|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ฟาร์มาคอสเม็ท ทุ่ม 12 ล้านบาท รีเฟรชแบรนด์ 'ที ทรี' บุกตลาดครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังหยุดชะงักจากปัญหาภายใน ด้วยการตอกย้ำ Key Message 'ความลับหน้าใสจากธรรมชาติ' ผ่านแคมเปญการประกวด 'ที ทรี เฟ้นหาหนุ่มสาวหน้าใส หัวใจสีเขียว 2009' พร้อมผนึกพันธมิตรแดนปลาดิบช่วยปูภาพสู่รีจินัลแบรนด์ นอกจากการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในประเทศ การหวนคืนตลาดของ ที ทรี ในครั้งนี้ เป้าหมายยังอยู่ที่การต่อยอดแบรนด์เพื่อบุกตลาดเอเชียอย่างเต็มตัว
ทันทีที่ค่ายฟาร์มาคอสเม็ทปัดฝุ่น 'สกาแคร์' แบรนด์ที่ทำรายได้หลักเป็นที่เรียบร้อยไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็ถึงคิวของ 'ที ทรี' (TEA TREE) กลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า และผิวกาย อีกหนึ่งแบรนด์ที่ถูกวางเป็นสินค้าเรือธงให้ทำตลาดเชิงรุกนับจากนี้ เพราะนอกจากการหวนคืนสู่ตลาดในบทบาทเชิงรุกแล้ว ค่ายฟาร์มาคอสเม็ทยังวางเป้าหมายดันแบรนด์ ที ทรี บุกตลาดเอเชียอย่างเต็มตัวด้วย
'หลังจากที่ค่ายอังกฤษตรางูเข้าซื้อกิจการและถือหุ้นในบริษัท ฟาร์มาคอสเม็ท 100% ในช่วงปลายปี 2551 ทำให้ ที ทรี กลายเป็นแบรนด์หนึ่งที่ถูกดันขึ้นมาให้เป็นแบรนด์หลัก เพื่อทำตลาดเชิงรุกในประเทศไทยและขยายฐานบุกภูมิภาคเอเชีย' เป็นคำกล่าวของ สุธีร์ รัตนนาคินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟาร์มาคอสเม็ท ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล (เพอร์ซันนัลแคร์) แบรนด์ ที ทรี
ล่าสุด การเปิดฉากรุกด้วย 2 แคมเปญใหญ่ คือ กิจกรรม ที ทรี เฟ้นหาหนุ่มสาวหน้าใส หัวใจสีเขียว 2009 และกิจกรรม Virgin Hitz passport พาผู้โชคดีเยือนประเทศออสเตรเลีย ภายใต้งบรวม 12 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อตอกย้ำโพซิชันนิ่งและสร้างการรับรู้แบรนด์ในกลุ่มผู้บริโภคอีกครั้ง เพราะหลังจากที่แบรนด์ ที ทรีงดกิจกรรมและหยุดความเคลื่อนไหวทางการตลาด เนื่องจากเกิดปัญหาภายในบริษัทไปนานประมาณ 3 ปี ขณะที่คู่แข่งยังมีการทำตลาดและสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เช่น นูโทรจีน่า, การ์นิเย่, สมูท อี โดยเฉพาะผู้นำอย่างพอนด์สที่แม้จะมีส่วนแบ่งราว 18% จากตลาดโฟมล้างหน้ามูลค่า 3,500 ล้านบาท ทว่าพอนด์สก็ยังให้ความสำคัญและโหมจัดกิจกรรมสร้างความใกล้ชิดกับผู้บริโภคตลอดเวลา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากลูกค้าที่เคยใช้หรือไม่เคยใช้แบรนด์ ที ทรี อาจลืมหรือไม่รู้ว่าแบรนด์ ที ทรี ยังมีสินค้าอยู่ในตลาด
ฉะนั้น การหวนคืนสู่ตลาดในครั้งนี้ ค่ายฟาร์มาคอสเม็ทจึงต้องเน้นไปที่การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รับรู้ในกลุ่มผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว เริ่มกันที่โครงการประกวด 'ที ทรี เฟ้นหาหนุ่มสาวหน้าใส หัวใจสีเขียว 2009' หนึ่งในแคมเปญใหญ่ของปีนี้ที่ผู้บริหารค่ายฟาร์มาคอสเม็ท เชื่อว่าจะเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์และบุกเข้าถึงคนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์ได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับกิจกรรมดังกล่าวอาจดูไม่ใช่กลยุทธ์ใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่ ที ทรี เคยจัดขึ้นทุกปีก่อนที่จะหยุดความเคลื่อนไหวในตลาด ทว่า กิจกรรมนี้ยังมีความน่าสนใจตรงรายชื่อพันธมิตรที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม WWF แห่งประเทศไทย, องค์การท่องเที่ยวออสเตรเลีย, จีรัง เฮลท์ วิลเลจ, นิตยสารเซเว่นทีน และเว็บไซต์กระปุกดอทคอม จะเห็นว่ารายชื่อพันธมิตรข้างต้นล้วนสื่อถึงภาพลักษณ์และKey Message ของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังเป็นช่องทางสื่อสารที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลักอีกด้วย
เนื่องจาก ที ทรี เป็นแบรนด์ที่วางตนเองอยู่ในนิชมาร์เกต โดยนำเรื่อง Tea Tree Oil สารสกัดธรรมชาติจากต้น ที ทรี หรือชาออสซีที่นำเข้าจากประเทศออสเตรเลียมาเป็นส่วนผสมสำคัญในผลิตภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นจุดขายที่ต่างจากคู่ชกที่ตรงตัวอย่างนูโทรจีน่า และสมูท อี ได้อย่างชัดเจน และยังเป็นจุดแข็งที่ทำให้แบรนด์นี้สามารถเลือกโพซิชันนิ่งอยู่ในตลาดพรีเมียมและกำหนดราคาใกล้เคียงกับคู่แข่งอินเตอร์แบรนด์หลายราย แม้ว่าความจริง ที ทรี จะเป็นโลคัลแบรนด์ก็ตาม แต่เชื่อว่าคงมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเคยเข้าใจว่า ที ทรี เป็นแบรนด์นำเข้า เพราะที่ผ่านมาการสื่อสารผ่านหนังโฆษณากับผู้บริโภคในช่วงเปิดตัวแบรนด์ จะสังเกตเห็นว่า ที ทรี จะเน้นสื่อสารเรื่อง Tea Tree Oil และพยายามเติมอีโมชั่นความเป็นออสเตรเลียเข้าสู่ตัวแบรนด์เพื่อให้ผู้บริโภคลืมหรือมองข้ามภาพโลคัลแบรนด์ของที ทรี เช่น การใช้นักร้องสาวจากออสเตรเลียวง M2M มาเป็นพรีเซนเตอร์ แม้แต่การใช้พรีเซนเตอร์คนไทยอย่าง ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี หรือนิโคล เทริโอ ก็มีการไปถ่ายทำถึงออสเตรเลียด้วย
กลับมาที่กิจกรรมการประกวดในครั้งนี้ รายชื่อพันธมิตรอย่างองค์การท่องเที่ยวออสเตรเลียจึงทำหน้าที่สื่อถึงจุดขายสำคัญอย่างตัว Tea Tree Oil ที่แบรนด์นี้นำเข้าจากออสเตรเลียได้เป็นอย่างดี ซึ่งกรรมการผู้จัดการค่ายฟาร์มาคอสเม็ท กล่าวย้ำว่า แม้ตอนนี้บริษัทจะมีการปรับสูตรเพิ่มคุณค่าในตัวโปรดักส์มากขึ้น แต่จุดขายหลักของที ทรี ยังเป็นเรื่อง 'ที ทรี ออยล์' ที่เรานำเข้าจากออสเตรเลียเท่านั้น ขณะที่องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม WWF แห่งประเทศไทย จะทำหน้าที่สื่อภาพถึงความเป็นธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับ Key Message ของที ทรี'ความลับหน้าใสจากธรรมชาติ' ส่วนพันธมิตรอย่างนิตยสารเซเว่นทีน และเว็บไซต์กระปุกดอทคอมจะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงพร้อมช่องทางที่ตรงเข้าถึงกลุ่มลูกค้าวัย 15-25 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของที ทรี ได้เป็นอย่างดี เพราะผู้ชนะการประกวดนอกจากจะได้เป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ของที ทรี เป็นเวลา 1 ปี และรับเงินรางวัล 20,000 บาทกับแพกเกจที่พักแล้ว ผู้ชนะยังจะได้ถ่ายแฟชั่นลงนิตยสารเซเว่นทีนด้วย
นอกจากนี้เพื่อต่อยอดและตอกย้ำโพซิชันนิ่งแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ค่ายฟาร์มาคอสเม็ทจึงเตรียมจัด กิจกรรม 'Virgin Hitz passport' ในเดือนกันยายนนี้ โดยร่วมมือกับค่ายเวอร์จิ้น หาผู้โชคดีไปเยือนออสเตรเลียเพื่อชมกระบวนการผลิตที ทรี ออยล์ ทั้งนี้ สุธีร์ อธิบายว่า แคมเปญที่ 2 นี้จะเป็นตัวช่วยให้ผู้บริโภคหันมาสนใจและรู้จักแบรนด์ ที ทรี มากขึ้น และจากการทำตลาดเชิงรุกปีแรกในรอบ 3 ปี ผู้บริหารค่ายนี้เชื่อว่าสิ้นปีนี้แบรนด์ที ทรีจะสามารถปิดตัวเลขยอดขายได้ 120 ล้านบาท แบ่งเป็น โฟมล้างหน้า 100 ล้านบาท สบู่เหลว 20 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความมั่นใจมาจากผลประกอบการย้อนหลังไป 3 ปี ที่พบว่ามีการเติบโตทุกปีแม้จะขายสินค้าอย่างเงียบๆ ก็ตาม ซึ่งเคยทำยอดขายสูงถึง 150-160 ล้านบาท โดยปีที่ผ่านมา ที ทรี มียอดขายราว 110 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30% จากรายได้รวมของบริษัท ฟาร์มาคอสเม็ท ส่วนที่เหลือ 70% มาจากแบรนด์สกาแคร์
อย่างไรก็ตาม แม้การหวนคืนตลาดอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ กิจกรรมหลักๆ ก็เพื่อกลับเข้าสู่ตลาดและสร้างการรับรู้แบรนด์กับผู้บริโภคในบ้านเรา ทว่า อีกมุมหนึ่งที่ค่ายนี้กำลังซุ่มทดลองตลาดอยู่ก็คือการเตรียมตัวบุกตลาดเอเชียในฐานะ 'รีจินัลแบรนด์' ทั้งนี้เพื่อให้แบรนด์มีฐานที่แข็งแกร่งและก้าวสู่ตลาดเอเชียได้อย่างรวดเร็ว ฟาร์มาคอสเม็ทจึงจับมือกับพันธมิตรรายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นที่มีความชำนาญเรื่องการทำตลาดสินค้าส่วนบุคคล ด้วยการนำแบรนด์ ที ทรี เข้าไปเป็นซับแบรนด์เพื่อทำตลาดควบคู่ไปกับสินค้าหลักของบริษัทดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองและคาดว่าจะเริ่มเปิดตลาดได้ในปีหน้า
'บริษัทเลือกเข้าไปเป็นซับแบรนด์ในบริษัทญี่ปุ่น เพราะต้องการให้บริษัทดังกล่าวช่วยสร้างภาพลักษณ์และเปิดประตูให้ ที ทรี เข้าไปทำตลาดได้ง่ายขึ้น โดยเราจะทำหน้าที่ส่งออก 100% ซึ่งหาก ที ทรี สามารถสร้างฐานและแบรนด์ในญี่ปุ่นได้ แน่นอนว่าประเทศอื่นในแถบเอเชียก็ไม่ใช่เรื่องยาก'
น่าสังเกตว่า ค่ายฟาร์มาคอสเม็ทเลือกจะอัปภาพลักษณ์ ที ทรี ให้เป็นตราสินค้าระดับรีจินัลแบรนด์ แทนที่จะเข็นไปสู่อินเตอร์แบรนด์ ที่เป็นเช่นนี้ สุธีร์ บอกว่า การปั้นแบรนด์ให้เป็นอินเตอร์เนชันแนลแบรนด์ เพื่อกลับไปสู้กับ Real International Brand ในแถบยุโรป อเมริกา ถือเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเราวางและสร้างเป็นรีจินัลแบรนด์จะมีโอกาสแจ้งเกิดและบุกตลาดเอเชียได้มากกว่า และนี่คือก้าวแรกในการขยายสู่ตลาดเอเชียของแบรนด์ที ทรี ซึ่งงานนี้จะมีแววเกิดหรือไม่ กำหนดเป้าหมายระยะสั้นในช่วง 2 ปีนับจากนี้ ที่ค่ายฟาร์มาคอสเม็ทตั้งเป้าจะขยับสัดส่วนยอดขายในประเทศและต่างประเทศให้เป็น 70% และ 30% ตามลำดับ จากตอนนี้ที่มีสัดส่วนเป็น 90% และ 10% คงเป็นตัวชี้วัดได้ไม่น้อย
|
|
|
|
|