|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ประวัติของการก่อตั้งกรมศุลกากรที่ยาวนานมากว่า 135 ปี กำลังเดินทางเข้าสู่ยุคใหม่ เมื่อแผนการการปฏิรูปการทำงานของกรมศุลกากรครั้งใหญ่ที่สุดถูกนำเสนอออกมา
ภายใต้จุดมุ่งหมายที่จะทำให้กรมศุลกากรมีบทบาทเป็นผู้ให้บริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการค้ามากขึ้น ขณะที่บทบาทในฐานะผู้เก็บภาษีลดน้อยลง
"กรมศุลกากรต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้จัดเก็บภาษี มาเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับการค้า เพราะโลกของเรากำลังเดินหน้าเข้าสู่ระบบเสรีทางการค้า ดังนั้น เราจึงต้องปรับตัวให้ทัน" ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้กำกับดูแลกรมศุลกากรกล่าว
ทัศนะของประดิษฐ์อยู่บนพื้นฐานที่ว่า GDP ของประเทศไทยกว่าร้อยละ 70 มาจากการค้ากับต่างประเทศ การทำงานร่วมกันระหว่างกรมศุลกากรและภาคธุรกิจจะต้องสะดวกและง่ายขึ้น เพื่อให้การค้าระหว่างประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่น ภายใต้ความมุ่งหวังว่ากลไกดังกล่าวจะช่วยเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
"กรมศุลกากรจะต้องไม่เป็นภาระให้กับผู้ที่นำสินค้าเข้าและผู้ส่งสินค้าออก ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีส่วนช่วยทำให้เราเป็นประเทศคู่ค้าที่ประสบความสำเร็จในเวทีการค้าโลก สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการคือความสม่ำเสมอ การคาดการณ์ต้นทุนได้ รวมถึงความโปร่งใสและรวดเร็วในการทำงานกับกรมศุลกากร นี่จึงเป็นเป้าหมายของการปฏิรูปที่ต้องการจะให้เกิดขึ้น"
แนวความคิดว่าด้วยการปฏิรูปกรมศุลกากร เป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาที่บริษัทต่างๆ พบมากที่สุดก็คือ กรมศุลกากรไม่สามารถระบุให้แน่นอนได้ว่าสินค้าหนึ่งๆ จะจัดให้อยู่ในหมวดประเภทใด และไม่สามารถคำนวณภาษีได้ก่อนที่สินค้านั้นจะมีการสั่งซื้อ หรือเดินทางมาถึงด่านศุลกากร
กรณีดังกล่าวกลายเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับการค้า เนื่อง จากผู้ประกอบการไม่สามารถจะคำนวณต้นทุนจริงได้ จนกว่าจะได้ตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าก่อน หรือลงทุนซื้อเครื่องจักรมาก่อน
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจในปัจจุบันอยู่ที่ผู้ที่ติดต่อกับศุลกากร อาจจะพบว่า ในการนำสินค้าเข้าแต่ละงวด ถึงแม้จะเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน แต่กลับเสียภาษีแตกต่างกัน อีกปัญหาหนึ่งก็คือ
หลังจากที่สินค้ามาถึง ผู้นำเข้าอาจจะพบว่าสินค้านั้นๆ ต้องมีใบรับรองพิเศษ หรือใบอนุญาตอื่น ทำให้ผู้นำเข้าต้องเสียเวลาและ เสียค่าใช้จ่ายในการติดต่อเพื่อขอรับเอกสารเพิ่มเติม
แผนการปฏิรูปครั้งสำคัญนี้ มุ่งหมายที่จะปรับปรุงขั้นตอน การทำงานที่ทำให้ผู้นำเข้าต้องเสียเวลาโดยการลดแบบฟอร์มที่ต้องยื่นต่อศุลกากรที่มีลักษณะข้อมูลซ้ำซ้อนให้น้อยลง
"สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งกรมศุลกากรจะเป็นผู้ให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการค้า ด้วยการให้บริการคำวินิจฉัยล่วงหน้ากับผู้ประกอบการที่ต้องการนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบ"
ทั้งนี้ กรมศุลกากรจะยืนยันการจัดประเภทพิกัดฯ และวิธี การประเมินภาษีของสินค้าล่วงหน้าก่อนการนำเข้า นอกจากนี้ยังยึดวิธีการประเมินภาษีศุลกากรที่เป็นมาตรฐานเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะนำสินค้าเข้าเมื่อไรและด้วยวิธีใด จะถูกกำหนด ด้วยวิธีเดียวกันหมด
มาตรฐานใหม่ของกรมศุลกากรดังกล่าว รวมถึงการแจ้งให้ผู้นำเข้าทราบเกี่ยวกับเอกสารใบอนุญาตสำหรับการนำเข้าสินค้าบางประเภทว่าจำเป็นต้องมีอะไรบ้าง และคาดว่าจะให้บริการในฐานะที่กรมศุลกากรเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้กับการค้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้
"กรมศุลกากรกำลังเร่งทำ 'Single Window' สำหรับงานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เพื่อให้ผู้นำสินค้าเข้าและส่งสินค้าออกสามารถจะติดต่อที่กรมศุลกากรที่เดียว ไม่ต้องวิ่งไปติดต่อหลายที่หลายกระทรวง" วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรม ศุลกากรระบุ
รวมถึงการดำเนินความร่วมมือกับประเทศอาเซียน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการส่งออกของไทยสามารถทำการค้าขายกับคู่ค้าในประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนได้สะดวกยิ่งขึ้น
แม้จะมีการคาดหมายว่าการปฏิรูปกรมศุลกากรดังกล่าวจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับรัฐจากการเก็บภาษีมากขึ้นร้อยละ 15 แต่การปรับเปลี่ยนทั้งหมดจำเป็นต้องอาศัยมาตรการทางกฎหมาย ซึ่งต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณา
ประเด็นที่น่าสนใจจากการปฏิรูปกรมศุลกากรครั้งนี้ จึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่การดำเนินงานของกรมศุลกากรแต่เพียงลำพัง หากยังควรหมายรวมถึงการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ว่าด้วยยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศของไทยอย่างเป็นระบบไปในคราวเดียวกันด้วย
|
|
|
|
|