MINI Passion เกิดจากจินตนาการกับความรู้สึก 4 ประการ ที่ไปกระตุ้นปฏิกิริยาทางเคมีในสมองให้คนอยากเป็นเจ้าของรถ นั่นคือ M = Mania ความหลงใหลและลุ่มหลงความสนุกหลังพวงมาลัยในชีวิตประจำวัน, I = Idiosyncratic หรือ Individualisation ความเป็นตัวของตัวเองของเจ้าของและตัวรถ, N = New ที่เชื่อมโยงความหมายถึงความรู้สึกแบบ young, raw, fresh fun & modern และตัวสุดท้าย I = Immortal ความเป็นอมตะและชั่วนิรันดร์
50 ปีของ MINI ยังคงไม่หยุดวิญญาณขบถ ซึ่งสะท้อนถึงการแสวงหาและปลดปล่อยเสรีภาพของคนหนุ่มสาวตั้งแต่ยุคเบบี้บูมในทศวรรษ '60-'70 ที่เบ่งบานจนถึงยุคปัจจุบัน จิตวิญญาณขบถที่อยู่ในงานออกแบบสมัยใหม่ของ MINI นี้ ต้นแบบกำเนิดมาจากวิศวกรนักออกแบบรถยนต์ชาวอังกฤษเชื้อสาย เตอรกี Sir Alec Issigonis ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น The MINI Father ผู้กล้าคิดนอกกรอบและสร้างสรรค์กระบวนทัศน์ "mini" ในเชิงเศรษฐกิจที่ทรงพลัง เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้พ้นจากการครอบงำของแนวคิด "Big is beautiful" จนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์ "MINI Phenomenon" ที่ยิ่งใหญ่เกินตัว และสร้างเครือข่ายคนรักมินิทั่วโลก จนถึงปัจจุบันครบรอบ 50 ปีที่มีการจัดงานปาร์ตี้ใหญ่ในชื่อ MINI Festival 2009: The 50th Birthday เริ่มต้นจุดสตาร์ทจาก Silverstone ที่อังกฤษเมื่อเดือนพฤษภาคม ก่อนจะกระจายไปจัดงานทั่วทุกภูมิภาคของโลกจนบรรจบครบวันเกิดจริงๆ ในวันที่ 26 สิงหาคมปีนี้
Owners and Clubs
สำหรับแฟนคลับ MINI ในเอเชียที่ โดดเด่นเห็นจะไม่พ้นประเทศญี่ปุ่น ไทยและมาเลเซียตามลำดับ ขณะที่สิงคโปร์เพิ่ง เริ่มตั้งไข่ชมรม มีสมาชิกเจ้าของรถชาวสิงคโปร์ที่แอคทีฟจริงๆ ประมาณ 50-60 คน แต่ของไทยคาดว่ามีเจ้าของรถมินิกว่า 2,000 ราย โดยแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ
หนึ่ง - กลุ่ม New MINI (ตั้งแต่รถปี 2002-ปัจจุบัน) ที่นำโดยสองหนุ่มอารมณ์ ดี คือ หนุ่ม-นิพรรณ คูหาแก้ว (miniskirt) และปิ๊ก-ปณิธาน กัจฉปานันท์ (smurfmini) กับสมาชิกกลุ่มที่เป็นตัวจริงเสียงจริงไม่ต่ำกว่า 400-500 คน ที่เชื่อมความสัมพันธ์ร่วมทำกิจกรรม และบอกกล่าวเล่าข่าวร่วม กันผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.newmini-society.com โดยจะมีสมาชิกที่เกาะกลุ่มเหนียวแน่นประมาณ 50-60 คน สร้างสรรค์กิจกรรมที่เข้ากับไลฟ์สไตล์คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ท้าทายรักความสนุกและทันสมัย สถานที่ hang out ล่าสุด อยู่ที่ร้าน Start up ที่เกิดจากการลงขันของหนุ่มและปิ๊ก
สอง - กลุ่ม MINI Classic (ตั้งแต่รถนำเข้ารุ่นแรก 1962-2000) ที่ประกอบด้วยกลุ่มครอบครัวมินิ (Mini Family Club Thailand) ที่นัดพบกันทุกเสาร์ที่ 2 ของเดือน ณ ห้างโรบินสัน รัชดา โดยมีพี่ใหญ่ ที่มากน้ำใจชื่อ ภควัต สาธร หรือที่นิยมเรียกเขาว่า Ed_miniza ซึ่งมีเว็บไซต์ www. minisaturdays.com เป็นสื่อกลางสื่อสารสัมพันธ์ให้สื่อความภูมิใจกับความเป็น Original กับให้ความรู้เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงรักษา การทำสี รายชื่ออู่ที่มีคุณภาพอยู่ที่ไหนบ้าง แหล่งซื้ออะไหล่รถมินิรุ่นเก่า วิธีดูรถมือสอง และข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็น ตลอดจนถึงเป็นเพื่อนคุยยามท้อแท้หมดหวังด้วย สมาชิกครอบครัวมินิจำนวน 170-180 คน จะเป็นเจ้าของรถ mini ยุคแรกที่นำเข้าโดยบริษัท Lay Thai ที่ยังคงวิ่งได้ประมาณ 50-60 คัน ต่อมาที่เหลือเป็นรุ่น New Mini ที่นำเข้าโดยบริษัท ไทยอัลติเมท ตัวแทนจำหน่ายของโรเวอร์ ก่อนที่ BMW Group จะมาเทกโอเวอร์ในปี 2001 แต่ Ed บอกว่า
"ตอนนี้มันเลยจุดที่จะเรียกว่ารักมินิแล้ว ความรู้สึกเราเป็นเหมือนคนในครอบครัว"
ทั้งสองกลุ่มที่รักมินิแท้ๆ ไม่ยอมแพ้ อุปสรรคใดๆ ต่างมีจุดร่วมกันคือ MINI Passion โดยยึดรถเป็นศูนย์กลางและนับถือ มินิเป็นมิตรคู่ใจ ส่วนใหญ่นิยมตั้งชื่อเล่นรถที่สะท้อนบุคลิกที่ชื่นชอบ โดยจะได้รับการตกแต่งทั้งภายในและภายนอกรถให้มีเอกลักษณ์ของเจ้าของและรถ เลขทะเบียน สวยๆ เวลาเจอชาวมินิด้วยกันบนถนนหรือ ที่จอดรถ มักยิ้มและทักทายให้กัน ถ้าเป็น กลุ่ม mini classic คำทักทายมักออกมาในรูปคำถามว่า "วันนี้เข้าอู่หรือยังครับ?" และขยายวงไปสู่ความเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่
ขณะที่กลุ่ม New MINI เริ่มความสัมพันธ์จาก Social Network ผ่านสื่อกลางที่นิยมใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เว็บไซต์ Face-book Twitter MSN เพื่อจะนัดทั้งกลุ่มมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ณ จุดนัดพบ ภาพที่เห็นจะเป็นรถมินิหลาก สีสันที่มีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น Mellow Yellow, Chill Red, English Racing Green, Lighting Blue Astro Black, Laser Blue, Pepper White, Sparkling Silver, Hot Chocolate, Dark Silver จอดเรียงรายเป็นแถวยาว
ส่วนสถานที่นัดพบ ถ้าเป็นกลุ่ม Mini Classic นัดเจอกันที่ห้างโรบินสันรัชดา ทุกวันเสาร์ที่สองของเดือน เนื่องจากผู้จัดการห้างนี้ก็เป็นเจ้าของมินิเช่นกัน
ส่วนกลุ่ม New MINI ล่าสุดมีจุดนัดพบประจำที่สมาชิกมา hang out ได้แล้วที่ร้าน Start up ตั้งอยู่หน้าปาล์มสตรีท เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ธุรกิจเล็กๆ แห่งนี้เป็นการร่วมลงหุ้นของคนสำคัญในกลุ่มคือ หนุ่มและปิ๊ก หลังจากคบหารู้ใจกันมา 3 ปี
คอนเนกชั่นของสองกลุ่มเป็นสายใย เหล็กกล้าแห่งความภาคภูมิใจที่หล่อหลอม จากใจคน+ใจรถ ออกมาเป็นชีวิตชีวาไม่รู้จบ ตามเงื่อนไขเท่าที่เจ้าของอยากให้เป็นไป
Don't mention Lifestyle
It's MINI
หากจะไล่เรียงระดับ Extreme ลงมาจนถึงระดับปกติของกลุ่ม New MINI ขอยกตัวอย่างหนุ่มนักเรียนอังกฤษแบบ สาริษฐ์ ฮุนตระกูล หรือชื่อเล่นว่า Tab หลานปู่สมหมาย ฮุนตระกูล อดีตรัฐมนตรี คลังผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ขณะนี้เขาศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษ University of Exeter ด้านบริหารธุรกิจ ทั้งๆ ที่มีความเป็นศิลปินที่สามารถแสดงผลงานศิลปะบน พื้นผิวรถ "Tab's MINI Tour" ซึ่งนำมาแสดงต่อในงาน MINI Phenomenon 2007 และเคยมีผลงานออกแบบ Body Wrap วาดลวดลายบนรถแข่งวีออสในทีม Toyota ONE make race 2008
"ผมไม่ได้เรียนอาร์ทมาแต่ชอบเพนต์ รูป ทางโตโยต้าเห็นผมทำให้กับ MINI เขา ก็ชอบสไตล์แรงๆ ของผม ถามว่าผมออก แบบทำให้รถเขาเด่นกว่าใครในสนามได้ไหม ผมตอบว่า ทำได้อยู่แล้วและได้เงินมาเยอะ ผมเอามาทำรถ เพราะพ่อผมหยุดให้ตังค์มานานแล้ว พ่อซื้อรถมินิคูเปอร์ เอส dark silver คันแรกจากศูนย์นิวตันตอนผมอายุ 14 และให้ผมเมื่อถึงเวลาตอนผมอายุ 18 ส่วนล้อแม็ก 18 นิ้วเป็นของขวัญชิ้นเดียวที่พ่อให้ แต่อย่างอื่นผมหาเงินจ่ายเองหมด" เขาเล่าให้ฟังขณะพาไปรู้จัก R53 Cooper S สี dark silver อายุ 6 ปีที่เขาตั้งชื่อว่า "Blair" ตามชื่อสาวสวยที่มีเสน่ห์ร้ายกาจเงียบๆ ในซีรีส์เรื่อง Gossip Girl
"ผมทุ่มไปกับรถคันนี้เกิน 5 แสนแล้ว ผมจะเช็กราคาของทุกอย่างก่อนซื้อ และรอของมือสองที่ราคาดีๆ ความบ้ารักรถของผมไม่เหมือนใคร และภูมิใจมากที่แต่งรถได้แรงขนาดนี้ 252 แรงม้า มันเป็นมินิคันที่แรงที่สุดคันหนึ่ง แต่ไม่มีใครมองรู้ เพราะดูภายนอกธรรมดาเรียบๆ แต่เท่ ต้อง คนที่รู้จริงเท่านั้นจึงจะทึ่งว่ารถผมแรง ผมใช้รถเป็น daily use แต่ผมจะไม่วิ่งแข่งแรลลี่บนถนน ถ้าอยากขับแข่งผมจะไปที่สนามแข่งรถ เช่น พีระเซอร์กิต หรือไปวิ่งจับเวลากันที่คลับ EURO CLUB RACE แข่งกับรถยุโรปแรงๆ"
สาริษฐ์เล่าให้ฟังอย่างมีชีวิตชีวาถึงวิธีคิดกับการใช้เงินแสวงหาที่สุดของประสิทธิภาพของเครื่อง แต่ไม่เน้นจ่ายเงิน แพงๆ เพื่อซื้อทะเบียนเลขสวย แต่สามารถ รอเลขที่เป็นเป้าหมายคือ 9585 ซึ่งเป็นเลขทะเบียนของรถประจำบ้านทุกคันได้ ซึ่งทำให้สะดวกเวลาแลกสติ๊กเกอร์ไปที่ไหน ได้ง่าย และไม่เน้นเครื่องเสียงเพราะโดนเสียงกระหึ่มของรถกลบหมด "ตอนผมวิ่งเร็วๆ ผมไม่ได้ยินเสียงจากลำโพงเลย"
จากบุคลิกภายนอก เขาใส่เสื้อยืดนุ่งยีนส์คัตติ้งดีๆ กับรองเท้าคู่โปรด สไตล์ดูเรียบๆ แบบมีคลาส แต่ภายในเต็มไปด้วย extreme passion กับไลฟ์สไตล์ที่นิยมเล่นกีฬา Kite Surf ที่บ้านหัวหิน "มันยากที่ต้องกระโดดและเหาะตอนที่ลมมันฉุดจังหวะนั้น ขณะเดียวกันต้องบังคับทิศทางว่าวด้วยมันท้าทายดี" พื้นฐานเล่นกีฬาโปโลน้ำและเคยเป็นนักกีฬาว่ายกบติดสถิติของมหาวิทยาลัยสามรายการ สร้างร่างกายที่แข็งแกร่ง
เมื่อสาริษฐ์กลับไปอังกฤษ เขายังมีรถ MINI Classic เก่าๆ อีกคัน ซึ่งเป็นรุ่น คลาสสิกเหมือนของ มร.บีนส์ ถือว่าเป็นรถ มินิ 500 คันสุดท้ายของโลกที่หายากมาก
โดยสรุป การรักแรงๆ ในรถมินิสักคันจะต้องมีคอนเซ็ปต์ Original, Raw, Classy & Differentiated เป็นคุณค่าที่สื่อ ถึงตัวตนภายในของเจ้าของรถคันนั้น เฉกเช่นเดียวกับอีกหนึ่งที่แรงในวิถีเดียวกันแต่ ต่างรุ่นกันก็คือ ภควัต สาธร หรือฉายาในเว็บว่า "ed_miniza" เจ้าของรถแข่งมินิคูเปอร์คันสีแดงที่แรงด้วยฤทธิ์เครื่องตะเกียบ 998 cc เขารักความเป็น Original ของมินิ มากๆ บางครั้งความหลงใหลถึงขั้นหมกมุ่นเกี่ยวกับตัวเครื่องและความแรงของรถเข้าครอบงำเจ้าของก็มี จนกล่าวกันว่า ไม่มีเจ้าของรถมินิคันไหนที่ไม่ทะเลาะกับเจ้าของอู่ แต่ก็ยอมอู่ทุกครั้งไป
"ผมเพิ่งได้มินิคันนี้มาเมื่อ 5 ปีนี้เอง ตอนที่ผมอายุ 40 ทั้งๆ ที่ผมหลงรักมานาน ตั้งแต่เรียนที่สาธิตจุฬาฯ และหอการค้า กว่าจะได้เป็นเจ้าของก็ใช้เวลา 20 ปี ชอบรถแรง ตอนนั้นใช้รถแลนเซียคูเป้แบบสปอร์ตคาร์ พ่อซื้อมาปี 1975 ราคา 3.2 แสนบาท ขณะที่มินิคูเปอร์เอสตอนนั้นคันละ 9.5 หมื่นบาท พอเราอยากได้เมื่อสิบปีที่แล้วก็เก็บเงินเองตั้งใจซื้อ 2.2 แสนกว่าบาท แต่ถึงเวลามันขยับขึ้นเป็น 4 แสนกว่า บาท ผมก็ยอมและเอามาแต่งในอารมณ์รถแข่ง เป็นเกียร์กระปุก มีหลังคาผ้าที่เปิด ได้ เป็นเรซซิ่งจริงๆ ฟิลลิ่งเหมือนขับรถโก-คาร์ต ผมไม่เคยเห็นเจ้าของรถมินิขับช้า เพราะรถมันเบาและเกาะถนนดี เพราะช่วง ล่าง ฐานล้อ ความกว้างระหว่างล้อซ้ายหน้า และขวาหน้า แชสซีย์ที่แข็งเป็นเหล็กกล่องใหญ่หนาเป็นคืบ แต่ขอโทษสำหรับคุณผู้หญิงต้องรัดเข็มขัดแน่นๆ เพราะมันกระเทือนถึงอกถึงใจจริงๆ" มิน่ายุคมินิคลาสสิกจึงเห็นเจ้าของเป็นหญิงน้อยมากๆ เพราะกลัวทรงยาน
ถึงกระนั้น นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หญิงยุคใหม่วัย 52 อย่างแพม หรือพรทิพย์ อิทธิสุขนันท์ เจ้าของ MINI ทั้งรุ่นเก่า
Classic และรุ่นใหม่ New MINI ระดับท็อปของ R55 คลับแมน คูเปอร์เอส Limited สีฮอตช็อกโกแลต มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ที่เธอตั้งชื่อให้ว่า "จิงจ๊า" ซึ่งสวย เผ็ด ดุเป็นดาวในชมรม New Mini Society ที่เธอโพสต์ในนามว่า foclady ผู้ช่างคุยและเทคแคร์ คราวใดไปต่างประเทศ เห็นของมินิไม่ได้ต้องซื้อมาแชร์ๆ กันในหมู่เพื่อนพ้องน้องพี่ บางครั้งก็แชร์กันเหมาตั๋วโรงหนังเล็กดูหนังแฮรี่พอตเตอร์ก็มี เป็นคนที่มีคอนเนกชั่นระดับสูงที่สนับสนุนให้ความฝันทำร้าน Start up ได้ทำเลที่ตั้งที่ดี หลายครั้งที่เธอรู้สึกกลับไปเป็นเด็กอีกและอยากเป็นผู้ให้
"สมัยอยู่อังกฤษ แพมขับมินิเหมือน ขับโตโยต้าไปเรียน แต่พอกลับมาอยู่เมืองไทย ปี 2002 ตอนที่บีเอ็มเอามาขาย ก็ยังคิดว่าแพงแต่รถน่ารักดี จนได้ดูหนังเรื่อง The Italian Job ก็เริ่มชอบและซื้อ New Mini R50 ตั้งชื่อว่าน้องฟ้า (electric blue) เป็นรถที่ตั้งใจใช้ดีไซน์ของ Paul Smith ล่าสุดปีที่แล้วแพมซื้อรุ่นท็อปของ New Mini Clubman รุ่นท็อป" แพมเล่าต่อไปว่า
"เป็นธรรมดาที่คนชอบเล่นมินิต้องอยากเป็นเจ้าของ Classic สักคันเพราะมัน เป็นความสุขที่เรียกว่า Obsession แพมซื้อ มา 4 แสนเป็นรถมินิที่สี burberry สีครีม แต่ตอนนี้ restore ยกเครื่อง ชุนเครื่อง ส่วน ตกแต่งภายในเป็นสีครีม เบาะทำใหม่ ทำสี เราไปดูทุกสเต็ป จากสภาพโทรมๆ พอชุบ ชีวิตใหม่ เห็นปั๊บก็ยิ้ม น่ารัก วิ่งได้ฉิว ใช้เวลา restore ใหม่หนึ่งปีตกประมาณ 8 แสนบาท แต่รถอีกคันสีแดง Clubman รุ่นเก่าตู้กับข้าว แพมซื้อมาสภาพเป็นซากใน ราคา 3 แสน แต่ตอนนี้แพมลงไป 5 แสน แล้วยังไม่จบ ใช้เวลาเกือบสองปียังไม่เสร็จ ช่างเขาทำสีโป๊วเหมือนคนเข้าเฝือก เปลี่ยน เครื่องจาก 1,300 เป็นเครื่อง S นำเข้าจาก ญี่ปุ่นจะแรงมากขึ้น ถ้า restore เสร็จก็เกือบ ล้านกระมังคะ?" นี่คืออีก MINI Passion หนึ่งในร้อยของผู้ครอบครองมินิ
หันกลับมาดูตัวอย่างคนรุ่นใหม่คือ น้องแป้ง หรือพรรณระพี หวังมนตรี นิสิตอักษรจุฬาฯ ปี 4 คนนี้ตกหลุมรัก New MINI ทันที ขณะกลับจากเที่ยวหัวหิน แล้ว เห็นรถเล็กๆ สีสันน่ารักเป็นแถวขบวนและตามไปดูที่งานใหญ่ประจำปีที่แดนเนรมิต หลังจากนั้นก็ชวนคุณพ่อคุณแม่ เจ้าของกิจการรับเหมาก่อสร้างสินทรัพย์อนันต์ ซึ่ง ชอบมินิเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไปซื้อที่โชว์รูม Millenium Auto หลังสวนทันที ทั้งๆ ที่ตัวเองยังอายุ 17 ไม่มีใบขับขี่ แต่ตอนนี้เป็นเจ้าของที่มีความสามารถขับแข่งใน MINI GYMKHANA 2009 ได้รับรางวัลที่สองรุ่นเลดี้ด้วย
"Tiger" สีเหลือง Liquid Yellow เป็นชื่อเล่นที่ตั้งให้กับ R50 Cooper Look 2 ซึ่งมีซันรูฟ หลังคาที่แต่งด้วยดีไซน์เก๋ลายแถบหลากสีของ Paul Smith ซึ่งเป็นนักออกแบบชั้นนำของแฟชั่นและ accessories (ที่สำคัญในปีนี้ที่เขามี MINI Collection สีสันสนุกสนานบนแถบสีออกมาในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ Club 21 นำเข้ามาขาย เช่น กระเป๋าสะพายข้างที่มีเอกลักษณ์รถมินิราคา 19,900 บาท หรือกระเป๋าสตางค์ ลายเก๋ราคาใบละ 11,500 บาท) แต่รถของแป้งยังแต่งน้อย อารมณ์ประมาณแต่งบอล ที่เสาอากาศ มีตุ๊กตามิกกี้เมาส์และติดการแชทผ่าน Facebook ในอนาคตเธอคิดจะ เปลี่ยนรถเป็น R53 เพราะชอบดีไซน์มากกว่ารุ่นปัจจุบัน R56
สำหรับสาวสวย รวย และเก่ง ดร.ณัฐาภรณ์ เจริญสวัสดิ์ เจ้าของ MINI Cooper S สีแดงที่ซื้อราวปี 2004 เธอเป็น นักธุรกิจส่งออกด้านแพ็กเกจจิ้ง เลือกเพราะ เหมาะกับไลฟ์สไตล์ส่วนตัว และเสริมบุคลิก ที่ชอบความคล่องแคล่วและทันสมัย รวมทั้งต้องออกไปติดต่อธุรกิจบ่อยๆ รถมินิจึงเหมาะเพราะหาที่จอดรถง่าย ไม่นิยมแต่งรถ เปลี่ยนแต่ล้อแม็ก ในอนาคตก็ดูรถ New MINI ใหม่คันใหญ่กว่าเดิม
MINI big events
"MINI Thailand breaks the world record by creating the largest car mosaic in history: 444 MINIs are assembled in tribute to His Majesty the King's 80th Anniversary"
ข้อความข้างต้นคือ MINI Phenomenon 2007 ของ MINI THAILAND ซึ่งมีธีมหลักของงานคือ "LONG LIVE THE KING" โดยรถ MINI 444 คันที่พร้อมใจแปรอักษรถวายพระพร
"กิจกรรมปีนั้นดีมากๆ แต่ละเต็นท์ จัดกันเต็มที่ แต่เสียดายคราวนั้นได้รถมินิ ไม่ถึง 800 คัน มาแค่ 400 กว่าคัน เขาจึง ได้ตัวอักษรบางลงเล็กน้อย โดยเอารถมินิคลาสสิกรวมกันที่ตัวอักษร KING แล้วตัวนิวมินิก็เรียงคำเป็น LONG LIVE โดยจอดสองคันขนานกันไป แต่ถ้าต้องการตัวหนาต้องจอดซ้อนสามคัน ปีนั้นเราฉลองในหลวง พระชนมายุครบ 80 ปี ทางผู้จัดวางแผนงานได้ดีมาก ทุกคนจะได้ตัวเลขแปรอักษร ตำแหน่งจอดรถและเราอยู่ในนั้นทั้งวัน ในเต็นท์มีการฉายหนัง The Italian Job ทั้งวัน" นี่คือเสียงสะท้อนของพรทิพย์ สมาชิก คนหนึ่งในชมรม New Mini Society ให้ความเห็น
ธีมการจัดงานใหญ่ประจำปีซึ่งเรียก กันว่า MINI UNITED เปลี่ยนไปทุกปี โดยเฉพาะ 2008 ธีมหลักจะเน้นการรักษ์โลก Save the Earth
"แพมคิดว่าปีนี้งานจัดแบบเรื่อยๆ ไม่เหมือนปีที่แล้ว ธีมของงานจะเป็น save the earth มี racing fun แล้วเขาจะให้รถมินิทุกคันของเราวิ่งเข้ามาซิกแซกแล้วภาพจะสวยมาก พวกเราก็ยืนคอยลุ้นกันเป็นแนว โดยจัดเลนวิ่งโดยมีแนวไฟเป็นทางเลี้ยวทางโค้ง กว่าจะวิ่งมาถึงจุดหมายสุดท้ายที่จะเข้างานได้จะมีธง เหมือนในสนามแข่ง และในงานยังมีการประมูลของ เช่น เอารถมินิที่ใส่เพชรสวารอฟสกี้แล้วเอามาประมูล และให้เงินแบบ charity แก่มูลนิธิองค์การกุศลต่างๆ ดูมีสาระและสนุกกว่า"
ปี 2009 นี้ถือเป็นงานใหญ่เฉลิมฉลองครบรอบวันเกิด MINI 50 Years ทั่วโลก ที่วางฟอร์แมตหลักที่ MINI THAILAND ทำเหมือนกัน จัดแข่งขันทักษะกับ MINI GYMGANA ที่ประลองฝีมือการควบคุมการทรงตัวของรถมินิในลู่ขับรถที่มีเครื่องกีด ขวางบนทางคดเคี้ยวเลี้ยวลดไปมา งานนี้มี Ranou Aaltonen นักแข่งรถมินิชาวฟินแลนด์ที่เป็นตำนานผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่ MINI ในปี 1965 เป็นผู้มอบรางวัลด้วย
"Don't think it's car driving, it's not mechanical, not engineering. It's emotional and passion. You drive emotion" นี่คือหัวใจสำคัญของ Ranou Aaltonen ผู้ชนะเลิศการแข่งรถที่มอนติคาโล ในปี 1965 และสร้างชื่อเสียงให้ MINI เป็นที่รู้จักยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ปัจจุบันเขาเปิดสอนสถาบัน Aaltonen Motor Sport
New MINI Marketing
บนถนนเอกมัย MINI Square มูลค่า 150 ล้านเป็นที่ตั้งโดดเด่นของบริษัท ซึ่งเป็น ดีลเลอร์และศูนย์บริการรถ MINI ที่นำเข้าโนว์ฮาวและเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูง ศูนย์นี้ได้รับการแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมาย จากบริษัท MINI THAILAND ดีลเลอร์รายใหญ่เคยตั้งอยู่ที่หลังสวน จำหน่าย BMW และ MINI มีทั้งหมด 3 สาขา คือ เอกมัย, ลาดพร้าว, พระราม 4
"ใจผมคิดว่าผมขายไลฟ์สไตล์ที่จับ ต้องได้ โดยมีรถเป็นสื่อ คือผมมองว่าลูกค้าของผมเป็นคนกลุ่มหนึ่งมีจุดร่วมที่เหมือนกัน ชอบท้าทาย ชอบความเร็ว ชอบขับรถ ชอบเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง Trend setter แต่ไม่บ้าแบรนด์หรู ถ้าต้องให้เขาถอดแบรนด์ เขาก็มีบุคลิกเป็นตัวของตัวเอง" สมปราชญ์ โบสุวรรณ Assistant General Manager ซึ่งมีประสบการณ์การขายรถมินิ 8 ปีกับบริษัท Millennium Auto เปิดใจถึงลูกค้าของเขาไว้อย่างน่าคิด
"ตอนที่โชว์รูมยังอยู่ที่หลังสวน มีลูกค้าท่านหนึ่งอายุราว 60-70 ปี เดินมาดูรถมินิที่ยังเป็นที่ปรารถนาไม่เสื่อมมนต์เสน่ห์ ดูเสร็จก็จะซื้อแต่ให้พนักงานไปรับเงินสดที่บ้าน เป็นเหตุการณ์ที่ผมประทับใจมากๆ"
ด้วยเหตุนี้ ปรีชา นินาทเกียรติกุล General Manager ของ MINI Thailand จึงได้เสริมข้อมูลด้านนี้ให้ว่า
"ในฐานข้อมูลปรากฏว่า ลูกค้าคนที่มีอายุแล้วซื้อ New MINI ก็มีมาก ผมเชื่อว่าเขาอยาก มีไลฟ์สไตล์ที่หาไม่ได้ในวันทำงาน ซึ่งหมายถึงว่า เขาอาจจะต้องนั่งรถประจำตำแหน่ง BMW series 7 มีคนขับรถให้เพื่อไปประชุม แต่ในวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุด เขาอยาก ขับรถเอง จึงเลือกรถมินิ ซึ่งมีความแตก ต่างแบบ uniqueness และ customize"
จากประสบการณ์นักขายมืออาชีพ สมปราชญ์แยกลูกค้าออกเป็น 2 ประเภท คือ หนึ่ง-ประเภท walk in เดินเข้ามาชมและสั่งจองซื้อของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่อาศัยหรือทำงาน และ hang out หลังเลิกงานแถวทองหล่อและเอกมัย ซึ่งถือเป็น Prime location ที่ตรงกลุ่มเป้าหมายนับหมื่นคันที่ขับรถผ่านถนนเอกมัย จะเห็น MINI ในโชว์รูมอันทันสมัยที่ MINI Square
สอง-ประเภทลูกค้าที่สั่งจองจากงาน มอเตอร์โชว์ event หรืองาน roadshow ตามศูนย์การค้าชั้นนำ เช่น สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ ถือเป็นการส่งเสริมภาพพจน์ของบริษัทเป็นหลัก
ทุกวันนี้ ระดับราคาสองล้านขึ้นไปของรถ MINI ในเมืองไทย กำหนดให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือคนรวย คำว่า classless car จึงไม่เกิดขึ้นในตลาดรถมินิของไทย ทั้งๆ ที่ราคารถในอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น MINI One, MINI Cooper และ MINI Cooper S ในเมืองนอกประมาณ 8 แสน-1 ล้านบาทเท่านั้น แต่หลังจากผู้นำเข้ารถ CBU จะโดนกำแพงภาษีทุกอย่างรวม 300% เป็นเหตุให้ราคารถแพงขึ้นไต่ระดับสูงคันละ 2-3 ล้านบาท โดยเฉพาะรุ่นขายดี R56 ส่วน รถระดับสามล้านขึ้นอย่าง MINI Clubman ล่าสุด MINI Convertible ที่เปิดประทุน โชว์ proud พร้อมกับเครื่องบันทึกว่าเปิดประทุนไปแล้วมากน้อยเพียงใด
"จริงๆ แล้ว MINI ไม่ใช่ Luxury Car แต่เป็น Niche car ที่ไม่ได้เพียงแต่ขายรถหรือให้เซอร์วิสอย่างเดียว แต่เติมเต็ม ไลฟ์สไตล์ที่จับต้องได้ ลูกค้าที่นี่มีไลฟ์สไตล์ ชัดเจนและเป็นมินิแมเนีย มีแบรนด์รอยัลตี้ กับคุณค่าของแบรนด์ MINI ทำให้เราต้อง การสร้างความพอใจแก่ลูกค้าให้มากที่สุด ชนิดที่ว่าบริษัทแม่ที่อังกฤษมีอะไรใหม่ เราก็พยายามจัดหา item มาให้มีมากเท่าจะมากได้ เป็นของใช้ในชีวิตประจำวันของเด็ก MINI Kids ถึงผู้ใหญ่ เป็นคอลเลกชั่นของ MINI และ MINI Co-brand"
ล่าสุด คอลเลกชั่นครบรอบวันเกิด 50 ปีของ MINI ผลิต T-SHIRT ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นสีดำ แล้วมีโลโกตัวอักษร หรือถ้าเป็นการร่วมมือกับคนนอก เช่น รองเท้า Onitsuka Tiger ซึ่งหนุ่มสาวคลั่งไคล้ก็จะมีรุ่น Limited ที่ข้างหลังเขียนว่า MINI หรือสินค้ากระเป๋าที่เป็น luggage set แบรนด์ Mandarina Duck ก็จะมีผลิตให้เฉพาะ MINI ถือว่าเป็น Exclusive Item
อย่างไรก็ตาม แก่นของธุรกิจ MINI ก็ยังอยู่ที่รถเป็นศูนย์กลาง ทำอย่างไรตลาด รถระดับสองล้านขึ้นไปจึงจะสามารถปรับตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองไทยชะงักงันได้ ตามแผนวาระพิเศษ ฉลองครบรอบวันเกิด 50 ปี จะเป็นโอกาสให้เกิดการส่งเสริมการตลาด ล่าสุดจับมือกับพันธมิตรสามฝ่ายคือ MINI Thailand, Millennium Auto และธุรกิจบัตร KTC จัดแคมเปญส่งเสริมการขายการตลาดที่ให้จุใจ ทั้งผ่อนชำระสบายๆ เดือนละ 18,500 บาท ในแพ็กเกจของ MINI Smiles หลังจากรูดเงินดาวน์แสนบาทจากบัตร KTC ก็มีโอกาสรับรางวัลไปเที่ยวเกาะมัลดีฟส์ นอกจากนั้น ยังได้ชุดแต่งรถอีกด้วย การอัดแคมเปญชุดใหญ่นี้ ถือเป็นจุดเริ่ม Kick off วาระครบรอบวันเกิด 50 ปี MINI ที่ประสบความสำเร็จมาก มียอดสั่งซื้อรถเข้ามาทันทีภาย ในอาทิตย์เดียวไม่ต่ำกว่า 50 คัน
ขณะเดียวกัน ตลาดรถมินิมือสอง ที่เรียกว่า MINI NEXT ก็ไปได้ดี เพราะลูกค้าได้รับหลักประกันการซ่อมบำรุงและอะไหล่แท้ที่นำเข้ามาจาก 3 แหล่ง คือ สิงคโปร์, บริษัทแม่ MINI THAILAND และที่ศูนย์ Millennium Auto
"ขับขี่สนุกไม่เหมือนใคร" จึงเป็นเรื่องท้าทายให้คิดสร้างสรรค์ สร้างยุทธ-ศาสตร์การทำตลาดเชิงไลฟ์สไตล์ของรถเล็กพริกขี้หนูแบบ MINI ที่น่าติดตามนอกเหนือจากคำว่าน่ารัก ฟิลลิ่งการขับรถ แบบมินิจะเป็นแบบโก-คาร์ตฟิลลิ่ง หน้ารถสั้นเพราะล้อไปสุดที่หน้ารถ ทำให้ช่วงระยะห่าง ระหว่างล้อหน้าและล้อหลังยาวขึ้น และจุดศูนย์ถ่วงต่ำเกาะถนนเวลาเข้าโค้งแน่นอน ที่สำคัญคือ แต่งรถได้สนุกตามใจชอบแบบ Customization และ Mix & Match ได้ทุกจุดตั้งแต่หลังคา หูช้าง พวงมาลัย สีรถ สปอยเลอร์ เสาอากาศ เบาะ คอนโซล ฯลฯ
วิธีการสร้าง Social Networking ของเจ้าของรถมินิที่จะบอกต่อๆ กันแบบ Viral Marketing เพื่อนชวนเพื่อนใช้ คุยกัน เรื่องมินิๆ บนเว็บบอร์ด แชทกันผ่าน Face-book หรือ Twitter และสร้างกิจกรรมใหญ่ ประจำปี MINI UNITED ที่สร้างเสริมประสบ การณ์ทักษะการขับขี่ใหม่ๆ จาก MINI drive ตามด้วยบรรยากาศปาร์ตี้เก๋ๆ สนุกสนาน แบบพลาดไม่ได้ ถือว่าเป็นโมเดลการทำ การตลาดที่หลายค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นนำไปปรับใช้ตามบ้างแล้ว ถือว่าสร้าง Social Networking
New MINI GM
วันที่ 1 ตุลาคม 2552 นี้ กฤษฎา อุตตโมทย์ ขุนพลหนุ่มคนใหม่วัย 39 ของ MINI THAILAND จะเข้ามาบริหารจัดการแทนปรีชา นินาทเกียรติกุล ซึ่งได้รับการโปรโมตย้ายไปใหญ่ที่สิงคโปร์ ตามแผนระยะยาวยุทธศาสตร์การเติบโตในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้มืออาชีพอย่างปรีชาที่มีประสบการณ์ 14 ปีกับธุรกิจน้ำมันเครื่องในบริษัทยักษ์ใหญ่และ 2 ปีในตำแหน่งจีเอ็มของมินิ ประเทศไทย เขาต้องปรับใช้โมเดลการตลาด และสร้างศักยภาพการเติบโตของตลาด MINI โดยส่วนตัวก็เตรียมโรงเรียนที่นั่นให้กับลูกชายสุดที่รักแล้ว
เกี่ยวกับจีเอ็มคนใหม่ของ MINI กฤษฎาทำงานกับ BMW มา 8 ปี ด้านการวางแผน Dealer Network เช่น คัดเลือกดีลเลอร์ใหม่และวางแผนขยายการเติบโตของดีลเลอร์และตอนหลังอยู่ฝ่ายขาย sales planning campaign ล่าสุดเขาดูแลตลาด รถบีเอ็มมือสองที่เรียกว่า BMW Premium Selection ซึ่งผลงานเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ มร.คอร์ดิส ซีอีโอของ BMW ยื่นข้อเสนอให้เขา
"ผมรู้สึกตื่นเต้นมากตอนที่ผู้บริหาร ระดับสูงเรียกผมไปคุยแล้วบอกว่าตำแหน่งนี้ avaiable และให้เวลาผมกลับไปคิดก็ได้ ผมตอบรับทันทีว่า No need to think it anymore. Let's do it!"
เขายังได้วิเคราะห์พื้นฐานความเหมือนและความแตกต่างของ MINI และ BMW ไว้เกี่ยวกับบุคลิกของรถที่ต่างกัน สำหรับมินิจะออกแนว casual ขณะที่ BMW เป็นรถออกแนวเป็นทางการที่ผู้ใหญ่ นิยมใช้
"แต่เรียนตรงๆ การทำโปรดักส์สองแบรนด์นี้มีหัวใจที่ใกล้เคียงกันมากๆ คือ เรื่องของ JOY กับ FUN ระยะหลังๆการตลาดของ BMW เน้นการสื่อถึงคำว่า JOY ผมรู้สึกลึกๆ ว่า น่าจะมาจาก MINI ซึ่งเป็นรถขับสนุก และโก-คาร์ตฟิลลิ่ง ทั้งสองคันนี้ต่างสร้างให้ลูกค้ามีประสบการณ์ขับรถที่เป็นหนึ่งเดียวกับใจเจ้าของ จะเห็นว่ารถแต่ละคันของมินิแต่งแตกต่างกัน แต่รถของมินิจะหลากสีสัน มี colour combination กว่า BMW ที่ออกสีเข้ม สีดำ สีบรอนซ์และสีขาว conservative"
เมื่อถามถึงแผนการทำงานในสามเดือนสุดท้าย กฤษฎากล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า
"ไตรมาสสุดท้ายในปีนี้เราจะทำงาน ล่วงหน้า รับสั่งจองซื้อ MINI ให้เพียงพอส่ง ต่อต้นปีหน้า เพราะช่วงราวเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ ตลาดจะเงียบเหงาพอควรก่อน จะมีงานมอเตอร์โชว์ปลายเดือนมีนาคมและต้นเมษายน ดังนั้นการเก็บยอดในสาม เดือนสุดท้ายของปีนี้ เราต้องวางแผนคุยกับ management อีกที"
ความท้าทายจีเอ็มใหม่คนนี้รออยู่ข้างหน้า รวมใจให้เป็นหนึ่งเดียวกับ MINI แล้วดำรงสติให้มั่น เตรียมสตาร์ท แล้วใช้ทักษะประสบการณ์ของ MINI Drive หลบเลี้ยวเครื่องกีดขวางไม่ให้โดน เพื่อมุ่งสู่เส้นชัยด้วยไลฟ์สไตล์แบบ MINI Fun!!
|