยภาพในการให้บริการได้
บางคนจึงกล่าวว่า การมาของ Cloud Computing เปรียบเสมือนการถือกำเนิดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทต่างๆ อาจจะสามารถลดค่าใช้จ่ายเริ่มต้น (Capital expenditure) หรือค่าใช้จ่ายในการลงทุนทรัพยากรต่างๆ ได้ก็ตาม แต่พวกเขาจะไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Operating Expense) หรือเรียกว่าค่าใช้จ่ายในการใช้บริการทรัพยากรได้ ซึ่งอาจจะเป็นค่าใช้จ่ายที่มากกว่าเสียอีก ในกรณีที่ค่าใช้จ่ายในการลงทุนอาจจะค่อนข้างน้อย หรือในกรณีที่องค์กรมีความยืดหยุ่นในการตั้งงบประมาณในการลงทุนมากกว่างบประมาณสำหรับค่าใช้บริการ แนวคิดแบบ Cloud Computing อาจจะไม่เหมาะสมนักในแง่การเงิน
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นอีกมาก มายที่จะต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพของดาต้าเซ็นเตอร์ที่องค์กรใช้งานอยู่เมื่อเทียบกับการใช้บริการของ Cloud Computing, ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่องค์กรจ่ายอยู่, ระดับของการนำเอา Cloud Computing มาใช้งาน รวม ถึงฟังก์ชันที่สามารถใช้งานได้บน Cloud Computing
อาจจะกล่าวได้ว่า Cloud Computing จะเป็นมาตรฐานในการให้บริการทางด้านการจัดการระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ขององค์กรในอนาคต เหมือนๆ กับที่เราใช้ไฟและใช้น้ำประปาในทุกวันนี้ ปัญหาที่เราจะต้องขบคิดก็คือ เราจะต้องตั้งมาตรฐานมาควบคุมการให้บริการ ปัจจัยใดจะเป็นตัวกำหนดมาตรฐาน และทำอย่างไร Cloud Computing ถึงจะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสำหรับการเปลี่ยนมาใช้บริการนี้ของแต่ละองค์กร
นี่จะเป็นความท้าทายครั้งใหม่ขององค์กรธุรกิจ
อ่านเพิ่มเติม:
1. http://javaboom.wordpress.com/2008/07/23/whatiscloudcomputing/
2. http://www.cloudcomputingeconomics.com/
3. Cloud Computing Economics, Part One http://opensource.sys-con.com/node/714784
4. Will Cloud Computing Mean Fewer IT Jobs?, http://opensource.sys-con.com/node/767376
5. GigaSpaces and the Economics of Cloud Computing, http://gevaperry.typepad.com/main/2008/07/gigaspaces-and.html
6. SLAs, http://share.psu.ac.th/blog/sla/9565
|