|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
บรรยากาศการทำตลาดของกูเกิ้ลในประเทศไทยปีนี้คึกคักมากกว่าปีไหนๆ หลังจากกูเกิ้ลมีผู้บริหารดูแลภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นทางการเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
กูเกิ้ลเป็นบริษัทมีชื่อเสียงด้านบริการระบบสืบค้นข้อมูล หรือเรียกว่าเสิร์ชเอ็นจิ้น (Search Engine) มากว่า 10 ปี จนทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ในตลาดโลก แม้แต่ประเทศไทยประชาชน ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตจำนวน 14 ล้านคนก็เลือกใช้กูเกิ้ล 98.7 เปอร์เซ็นต์
ด้วยความนิยมของผู้ใช้ที่เลือกใช้กูเกิ้ลในปัจจุบันจึงทำให้กูเกิ้ลเริ่มหันมาทำ ตลาดเพื่อสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากบริการสืบค้นข้อมูลที่เป็นบริการหลักของกูเกิ้ลแล้ว รายได้หลักของบริษัทคือ ให้บริการโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ต
แต่ดูเหมือนว่ารายได้จากโฆษณาส่วนใหญ่เกิดจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาหรือฝั่งยุโรป ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังไม่ได้เริ่มต้น มากนัก
แต่หลังจากที่กูเกิ้ลตั้งผู้บริหาร ดูแลตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และมีสำนักงานใหญ่ดูแลประจำอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ พร้อมกับทีมงานจากทั่วโลกรวมถึงคนไทยร่วม 100 คน ยุทธศาสตร์ของกูเกิ้ลจึงเริ่มต้น
กลยุทธ์ของกูเกิ้ลในภูมิภาคนี้คือ การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในระดับท้องถิ่นด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและบริการที่มีของกูเกิ้ลให้สอดคล้องกับภาษาและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศมากที่สุด
สำหรับประเทศไทยถูกเลือกให้เปิดตัวกิจกรรมใหม่ๆ ในลำดับแรกของกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีฐานการใช้งานกูเกิ้ลเป็นอันดับต้นๆ
จากข้อสังเกตพบว่าผู้บริหารมักจะอ้างอิงเกี่ยวกับการเปิดตัวบริการ เช่น บริการ google maps ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้เปิดตัว แพลตฟอร์มการค้นหาข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ในเวอร์ชั่นท้องถิ่น
หรือแต่งตั้งบริษัท แกรนด์ แพลนเน็ท เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เป็นผู้ให้บริการ Google Adwords เป็นรายแรก รวมถึงร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพให้บริการชำระเงินผ่านธนาคาร ก็เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่างๆ ของกูเกิ้ลที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 8 เดือนมาพร้อมกับกิจกรรมและบริการใหม่ 7 ประเภท จึงเสมือนว่ากูเกิ้ลกำลังรุก อย่างหนักในตลาดประเทศไทย
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่กูเกิ้ลได้เปิดตัวเว็บไซต์ภาษาไทย ภายใต้ชื่อว่า www.google.co.th เมื่อปี 2547 ความเคลื่อนไหวของกูเกิ้ลในประเทศไทยไม่เห็นเด่นชัดเหมือนกับปีนี้
ชารีฟ เอล อันซี หัวหน้างานออนไลน์และตัวแทนจำหน่ายกูเกิ้ล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกเหตุผลที่รุกกิจกรรม มากขึ้นในประเทศไทย เพราะว่ากูเกิ้ลเริ่มต้นจากศูนย์ ดังนั้น กูเกิ้ลจึงเริ่มทำตลาดในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น
ส่วนเหตุผลที่กูเกิ้ลเริ่มเข้ามายึดหัวหาดและเลือกที่จะรุกตลาดในภาวะเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ทั่วโลกรวมถึงในภูมิภาคเอเชีย เป็นเพราะต้องการให้กูเกิ้ลเป็นทางเลือกในการใช้สื่อโฆษณาออนไลน์ในต้นทุนที่ถูกกว่าโทรทัศน์หรือสิ่งพิมพ์
กิจกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2551 จนถึงปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของพรทิพย์ กองชุน ผู้จัดการฝ่ายการตลาดประจำประเทศไทย ซึ่งเธอเป็นคนไทยคนแรกที่รับหน้าที่ดูแลและพัฒนากิจกรรมของกูเกิ้ลในประเทศไทย
พรทิพย์ให้สัมภาษณ์ผู้จัดการ 360 ํ ว่า ธุรกิจหลักของกูเกิ้ลในประเทศไทยมี 3 ส่วน คือ 1. ผู้ใช้ (user) 2. ผู้ประกอบการลงโฆษณา (advertiser) และ 3. พันธมิตร (partner)
ทั้ง 3 ส่วนจะพัฒนาและเปิดให้บริการไปพร้อมๆ กัน และเปิดตัวบริการที่ผ่านมาจะสอดคล้องกับธุรกิจของกูเกิ้ล ดังที่เธอกล่าวถึง โดยเฉพาะบริการโฆษณา Google AdWords และ AdSense บริการโฆษณาที่มุ่งเน้นหารายได้เพิ่มให้กับกูเกิ้ล
Google AdWords คือบริการที่ให้ผู้ประกอบการมาลงโฆษณาในเว็บไซต์ของกูเกิ้ล และบริการนี้เปิดให้บริการพร้อม กันทั่วโลกเมื่อปี 2543 หรือ 9 ปีที่ผ่านมา
ส่วน AdSense คือการนำโฆษณาของกูเกิ้ลไปลงในเว็บไซต์อื่นๆ ที่มีชื่อเสียง และได้รับความนิยม ทำให้เจ้าของเว็บไซต์ และกูเกิ้ลมีรายได้จากการคลิกของผู้อ่าน
พรทิพย์ชี้ให้เห็นถึงจุดเด่นของบริการ AdSense คือ นำโฆษณาที่เกี่ยวข้องไปลงใกล้กับเนื้อหาในเว็บไซต์ของพันธมิตร เช่น เจ้าของเว็บไซต์ลงข้อมูลเกี่ยวกับข่าวโทรศัพท์มือถือ กูเกิ้ลจะเลือกสินค้าจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ หรือโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือไปลงคู่กับข่าว
เธอบอกว่าโอกาสความเป็นไปได้ของผู้อ่านข่าวโทรศัพท์มือถือจะคลิกไปที่โฆษณาของกูเกิ้ลเกี่ยวกับข้อมูลขายโทรศัพท์ เพื่อซื้อโทรศัพท์จึงมีมากขึ้น
กลยุทธ์ของ Google AdWords ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะเน้นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือกลุ่มเอสเอ็มอีในประเทศไทยที่มีเว็บไซต์ เป็นของตัวเองประมาณ 100,000 รายจากเอสเอ็มอีประมาณ 850,000 รายทั่วประเทศ
กูเกิ้ลให้เหตุผลว่าผู้ประกอบการที่ลงโฆษณาในเว็บของกูเกิ้ล จะทำให้ได้พบลูกค้าใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะกูเกิ้ลมีเครือข่ายที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกกว่า 1 พันล้านราย
ความคืบหน้าล่าสุดของกูเกิ้ลที่มีเป้าหมายสร้าง Google AdWords ให้ติดตลาดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดได้เลือกพันธมิตรเพิ่ม 2 รายคือ บริษัทแกรนด์ แพลนเน็ท เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และธนาคารกรุงเทพ
กูเกิ้ลเลือกบริษัท แกรนด์ แพลนเน็ทฯ ให้เป็นผู้ให้บริการ Google AdWords อย่างเป็นทางการรายแรกในไทย เพื่อทำหน้าที่ช่วยวางกลยุทธ์และวางแผนทำตลาด รวมถึงวิเคราะห์แผนการตลาดหลังจากให้บริการไปแล้วว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ผู้ประกอบการที่จ้างบริษัทแพลนเน็ทฯ จะต้องจ่ายค่าบริการเริ่มต้น 2,000 บาท ส่วนกูเกิ้ลจะเป็นผู้สนับสนุนเทคโนโลยีและอบรมบุคลากรให้กับบริษัท แกรนด์ แพลนเน็ทฯ
กูเกิ้ลเลือกบริษัท แกรนด์ แพลนเน็ทฯ เพราะเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูปมาเป็นเวลา 9 ปี ภายใต้ชื่อ www.ReadyPlanet.com และมีคอลเซ็นเตอร์บริการตลอด 24 ชั่วโมง
แม้ว่าก่อนหน้านี้กูเกิลจะมีเอเยนซี่เป็นตัวแทนให้บริการ Google AdWords แล้วก็ตาม แต่เอเยนซี่จะทำหน้าที่ขายโฆษณาเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ให้บริการหลังการขาย แต่กูเกิ้ลก็พึงพอใจจะมีตัวแทนขายหลายประเภท เพราะกูเกิ้ลก็มีทีมขายเป็นของตัวเองเช่นเดียวกัน
เว็บไซต์ของผู้ประกอบการที่เลือกลงโฆษณาผ่าน Google AdWords จะมีข้อความโฆษณาสั้นๆ 4 บรรทัดภายใต้หัวข้อ "ลิงก์ผู้สนับสนุน" ซึ่งจะแสดงอยู่บน มุมขวาของหน้าผลลัพธ์ ในขณะที่ข้อมูลทั่วไปอยู่ทางด้านซ้ายมือตามปกติ
กูเกิ้ลจะมีรายได้เมื่อผู้ใช้เลือกไปคลิกข้อมูลที่อยู่บนมุมขวา หรือประมาณ 35 สตางค์ต่อการคลิกหนึ่งครั้ง
แต่สิ่งที่กูเกิ้ลทำเหนือชั้นกว่านั้นก็คือ การสร้างรายได้ที่มากขึ้น ด้วยการนำ "คำ" ที่ได้รับความนิยมหรือมีการใช้งานมากที่สุดมาประมูล เป็นการกำหนดอัตราค่าโฆษณา ดังนั้นคำที่ได้รับความนิยมและมีการใช้มากก็จะมีราคาสูง ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ประมูลว่ามีมากน้อยเพียงใด และราคาเริ่มต้นประมูลเริ่มที่ 35 สตางค์ หรือ 1 เซ็นต์ แต่กูเกิ้ลไม่เปิดเผยว่าราคาสูงสุดต่อวันที่ประมูลราคาเท่าไร เปิดเผยแต่เพียง ว่าปัจจุบันกูเกิ้ลมีลูกค้าที่ใช้บริการโฆษณา Google AdWords ประมาณ 1,000 ราย
ช่องทางการจ่ายเงินเป็นสิ่งที่กูเกิ้ลได้วางแผนไว้แล้วเช่นกัน หลังจากที่ผ่านมา ระบบการจ่ายเงินต้องจ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งไม่ได้สร้างความคล่องตัวให้กับผู้ประกอบ การ
กูเกิ้ลได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ เพิ่มช่องทางการจ่ายเงินผ่านธนาคาร 4 ช่องทาง ประกอบด้วย 1. เคาน์เตอร์สาขาทั่วประเทศ 1,000 สาขา 2. เอทีเอ็ม 24 ชั่วโมง 6,000 จุด 3. บริการทางโทรศัพท์ บัวหลวงโฟน โทร.1333 และ 4. บริการทางอินเทอร์เน็ต
ในส่วนของผู้ใช้ (User) ในประเทศไทย เป็นอีกธุรกิจหลักของกูเกิ้ลที่ต้องการให้มีบริการหลากหลายและในปีนี้กูเกิ้ลได้เปิดบริการที่เน้นใช้บริการเป็นภาษาไทยมากขึ้น
เช่น กูเกิ้ลเปิดตัว AdSense สำหรับเนื้อหาภาษาไทย ที่คาดหวังให้ผู้ประกอบการหันมาร่วมมือกับกูเกิ้ลเพื่อสร้างรายได้ร่วมกัน
แผนที่กูเกิ้ล http://maps.google. co.th เป็นอีกบริการหนึ่งทำหน้าที่ช่วยค้นหาข้อมูลทางภูมิศาสตร์แบบใหม่ เช่น แผนที่ออนไลน์ ภาพถ่ายดาวเทียม เส้นทางขับรถ ที่อยู่ และรายชื่อองค์กรธุรกิจ บนเครื่องพีซีหรือโทรศัพท์มือถือ โดยเนื้อหานำเสนอในรูปแบบภาษาไทย
แผนที่ของกูเกิ้ลยังได้สร้างแพลตฟอร์มให้ผู้ใช้ องค์กรธุรกิจ และนักพัฒนาในเมืองไทยเข้ามาแลกเปลี่ยนแผนที่และความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่น เป็นการเพิ่มเนื้อหา ให้กูเกิ้ลโดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้กูเกิ้ลเปิดตัวเครื่องมือช่วยแปลภาษาแบบเต็มรูปแบบจากต้นฉบับ ที่มีความหลากหลายมากถึง 42 ภาษาให้เป็นภาษาไทย และในทางกลับกันยังสามารถใช้ภาษาไทยในการค้นหาข้อมูลเป็นภาษาอื่นๆ ทั้ง 42 ภาษา ที่ http://translate.google.co.th
การรุกตลาดอย่างหนักของกูเกิ้ลในประเทศไทย โดยเฉลี่ยจัดกิจกรรมหรือเปิดตัวบริการใหม่ๆ 7 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้งในระยะเวลา 8 เดือน นับว่าเป็นการก้าวกระโดดอย่างมาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับกูเกิ้ล เพราะบริการและเทคโนโลยีที่นำมาใช้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว
แต่ความท้าทายของกูเกิ้ลคือ การเปิดตลาดใหม่ในเมืองไทยว่าจะประสบความสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด ถึงแม้กูเกิ้ลจะมองว่าตลาดไทยเป็นกลุ่มเป้าหมายอันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตามที
เพราะความเคลื่อนไหวของธุรกิจสื่อสารเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว และหลังจากที่ยักษ์ใหญ่ไมโครซอฟท์ และยาฮู ผู้นำอันดับหนึ่งในฐานะผู้ให้บริการฟรีอีเมลจับมือกันเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อผลักดันเสิร์ซเอ็นจิ้น BING ของไมโครซอฟท์ โดยมียาฮูช่วยเป็น ผู้จัดการเกี่ยวกับการตลาดและโฆษณาบนเว็บไซต์
ต้องติดตามดูว่า กูเกิ้ลจะพลาดท่าเสียทีให้กับไมโครซอฟท์และยาฮูหรือไม่
|
|
|
|
|