|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สำหรับประเทศที่ยังมองเห็นเศษซากอินทรียสารเป็นของไร้ค่าเหม็นเน่าน่ารังเกียจ ขยะก็ย่อมเป็นตมปัญหาที่ต้องกำจัด แต่ประเทศใดที่มองเห็นซากเน่าเหม็นเป็นพลังงานหรือเป็นปุ๋ยชีวภาพ ขยะอินทรีย์ก็อาจกลายเป็น "ขยะหอม" ที่ส่งกลิ่นยั่วยวนด้วยรายได้เป็นกอบเป็นกำได้เหมือนกัน
"ปัจจุบันปริมาณขยะของกรุงเทพฯ ราว 60% เป็นขยะอินทรีย์ นี่ก็แสดงว่าคนไทยมีอาหารเหลือทิ้งมาก" ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ
หลายคนรู้ดีว่า อินทรียสารในขยะชีวภาพสามารถนำไปแปรเปลี่ยนเป็นก๊าซชีวภาพ พลังงานไฟฟ้า และปุ๋ยหมักได้ แต่มีเพียงขยะ 1,000 ตันต่อวัน จากขยะอินทรีย์ราว 60% ของขยะปริมาณกว่า 8.7 พันตันต่อวัน ที่ถูกนำไปแปรเปลี่ยนเป็นปุ๋ยหมักที่ "โรงขยะพันตัน" ณ สถานีขนถ่ายและกำจัดขยะ อ่อนนุช
ขยะอินทรีย์ที่เหลือถูกนำไปฝังกลบ โดยมีต้นทุนเป็นค่าขนส่งและกำจัดขยะที่สูง ถึงตันละ 1 พันบาท ทั้งๆ ที่ทุกคนตระหนัก ดีถึงคุณูปการของขยะอินทรีย์ และก็ยังรู้อีกว่ามีวิธีการจัดการขยะอินทรีย์ที่ง่ายและดีกว่าการฝังกลบและการเผาหลายเท่านัก
นั่นก็คือการใช้สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ในดิน...ตัวหนึ่งคือ จุลินทรีย์ ส่วนอีกตัวก็คือไส้เดือนดิน
ปุ๋ยชีวภาพ ก๊าซชีวภาพ
ผลผลิตชั้นดีจากสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋ว
ทั้งนี้ ผลิตผลจากขยะอินทรีย์ที่สามารถสร้างได้ง่ายที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้น "ปุ๋ยหมัก"
ในบางครัวเรือน แค่เพียงกองเศษซากอาหาร เศษพืชผักผลไม้ และกากของเสีย ไว้ใต้ต้นไม้หรือในบ่อหมัก เพียงไม่นาน จุลินทรีย์และขบวนการทางชีวเคมีจะเปลี่ยน แปลงและย่อยสลายอินทรียสารในเศษซากขยะนั้นจนกลายเป็นปุ๋ยชีวภาพที่แทบไม่ต้องลงแรงและลงทุน แต่ให้ธาตุอาหารสูงและยังช่วยปรับดินให้ร่วนซุย
สำหรับบ่อหมักขยะอินทรีย์ที่มีขนาด ใหญ่ ยังมีผลพลอยได้ก่อนที่ขยะจะกลายเป็นปุ๋ยหมักชั้นดี นั่นก็คือก๊าซชีวภาพ หรือ Biogas ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยจุลินทรีย์ภายใต้ สภาวะที่ปราศจากออกซิเจน (หรือที่เรียกว่า สภาพที่ไร้อากาศ) เรียกว่าไม่เพียงเป็นการกำจัดขยะอินทรีย์ แต่ยังได้พลังงานสะอาดจากขยะและปุ๋ยอินทรีย์อย่างดีมาใช้ฟรีๆ เป็นของแถม
ยกตัวอย่าง "คำแสด ริเวอร์แคว รีสอร์ท" ขนาด 120 ห้อง รองรับแขกกว่า 400 คน แต่ละวันมีขยะเปียกและเศษอาหารถึง 220-350 กก. ในอดีตขยะเหล่านี้ถือเป็นภาระที่ต้องจ่ายค่ากำจัดขยะด้วยวงเงินจำนวนมาก แต่หลังจากโรงแรมหันมาใช้ระบบก๊าซชีวภาพ ขนาด 80 ลบ.ม. เพื่อกำจัดขยะเหล่านี้ โรงแรมก็สามารถประหยัดเงินค่าก๊าซหุงต้มในครัวและส่วนจัดเลี้ยงถึง 680 บาทต่อวัน หรือตก 2.5 แสนบาทต่อปี ทั้งยังได้ปุ๋ยอินทรีย์มาใช้เพาะปลูกพืชผักและต้นไม้ในรีสอร์ตฟรีๆ อีกด้วย
ขณะที่เมืองใหญ่อย่างเทศบาลนครระยองก็มีโครงการนำร่องผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ซึ่งรองรับขยะได้ปริมาณวันละ 60 ตัน โดยผลิตก๊าซที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่าปีละ 5.1 ล้านหน่วย และขายเข้าระบบได้ถึง 3.8 ล้าน หน่วย คิดเป็นเงินราว 5.8 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังได้ปุ๋ยอินทรีย์กว่า 5.5 พันตันต่อปี คิดเป็นเงินร่วม 5.6 ล้านบาทต่อปี เป็นผลพลอยได้ด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกือบ 15 ล้านตันต่อปี กว่าครึ่งเป็นขยะอินทรีย์ นั่นหมายถึงศักยภาพที่จะผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่า 1,000 ล้านหน่วยต่อปี สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาทต่อปี หรือเพียงพอสำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดเล็กๆ 4-5 จังหวัด ดังนั้น ขยะอินทรีย์จึงเรียกได้ว่าเป็นขุมพลังงานข้างบ้านที่ไม่อาจมองข้ามเลยทีเดียว
นอกจากขยะจะถือเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ช่วยลดโลกร้อน โดยใช้ทดแทนพลังงานจากฟอสซิล ซึ่งส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างมาก... ขยะยังเป็นพลังงานที่ช่วยทำให้สังคมสะอาดจากการกำจัดขยะและช่วยให้เกิดโลกสีเขียว จากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์
ไส้เดือนดิน...เครื่องจักรชีวะ
ย่อยขยะเหม็นเป็น "ขยะหอม"
"โชคชัยสเต็คเฮาส์" ยิ่งเนืองแน่นไปด้วยลูกค้า ปริมาณเศษอาหารก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ปริมาณขยะอินทรีย์สูง สุดสูงกว่า 200 กก.ต่อวัน แม้จะเป็นตัวเลข ที่ดูเยอะ แต่ก็เหมือนจะไม่เพียงพอสำหรับการเป็นอาหารของไส้เดือนดินกว่า 80 กก. (1 กก. มีประมาณ 1-1.2 พันตัว) เครื่องจักรย่อยสลายขยะอินทรีย์ของที่นี่ ซึ่งช่วยให้ฟาร์มโชคชัยสามารถประหยัดค่ากำจัดขยะไปได้ไม่น้อย
ทั้งนี้ การใช้ไส้เดือนดินกำจัดขยะนับเป็นกระบวนการกำจัดขยะที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการย่อยสลายทางชีวภาพที่เร็วและดีที่สุดในโลก
ว่ากันว่า มีการนำไส้เดือนดินมาใช้ในการกำจัดขยะอย่างเป็นทางการครั้งแรกในการจัดกีฬาโอลิมปิกที่ออสเตรเลีย เมื่อปี 2543 โดยใช้ไส้เดือนดินจำนวน 4 แสนตัว ในการกำจัดเศษอาหารมากถึง 75 กก.ต่อวัน
คุณูปการของไส้เดือนดินในการกำจัดขยะอินทรีย์มีอยู่มากมาย อาทิ เครื่องจักรชีวะตัวยาวนี้มีราคาไม่แพงแต่สามารถทำงานตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีการหยุดพัก และไม่มีกระบวนการใช้พลังงานเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งยิ่งนานวันไส้เดือนดินก็เพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพในการกำจัดขยะยิ่งสูงขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับการฝังกลบหรือเตาเผาที่นับวันประสิทธิภาพก็มีแต่จะลดลงเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ไส้เดือนยังช่วยพลิกกลับดินทำให้แร่ธาตุในดินคลุกเคล้า การไชชอนของไส้เดือนยังช่วยทำลายชั้นดินทำให้ดินร่วนซุย และเมื่อไส้เดือนกินเศษอินทรียสารเข้าไปจะย่อยและขับถ่ายออกมากลายเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพดี ช่วยให้ดินมีความสมบูรณ์กว่า ดินทั่วไป 5-10 เท่า
ทั้งนี้ ผลพลอยได้จากการย่อยสลายขยะของไส้เดือน ทั้ง "มูลไส้เดือน" ซึ่งเมื่อนำไปตากแห้งก็กลายเป็นปุ๋ยชีวภาพชั้นดี ตกราคา กก.ละเกือบร้อยบาท และ "น้ำหมักมูลไส้เดือน" ที่วิเศษนัก ทั้งรดต้นไม้ก็ให้ดอกผลงอกงาม ดับกลิ่นเหม็นเน่ากองขยะ หรือกลิ่นฉุนในห้องน้ำก็ได้ผล และบำบัดน้ำเสียตามท่อระบายน้ำก็ยังได้ สนนราคาขวด 750 CC ราคา 40 บาท ขณะที่ตัวไส้เดือนก็ขยายพันธุ์ง่ายแบ่งขายอาจได้ราคาดีถึง 400 บาทต่อ กก.
สำหรับฟาร์มโชคชัย ผลผลิตจากไส้เดือนดินเหล่านี้เกือบทั้งหมดถูกนำกลับมาใช้ปลูกต้นไม้จนเขียวขจีและออกดอกผล สวยงามไปทั้งฟาร์ม ซึ่งก็สามารถประหยัดค่าปุ๋ยได้มากถึงเดือนละหลายหมื่นบาท
ในอนาคตอันใกล้ ฟาร์มโชคชัยจะเปิดฟาร์มไส้เดือนดินเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ดูงานอีกจุด เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้นำกลับไปประยุกต์ใช้ที่บ้าน ส่วนปุ๋ยมูลไส้เดือนและน้ำหมักมูลไส้เดือนก็จะกลายเป็นอีกผลิตภัณฑ์ของฟาร์มที่นักท่องเที่ยวจะได้ซื้อหากลับบ้านได้
ไม่ว่าจะเลือกใช้ "เครื่องจักรมีชีวิต" ใดในการย่อยสลายขยะอินทรีย์ สิ่งสำคัญและเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ การคัดแยกขยะอินทรีย์กับขยะแห้งออกจากกัน และผลพลอยได้ทันทีจากการแยกขยะ นั่นก็คือการลดปริมาณขยะมูลฝอยที่จะถูกนำไป ฝังกลบ ก็จะช่วยให้บ่อฝังกลบเต็มช้าลง
ที่สำคัญ ลองคิดดูว่าหากคนไทยทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีคิดในการจัดการกับขยะอินทรีย์ ซึ่งมีสัดส่วนกว่าครึ่งของขยะเกือบ 15 ล้านตันต่อปีประเทศชาติจะประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะได้มากเพียงใด
นี่ยังไม่นับว่าเมืองไทยจะน่าอยู่เพิ่มขึ้นขนาดไหน... หากปริมาณขยะลดลงแต่กลับมีพื้นที่สีเขียวจากปุ๋ยหมัก และปุ๋ยชีวภาพเพิ่มขึ้นและใช้พลังงานฟอสซิลลดลง แต่ใช้พลังงานขยะซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาดกันมากขึ้น
|
|
|
|
|