บริษัทของจีนตั้งแต่บริษัทผลิตเครื่องบินจนถึงธนาคารและบริษัทน้ำมัน ต่างยกขบวนเข้าติดอันดับบริษัทที่มีรายได้มากที่สุดในโลก
Global 500 คือการจัดอันดับบริษัทที่มีรายได้มากที่สุดในโลก 500 แห่งเป็นประจำทุกปีโดยนิตยสาร Fortune สำหรับในปีนี้ สหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศที่มีบริษัทติดอันดับ Global 500 มากที่สุด คือ 140 แห่ง มากกว่าประเทศที่ตามมาเป็นอันดับ 2 อย่างญี่ปุ่นถึงสองเท่า (บริษัทญี่ปุ่นติดอันดับ 68 แห่งในปีนี้) แม้ว่าขณะนี้สหรัฐฯ กำลังต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยาวนานที่สุด นับตั้งแต่ทศวรรษ 1930 เป็นต้นมาก็ตาม แต่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็ยังคงมีความสำคัญที่สุดในโลก และจะเป็นเช่นนั้นต่อไปในอนาคตอันใกล้
Exxon Mobil ยังคงเป็นบริษัทอเมริกันที่มีผลกำไรมากที่สุดในโลก ด้วยรายได้ 4,520 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ราคาน้ำมันแพงตลอดทั้งปีที่แล้ว ทำให้บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่ง พาเหรดเข้าสู่อันดับ Global 500 ในปีนี้ โดยคว้าไปถึง 7 ใน 10 อันดับแรกของบริษัทที่มีรายได้มากที่สุดในโลก
อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นของสหรัฐฯ ในด้านธุรกิจกำลังค่อยๆ ชะลอลงและเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ ไม่เพียง Royal Dutch Shell ซึ่งไม่ใช่บริษัทในสหรัฐฯ มีรายได้ในปีที่แล้ว 458,000 ล้านดอลลาร์ จะสามารถแย่งตำแหน่งไปจาก Wal-Mart Stores ของสหรัฐฯ ในฐานะบริษัทที่มีรายได้มากที่สุดในโลกได้แล้วเท่านั้น แต่จำนวนบริษัทอเมริกันเพียง 140 แห่งที่ติดอันดับในปีนี้ ยังนับเป็นจำนวนที่น้อยที่สุด นับตั้งแต่นิตยสารฉบับนี้เริ่มจัดอันดับ Global 500 มาตั้งแต่ปี 1995 ด้วย นอกจากนี้ยังมีบริษัทอเมริกันอีกหลายแห่งที่ถึงกับตกจากอันดับไปเลย อย่างเช่น AIG, Countrywide Financial, Freddie Mac, Lehman Brothers, Merrill Lynch, Wachovia และ Washington Mutual
จีนกลายเป็นประเทศที่โดดเด่นขึ้นมาในการจัดอันดับ Global 500 ในปีนี้ บริษัทจีนติดอันดับ 37 แห่ง โดย 9 แห่งเป็นบริษัทที่เพิ่ง เข้าอันดับเป็นครั้งแรก ส่วนที่เหลือก็เลื่อนอันดับดีขึ้นทั้งหมด (บริษัท อินเดียก็เลื่อนอันดับดีขึ้นเช่นกัน) State Grid (อันดับ 15) มีรายได้ 164,000 ล้านดอลลาร์ เป็นบริษัทของรัฐบาลจีนที่เป็นเจ้าของสายส่ง กระแสไฟฟ้าถึง 80% ในจีน รวมถึงสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่สามารถส่งกระแสไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินและพลังน้ำที่ตั้งอยู่ในเขต ชนบท ไปถึงยังเขตเมืองของจีนได้โดยตรง Peterson Institute for International Economics ในวอชิงตันชี้ว่า State Grid ได้ผงาดขึ้น เป็นผู้นำโลกในด้านการส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูงและ State Grid เพิ่ง ประกาศจะลงทุน 12,000 ล้านดอลลาร์ในด้านเทคโนโลยีในปีนี้และ ปีหน้า โดยส่วนหนึ่งของการลงทุนดังกล่าวจะเป็นการนำเข้าไฟฟ้าจากรัสเซีย
Aviation Industry Corp. of China หรือ AVIC (อันดับ 426) เป็นบริษัทจีนที่เพิ่งติดอันดับเป็นครั้งแรก ยอดขายส่วนใหญ่ของ AVIC มาจากการขายสินค้าให้แก่กองทัพจีน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทจากจีน-สหรัฐฯ-ยุโรป ที่กำลังสร้าง เครื่องบินไอพ่นโดยสารระดับภูมิภาค สำหรับตลาดทั้งในประเทศและตลาดส่งออก โดยเครื่องบินนี้จะใช้เครื่องยนต์ของ GE (อันดับ 12)
"การเคลื่อนย้ายความมั่งคั่งและอำนาจทางเศรษฐกิจจากตะวันตกไปสู่ตะวันออก กำลังเกิดขึ้นแล้วอย่างขนานใหญ่และรวดเร็ว ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์สมัยใหม่" นี่คือข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในรายงานที่มีชื่อว่า Global Trends 2025 ของรัฐบาลสหรัฐฯ จัดทำโดย National Intelligence Council หน่วยงานของรัฐบาลอเมริกัน ที่ทำการวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ให้แก่รัฐบาลสหรัฐฯ รายงานดังกล่าวสรุปว่า ภายในปี 2025 จีนจะกลายเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก
แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่า อย่าให้ความสำคัญมากเกินไปกับการที่บริษัทจีนผงาดขึ้นมาใน Global 500 "บริษัทที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของสามารถฝ่าฟันพายุการเงินได้ดีกว่าบริษัทเอกชนด้วยเหตุผลง่ายๆ ก็คือ พวกเขาได้รับการอัดฉีดเงินทุนมหาศาลจากรัฐบาล จีน" Yasheng Huang ศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการระหว่างประเทศจาก Sloan School of Management ของ MIT ชี้ Huang เสริมด้วยว่า เราไม่เคยรู้เลยว่า มีอะไรเกิดขึ้นจริงๆ ในบริษัทของจีน เพราะการขาดความโปร่งใส
อย่างไรก็ตาม หลักฐานต่างๆ ก็บ่งชี้ว่าจีนกับอินเดีย ซึ่งมีระบบการเงินที่ได้รับการปกป้องจากรัฐบาล จะฝ่าพ้นวิกฤติเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในสภาพที่ดีกว่าสหรัฐฯ ยุโรป หรือญี่ปุ่น J.P. Morgan Chase ชี้ว่าเศรษฐกิจเอเชียฟื้นตัวเร็วกว่าชาติตะวันตก
รัฐบาลจีนรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ภาคก่อสร้าง McKinsey & Co. ชี้ว่า เมืองทุกเมืองของจีนมีการวางแผนพัฒนาระยะยาว 20 ปี ในขณะที่ตลาดสินเชื่อในสหรัฐฯ ยังคงหยุดชะงัก แต่จีนยังคงอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดสินเชื่อของตน สามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้ในปีนี้
ธนาคารและสถาบันการเงินที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของและรัฐวิสาหกิจอย่าง Sinopec (อันดับ 9) China National Petroleum (อันดับ 13) China Mobile (อันดับ 99) และ China Life Insurance (อันดับ 133) คือส่วนหนึ่งของบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนที่ยกขบวนเข้าสู่อันดับในปีนี้ แต่ไม่ใช่ด้วยความสามารถในการสร้างนวัตกรรมหรือ ความสามารถทางการตลาดแต่อย่างใด จีนยังจำเป็นที่จะต้องสร้างแบรนด์ระดับโลกที่ทรงพลัง แต่แบรนด์ที่ดูเหมือนจะใกล้เคียงการเป็นแบรนด์ระดับโลกของจีนมากที่สุดคือ Lenovo ซึ่งเพิ่งซื้อแผนกผลิตคอมพิวเตอร์พีซีของ IBM ไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน กลับตกจากอันดับ ในปีนี้ไป เพราะยอดขายที่ตกต่ำ
แต่นักวิเคราะห์จาก McKinsey ยังเชื่อว่า จีนกับอินเดียจะกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของนวัตกรรมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ จีนกำลังพยายามจะสร้างความเป็นผู้นำโลกในอุตสาหกรรมหลายๆ ด้าน เนื่องจากความต้องการซื้อสินค้าภายในประเทศของจีนมีมหาศาล โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รถยนต์พลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของรถยนต์ดังกล่าว จะเป็นสินค้าที่ขายดีอันดับต้นๆ ในจีนในอีกไม่นานนี้ แม้ว่าบริษัทจีนอาจจะมีขนาดใหญ่ไม่เท่าหรือมีประสบการณ์น้อยกว่าบริษัทอย่าง BMW หรือ GM แต่จีนมีเงินทุนและการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นจุดแข็งหลัก
แม้ว่าจีนจะเริ่มผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในการผลิตของโลก แต่สหรัฐฯ ยังคงครองส่วนแบ่งการผลิตสินค้าของโลก 20% เหมือน เดิมหรือมากกว่า ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เหนือกว่าจีนมานานกว่า 20 ปีแล้ว ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่บริษัทอย่าง GE, Boeing (อันดับ 116) และ Caterpillar (อันดับ 144) กำลังเจริญรุ่งเรือง นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังคงดีที่สุดในเรื่องการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมและการสร้างแบรนด์ บริษัทอเมริกันที่เพิ่งติดอันดับ Global 500 เป็นครั้งแรกในปีนี้ (หรือ กลับเข้าอันดับอีกครั้งหลังจากที่เคยตกไป) รวมถึงบริษัทที่เป็นนักสร้าง นวัตกรรมอย่าง Nucor ผู้ผลิตเหล็กกล้า (อันดับ 386) Google (อันดับ 423) Amazon (อันดับ 485) และ Nike (อันดับ 497) Nike ถือเป็นบริษัทอเมริกันเพราะมีสำนักงานอยู่ในรัฐโอเรกอน Nike ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการตลาด ว่าจ้างโรงงานในกว่า 40 ประเทศ รวมถึง โรงงาน 150 แห่งในจีน และรายได้มากกว่าครึ่งของ Nike มาจากตลาดนอกสหรัฐฯ
การผงาดขึ้นมาของบริษัทจีนในการจัดอันดับบริษัทใหญ่ที่สุดในโลกในด้านรายได้นี้ ไม่ใช่ข่าวร้ายสำหรับสหรัฐฯ เพราะจะทำให้ความต้องการซื้อสินค้าที่ส่งออกไปจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น หากจีนยึดมั่นในคำสัญญาที่จะสร้างเศรษฐกิจของตนให้เติบโตอย่างยั่งยืน ก็จะเกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อประเทศต่างๆ รวมถึงสหรัฐฯ เอง ซึ่งกำลังพยายามสร้างนวัตกรรมในด้านพลังงานสะอาด รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือสายส่งไฟฟ้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ฟอร์จูน 20 กรกฎาคม 2552
|