|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธุรกิจขยะรีไซเคิลเป็นธุรกิจที่ซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบๆ ในสังคมไทยมานาน จากรถเข็นเก็บขยะไปจนถึงผู้รับซื้อรายเล็ก รายกลาง รวมไปถึงอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่ต้องการขยะ เศษเหล็ก เศษกระดาษ หลายพันตันต่อวัน จึงทำให้อุตสาหกรรมรีไซเคิล ว่ากันว่าเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าได้กว่าแสนล้านบาท แต่มีต้นทุนวัตถุดิบต่ำมาก
การเดินทางของขยะรีไซเคิลไม่ว่าจะเป็นขวดพลาสติก เศษกระดาษ เศษเหล็ก กระป๋องอะลูมิเนียม ไม่จำกัดอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ได้กระจายออกไปทั่วโลก
ดังนั้น ระบบการจัดการเพื่อให้เกิดผลคุ้มค่าต่อธุรกิจขยะรีไซเคิลจึงเป็นหัวใจของธุรกิจนี้ สมไทย วงษ์เจริญ ประธานกรรมการโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ บริษัทวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป หนึ่งในผู้ประกอบการที่อยู่ในวงการขยะรีไซเคิลมา 35 ปี เล่าให้ผู้จัดการ 360 ํ ที่มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานคัดแยกขยะเพื่อ รีไซเคิล อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ได้รับรู้
บนเนื้อที่ 12 ไร่ มีรถเข็น รถกระบะ และรถบรรทุก วิ่งเข้า-ออกตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. ตลอด 7 วัน ทำให้ปริมาณขยะในโรงงานแห่งนี้มีประมาณ 200 ตันต่อวัน หรือ 200,000 กว่ากิโลกรัม โดยมีสินค้าหลัก 3 ประเภท คือ เศษกระดาษ โลหะ และขวดแก้ว
"แนวคิดของเราคือเป็นผู้ค้าปลีก เพื่อการผลิตขายส่งในระดับนานาชาติ เรารับซื้อสินค้าทุกอย่าง รับซื้อทั้งจำนวนน้อยตั้งแต่ 50 สตางค์ 1 บาท รวมถึงรับซื้อปริมาณมาก"
วงษ์พาณิชย์จะรับซื้อสินค้ารีไซเคิลทุกประเภท บางอย่างก็คาดไม่ถึงว่าจะรับซื้อ อย่างเช่น กากมะพร้าว น้ำมันใช้แล้ว หรือ แม้กระทั่งเศษเทียนไข บทบาทวงษ์พาณิชย์ จึงเหมือนผู้ประกอบการรับซื้อของเก่าในรูปแบบครบวงจร
วงษ์พาณิชย์เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ตรงกลางของวงจรธุรกิจรีไซเคิล เพราะทำหน้าที่เป็นผู้รับซื้อและขายต่อไปให้กับอุตสาหกรรมปลายทางในประเทศและต่างประเทศเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่และกลับมาขายอีกครั้ง
กระบวนการทำงานของวงษ์พาณิชย์ไม่ได้ทำงานเพียงผู้เดียวแต่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศถึง 400 แห่ง รวมทั้งร่วมมือกับเทศบาลเมืองพิษณุโลก จึงทำให้ปริมาณขยะที่วิ่งเข้า-ออกในกลุ่มวงษ์พาณิชย์มีปริมาณถึง 6,000 ตันต่อวัน
วิธีการจัดการขยะรีไซเคิลของวงษ์พาณิชย์ หลังจากที่ได้ขยะมาแล้วจะคัดแยกขยะ ออกเป็นแต่ละประเภท เช่น เศษกระดาษ ขวดขาวขุ่น ขวดแก้ว อิเล็กทรอนิกส์ เศษเหล็ก เศษกระป๋อง และนำไปบีบอัดให้เป็นก้อน ส่วนเศษขยะบางส่วนที่ยังไม่ได้อัดเป็นก้อนจะกองไว้เป็นภูเขา เหมือนเช่นกองภูเขาเศษเหล็กที่สมไทยบอกว่ามีมูลค่าถึง 100 ล้านบาท
การบริหารพื้นที่จัดเก็บขยะเป็นสิ่งจำเป็น สมไทยชี้ให้เห็นว่ามีความสำคัญเพราะการโยกย้ายขยะมีผลต่อต้นทุน เช่น เศษกระดาษ เศษกระป๋อง เศษเหล็ก จะถูกจัดวางไว้อยู่ด้านหน้าและเข้า-ออกง่าย เพราะเป็นสินค้าที่หมุนเวียนตลอดเวลา
การรับ-ซื้อขยะรีไซเคิลของวงษ์พาณิชย์ไม่ได้ตั้งรับเป็นผู้ซื้อเพียงอย่างเดียว แต่ได้ออกไปซื้อสินค้า โดยเฉพาะสินค้าปริมาณมากๆ จากบริษัทใหญ่และห้างสรรพสินค้า
สมไทยเล่าให้เห็นรอบการซื้อ-ขายสินค้า เช่นวิธีการซื้อเศษกระดาษในห้างสรรพสินค้าให้ฟังว่า บริษัทส่งรถหกล้อ 1 คัน คนงาน 3 คนไปห้างโลตัส รับกล่อง ที่แกะเสร็จเรียบร้อยบ่าย 2 ขับรถกลับถึงโรงงานบ่าย 3 โมงครึ่ง ภายใน 6 โมงเย็นอัดเป็นแท่งแล้ว 2 ทุ่มส่งขึ้นรถบรรทุก รถไปจอดอยู่หน้าโรงงาน ตี 5 นำของลง 9 โมงเช้าและ 11 โมงเงินเข้าบัญชีแต่วงษ์พาณิชย์ยังไม่ได้นำเงินไปจ่ายห้างสรรพสินค้า
วงษ์พาณิชย์มีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น วิธีการซื้อ-ขายจึงเป็นสองทาง ลูกค้าบางรายมาซื้อถึงโรงงาน แต่บางรายวงษ์พาณิชย์ไปส่งถึงบริษัทหรือท่าเรือ ส่วนรถบรรทุกที่ใช้ในการขนส่งจะมีหลายประเภท ตั้งแต่ 18 ล้อ ขนส่งได้ 29 ตันต่อคัน หรือรถบรรทุก 22 ล้อ ขนส่งได้ 35 ตันต่อคัน
ศูนย์กระจายสินค้ารับ-ส่งสินค้า (WONGPANIT DISTRIBUTION CENTER: WDC) ปัจจุบันมี 2 แห่งคือ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ ถนนทุกสาย ทั่วประเทศ และลาว จะวิ่งไปที่ 2 แห่งนี้ ซึ่งวิธีการทำงานจะคล้ายคลึงกับห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี และ 7-eleven สินค้ามารวมกันและแยกออกไป การที่วงษ์พาณิชย์มีเศษขยะรีไซเคิล ที่ครบวงจรทุกประเภท สมไทยให้คำนิยาม ธุรกิจของตัวเองเปรียบเหมือนดีพาร์ตเมนต์ สโตร์ที่ลูกค้าเข้ามาเลือกซื้อสินค้าได้หลายประเภท
จำนวนสินค้าที่มีหลากหลายและมีปริมาณมาก ทำให้สมไทยขายสินค้าโดยอ้างอิงตลาดโลก ตลาดไหนหรือประเทศใดที่ให้ราคาสูงเขาก็เลือกขายให้กับประเทศ นั้นๆ เพื่อเพิ่มรายได้และกำไร
ราคาสินค้าของวงษ์พาณิชย์มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน สินค้าที่ส่งไปขายในต่างประเทศและสินค้าที่มีปริมาณมากจะอ้างอิงราคาตลาดโลก ในขณะที่ราคาซื้อขายในเมืองไทยจะกำหนดราคาตามดีมานด์ซัปพลาย ราคาจะติดไว้บนกระดานทางเข้าของโรงงาน หรือลูกค้าสามารถตรวจสอบราคาได้ที่เว็บไซต์ www.wongpanit.com
การซื้อขายที่อ้างอิงราคาตลาดโลก ทำให้วงษ์พาณิชย์จำเป็นต้องว่าจ้างพนักงาน ที่มีความรู้ความชำนาญในการติดตามราคา สินค้าทั่วโลกและมีความรู้ทางด้านภาษา เช่น ภาษาญี่ปุ่น จีน อังกฤษ
พนักงานจะมีความรู้ความสามารถวิเคราะห์ตลาดล่วงหน้า รับรู้ดีมานด์ซัปพลายของสินค้าแต่ละประเภท รวมทั้งข่าวสารสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นของตลาดและเรียนรู้วิธีการส่งมอบสินค้าล่วงหน้า
จากการติดตามข่าวสาร ทำให้สมไทยรู้ว่าสินค้าช่วงไหน ประเภทใดมีความต้องการมากหรือน้อย เช่น การจัดเก็บแร่ทองแดงของโลกเหลือ 482 ล้านตัน และปัจจุบันคนใช้แร่ทองแดง 50 กิโลกรัมต่อคนต่อปีโดยไม่รู้สึกตัว การบริโภคทองแดง มาในรูปการใช้แอร์ ตู้เย็น คอมพิวเตอร์การก่อสร้างต่อเติมถนน บ้าน
การบริโภคทองแดงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงคาดคะเนว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า แร่ทองแดงจะหมดโลก ส่วนตะกั่วอีก 8 ปีจะหมดโลก สมไทยจึงเห็นว่าการนำขยะมารีไซเคิลทวีความสำคัญขึ้นทุกวัน
ลูกค้าของวงษ์พาณิชย์กระจายอยู่ทั่วโลก เช่น จีน อินเดีย บังกลาเทศ เวียดนาม ลาว กัมพูชา ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในยุโรป
การติดตามข่าวสาร ทำให้บริษัทเลือกส่งสินค้าไปแต่ละประเทศแตกต่างกัน เช่นส่งขวดพลาสติกขาวขุ่นไปประเทศจีน และจีนนำขวดพลาสติกขาวขุ่นไปแปรรูปผลิตเป็นเส้นใยสังเคราะห์ผลิตเป็นเสื้อผ้าขายราคาไม่ถึง 100 บาท และส่งกลับมาขายในประเทศไทย ทำให้ขวดพลาสติกขาวขุ่นมีราคาแพงกว่าขวดเพ็ท หรือราคา 18 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนขวดเพ็ทราคา 10.50 บาทต่อกิโลกรัม (ราคา ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2552) ส่วนเศษกระป๋องอะลูมิเนียม บริษัทส่งออกไปขายในบังกลาเทศ และที่อื่นๆ
วงษ์พาณิชย์ยอมรับว่าการส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศได้ราคาดีกว่าขาย ในประเทศ จึงทำให้ปัจจุบันมีสัดส่วนการขายต่างประเทศ 60 เปอร์เซ็นต์และขายในประเทศ 40 เปอร์เซ็นต์
สินค้าในประเทศบริษัทจะจัดส่งไปยังผู้ผลิตสินค้าต้นทาง เช่น ขวดเบียร์ ส่งให้กับเบียร์ช้าง ไฮเนเก้น หรือสิงห์ ส่วนกล่องกระดาษส่งให้กับบริษัทสยามคราฟอุตสาหกรรม (ในเครือซิเมนต์ไทย) บริษัทปัญจพลไฟเบอร์คอนเทนเนอร์ บริษัทเอเชีย คราฟท์เปเปอร์ จำกัด หรือเหล็กเส้นส่งให้ กับกลุ่มบริษัทเหล็กสยาม
แม้ว่าวงษ์พาณิชย์จะอยู่ในอุตสาหกรรมธุรกิจรีไซเคิลมา 35 ปีก็ตาม แต่สมไทยยอมรับว่าบริษัทเป็นเพียงผู้ประกอบ การในระดับกลางเท่านั้น แต่ในอุตสาหกรรมนี้ยังมีรายใหญ่เป็นผู้ให้บริการสั่งซื้อกันเองในปริมาณมาก สินค้าเหล่านี้จึงมีระบบโควตา บางครั้งในวงการเรียกว่า "เจ้าพ่อ" เป็นธุรกิจที่อยู่มานานและหน้าเก่า
ในขณะที่สมไทยบอกว่าธุรกิจของเขาคือหน้าใหม่ในระบบโควตา จึงอาจเป็น เหตุผลหนึ่งที่ทำให้วงษ์พาณิชย์เลือกส่งสินค้าไปขายในต่างประเทศมากกว่าในประเทศ
การออกไปแสวงหาตลาดในต่างประเทศ ทำให้เวทีการแข่งขันกว้างมากขึ้น จึงรู้ว่าธุรกิจรีไซเคิลในต่างประเทศมีการปรับตัวอย่างมาก และมีวิธีการทำตลาดที่เหนือกว่าประเทศไทยหลายเท่าตัว
โดยเฉพาะประเทศจีน รัฐบาลส่งเสริมให้ก่อตั้งอุตสาหกรรมรีไซเคิล ปัจจุบันก่อตั้งอุตสาหกรรมรีไซเคิล 4 มลฑลและส่งคนออกไปไล่ล่าซื้อสินค้ารีไซเคิลจากทั่วโลกเข้าประเทศ นอกจากนั้นรัฐยังยกเว้น ภาษีศูนย์เปอร์เซ็นต์ให้กับพลาสติกรีไซเคิล ในขณะที่เม็ดพลาสติกใหม่นำเข้าจีน ต้องเสียภาษี 36 เปอร์เซ็นต์
ความเคลื่อนไหวของจีนที่ให้ความสำคัญกับขยะรีไซเคิล เป็นเพราะว่าบางประเทศเริ่มตั้งกฎเกณฑ์และเงื่อนไขการผลิตสินค้า ต้องมีส่วนผสมของสินค้ารีไซเคิล เช่น สัญญากลุ่มอียูได้ระบุไว้ว่าสินค้าเม็ดพลาสติกใหม่บังคับให้มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิล 30 เปอร์เซ็นต์
แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจปิโตรเคมี ที่เป็นหัวใจหลักสำคัญในการผลิตเม็ดพลาสติก แต่ไทยก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาอนุสัญญาในรายละเอียด หลังจากที่ไปลงนามในสัญญาหลายแห่ง เช่น อนุสัญญาที่ลงนามที่กรุงสตอกโฮล์มหรือ อนุสัญญาสิ่งแวดล้อมเกียวโต
หรือความเคลื่อนไหวของประเทศอื่นๆ ที่มีข้อตกลงมากมายเกี่ยวกับสินค้ารีไซเคิล ซึ่งไทยจำเป็นต้องปรับตัวเนื่องจากการซื้อขายสินค้าเริ่มเปลี่ยนไป
และปัจจุบันบริษัทต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย ทำธุรกิจเม็ดพลาสติกเริ่มไหวตัว และติดต่อขอซื้อสินค้าจากบริษัทวงษ์พาณิชย์บางส่วนเพื่อผลิตส่งออกไปต่างประเทศ
ในขณะที่ต่างประเทศเริ่มมีการตื่นตัวส่งเสริมให้ประกอบอาชีพธุรกิจรีไซเคิล มากขึ้น แต่ในประเทศไทยระบบการทำงานของรัฐในฐานะฟันเฟืองหลักสำคัญ ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เพราะปัญหาการเมืองในปัจจุบัน
รวมถึงระบบการทำงานมีหน่วยงานดูแลจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงสาธารณสุข กรมการปกครอง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้การทำงานไม่มีความชัดเจน
แต่ปัญหาอุปสรรคใหญ่ในการทำธุรกิจขยะในประเทศไทย คือโครงสร้างภาษีจำนวนมากที่มีถึง 11 รายการ กรณีธุรกิจมีรายได้ 1,200,000 บาท ผู้ประกอบ การต้องเสียภาษี เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ ภงด.91 (ภาษีปลายปี) ภงด.90 (ภาษีกลางปี) ภาษีสังคมรังเกียจ ภาษีเก็บสิ่งของเหลือใช้ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย ภาษีการค้าของเก่า กรมการปกครอง ภาษีอนุญาตกรมโรงงานอุตสาหกรรม 105 และ 106 ของกรมโรงงานฯ ภาษีป้าย ที่กำหนดให้แสดงเรื่องสิ่งแวดล้อม ภาษีเขตพิเศษเขตอีทีแซด เป็นเขตผลิตอุตสาหกรรมพิเศษ
หลายๆ ประเทศได้ส่งเสริมธุรกิจรีไซเคิลให้เกิดขึ้นภายในประเทศ ร่วมมือกับคู่ค้าระหว่างประเทศหลายแห่ง เพราะ ตระหนักดีว่าทรัพยากรโลกนับวันจะน้อยลงทุกที จึงทำให้ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การนำสินค้ากลับมาใช้ใหม่เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
ในขณะที่นโยบายภาครัฐยังไม่ชัดเจน แต่เอกชนได้เดินไปข้างหน้าหลายก้าวแล้ว เหมือนดังเช่นธุรกิจกลุ่มวงษ์พาณิชย์
|
|
|
|
|