Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กันยายน 2552
5 คำควรรู้ สำหรับการลงทุนจัดตั้งบริษัทใน สปป.ลาว             
โดย รับขวัญ ชลดำรงกุล
 


   
search resources

Investment




ฉบับของเดือนที่แล้ว ดิฉันไม่มีโอกาสได้เขียนเนื่องจากติดภารกิจหลายอย่าง ต้องขออภัยท่านผู้อ่านมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ ฉบับนี้ดิฉันจึงขอแก้ตัวด้วยการเขียนถึงเรื่องที่ท่านนักลงทุนต่างๆ ที่จะมาลงทุนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศเล็กๆ ที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวอย่างมากในขณะนี้ ควรต้องรู้และให้ความสนใจ

นักลงทุนที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศนี้บางส่วน อาจเคยได้ยินและได้ศึกษาเกี่ยวกับคำศัพท์เหล่านี้มาบ้าง แล้ว แต่อาจยังสับสนกับความหมายที่แท้จริง และความสำคัญของคำศัพท์ต่างๆ นี้อยู่บ้าง ดิฉันจึงถือโอกาสที่จะหยิบยกเอา คำศัพท์ 5 คำที่นักลงทุนทุกคนควรต้องรู้จักมาเขียนถึง โดยจะได้อธิบายปูพื้นเป็นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความสำคัญของแต่ละคำศัพท์ค่ะ โดยคำศัพท์ทั้ง 5 คำนี้จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินกิจการต่างๆ ใน สปป.ลาว ไม่ว่าจะจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบกิจการใด ขนาดใด ดังนี้

1. ใบอนุญาตลงทุนต่างประเทศ (Foreign Investment License: FIL)

คำแรกคือคำว่า ใบอนุญาตลงทุนต่างประเทศ หรือที่รู้จักกันดีในวงกว้าง โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐบาล ในชื่อย่อ ว่า FIL ใบอนุญาตฉบับแรกนี้เป็นเอกสารของบริษัทฉบับแรกที่นักลงทุนทุกคนที่มีความสนใจจะเข้ามาลงทุนใน สปป.ลาวต้องรู้จักและต้องดำเนินการขอรับ เนื่องจากใบอนุญาตฉบับนี้เป็นเหมือนใบเบิกทาง สำหรับนักลงทุนทุกคน หากไม่มีใบอนุญาตฉบับนี้ นักลงทุนจะไม่สามารถดำเนินการอะไรต่อไปใน สปป.ลาวได้อีก เพราะการดำเนินการต่างๆ ในขั้นต่อๆ ไป จำเป็นต้องใช้ FIL เป็นเอกสารหลักในการอ้างอิงทั้งสิ้น

เหตุผลที่นักลงทุนต้องดำเนินการขอ FIL นี้ เนื่องจากการลงทุนที่มาจากประเทศไทยย่อมหมายถึงการลงทุนจากภายนอกประเทศที่เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว ไม่ว่านักลงทุนของประเทศไทยนั้นจะเข้า ไปร่วมถือหุ้นมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะทั้งหมด บางส่วน หรือแม้กระทั่งเป็นส่วนน้อย เนื่องจากกฎหมายของ สปป.ลาวนั้น การพิจารณาความเป็นบริษัทลงทุนจากต่างประเทศของบริษัทใดๆ นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นนักลงทุน ต่างประเทศหรือนักลงทุนภายใน หากมีส่วนประกอบของทุนในบริษัทส่วนใดหนึ่งมาจากต่างประเทศ ย่อมถือว่าเป็นบริษัทที่มีการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด และต้อง ได้มีการดำเนินการขอ FIL ทั้งหมดเช่นกัน

สำหรับหน่วยงานที่นักลงทุนต้องติดต่อเพื่อขออนุญาตรับใบ FIL นั้น นักลงทุนต้องติดต่อกับกระทรวงแผนการและการลงทุน (Ministry of Planning and Investment: MPI) ซึ่งเป็นกระทรวงหลัก ที่รัฐบาลของ สปป.ลาว มีเป้าหมายที่จะจัดตั้งให้เป็นหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชื่อมโยงนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนกับหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดไว้ด้วยกัน ในลักษณะของ One-stop service หน่วยงาน MPI นี้จะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับ BOI ของประเทศไทย แต่จะมีขอบเขตอำนาจที่กว้าง กว่า เนื่องจากอำนาจของ MPI ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงในด้านของการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ แต่ครอบคลุมนักลงทุนทุกคน แม้ว่านักลงทุนดังกล่าวจะไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมาย แต่นักลงทุนดังกล่าวก็ต้องมาเสนอแผนการในการดำเนินธุรกิจกับทาง MPI ก่อนเสมอ

เอกสารที่นักลงทุนจะต้องดำเนินการจัดเตรียม เพื่อยื่นเสนอขอรับใบ FIL จาก MPI นั้น ทาง MPI จะมีรายละเอียดเป็น package สำหรับการขออนุญาตลงทุนโดยเฉพาะ โดยจะมีแบบฟอร์มหลักที่ เป็นเอกสารที่ต้องได้จัดเตรียมขึ้น ที่มีชื่อว่า Unified Investment Application Form in Lao P.D.R. ข้อมูลที่นักลงทุนต้องได้ดำเนินการกรอก จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวนักลงทุนโดยผู้ที่จะมาลงทุนต้องได้กรอกข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการดำเนินงานต่างๆ ของนักลงทุนที่ผ่านมา โดยจะต้องมีการแนบชีวประวัติโดยย่อของนักลงทุนดังกล่าว ไปพร้อมกับแบบฟอร์ม หากนักลงทุนที่เสนอขออนุญาตลงทุนเป็นบริษัท ส่วนของข้อมูลรายละเอียดการจดทะเบียนของนักลงทุนในประเทศไทยเป็นสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องส่ง เพื่อประกอบการพิจารณา นอกจากชีวประวัติแล้วนักลงทุนยังต้องส่งข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ financial statement ของนักลงทุนย้อนหลัง 3 ปีให้ MPI พิจารณาเพิ่มเติมอีกด้วย

ข้อมูลส่วนที่สองที่ต้องมีการกรอก รายละเอียดในแบบฟอร์มเพื่อขอรับ FIL จะเกี่ยวข้องกับบริษัทหรือกิจการที่จะลงทุนโดยตรง โดยต้องมีการระบุเกี่ยวกับข้อมูลการถือหุ้น ข้อมูลการจัดการบริหาร ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินที่จะใช้ในการประกอบกิจการ ความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจ หรือที่เรียกกันว่า บทวิพากษ์เศรษฐกิจและสังคม (Feasibility Study) ซึ่งจะต้องรวบรวม ระบุเกี่ยวกับลักษณะโดยรวมของการลงทุนของนักลงทุน แผนงานทางด้านธุรกิจ ข้อมูลละเอียดในส่วนของการใช้วัตถุดิบของโครงการ ว่าจะมีสัดส่วนการใช้ภายในประเทศเท่าใด นำเข้าเท่าใด สัดส่วนการใช้แรงงานคนลาวและคนต่างประเทศต่างๆ แผนการรายรับรายจ่ายที่คาดการณ์ไว้ 5 ปีหลังจากการดำเนินการ เป็นต้น เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วน สำหรับผู้ที่มีอำนาจลงชื่อในใบคำร้องขอลงทุนดังกล่าว ได้แก่ ผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัท (Managing Director) หรือจะเป็นผู้ที่จะเป็นเจ้าของบริษัทก็ได้

ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทางหน่วยงานราชการต้องการพิจารณาคือ การให้สิทธิพิเศษกับแรงงานและหน่วยผลิตภายในประเทศ หรือที่เรียกกันติดปากว่า Lao Preference ภายใต้กฎหมายของ สปป. ลาวนั้น จะมีข้อกำหนดที่ส่งเสริมให้นักลงทุนที่มาลงทุนใน สปป.ลาวต้องใช้สินค้า และแรงงานของลาวเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น ในส่วนของแรงงานคนต่างประเทศนั้น ตามกฎหมายแรงงานและกฎหมายส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศเองได้กำหนดว่า ห้ามมีคนต่างประเทศทำงานเกินร้อยละ 10 ของแรงงานทั้งหมด นอกจากนี้ การพิจารณาส่วนของการใช้วัตถุดิบในการลงทุนก็เช่นกัน ทางรัฐบาลจะมุ่งเน้นให้นักลงทุนใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก เว้นแต่เพียงว่าเป็นวัตถุดิบที่ไม่สามารถหาได้ภายในประเทศ หรือคุณภาพของวัตถุดิบ ภายในประเทศนั้นไม่เพียงพอเท่านั้น

อีกปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนต้องให้ความสนใจ คือประเด็นของสิ่งแวดล้อม หากโครงการดังกล่าวมีส่วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมของชุมชนในพื้นที่การลงทุน นักลงทุนจะต้องดำเนินการจัดทำแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมขึ้นมาเฉพาะ เพื่อศึกษาผลกระทบและเสนอแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสม และนำเสนอบทรายงานและแผนการจัดการเยียวยาความเสียหายให้แก่กรมทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม หรือ Water Resources and Environmental Authority (WREA) เพื่อให้ออกใบอนุญาตยืนยันความสมบูรณ์ของแบบประเมินดังกล่าวเป็นการเฉพาะ สำหรับรูปแบบของการทำแบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมนั้น ได้เคยกล่าวถึงในบทความฉบับก่อนๆ แล้วว่าค่อนข้างมีความเข้มงวด สูง ประกอบกับปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาในส่วนของแบบมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของ สปป.ลาว เป็นการเฉพาะอีกด้วย เรื่องสิ่งแวดล้อมจึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญซึ่งนักลงทุนต้องพิจารณา ภายหลังจากได้รับการอนุญาตจาก WREA แล้ว นักลงทุนต้อง ได้แนบใบยืนยันนี้ประกอบไปกับเอกสาร เพื่อประกอบการพิจารณา FIL ด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนต้องให้ความสนใจเกี่ยวกับการขออนุญาตใบ FIL นี้คือเอกสารเกือบทั้งหมดที่ยื่นใน package นั้นต้องได้มีการแปลเป็นภาษาลาวทั้งหมด โดยส่วนมากจะมีการทำเพียง 2 ภาษาเท่านั้น คือ ภาษาลาวและภาษาอังกฤษ หากได้ทำเป็นภาษาลาวจะเป็นการง่ายกับเจ้าหน้าที่ที่พิจารณาและจากประสบการณ์ ที่ผ่านมาของดิฉัน ระยะเวลาในการพิจารณาจะสั้นกว่าการส่งเอกสารเป็นภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว

ภายหลังได้มีการยื่นเอกสารทั้งหมด ที่จำเป็นแล้ว ทาง MPI จะดำเนินการส่งเอกสารฉบับดังกล่าวไปขอความเห็นจาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่นักลงทุนจะลงทุนเอง ยกตัวอย่างเช่น หากจะมีการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรม MPI ก็จะดำเนินการส่งไปขอความเห็นจาก องค์การท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือหากเป็นการลงทุนในด้านการเปิดธนาคาร ก็จะดำเนินการส่งไปขอความเห็นจากธนาคารแห่ง สปป. ลาว เป็นต้น เมื่อได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานต่างๆ อย่างครบถ้วนแล้ว ทาง MPI จะออกใบอนุญาต FIL ให้แก่นักลงทุน ในด้านของระยะเวลาการออกจะเร็วหรือช้า นั้นขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่ส่งไปและความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เวลาที่เจ้าหน้าที่จะแจ้งเป็นเวลามาตรฐานสำหรับ การออกใบอนุญาตหนึ่งใบ หากไม่ติดปัญหา ใดๆ เลย คือ 21 วันทำการ

2. ใบทะเบียนวิสาหกิจ (Enterprise Registration Certificate: ERC)

ใบอนุญาตฉบับที่สอง ที่นักลงทุนทุกคนต้องดำเนินการเพื่อขอรับ คือใบทะเบียนวิสาหกิจ หรือ ERC หากเทียบกับ ประเทศไทยแล้ว ERC จะเทียบเท่ากับหนังสือบริคณฑ์สนธิของบริษัท เป็นเอกสารสำคัญอีกใบหนึ่งที่ทุกบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว ต้องดำเนินการขอรับ โดยใบ ERC นี้จะได้ต่อเมื่อนักลงทุนได้รับ FIL มาจาก MPI ก่อน นักลงทุนจึงจะสามารถดำเนิน การเพื่อขอรับใบ ERC นี้ได้ ใบทะเบียนฉบับนี้ นอกจากจะมีความสำคัญในด้านของการเป็นเอกสารสำคัญของบริษัทแล้ว หากบริษัทใด ดำเนินการจนได้รับเอกสาร ERC นี้แล้ว บริษัทจะถือว่าได้มีการจัดตั้งและมีตัวตนอยู่ภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาวทันที เมื่อมีตัวตนภายใต้กฎหมายแล้ว บริษัทดังกล่าว ก็จะมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามระยะเวลา 2 ส่วน คือการที่จะต้องดำเนินการนำทุนจดทะเบียนที่ระบุไว้ในใบทะเบียน เข้ามาภายในประเทศ ภายใน 60 วันนับแต่วันได้รับ ERC ส่วนที่สองคือจะต้องได้มีการเริ่มดำเนินกิจการที่ได้รับการอนุญาต ตาม FIL ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับทะเบียนฉบับนี้ หากนักลงทุนไม่ดำเนินการภายใต้กรอบระยะเวลาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ภาครัฐมีสิทธิดำเนินการถอดถอนทะเบียนทั้ง FIL และ ERC คืนจากนักลงทุนได้

สำหรับหน่วยงานและวิธีการขอรับ ERC นั้น นักลงทุนต้องติดต่อกับหน่วยงาน ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัท โดยตรง คือหน่วยงานทะเบียนวิสาหกิจ (Enterprise Registration Office: ERO) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นขอรับ ERC นี้สามารถดาวน์โหลด ได้จากอินเทอร์เน็ต นักลงทุนต้องกรอกข้อมูล ซึ่งจะประกอบไปด้วยใบคำร้องขอจองชื่อวิสาหกิจ ใบคำร้องขอขึ้นทะเบียน และจะเป็นส่วนของแบบฟอร์มของสัญญาผู้ถือหุ้น และกฎระเบียบของบริษัท พร้อมทั้งเอกสารประกอบอื่นๆ ซึ่งรวมถึงสำเนาของ FIL ส่วนของผู้มีอำนาจลงนามในแบบ ฟอร์มทั้งหมดนั้น เนื่องจากในใบทะเบียน ERC นั้นจะได้มีการติดรูปของผู้อำนวยการใหญ่ (Managing Director) หรือรูปของเจ้าของวิสาหกิจด้วย บุคคลดังกล่าวจึงต้อง เป็นผู้ลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มทั้งหมด

ภายหลังได้รับเอกสารครบถ้วน ทาง ERO จะออกใบอนุญาตให้ภายใน 7 วันทำการ ค่าธรรมเนียมสำหรับการออกใบ ERC นั้นจะได้ดำเนินการจ่ายพร้อมกับการเสียค่าธรรมเนียมใบทะเบียนอากร เป็นจำนวน 1,000,000 กีบ

3. ใบทะเบียนอากร (Tax Registration Certificate: TRC)

ใบทะเบียนอากร หรือ TRC เป็นเอกสารที่สำคัญอีกฉบับหนึ่งของบริษัท โดยเอกสารฉบับนี้จะต้องได้มีการยื่นเพื่อขอรับใบทะเบียนใหม่ทุกปี เมื่อได้มีการดำเนินการยื่นภาษีรายปีครบถ้วนแล้ว สำหรับการขอออกใบทะเบียน TRC ในครั้งแรกนั้นจะได้ดำเนินการภายหลังจากได้รับ ERC โดยจะยื่นไปที่ฝ่ายทะเบียนอากร กระทรวงการเงิน โดยในใบทะเบียนอากรดังกล่าวจะต้องได้มีการขอรับเลขทะเบียนอากรผู้เสียภาษีพร้อมกันไปในคราวเดียวกัน

เอกสารที่ต้องประกอบเพื่อยื่นใบทะเบียนอากรนั้นมีค่อนข้างมาก โดยจะมีแบบฟอร์มหลัก 2 ชุด ซึ่งต้องใช้วิธีการกรอก โดยต้องซื้อแบบฟอร์มจากทางกรมทะเบียนอากร และจะต้องประกอบเอกสาร เพิ่มเติม เช่น ใบแสดงทรัพย์สินที่มีอยู่ ใบแสดงสิทธิเหนือที่ดิน ใบยั่งยืนที่อยู่ของสำนักงาน สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นต่างๆ ทุก ฉบับลงลายมือชื่อของผู้อำนวยการใหญ่ (Managing Director) ทั้งหมด พร้อมกับรูปถ่าย โดยรูปของผู้อำนวยการใหญ่จะปรากฏอยู่บนใบทะเบียนดังกล่าวด้วย

สำหรับการขอรับเลขทะเบียนอากรผู้เสียภาษีนั้น จะมีแบบฟอร์มอีกใบหนึ่งแยกต่างหาก โดยเลขทะเบียนอากรนี้จะเป็นใบที่จะใช้ประโยชน์สำหรับการเก็บข้อมูลของทางกรมทะเบียนอากร โดยจะมีข้อกำหนดว่า หากบริษัทดังกล่าวดำเนินการขายสินค้าหรือให้บริการใด ต้องได้ดำเนินการโดยใช้เลขทะเบียนอากรที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ดังกล่าวทั้งหมด

ภายหลังได้รับเอกสารอย่างครบถ้วน แล้ว ทางกรมทะเบียนอากรจะใช้เวลาในการพิจารณาและออกใบทะเบียนอากรพร้อมเลขทะเบียนผู้เสียอากรให้ภายใน 10 วันทำการ โดยต้องได้มีการจ่ายค่าธรรมเนียม โดยรวมค่าธรรมเนียมของทะเบียน ERC ด้วยประมาณ 1,700,000 กีบ

4. ตราประทับของบริษัท (Company's Seal)

สิ่งหนึ่งที่ระบบการจดทะเบียนบริษัทของ สปป.ลาวแตกต่างจากประเทศไทยอย่างชัดเจน คือรายละเอียดในส่วนของตราประทับบริษัท ในประเทศไทยตราประทับบริษัทนั้นจะเป็นส่วนที่ทางบริษัทแต่ละบริษัทจะดำเนินการแกะเองและสามารถใช้ได้อย่างอิสระ แต่ใน สปป. ลาวนั้น การจะทำตราประทับบริษัทได้นั้น ต้องเสนอใบคำร้องเพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการแกะตราประทับให้ โดยรูปแบบจะมีรูปแบบเป็นทรงแปดเหลี่ยม และมีฟอร์มที่เป็นมาตรฐาน และต้องได้มีการขออนุญาตเพื่อใช้ตราประทับเป็นการเฉพาะ

หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการแกะตราประทับและอนุญาตใช้ตราประทับนั้น เริ่มจากหน่วยงานที่ออกใบทะเบียนวิสาหกิจ คือ ERO นอกจากการยื่นเพื่อขอ รับ ERO แล้ว นักลงทุนต้องดำเนินเรื่อง ขอซื้อแบบฟอร์มและกรอกแบบฟอร์ม ซึ่งเป็นแบบฟอร์มขออนุญาตแกะตราประทับ จากทาง ERO หลังจากนั้น นักลงทุนต้องรอจนได้รับ TRC ก่อน จึงนำใบอนุญาตที่ ERO ออกให้พร้อมกับ ERC และ TRC ไปขออนุญาตทางตำรวจแกะตราประทับ ซึ่งสังกัดกระทรวงป้องกันความสงบ (Ministry of Public Security) เป็นผู้ดำเนินการแกะ ตราประทับให้ ระยะเวลาในการแกะตราประทับนี้ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และภายหลังจากที่ได้รับตราประทับแล้ว จะต้องได้ดำเนินการเพื่อขอจากหน่วยงานตำรวจอีกรอบหนึ่ง เพื่อขอรับใบอนุญาตนำใช้ตราประทับดังกล่าว ใช้เวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์ เสียค่าธรรมเนียมประมาณ 50,000 กีบ

ตราประทับของบริษัทที่ได้นั้น ทางราชการจะรับรู้การทำเพียงแค่อันเดียวเท่านั้น จะไม่มีการออกตราประทับอันที่สองหรือที่สามให้ เว้นแต่จะทำหายซึ่งก็ต้องแสดงหลักฐานการทำหายให้ครบถ้วน

5. ธนาคารแห่ง สปป.ลาว (Bank of Lao PDR: BOL)

นอกจากส่วนของคำศัพท์เกี่ยวกับทะเบียนที่ต้องพิจารณาแล้ว คำศัพท์ที่สำคัญอีกคำหนึ่งที่นักลงทุนควรต้องทำ ความรู้จัก คือหน่วยงานกลางที่ชื่อว่าธนาคารแห่ง สปป.ลาว หรือธนาคารกลาง (BOL) หน่วยงานนี้เกี่ยวข้องกับนักลงทุนโดยตรง โดยเฉพาะในส่วนของนักลงทุนต่างประเทศ เกี่ยวกับการนำทุนจดทะเบียนจากประเทศไทยเข้ามาภายใน สปป.ลาว รวมถึงในส่วนของการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ และการขออนุญาตเปิดบัญชีอยู่ต่างประเทศของบริษัทที่จดทะเบียนภายใน สปป.ลาวด้วย

สำหรับส่วนของทุนนั้น เมื่อได้มีการจัดตั้งบริษัทแล้ว คือนับแต่วันที่ได้รับ ERC นักลงทุนมีภาระต้องนำทุนจดทะเบียนที่กำหนดไว้ตามใบทะเบียนต่างๆเข้าประเทศ โดยตามกฎหมายระบุว่าให้นำเข้าอย่างน้อย 20% ของทุนจดทะเบียนที่ระบุไว้เข้ามาภายใน 60 วัน เมื่อได้มีการนำทุนเข้ามาภายในประเทศแล้ว นักลงทุน ต้องดำเนินการติดต่อกับ BOL เพื่อให้ออก ใบยั่งยืนการนำทุนเข้า (Capital Importation Certificate: CIC) เพื่อยืนยันการที่ได้นำทุนจดทะเบียนดังกล่าวเข้ามาภาย ในประเทศ และในทุกครั้งที่ได้มีการนำทุน หรือแม้กระทั่งเงินกู้ยืมเข้ามาในบัญชีของบริษัทภายในประเทศ นักลงทุนก็จะต้องประกอบเอกสารเพื่อขอรับใบ CIC นี้ทุกครั้ง ระยะเวลาในการพิจารณาออกใบ CIC ใช้เวลาประมาณ 15 วันทำการ

นอกจากในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทุนแล้ว หากบริษัทจะดำเนินการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ นักลงทุนก็จะต้องมาดำเนินการติดต่อกับ BOL เช่นกัน โดยจะต้องประกอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทในการกู้ยืมเงินจำนวนดังกล่าวมาให้แก่BOL และที่สำคัญ นักลงทุนต้องได้ส่งร่างสัญญากู้ยืมเงินจากต่างประเทศมาให้ BOL ตรวจสอบพิจารณาก่อน หากนักลงทุนไปดำเนินการลงนามในสัญญาก่อนแล้วจึงมาขออนุญาต ในครั้งแรกจะได้รับหนังสือตักเตือน แต่หากยังคงทำผิดเช่นเดิมจะโดนปรับเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าสัญญากู้ยืมที่ได้ลงนามกันไปนั้น ซึ่งสูงถึง 50% เมื่อ BOL ได้รับเอกสารแล้วจะพิจารณาเพื่อออกใบอนุญาตกู้ยืมเงินจากต่างประเทศให้กับนักลงทุนใช้เวลาประมาณ 15 วันทำการเช่นกัน

ส่วนของการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศนั้น ส่วนหนึ่งจะมีความเกี่ยวพันกับส่วนทุนของบริษัท โดยภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาวนั้น ทุนจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือทุนทั้งหมด และทุนจดทะเบียน ทุนทั้งหมด (Total Capital) หมายถึงทุนที่นักลงทุนคิดว่าจะต้องใช้ในการลงทุนโครงการทั้งหมด หรือ Project Cost ที่รวมเอาทั้งส่วนที่เป็นทุนจากผู้ถือหุ้นและส่วนที่เป็นเงินจากการกู้ยืมมา ส่วนทุนจดทะเบียน (Registered Capital) นั้น หมายความถึงเฉพาะส่วนของทุนที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนเดียว ลบส่วนที่เป็นเงินจากการกู้ยืมไป โดยภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว ได้กำหนดสัดส่วนของทุนจดทะเบียนว่าต้องไม่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของทุนทั้งหมด ย่อมแปลว่าอัตราส่วน D/E ratio ต้องไม่เกิน 70:30 หากอัตราส่วนการกู้ยืมสูงเกินกว่าที่กำหนด นักลงทุนต้องขอรับความเห็นจาก MPI ก่อน ว่าอัตราส่วน ดังกล่าวนั้น MPI รับได้และจะได้มีการกำหนดให้เพิ่มทุนภายหลังอีก หาก MPI ไม่เห็นชอบด้วย BOL ก็จะไม่อนุญาตให้มีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศดังกล่าว

ส่วนสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับ BOL สำหรับนักลงทุนต่างประเทศคือ การขออนุญาตเปิดบัญชีธนาคารอยู่ต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการชำระคืนเงินกู้ยืม หรือ เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการที่ซื้อขาย ก็จะต้องมาดำเนินการขออนุญาตจาก BOL เช่นกัน โดยการเปิดบัญชีดังกล่าวต้องเปิดเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์เฉพาะที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น สำหรับการยื่นเอกสาร ทาง BOL ใช้เวลาประมาณ 15 วันทำการในการพิจารณาออกใบอนุญาตเปิดบัญชีต่างประเทศให้

ค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตทั้งหมด ทั้งการขอรับ CIC การขออนุญาต กู้ยืมเงินจากต่างประเทศ และการขออนุญาตเปิดบัญชีอยู่ต่างประเทศนั้น BOL เก็บในอัตราเดียวคือฉบับละ 15,000 กีบ

คำศัพท์ทั้ง 5 คำ ที่ดิฉันนำเสนอไปในฉบับนี้ เป็นคำศัพท์ที่จำเป็นที่นักลงทุนต้องได้เจอและได้ยินแน่นอนในการดำเนินการจัดตั้งบริษัทใน สปป.ลาว ดิฉันจึงหวังว่า บทความฉบับนี้จะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนที่สนใจจะเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาวไม่มากก็น้อย จะเห็นได้ว่าการลงทุนใน สปป.ลาวนั้นไม่ยาก หากเข้าใจหลักการและคำศัพท์พื้นฐานเหล่านี้ค่ะ   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us