|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ฟิทช์ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ 3.1% ระบุแม้ไตรมาส 3-4 จะกระเตื้อง แต่การส่งออกที่หดตัวทำให้การฟื้นตัวยังอ่อนแอ รวมทั้งปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายจะส่งผลต่อภาพรวมในอนาคต และยังคงต้องจับตาการด้อยค่าของสินทรัพย์แบงก์ที่อาจกระทบกำไร ด้านรมช.คลังฟุ้งมาตรการรัฐช่วยหนุนเศรษฐกิจแข็งแกร่ง เชื่อหากการเมืองนิ่ง ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิต ด้านธปท.โต้ฟิทช์ เรทติ้ง แม้จะนำหลักเกณฑ์กำกับแบบรวมกลุ่มมาใช้ไม่ได้ส่งผลให้แบงก์และลูกรวมกันแล้วเอ็นพีแอลพุ่ง มั่นใจเงินกองทุนสูง
นายเจมส์ แมกคอร์แม็ค กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายจัดอันดับเครดิต ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ เปิดเผยภายหลังงานสัมมนาฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) 2009 ถึงมุมมองของฟิทช์ที่มีต่อประเทศไทยว่า ฟิทช์ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของประเทศไทยทั้งปี 2552 นี้ไว้ที่ระดับติดลบ 3.1% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับของจีดีพีของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตามตัวเลขจีดีพีของไทย ซึ่งในไตรมาส 1 ที่ผ่านมามีการติดลบอยู่ในระดับที่สูงมากถึง 7.1% ส่วนไตรมาส 2 ตัวเลขจีดีพีติดลบลดลงมากพอสมควร แต่ก็ยังถือว่าติดลบอยู่ จนกระทั่งไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวดีขึ้น แต่การส่งออกของประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียยังอยู่ในภาวะหดตัวจึงเป็นปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอ่อนแออยู่
สำหรับปัจจัยเรื่องการเมืองในระยะสั้นมองว่ายังไม่มีผบกระทบต่อเรทติ้งส์ของไทยมากนัก เพราะเศรษฐกิจของไทยที่ชะลอตัวอยู่ในปัจจุบัน ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ ส่วนระยะปานกลางถ้าไทยสามารถแก้ปัญหาการเมืองได้ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น
“การปรับเปลี่ยนเรทติ้งส์ของแต่ละประเทศนั้น เราจะนำปัจจัยมาประกอบการพิจารณา 3 ประการคือ1.ดูระดับหนี้ของรัฐบาล 2.ระดับหนี้ต่างประเทศ และ3.การเมือง ซึ่ง 2 ปัจจัยแรกคือระดับหนี้ของรัฐบาลและหนี้ต่างประเทศของไทยในขณะนี้อยู่ในระดับแข็งแกร่ง แต่ปัจจัยเรื่องการเมืองหากพิจารณาระยะปานกลางในอนาคตแล้วจะมีการปรับเรตติ้งส์ของประเทศหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าปัญหาการเมืองมีการคลี่คลายไปได้หรือไม่” นายเจมส์ กล่าว
ทั้งนี้ มองว่าคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารไทยอาจมีมูลค่าลดลงและมีความจำเป็นที่อาจต้องกันสำรองเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลกำไรในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า
สำหรับนายวินเซนต์ มิลตัน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสถาบันการเงินและกรรมการผู้จัดการ ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ถ้าหากการเมืองของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ก็น่าจะเป็นปัจจัยผลักดันให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งทั้งในเรื่องของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีมากพอสมควร รวมไปถึงจำนวนหนี้หนี้สาธารณะก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมาก ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจากการลงทุนของรัฐบาลที่จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและคาดการณ์ว่าภาคการส่งออกของไทยก็น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2553 การลงทุนของภาคเอกชนก็จะตามมา ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นทางฟิทช์ เรทติ้งส์ ก็จะมีการปรับอันดับเครดิตของไทยแน่นอน
ฟุ้งฟิทช์หนุนแก้ศก.ถูกทาง
ด้านนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) 2009 ว่า ทางฟิทช์ เรทติ้งส์มองว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะสถาบันการเงิน และนโยบายของรัฐบาลที่ได้วางแผนและดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 8 เดือนเพื่อใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายปฏิบัติการไทยเข้มแข็งและแผนงานในอนาคตอีก 3 ปี ที่รัฐบาลจะเป็นฝ่ายสนับสนุนงบประมาณถึง 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งแผนงานดังกล่าวทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ ฟิทช์ เรทติ้งส์เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของไทยจะมีความมั่นคงและแข็งแกร่งมากขึ้น
“ถ้าปัจจัยการเมืองค่อยๆคลี่คลายลงรวมไปถึงพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นคาดว่าการประชุมฟิทช์ เรทติ้งส์ในปี 2553 ก็อาจจะปรับอันดับเครดิตของไทยกลับมาอยู่ในเชิงบวกได้ เพราะรัฐบาลมีทุกอย่างทั้งงบประมาณและนโยบายที่แสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นปกติได้” นายประดิษฐ์ กล่าว
ธปท.มั่นใจหนี้เน่าแบงก์ไม่พุ่ง
นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงกรณีที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเมินไว้ว่าการนำหลักเกณฑ์กำกับแบบรวมกลุ่มมาใช้กับธนาคารพาณิชย์จะส่งผลให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งรวมบริษัทลูกด้วย เพิ่มขึ้นเป็น 10% ในช่วงปลายปีนี้ว่า ธปท.เชื่อว่ายอดเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์จะไม่เพิ่มขึ้นถึงระดับ 10% เนื่องจากในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ในระบบมีเงินกองทุนสูงถึง 15.9% ซึ่งเฉพาะเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ระดับ 12.4% อีกทั้งสภาพคล่องในปัจจุบันมีจำนวนมาก
นอกจากนี้ ในขณะนี้สินทรัพย์ส่วนใหญ่อยู่ที่ตัวธนาคารพาณิชย์มากกว่าบริษัทลูก ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อโดยรวมยังคงเป็นส่วนของธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ 6-7 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนนี้เป็นของบริษัทลูกแค่ 2-3 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งตัวบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ทำธุรกรรมปล่อยสินเชื่อเท่านั้น แต่ยังเป็นบริษัทที่เกี่ยวกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือประกันภัยด้วย ดังนั้น แม้จะมีการกำหนดให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอสเรโช)อยู่ที่ระดับ 8.5% ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งรวมบริษัทลูกด้วยในช่วงปลายปีนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร
ชี้ทิศทางศก.ดีขึ้นแต่ยังเปราะบาง
นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจไทยโดยรวมในขณะนี้ปรับตัวดีขึ้นเห็นได้ชัดในช่วงไตรมาสที่ 2 ส่วนเศรษฐกิจเดือนก.ค. ซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาสที่ 3 เริ่มดีขึ้น แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ โดยสัญญาณเศรษฐกิจโลกดี แต่การว่างงานยังมีสูง และสถาบันการเงินยังติดปัญหาอยู่ ดังนั้น เศรษฐกิจไทยยังมีการลงทุนน้อยอยู่ จึงต้องพึ่งการลงทุนในประเทศเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนมิ.ย.แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนยังคงหดตัว 14.3% ด้านดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ แม้จะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความเปราะบางอยู่ โดยล่าสุดในเดือนก.ค.ลดลงอยู่ที่ 45 จากเดือนก่อน 46.3 และยังคงต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งเป็นระดับความเชื่อมั่น โดยสาเหตุปรับลดลงเกิดจากคำสั่งซื้อในประเทศ และแรงกดดันด้านต้นทุนที่มาจากราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตามเมื่อมองไปข้างหน้าอีก 3 เดือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 51.3 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งองค์ประกอบความเชื่อมั่นทุกตัวปรับตัวดีขึ้น
“จากการสอบถามผู้ประกอบการถึงข้อจำกัดในการทำธุรกิจ พบว่า ความไม่แน่นอนการเมืองขยับขึ้นมาอยู่ที่ 49.2% เป็นอันดับ 3 จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่อันดับ 4 ขณะที่เรื่องต้นทุนมีผลต่อธุรกิจ 30% จากเดิม 41.4% โดยหากเศรษฐกิจขยายตัวในช่วงที่ราคาน้ำมันแพง แม้ความต้องการยังมีอยู่ก็ไม่ได้เป็นภาระของผู้ประกอบการนัก แต่เมื่อใดที่เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว กำไรส่วนต่าง (มาร์จิน)ต่ำ ต้นทุนเพิ่มขึ้นผู้ประกอบการอาจแบกรับภาระและบั่นทอนความเชื่อมั่นได้ ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนในอนาคตด้วย จึงต้องติดตามดูต้นทุนที่เป็นความเสี่ยงตัวนี้ด้วย”
สำหรับภาพรวมการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ 73.4 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งความเชื่อมั่นในปัจจุบันและอนาคต
|
|
|
|
|